เผลอแปบเดียวชีวิตก็เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2022 ปีที่ความไม่แน่นอนแวะมาทักทายเราอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะโรคระบาด พิษเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางการเมือง จนอยากจะขอบคุณตัวเองที่อุตส่าห์ฝ่าฟันมาได้จนถึงช่วงสิ้นปี และมีความหวังว่าปีหน้าจะถึงช่วงเวลาของฟ้าหลังฝนกันสักที
ในรายงานเจาะเทรนด์โลก 2023 โดย ‘คิด Creative Thailand’ เลยยกให้คำว่า ‘Co-Topia’ หรือการผสมผสานโลกความจริงเข้ากับความหวังและจินตนาการ เป็นตีมหลักของปีหน้า เพราะเหมาะกับช่วงที่เรากำลังก้าวผ่านโหมดเอาชีวิตรอด มาสู่การฟื้นตัวอย่างความหวังกันอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ค่อยๆ ดีขึ้น
เทรนด์โลกปี 2023 จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ผู้คนกำลังสนใจอะไรบ้าง มาอัปเดตไปพร้อมกันในบทความนี้เลย
เทรนด์สีปี 2023
คิด Creative Thailand ได้รวบรวมการวิเคราะห์จากสำนักเทรนด์ต่างๆ ว่าสีไหนบ้างที่สะท้อนถึงบรรยากาศของปี 2023 โดยสรุปออกมาเป็น 7 สีหลักที่มีทั้งโทนสีสดใส สื่อถึงการมองโลกในแง่ดี และโทนสีเข้มสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในปีหน้า
- เหลืองอ่อน (Elfin Yellow)
สีเหลืองอ่อนเป็นสีที่บ่งบอกถึงความหวัง ความอ่อนโยน และเป็นธรรมชาติ แถมยังตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืนยุคนี้เพราะจับคู่กับสีอื่นได้ง่าย ใช้ซ้ำได้ไม่เบื่อ แถมเป็นสีของวัสดุรีไซเคิลบางประเภท ส่วนใหญ่เลยนำมาใช้กับเสื้อผ้า ของแต่งบ้าน หรือสิ่งของที่อยากใช้ไปนานๆ
- ส้มแอปริคอต (Golden Apricot)
สีเหลืองทองอมส้ม หรือ Golden Apricot เคยเป็นที่นิยมมากในยุค 80s เลยเป็นสีที่ทั้งสนุกและเยียวยาหัวใจเพราะทำให้เราได้นึกย้อนถึงวันเก่าๆ (Nostalgia) นอกจากนี้ Golden Apricot ยังทำให้นึกถึงธรรมชาติดั้งเดิม และเป็นหัวใจของสไตล์ฮิปปี้ที่สื่อถึงความเป็นเด็ก รักอิสระ มองโลกในแง่ดี สีนี้เลยมักจะอยู่ในเสื้อผ้าเด็ก เครื่องสำอาง หรือใช้ตกแต่งผนังห้องให้ดูไม่น่าเบื่อ
- เขียวมะนาว (Lime Green)
สีเขียวมะนาวเกิดจากการลดทอนสีเขียวนีออนให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยสื่อถึงความรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ครีเอเตอร์เลยมักจะใช้บ่งบอกถึงเทคโนโลยี และโลกเมตาเวิร์สที่ไม่เคยหลับใหล นอกจากนี้เมื่อสีเขียวนีออนสะท้อนผ่านปริซึมจะออกมาเป็นสีรุ้งสดใส เลยมักจะใช้เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศด้วยเช่นกัน
- เขียวอมฟ้า (Deep Lake)
สีเขียวอมฟ้าบ่งบอกการต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นตัวแทนของเหล่านักเคลื่อนไหว (Activist) เพราะยุค 1980 สีนี้เคยใช้เป็นตัวแทนความกล้าหาญของนักกีฬา รวมทั้งเป็นเม็ดสีที่เกิดขึ้นหลังจากโลหะทองแดงถูกกัดกร่อนจากการออกซิเดชั่น นอกจากนี้บริษัท Italian Bank ยังให้ความเห็นว่าสีเขียว Deep Lake ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ลึกลับและหรูหราได้ในเวลาเดียวกัน
- แดงก่ำ (Scarlet Sage)
สีแดงก่ำเป็นตัวแทนของมรดกทางความคิด ภูมิปัญญา และเชื่อมโยงกับประชากรพื้นเมือง โทนสีนี้เลยมักจะอยู่ในผลงานศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นหลัก โดยคาดว่าสีแดงก่ำเป็นเฉดสีหลักในฤดูร้อนปี 2023 ที่ต้องการเติมพลัง ความหลงใหลและสร้างความรู้สึกเหนือจริง
- สีม่วงเข้ม (Phlox)
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นสีม่วงในงานที่เกี่ยวข้องกับโลกอนาคตอยู่บ่อยๆ เพราะเป็นตัวแทนของแนวคิดด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยข้อมูลจากสำนักเทรนด์ NellyRodi บอกว่าสีม่วงเข้มเชื่อมโยงกับโลกเมตาเวิร์ส ส่วนสำนักเทรนด์ viewpoint มองว่าสีนี้เป็นตัวแทนของความเหนือจริงได้ทั้งในมุมของโลกดิจิทัลและโลกแห่งจิตวิญญาณ
- สีดำเทา (Moonless Night)
นอกจากสีดำจะเป็นตัวแทนความลึกลับ หรูหรา ชัดเจนแล้ว ในปี 2023 สีดำเทายังสื่อสารถึงพลังและการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน สีนี้เลยมักจะถูกใช้กับโครงการหรือแคมเปญต่างๆ ที่ต้องการเน้นย้ำถึงปัญหาและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ความสนใจแต่ละ Generation
- Baby Boomer (ปี 1946-1964)
แม้ปีก่อนหน้า หลายสำนักข่าวจะบอกว่า Baby Boomer เป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากเกษียณ และหลายประเทศมีนโยบายขยายอายุเกษียณ แต่โรคระบาดทำให้ผู้คนเริ่มค้นหาความหมายของชีวิตมากขึ้น การกักตัวทำให้คิดถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม Baby Boomer หลายคนเลยอยากทำงานแบบ Gig Economy อย่างพาร์ตไทม์หรือรับจ้างจิปาถะมากกว่างานประจำ เพื่อให้มีเวลาไปใช้ชีวิตและพบปะผู้คน ส่วนพฤติกรรมการใช้สื่อ คนรุ่นนี้กว่า 54% เลือกดูข่าวผ่านช่องทางออนไลน์และวิดีโอออนไลน์ โดยเฉพาะ Facebook Youtube TikTok และมักจะสั่งของแบบเก็บเงินปลายทางเพราะไม่ชอบความยุ่งยากที่ต้องลิงก์ไปยังหน้าแพลตฟอร์มอื่นๆ หรืออินบ็อกซ์ถามร้านค้า
- Gen X (ปี 1965-1980)
เนื่องจากเป็นรุ่นที่ยังคงทำงาน ดูแลครอบครัว และเตรียมตัวสำหรับวัยเกษียณทำให้ช่วง COVID-19 คน Gen X ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น ซึ่งมีการศึกษาพบว่า 40% ของ Gen X เผชิญความท้าทายในการลดรายจ่าย และอีก 65% เครียดเรื่องการเงิน ส่วนพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีการศึกษาจาก Airbnb พบว่า หลังการฟื้นตัวจาก COVID-19 คนรุ่นนี้มีแนวโน้มจะจัดทริปท่องเที่ยวที่ได้พบปะญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมากกว่าการท่องเที่ยวเพื่อเติมเต็มเป้าหมายของตัวเอง
- Gen Y (ปี 1981-1995)
มีงานวิจัยจากสถาบัน Dartmouth College พบว่าช่วงอายุย่างเข้า 40 ปี เป็นอีกช่วงที่หลายคนได้ค้นหาตัวตนอีกครั้งและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต โดยคนรุ่นนี้เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพทั้งกายและใจมากขึ้น ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance บ้างก็หันมาเมาทิพย์ผ่านการดื่ม Non-Alcohol ระหว่างเข้าสังคมกันมากขึ้น นอกจากนี้คนรุ่นมิลเลนเนียลบางคนยังมีภาวะ Sunday Scaries หรือกลัววันอาทิตย์ จากความกังวลเรื่องงานสัปดาห์ถัดไป กลัวจะโดนตามงานหรือใช้วันพักผ่อนได้ไม่คุ้มค่า คนรุ่นนี้เลยมีแนวโน้มจะวางแผนการท่องเที่ยวระยะยาวได้ดีกว่าการเที่ยวสั้นๆ ช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์
- Gen Z (ปี 1996-2011)
Gen Z นับว่าเจนแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพราะโตมากับเทคโนโลยี ซึ่งมีการศึกษาจาก Yplus พบว่าหนุ่มสาว 70% มักใช้กูเกิลหาข้อมูลที่สงสัยในรายวิชา บ้างเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่าง #LearnOnTikTok ที่มียอดชม 228 พันล้านครั้ง โดยวิดีโอยอดนิยมคือ Fin-fluencer (ผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านการเงินบนโลกดิจิทัล) เมื่อการเรียนรู้ทักษะต่างๆ ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้นทำให้เทรนด์การทำงานของคน Gen Z มีแนวโน้มจะเป็นแบบ Polywork คือหนึ่งคนทำหลายอาชีพ มีหลายทักษะ ส่วนพฤติกรรมการบริโภค คน Gen Z มักจะสนใจแบรนด์ที่กล้าที่จะแตกต่าง รวมทั้งใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม
- Alpha (ปี 2010-2024)
AI กำลังจะถูกพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนเจนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ไปจนถึงของเล่นอย่าง Hello Barbie ที่เริ่มสื่อสารกับผู้เล่นได้ เมื่อเติบโตมากับเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงง่าย ทำให้คนรุ่นนี้เติบโตทางความคิดอย่างรวดเร็ว เพราะรู้จักคำถาม เริ่มสนใจประเด็นสังคมกันตั้งแต่เด็กๆ นอกจากนี้การเผชิญ COVID-19 ยังทำให้คนรุ่น Alpha ชื่นชมซูเปอร์ฮีโร่ในชีวิตจริงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ไปจนถึงคนคิดค้นวัคซีนรักษาโรค แต่ก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นหลังจากผ่านความเหงาในช่วงโรคระบาดที่ไม่ได้ออกไปพบกับเพื่อนวัยเดียวกันและไม่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างเต็มที่
ศัพท์น่าสนใจ
- The Great Rejuvenation
คือการที่บริษัทต่างๆ กำลังฟื้นตัวจากวิกฤต พยายามปรับตัวเข้าหาพนักงาน เพื่อเรียกขวัญกำลังใจให้พนักงานมีความสุขและอยากทำงานกับองค์กรไปนานๆหลังจากผ่านช่วง Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ไปในช่วงต้นปี
- Sex Recession
คือการที่คนเรามีกิจกรรมทางเพศน้อยลง และประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกถูกยืดเวลาออกไปให้เกิดช้าลง ทั้งที่เป็นยุคที่การคุมกำเนิดและเพศศึกษาเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม เพราะช่วงสถานการณ์ COVID-19 ผู้คนกังวลเรื่องโรคระบาด บ้างก็เริ่มคิดว่าชีวิตไม่แน่นอน เราอาจจะจากกันไปเมื่อไรก็ได้ เลยกระตุ้นให้คนเปลี่ยนจากการมองหาความสัมพันธ์แบบ one night stand มาเป็นความสัมพันธ์ที่มีจุดมุ่งหมายและจริงจังมากขึ้น
- Rur’ban
มาจากคำว่า Urban + Rural เป็นคำเรียกไลฟ์สไตล์คนที่ต้องการธรรมชาติ แต่ไม่อยากออกไปไกลจากพื้นที่เมือง โดยเฉพาะช่วง COVID-19 เทรนด์ตอนนี้เลยเป็นการสร้างเมืองที่มีความเป็นชุมชน และทำให้ความเจริญที่กระจายตัวไปในชุมชนมากขึ้น คำว่า Rur’ban ยังเชื่อมโยงกับเรื่องเมือง 15 นาที คือแนวคิดที่เราสามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อชีวิตได้ภายใน 15 นาที ซึ่งเอื้อให้เกิดการเดินและปั่นจักรยาน ลดการเดินทางไกลที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย
- Brand Citizenship
คือความเป็นพลเมืองของแบรนด์ โดยผู้บริโภคยุคนี้มองว่าแบรนด์ต่างๆ ควรทำมากกว่าการผลิตสินค้าและบริการ แต่ต้องใส่ใจประเด็นสังคม รับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างจากประชาชนคนหนึ่งในสังคม
- Creatornomic
มาจากคำว่า creator + economic หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Creator Economy ซึ่งเป็นคำเรียกทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้จากการเป็นครีเอเตอร์ ซึ่งนับว่ายุคนี้ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ เช่นเดียวกับแบรนด์ที่สามารถผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์สื่อสารกับคนซื้อได้โดยตรง
- Imperfect Activist
คือการเป็นนักเคลื่อนไหวที่ไม่ตึงเครียดหรือกดดันจนเกินไป แต่พยายามหาตรงกลางให้ตัวเองสามารถมีความสุข สามารถยืดหยุ่นได้ พร้อมๆ กับการเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากเทรนด์ที่เราสรุปมาในบทความนี้แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถอ่านฉบับเต็มได้ใน article.tcdc.or.th