ครั้นเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการทำงาน การมองโลกในแง่ดีก็เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่เอาไว้เติมให้เรามีแรงก้าวเดินต่อ “เอาน่ะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” “มองในแง่ดีไว้ เดี๋ยวทุกอย่างจะโอเคเอง”
มีผลการสำรวจบอกว่า ความสุขสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำงาน เราจึงมีคติประจำใจอย่าง good vibe only, be positive หรือ don’t worry, be happy เอาไว้เตือนตัวเอง แต่นับวันสถานการณ์ต่างๆ กลับแย่ลง รู้ตัวอีกทีใจเราเองก็เริ่มจะมองในแง่ดีไม่ไหว และเกิดเป็นคำถามมากมายว่า ทำงานหนักสายตัวแทบขาด แต่ทำไมเท้าเรายังย่ำอยู่ที่เดิม? สรุปแล้วเป็นที่ความคิดและมุมมองของเราที่มีต่องาน หรือเพราะระบบองค์กรที่เอารัดเอาเปรียบอยู่กันแน่?
แล้วก็พบว่าบางครั้งการมองโลกในแง่บวกนี่แหละ บั่นทอนเรามากที่สุดแล้ว
Toxic Positivity คือ แนวคิดที่เราพยายามมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน และเก็บซ่อนความรู้สึกเชิงลบไม่ให้ออกมาทำลายบรรยากาศ จนในระยะยาวทำร้ายสุขภาพจิตเราโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อเป็นบริบทของการทำงาน การมองโลกในแง่ดีจนเกินความเป็นจริงอาจแย่กว่านั้นมาก เพราะนอกจากจะทำร้ายสุขภาพจิต มันยังทำให้บุคลากรทั้งบริษัท ไม่ว่าจะเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือตัวเราเอง มองข้ามปัญหาที่แท้จริงที่ควรจะแก้ไข แต่กลับแทนที่ด้วย bright side ที่อาจไม่มีอยู่จริง และยังส่งผลให้การทำงานรวนไปทั้งระบบเลยก็ว่าได้
The MATTER จึงขอยกตัวอย่างมาให้ทุกคนลองเช็กตัวเองว่า เราเผลอมีความคิดแบบ toxic positivity ในที่ทำงานหรือเปล่า และมาดูเหตุผลกันว่าทำไมมันจึงเป็นความคิดที่ส่งผลเสียในระยะยาวได้
“คิดบวกเข้าไว้” ในเรื่องที่ควรจะกังวล
ปัญหาในที่ทำงานมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะภาระงานที่หนักเกินไป เจอเจ้านายไร้เหตุผล โดนกลั่นแกล้งหรือ sexual harassment จากเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง แต่เมื่อนำเรื่องนี้มาพูดในวงอาหารกลางวัน กลับได้รับคำแนะนำว่า “อย่าคิดมากเลย ทุกคนก็เจอมาหมดแล้ว” “ลองมองในแง่ดีก่อน มันอาจจะไม่มีอะไรก็ได้” หรือแม้กระทั่งในยามที่บริษัทเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ เจ้านายก็ยังพยายามบอกกับลูกน้องว่า “อย่าเพิ่งกังวล ทุกอย่างจะต้องโอเค”
ซึ่งคำพูดเหล่านั้นคือการเพิกเฉยต่อปัญหาที่รอการแก้ไข แถมยังเป็นการสานต่อให้มันลุกลามไปจนยากจะที่จะดับ รู้ตัวอีกทีก็พบว่าเรากำลังถือซองขาวอยู่ในมือ และรอที่จะยื่นได้ทุกเมื่อ
ทำงานล่วงเวลาแปลว่าขยัน
work hard, die fast งานหนักไม่เคยทำร้ายใคร แต่อาจจะฆ่าให้ตายทีเดียวซะมากกว่า เราต่างติดกับดักของโลกทุนนิยมด้วยคำว่า productivity โลกที่คนทำงานหามรุ่งหามค่ำได้รับการยกย่องเชิดชู อวดกันอดหลับอดนอน และทุกนาทีที่เผลอนั่งอยู่เฉยๆ จะรู้สึกเหมือนเป็นช่วงเวลาที่เสียเปล่าและไร้ประโยชน์
โดยลืมไปว่าชีวิตประจำวันไม่จำเป็นจะต้องอุทิศให้กับการทำงานมากมายขนาดนั้น เพราะจำนวนชั่วโมงไม่ได้แปรผันตรงกับประสิทธิภาพในการทำงานเสมอไป ยิ่งปริมาณของงานนั้นไม่สัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ได้ เราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าเรากำลังจัดสรรเวลาผิดหรือเปล่า ถ้าคิดว่าถูกต้องแล้ว ก็ต้องมามองว่าภาระงานของบริษัทนั้นเกิดขอบเขตที่ควรจะเป็นมั้ย ก่อนที่ work life balance จะกลายเป็น work ไร้ balance แทน
เก็บคำด่าของเจ้านาย มาใช้เป็นแรงผลักดัน
เรียกไปบ่นเช้า บ่นเย็น บ่นแม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่ผิด แต่ดันคิดว่านั่นอาจจะเป็นเชื้อเพลิงที่ดีในการพัฒนาตัวเองก็ได้ ซึ่งวิธีคิดนี้ก็ไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด เพราะในช่วงเวลานั้นหากเก็บทุกคำมาบั่นทอนจิตใจ ก็คงไม่ได้ทำงานต่อกันพอดี แต่สักพักเราจะรู้สึกว่าเชื้อเพลิงนั้นเป็นเชื้อเพลิงเสีย ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เรามีกำลังใจทำงานมากขนาดนั้น และก็พบแล้วว่าคำติเตือนที่ไม่มีคำด่าหรือคำสบประมาท ก็ช่วยให้เรามีแรงที่จะทำงานต่อได้เช่นเดียวกัน
โดนสั่งงานนอกเหนือที่ตกลงไว้ แต่ “ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นโอกาส”
อ่าวเห้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า พลิกหน้ากระดาษดู job description ซ้ำไปซ้ำมา ก็ไม่เห็นว่าเราจะต้องทำหน้าที่นี้เลย แต่เมื่อได้รับมอบหมายมาแล้ว จะปฏิเสธก็กลัวจะถูกเจ้านายมองไม่ดี งั้นคิดซะว่านี่เป็นโอกาสที่เขาหยิบยื่นมาให้ก็แล้วกัน และที่เขาเลือกเรานั้น ก็เพราะว่าเขาไว้ใจเราเป็นพิเศษแหละ
แต่หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าเราอยู่ในจุดเดียวกับป้ารุจ คุณรุจ และยามรุจ ในซิทคอมเรื่องเนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร เวอร์ชั่นที่ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แต่มีของแถมเป็นโรคเครียดและปัญหาสุขภาพที่ตามมา
ถูกกดขี่แค่ไหน แต่ “เอาน่า อย่างน้อยเราก็ยังมีงานให้ทำ”
ถ้าไม่ใช่ในช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ จนไม่ว่ายังไงก็ต้องเกาะงานประจำเอาไว้ก่อน การมีความคิดที่เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “อย่างน้อย…” ถือเป็นกับดักชั้นดีที่ทำให้เราไม่กล้าก้าวขาออกไปไหน แม้ในช่วงเวลานั้นเราจะโดนกดเงินเดือน ตัดโบนัส โดนใช้งานสารพัด หรือถูกดองการเลื่อนตำแหน่งเอาไว้มานานก็ตาม
ซึ่งที่จริงแล้วเรามีคุณค่าต่อองค์กรมากกว่านั้น เพียงแค่เราอาจยืนอยู่ผิดที่ เพราะถ้าเราลองเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เห็นความสำคัญของเราเมื่อไหร่ เราจะไม่ต้องมานั่งปลอบใจตัวเองว่า “อย่างน้อย…” เลยสักครั้ง
ลึกๆ ทุกคนน่าจะรู้ดีแหละว่าต้นตอของปัญหาเหล่านี้ มาจากตัวเราเองหรือความไม่ชัดเจนของบริษัท เพียงแต่เราเลือกที่จะ ‘หลีกเลี่ยง’ ไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความวุ่นวายในอนาคต ไม่อยากผิดใจกับเจ้านาย ไม่อยากลาออกไปสมัครงานใหม่ หรือไม่อยากดูเป็นพนักงานที่ไม่ทุ่มเท แต่แล้วปัญหานั้นก็ถูกปล่อยทิ้งไว้แบบคาราคาซัง บิดวัฒนธรรมหรือค่านิยมในองค์กรให้เบี้ยวไปหมด จนในท้ายที่สุด หวยมาออกที่พนักงานตัวเล็กๆ ที่เผชิญกับภาวะหมดไฟ ซึ่งยากจะสุมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ฉะนั้น การกลับมามองที่ความเป็นจริงและยอมรับความรู้สึกเชิงลบว่าเรากำลังเหนื่อย หรือรู้สึกว่าอะไรหลายๆ อย่างไม่เมคเซนส์ ไม่ยุติธรรม อาจจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาวมากกว่า เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายอมรับความคิดและความรู้สึกเหล่านั้นได้ ก็จะเป็นการเปิดประตูให้ตัวเราและคนอื่นๆ ในบริษัทเข้ามาร่วมกันหาทางแก้ไข ไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นอีก
อ้างอิงข้อมูลจาก