เพื่อนร่วมงานกวนประสาท ตารางงานทับถม เจ้านายไม่เป็นธรรม สารพัดปัญหาที่กระตุ้นให้โกรธจนเก็บอาการไม่อยู่ (และไม่อยากจะเก็บ) แต่พออยู่ในที่ทำงาน จะเม้งแตกกับทุกอย่างที่ขวางหน้าก็ไม่ได้ เพราะการแสดงออกทางอารมณ์ในทุกอย่างที่คิด อาจทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ แล้วถ้ามีเรื่องให้หัวร้อนในออฟฟิศ เราจะแสดงออกยังไงดีนะ?
ในวันทำงานที่มีเรื่องชวนให้หัวร้อน มาลดอารมณ์ตัวเองลงก่อนจะแสดงออกอะไรไป ผลการวิจัย ‘Losing Your Temper and Your Perspective: Anger Reduces Perspective-Taking’ จาก Georgetown University บอกไว้ว่า ทุกครั้งเวลาเราโกรธจนหูดับเนี่ย เรามักจะสูญเสียความสามารถในการมองที่ปัญหาต้นตอ จนทำให้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาลดลงตามไปด้วย
สิ่งเหล่านั้น อาจออกมาในรูปแบบของความคิด เช่น การโทษคนอื่น คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ไม่มองถึงปัญหาต้นตอ หรือมองปัญหาผิดจุด และอาจพ่วงมาด้วยการแสดงออกทางสีหน้า (microexpression) เช่น มือสั่น ปากสั่น หรือแววตาแข็งกร้าว แต่เอ๊ะ ถ้าหากเราเจอเรื่องให้หัวร้อน หมายความว่าเราไม่อาจแสดงออกอะไรได้งั้นหรอถึงจะเป็นคนที่ฉลาดทางอารมณ์?
คำตอบคือ ไม่ใช่แหละ ความฉลาดทางอารมณ์ คือการรู้จักแสดงออกอย่างเหมาะสม เมื่อเจอปัญหา แล้วอารมณ์ของเราไม่ได้เป็นปกติ
เพราะการแสดงออกในที่ทำงาน ส่งผลถึงภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมงาน นั่นอาจรวมไปถึงการขยับขยายตำแหน่ง เงินเดือน หรือโบนัสด้วย ส่วนหนึ่ง การแสดงออกของเราจึงกระทบหลายๆ อย่างที่เชื่อมกันอยู่ด้วยความสัมพันธ์ล่องหน เราจึงจำเป็นต้องไตร่ตรองทุกการกระทำและการแสดงออกของเราให้ถี่ถ้วน
เราเลยมีวิธีคูลดาวน์ตัวเองเมื่อหัวร้อนในที่ทำงาน เพื่อให้แสดงออกอย่างเหมาะสมมาแนะนำ
รับรู้และลดความโกรธลง
ก่อนอื่นที่เราจะลดความโกรธของตัวเองลงได้ เราต้องยอมรับก่อนว่าเราเองกำลังโกรธอยู่นะ ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกตินะ ปกติแล้วเราไม่เสียงดัง ไม่มือสั่น แบบนี้หรือเปล่า ด้วยกลไกของจิตใจเรานี่แหละที่มักจะปกป้องตนเองก่อนเสมอ เมื่อเกิดอะไรมาสะกิดต่อมความโกรธเรา เรามักจะโฟกัสไปที่สิ่งที่เราถูกกระทำ จนเราอาจลืมโฟกัสอารมณ์ของตัวเองไปว่าเรากำลังโกรธอยู่นะ เราแสดงออกไปด้วยอารมณ์รุนแรงอยู่
เมื่อรู้ตัวว่าเรากำลังโกรธ อย่าปล่อยให้มันไปไกลจนถึงที่สุด พยายามทำให้ตัวเองเย็นลงด้วยวิธีที่เราคิดว่ามันช่วยเราได้ อาจออกไปเดินเล่น ดื่มน้ำเย็นๆ โทรหาใครสักคนที่ไว้ใจและรับฟัง ถามตัวเองว่าตอนนี้เราดูเป็นยังไง แล้วเราชอบตัวเองที่เป็นแบบนี้หรือเปล่า? จากนั้นค่อยๆ ปรับอารมณ์ตัวเองลง หรืออะไรก็ได้ที่จะไม่ทำให้เราฟาดงวงฟาดงาใส่ทุกคนที่สนทนาด้วย
ระมัดระวังคำพูดเสมอ
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย ต้องระมัดระวังคำพูดของเราเอาไว้มากๆ แน่ล่ะ เมื่อเกิดความไม่พอใจ เราอาจจะอยากเสียดสี ประชดประชัน เหน็บแนม หรือแม้แต่ใช้คำหยาบ แต่สิ่งเหล่านั้นนอกจากความสะใจแล้ว เราจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย และยังมีโอกาสสร้างความเข้าใจผิดมากขึ้นมากกว่าปัญหาที่มีอยู่อีกด้วย
จึงควรที่จะเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายโดยตรง ชัดเจน แบบไม่ต้องให้อีกฝ่ายตีความไปเอง ไม่ชวนให้เข้าใจผิด เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาด
เรียนรู้ว่าอะไรทำให้เราโกรธ
พยายามมองหาปัญหาให้ได้ก่อนว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องชวนหัวร้อนนี้คืออะไร แล้วมองอีกขั้นนึงว่า เราโกรธอะไรในเรื่องนี้ โกรธความไม่ยุติธรรม ความลำเอียง โกรธท่าทียียวนกวนประสาท โกรธความไม่ร่วมมือกันของทีม หรืออะไรก็ตาม เพื่อให้เราเรียนรู้ว่าสิ่งนี้ทำให้เราโกรธ เมื่อเกิดปัญหาครั้งหน้า อาจมีสิ่งที่กระตุ้นให้เราโกรธโผล่มาอีก แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เราจึงรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว
ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ และไม่ใช่เรื่องผิดอะไร สิ่งที่ควรระวังเมื่อเราโกรธ คือการแสดงออกมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก