เวลามีเรื่องทุกข์ใจ อยากบ่น อยากระบายมากๆ เรามักจะพุ่งไปหาคนที่สนิทใจ หรือคนที่สามารถโทรไปเล่าเรื่องแย่ๆ ที่เจอมาได้ทันที อย่างเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก แต่พอไปบ่น ไประบายบ่อยๆ เรากลับรู้สึกผิดลึกๆ เพราะกลัวจะเอาความเครียดไปทิ้งไว้ที่พวกเขามากเกินไป หรือโดนมองว่าเป็นคนน่ารำคาญโดยไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุนี้ เราจึงย้ายพื้นที่ระบายอารมณ์ไปไว้ที่อื่นที่ไม่มีใครรู้จัก หรือบางคนอาจจะบอกว่า “ระบายกับคนแปลกหน้าสิ สบายใจที่สุดแล้ว” ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ แถมไม่สร้างความลำบากใจให้กับคนที่เราสนิทในชีวิตจริงด้วย ทำให้ ‘โซเชียลมีเดีย’ กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้คนเลือกใช้เป็นไดอารี่ เพื่อเล่าประสบการณ์หรือระบายความรู้สึกของตนเองมากขึ้น
หากใครชอบเลื่อนลงไปอ่านคอมเมนต์ใน Youtube บ่อยๆ ก็อาจจะสังเกตเห็นว่าประเภทของคอมเมนต์ใต้เพลงเศร้าส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง ไม่ “ปี 20xx แล้วยังฟังอยู่เลย” “เย่ๆ เมนต์แรก” “ใครตามมาจากคลิปนั้นบ้าง” ก็เห็นจะเป็นคอมเมนต์ ‘เล่าประสบการณ์’ ของตนเอง ที่มีทั้งเรื่องเศร้า เรื่องน่าอาย หรือเรื่องราวสะเทือนใจในอดีต หรือเวลาดูคลิปเล่าประสบการณ์แย่ๆ ใน TikTok ก็จะมีใครที่ไหนไม่รู้เข้ามาคอมเมนต์เล่าเรื่องของตนเองบ้าง
การกระทำนี้ถูกเรียกว่า Trauma Dumping หรือที่ใน Urban Dictionary ให้ความหมายไว้ว่า การทิ้งหรือถ่ายเทอารมณ์ทั้งหมดอย่างไม่ปราณีไปให้กับเพื่อนหรือคนรู้จัก ซึ่งปัจจุบันรวมถึงคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ด้วย
ดาบสองคมของการระบายความบอบช้ำ
trauma dumping ไม่ใช่ศัพท์เฉพาะในทางจิตวิทยา แต่เป็นศัพท์ที่ใช้อธิบายการกระทำหนึ่งที่เกิดขึ้นทั้งในบริบทของชีวิตจริงและโลกออนไลน์ ซึ่งนักจิตอายุรเวทวัยรุ่นและยูทูบเบอร์ มาลลอรี่ กริมส์ต (Mallory Grimste) ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โดย ‘ไม่ได้ขออนุญาต’ อีกฝ่าย ที่เขาต้องมาได้ยิน ได้อ่าน หรือโต้ตอบกับข้อมูลนั้น
ศัพท์คำนี้ได้ถูกบันทึกการใช้ไว้ครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ.2018 โดยยูทูบเบอร์และนักจัดรายการพอดแคสต์ รูเบน แองเจิล (Ruben Angel) ซึ่งเขาทวีตว่า “เพียงเพราะฉันเป็นคนที่สนับสนุนผู้รอดชีวิต และเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) เป็นประจำ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถเข้ามาทิ้งบาดแผล (trauma dump) เอาไว้ที่ฉันได้” เนื่องจากเธอได้รับข้อความที่คนแปลกหน้าเข้ามาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวอยู่บ่อยๆ
แม้ว่ากระแส trauma dumping จะมีมานานหลายปีแล้ว และเราก็เห็นกันจนชินตา แต่จะสังเกตได้ว่าช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผู้คนต้องกักตัวกันอย่างโดดเดี่ยว และการเป็นที่นิยมของแอปพลิเคชัน TikTok ทำให้เกิดกระแส trama dumping มากขึ้น เนื่องจากพวกเขาต้องการพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวและความรู้สึกของตนเอง ดูเผินๆ การกระทำนี้เหมือนจะเป็นการเยียวยาจิตใจของใครหลายคน เพราะพวกเขาได้พูด ได้ระบาย ได้แบ่งปันความบอบช้ำที่เก็บเอาไว้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า การแบ่งปันเรื่องราวที่มากจนเกินไป (oversharing) อาจเป็นผลเสียได้ทั้งต่อตัวคนที่เล่า และคนที่เข้าไปคอมเมนต์ใต้โพสต์ของคนอื่น
แชนนอน โธมัส (Shannon Thomas) นักบำบัดโรคเจ็บปวดทางจิตใจ กล่าวว่า การไปทิ้งเรื่องราวบอบช้ำให้กับคนแปลกหน้า เหมือนเป็นการสร้างความบอบช้ำแบบทุตยภูมิ (secondary trauma) หรือสร้างความบอบช้ำอีกขั้นหนึ่งให้กับพวกเขา และอาจสร้างความบอบช้ำได้หนักกว่าเดิมด้วย เนื่องจากคนที่เข้าไปแบ่งปันมีการเพิ่มเติมรายละเอียดที่สะเทือนใจเข้าไป โดยที่ผู้รับไม่ต้องการที่จะรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นแล้ว
อย่างที่ ราเชล ชาร์ลตัล-เดย์ลี (Rachel Charlton-Daily) นักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ทุพพลภาพ ได้เคยเผชิญและออกมาเผยว่า เธอทำงานเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงในครอบครัว ผ่านการพูดและเขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งเธอมักจะได้รับ direct message ที่น่ารำคาญอยู่บ่อยๆ จากคนที่เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวหรือภาพเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ โดยไม่มีการเตือนเธอล่วงหน้าเลย
“มันกระตุ้นให้ฉันรู้สึกแย่ได้จริงๆ เพราะความเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งที่ฉันได้เผชิญมา และต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับมัน” เธอกล่าว
ด้าน ชาร์ลส์ ฟิกลีย์ (Charles Figley) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาการบอบช้ำทางจิตใจ ได้เขียนอธิบายในหนังสือของเขาที่ชื่อ Compassion Fatigue: Coping with Secondary Traumatic Stress Disorder in Those Who Treat The Traumatized ว่า อาการบอบช้ำแบบทุตยภูมิ สามารถนำไปสู่กลุ่มอาการที่เกือบจะเหมือนกับคนเป็นโรค PTSD ได้เลย เพราะมันทำให้คนคนนั้นระลึกถึงเหตุการณ์ย้อนหลัง มีรูปแบบการนอนหลับที่ผิดปกติ หยุดทำกิจกรรมประจำวันที่เคยทำ แสดงความโกรธแบบฉับพลัน ไปจนถึงมีการระงับความจำของตนเอง
ถึงอย่างนั้น ผู้ใช้งาน TikTok ก็ยังยืนยันว่าแฟลตฟอร์มนี้ ควรจะเป็นพื้นที่ที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวได้ จึงเป็นที่มาของการระบุแฮชแท็ก #TraumaDumping ไว้ในแคปชัน ซึ่งเนื้อหาในนั้นก็มีการเล่าถึงเรื่องราวสะเทือนใจ ตั้งแต่การถูกล่วงละเมิด การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงความผิดปกติทางจิตใจ หรือบางคนน่าจะเคยเห็นกระแสการทำคลิป ‘Put a finger down’ หรือเทรนด์ที่คนในคลิปจะยกนิ้วขึ้นมาสิบนิ้ว หากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เคยเกิดขึ้นกับพวกเขา พวกเขาก็จะค่อยๆ เอานิ้วลงทีละนิ้ว ซึ่งเหตุการณ์บางส่วนในนั้นเกี่ยวข้องกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศและภาวะซึมเศร้า
โดยแฮชแท็ก #TraumaDump และ #TruamaDumping ได้รับยอดวิวมากถึง 20 ล้านวิว เป็นแฮชแท็กที่เต็มไปด้วยเรื่องราวหรือประสบการณ์เจ็บปวดในอดีต ทั้งในคลิปวิดีโอและคอมเมนต์จากคนแปลกหน้า
แม้ trauma dumping จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกออนไลน์ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงการแสดงออกทางอารมณ์ของตนเอง ซึ่งสวนทางกับสังคมที่คอยบอกให้ข่มเอาไว้ตลอดเวลา แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าเป็นการกระทำที่อาจมีผลเสียมากกว่า เนื่องจากการแบ่งปันที่มากเกินไป ทั้งยังไม่มีการติด trigger warning หรือเตือนเอาไว้ล่วงหน้าว่ากำลังจะเจอกับเนื้อหาแบบไหน อาจทำให้บางคนถูกกระตุ้นความรู้สึกหรือความทรงจำแย่ๆ ในอดีตได้โดยไม่ทันตั้งตัว
นอกจากนี้ การแบ่งปันความบอบช้ำที่มีรายละเอียดหรือข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อาจเป็นการเปิดประตูให้เกิดความบอบช้ำที่มากกว่าเดิม หากมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลนั้นไปเผยแพร่ต่อ หรือโพสต์ไปแล้วได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงกลับมาจากคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์
การระบายความบอบช้ำที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
จริงๆ แล้วการระบาย (venting) เป็นการปลดปล่อยหรือบรรเทาอารมณ์เชิงลบที่ดีต่อสุขภาพนะ ไม่ว่าจะเป็นการบ่น การเขียน หรือการกอดใครสักคนแล้วร้องไห้ออกมา เพราะมันช่วยให้เราได้ก้าวข้ามความรู้สึก แล้วไปทำอย่างอื่นต่อได้ ยิ่งถ้าเจอคนที่พร้อมจะรับฟังและยินดียื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เราก็อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ กลับไป หรือได้สะท้อนความคิดของตัวเองเพื่อหาทางออกอีกด้วย
แต่ trauma dumping ที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ นอกจากรายละเอียดของเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์จะถูกส่งไปยังผู้ฟังโดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตแล้ว ยังเป็นการแบ่งปันที่มากจนเกิดความเสี่ยง บางคนอาจมองว่าการแบ่งปันเรื่องราวเหล่านี้ จะทำให้คนอื่นรู้จักตัวตนของพวกเขามากขึ้น แต่การรู้จักตัวตนผ่านเรื่องราวสะเทือนใจในอดีต ไม่ได้ทำให้คนอื่นรู้จักตัวเราได้ทั้งหมด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด การถูกตัดสิน หรือการถูกตีตราได้อีกด้วย เพราะต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์กว้างขวางเกินกว่าจะมีเพียงแค่กลุ่มคนที่คิดตรงกันกับเรา
แชนนอนกล่าวว่า trauma dumping เป็นผลมาจากสื่อสังคมออนไลน์ที่บิดเบือนแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ขอบเขตส่วนบุคคล’ เนื่องจากการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ ทำให้การรับรู้เกี่ยวกับ ‘ความปลอดภัย’ ในข้อมูลส่วนตัวผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาพร้อมกับการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ในโลกออนไลน์ เส้นแบ่งระหว่างอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์และชีวิตจริงของพวกเขาจะเริ่มเบลอ ทำให้ประเมินไม่ถูกว่าตนเองหรือคนอื่นกำลังแบ่งปันอะไรที่มากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งสามารถนำไปสู่การขาดขอบเขตที่ดีต่อสุขภาพได้
นอกจากนี้ การทิ้งเรื่องราวสะเทือนใจของตนเองในโลกโซเชียลมีเดียบ่อยๆ อาจทำให้เกิด ‘การเสพติด’ ไปด้วย เพราะเมื่อมีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ก็จะชินกับการนำไปเล่าลงแฟลตฟอร์มต่างๆ หรือเห็นคนนี้เล่าเรื่องราวเดียวกันก็ไปคอมเมนต์ระบายใน direct message ของเขา โดยไม่คำนึงว่าเขาอยากรู้หรือไม่ รวมถึงอาจเกิด ‘ความผิดหวัง’ หากไม่ได้รับการปลอบใจจากคนที่ผ่านมาเห็นเรื่องราวนั้น หรือจะรู้สึกดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้ามาคอมเมนต์ว่า “เราก็เคยผ่านเรื่องราวนี้มาเหมือนกัน” “เสียใจด้วยนะ” หรือ “ขอให้ผ่านไปได้ด้วยดี” ซึ่งถ้าไม่มีการกดไลก์หรือข้อความปลอบใจเหล่านี้ ก็อาจทำให้รู้สึกแย่หนักกว่าเดิม
ด้วยเหตุนี้ จึงอยากชวนมาเปลี่ยนวิธีระบายอารมณ์ผ่านวิธีอื่นๆ ที่ส่งผลดีทั้งต่อตัวเรา คนรอบข้าง และคนแปลกหน้า เช่น
- จดบันทึก สมุดบันทึกเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการปลดปล่อยอารมณ์เชิงลบ นอกจากจะเป็นความลับที่ไม่มีใครหาเจอแล้ว เรายังจะได้ไตร่ตรองความคิดและความรู้สึกเราไปในระหว่างที่กำลังเขียนด้วย
- ฝึกสมาธิและสติ บางครั้งเมื่อเรามีสติหรือลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ ฝึกหายใจให้อารมณ์เย็นลง ก็อาจจะช่วยให้รับมือกับความเจ็บปวดได้ดียิ่งขึ้น
- ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้สารเคมีในร่างกายสมดุลขึ้น นอกจากลดฮอร์โมนความเครียดไปได้ ยังช่วยให้เราโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ามากขึ้นอีกด้วย
- ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยกระตุ้นอารมณ์เชิงบวก ช่วยให้จิตใจ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ หรือทำอาหาร
- พบผู้เชี่ยวชาญ คนรอบข้างหรือคนแปลกหน้าไม่ใช่นักจิตบำบัด และพวกเขาเองก็อาจจะมีเรื่องทุกข์ใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว วิธีที่รักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้ และยังเจอกับทางออกที่มีประสิทธิภาพ คือการพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเราพิมพ์บ่นอะไรลงโซเชียลมีเดีย หรือเล่าเรื่องราวเป็นอุทาหรณ์แก่คนอื่นๆ ไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่ตามมา เพราะทุกอย่างที่เราโพสต์ลงไปล้วนทิ้งร่องรอยหรือ digital footprint เสมอ หรือบางทีแค่บ่นลอยๆ ในพื้นที่ของตนเอง ก็มีคนนำไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อได้ และผลเสียที่ตามมาก็คือจิตใจเราเองที่พังมากกว่าเดิม
การเยียวยาจิตใจด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การคอมเมนต์ใต้โพสต์ของคนแปลกหน้า หรือจู่ๆ โทรไประเบิดให้เพื่อนฟัง นอกจากจะเป็นการรักษามิตรภาพที่ดี ป้องกันการถูกตัดสินใจคนแปลกหน้า และไม่ไปกระตุ้นความรู้สึกหรือความทรงจำแย่ๆ ของคนอื่นแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เรามี self-awareness หรือตระหนักในตนเองมากขึ้น เพราะเราไม่ได้แค่แบ่งปันความเจ็บปวดและคาดหวังให้ผู้อื่นมาเห็นใจเท่านั้น แต่เรายังได้เรียนรู้บางอย่างผ่านความเจ็บปวดนั้นไปพร้อมๆ กันด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก