เคยไหม? ต้องทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ทำลายความมั่นใจเรามากกว่า ต้องไปงานสัมมนาในวันหยุด แต่ไม่ได้อะไรกลับมานอกจากความง่วง หรือต้องร่วมทริปสานสัมพันธ์ที่เหมือนจะช่วยสร้างความร้าวฉานได้มากกว่า
นอกจากการทำงานตาม job description แล้ว บางครั้งบริษัทมักจะมีกิจกรรมพัฒนาทักษะหรือกระชับความสัมพันธ์ของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการอบรม เวิร์คช็อป outing และอีกสารพัดสิ่งที่มาพร้อมความคาดหวังให้เราเข้าร่วม ซึ่งถ้ากิจกรรมเหล่านี้ถูกออกแบบมาอย่างดีคงไม่มีปัญหาอะไร แถมยังส่งผลดีทั้งต่อพนักงานและบริษัทด้วยซ้ำ แต่บางครั้งเรากลับต้องเจอกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกหมดไฟจนอยากยื่นใบลาออกเสียมากกว่า
เพราะใช้เวลาไปกับสิ่งที่ไม่รู้ว่า ‘ทำไปทำไม’
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานหมดใจจะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของบริษัท คือความรู้สึก ‘ไม่รู้จะทำไปทำไม’ เพราะเนื้อหาของกิจกรรมไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากเรียนรู้ และไม่สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้จริงๆ โดยในเว็บไซต์ BBC เขียนถึงประเด็นนี้ว่า การให้พนักงานทุกคน ทุกฝ่าย ทำกิจกรรมแบบเดียวกันหมดอาจสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าไร เพราะพนักงานแต่ละคนมีทักษะ มีความสนใจ มีสิ่งที่อยากจะเรียนรู้แตกต่างกันออกไป ยิ่งบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าต้องการให้พนักงานได้เรียนรู้อะไร ไม่เคยติดตามว่าพนักงานได้นำทักษะเหล่านี้ไปใช้หรือไม่ ยิ่งสร้างความรู้สึกต่อต้านมากกว่าอยากเข้าร่วมอย่างเต็มใจ
แถมบางกิจกรรมมักจะกินเวลาในวันหยุดอยู่บ่อยๆ หรือต่อให้อยู่ในเวลางาน แต่ปริมาณงานกลับไม่ได้ลดลงไปด้วย สุดท้ายก็จบที่การทำงานล่วงเวลาอยู่ดี พอเจอแบบนี้ต่อให้กิจกรรมน่าสนใจหรือมีประโยชน์แค่ไหน พนักงานคงไม่สามารถจดจ่อได้เต็มที่เพราะมัวกังวลว่างานทั้งหมดเสร็จทันเดดไลน์หรือเปล่า
กิจกรรมสานสัมพันธ์ที่ทำให้อยากยื่นใบลาออก
อีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนเจอ คือปัญหาในกิจกรรมสานสัมพันธ์หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Team Building โดยในเว็บไซต์ forbes.com ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรม Team Building ที่กลายเป็นการสร้างความร้าวฉานกับเพื่อนร่วมงานมากกว่า ซึ่งพบว่ามีตั้งแต่การให้พนักงานทำในสิ่งที่ไม่สะดวกใจ เช่น บังคับให้มนุษย์ขี้อายลุกมาเต้นไก่ย่างท่ามกลางฝูงชน การเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันมากเกินไปจนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคู่แข่งกันมากกว่า หรือแม้แต่ความสับสนว่า ‘การทำงานเป็นทีม’ (teamwork) กับ ‘การเข้าสังคม’ (socializing) เป็นเรื่องเดียวกัน จนเกิดเป็นกิจกรรมชวนอึดอัด อย่างการกดดันให้แชร์เรื่องส่วนตัวต่อหน้าคนอื่นๆ หรือการจัดอีเวนต์ให้พนักงานต้องเข้าสังคมเยอะๆ
และแม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะไม่ได้มีกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการ หรือมีผลต่อการประเมินผลงานของเราโดยตรง แต่บางทีก็มีการกดดันให้เข้าร่วมอยู่บ่อยๆ อย่างคำพูดทำนองว่า ‘ไม่ได้บังคับนะ แต่ถ้าสะดวกก็อยากให้มากันทุกคน’ หรือทีท่าต่อต้านหลังการปฏิเสธที่ต่อให้จิตใจเข้มแข็งแค่ไหน แต่เวลาได้ยินบ่อยๆ ก็รู้สึกอึดอัดใจได้เหมือนกัน
“บริษัทเรามี outing หรือทริปเที่ยวอะไรสักอย่างที่มารบกวนวันหยุดเรา จริงๆ ถ้าเราปฏิเสธหรือบอกว่าไม่ไปแล้ว มันควรจะจบ แต่เขาตอบกลับมาว่า งานก็ฟรี เพื่อนในทีมไปกันทุกคน ทำไมไม่ไปล่ะ บางทีก็บอกว่ามีปัญหาเยอะแยะมากมายในบริษัท แต่เดี๋ยวไปคุยในทริปแทนแล้วกัน” A พนักงานบริษัทวัย 25ปี เล่าถึงทริปบริษัทที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้รู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นแล้ว ยังเร่งให้เขามองหางานที่ใหม่ซะมากกว่า
แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากกิจกรรมเชิงให้ความรู้หรือสานสัมพันธ์ จุดร่วมเดียวกันคงจะเป็นการมองข้ามความคาดหวังและความต้องการที่แท้จริงของคนเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้น เช่น ทักษะที่ต้องเติมคือเรื่องไหน โหลดงานตอนนี้เป็นยังไง คาดหวังอะไรจากกิจกรรมเหล่านี้บ้าง เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ของ gallup บริษัทให้คำปรึกษาผู้นำและองค์กรต่างๆ ที่ระบุว่า สาเหตุที่พนักงานไม่อยากมีส่วนร่วมอาจเป็นเพราะการขาดความร่วมมือระหว่างคนที่รับผิดชอบการจัดกิจกรรม เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล กับคนที่อยู่ใกล้ชิดพนักงานมากกว่า เข้าใจปัญหาหน้างานมากกว่า เช่น หัวหน้าฝ่าย หรือแม้แต่ตัวพนักงานเอง
ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการหาตรงกลางระหว่าง เป้าหมายขององค์กร กับ ความคาดหวังของพนักงาน เพราะสุดท้ายแล้วคงไม่คุ้มกัน ถ้าเราต้องแลกเงิน เวลา และทรัพยากรมหาศาลไปกับกิจกรรมที่กดดันให้พนักงานยอมทำตามในช่วงเวลาสั้นๆ แต่กลับไม่ส่งผลดีต่อใครเลยในระยะยาว
อ้างอิงจาก