โรคระบาดไม่คาดฝัน เศรษฐกิจทรุด แต่มนุษย์ก็ยังต้องไปต่อ ยังไงดี? TCDC สรุป ‘เจาะเทรนด์โลก 2021’ มาให้ละเอียดยิบ ทั้งสีมาแรง พฤติกรรมลูกค้า และเทรนด์ที่จะมาแน่ๆ
ปีนี้สำหรับหลายคน คงเป็นปีที่วุ่นวายมาก ตั้งแต่ต้นปีกับข่าวไฟป่าทั่วโลก เหตุร้ายบ้านเมือง ก่อนฮุคหมัดหนักด้วย COVID-19 ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตทุกคนไปตลอดกาล
อีกสามเดือนจะหมดปีแล้ว ถ้าปีนี้คำฮิตคือ ‘สุดปัง’ เราก็ขอยกคำนิยามปีนี้ด้วยคำเดียวกันว่า “ปีนี้สุดปังมาก”
อีเวนต์ปังๆ หลายอย่างทำให้หลายคนไม่กล้าคิด หรือนึกฝันถึงปีหน้า ว่าจะมาแรงแหกโค้งรถคว่ำกว่าแค่ไหน แต่อย่างไรชีวิตก็คือชีวิต อย่างน้อยที่สุด – มันมีไว้ให้ไปต่อ
ทุกปี ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) จะศึกษา และสรุปเทรนด์โลกที่คนไทยควรรู้ออกมา สำหรับปีค.ศ.2021 ข้างหน้าที่ไม่ไกลเกินเอื้อมนี้ สรุปสั้นๆ ว่า เมื่อทุกอย่างถูกจำกัด ดังนั้นมนุษย์จึงต้องยืดหยุดกับสิ่งที่มีอยู่
“จึงเป็นปีของการอยู่กับปัจจุบัน เท่าทันสิ่งที่มี มองออกไปเท่าที่ระยะสายตาจะเห็น และลงมือเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาที่มีค่าในมือให้เป็นต้นทุนชีวิตที่เกิดผลประโยชน์สูงสุด”
ระบายเทรนด์สีปี ค.ศ.2021
หนึ่งในสิ่งที่ชาวโซเชียลหรือบรรดานักออกแบบรอคอยในแต่ละปีคือเรื่องของเทรนด์สี
สำหรับปีนี้ เทรนด์สีที่จะได้รับความนิยม จะเป็น “โทนสีแห่งการปลอบประโลม” สะท้อนการค้นหาความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถใช้ประโยชน์ในการออกแบบ และการแต่งบ้านได้
- สีส้มอมชมพู Desert Flowe
เป็นสีที่เคยแพร่หลายในงานศิลปะศตวรรษที่ 15 หมายถึงการถ่ายทอดความรู้ที่ต้องได้รับการเปิดเผย (revelation) ต่อมาในยุค ‘60 กลุ่มหนุ่มสาวฮิปปี้หันมาให้ความสำคัญต่อมนุษยธรรมมากขึ้น สีนี้เป็นสีสันแห่งความอ่อนโยนที่สะท้อนภาพของกลุ่มฮิปปี้ จนได้รับการขนานนามว่าบุปผาชน ซึ่งในปีหน้า สีนี้จะเป็นสีแห่งการมองหาสิ่งเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง เป็นตัวเลือกที่นักออกแบบจับคู่กับธรรมชาติ
- สีขาว Egret
ลี เอเดลคอร์ต (Li Edelkoort) นักพยากรณ์เทรนด์ชาวเนเธอร์แลนด์ พูดถึงความว่างเปล่าสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ความกล้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยค่านิยมที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสีขาวคือตัวแทนของมายด์เซ็ตนั้น สีขาวยังนึกย้อนไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ปี ค.ศ.1929 ที่ผู้คนนิยมใส่ชุดสีขาวบริสุทธิ์ สะท้อนการไม่ยอมแพ้
- สีม่วง Petunia
สีแห่งเทคโนโลยี สีที่วงการอีสปอร์ต วงการเกม ใช้กันอย่างแพร่หลาย และจะฮิตไปจนถึงปีหน้า เป็นสีที่สะท้อนถึงความล้ำสมัย รวมไปถึงความแข็งแกร่ง และความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ยุคสมัยนี้เรียกร้องอีกด้วย
- สีเขียว Canton
สีเขียวฮิตต่อเนื่องจากปี ค.ศ.2020 แต่ปี ค.ศ.2021 จะเพิ่มเฉดความเข้มมากขึ้น หมายถึงความสงบ สุขภาพ การรักษา และความผ่อนคลาย สีเขียวจึงได้ชื่อว่า เป็น ‘สีแห่งชีวิต’ ที่เชื่อมโยงเราเข้ากับธรรมชาติ และได้ทบทวนถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม
- สีฟ้า Cyan Blue
สีแห่งการตระหนักถึงปัญหามลพิษทางทะเล ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดุเดือด เป็นสีที่ย้ำเตือนให้เราคิดถึงคุณค่าของท้องทะเล และเป็นสีที่สะท้อนถึงการเริ่มต้นของเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ Cyan Blue เป็นสีเชิงการตลาดที่หลายแบรนด์เลือกใช้ ไม่ว่าจะ Adidas ที่นำไปทำรองเท้ารีไซเคิล หรือจอ LED ของ Samsung
- สีเทา Blue Fog
โทนสีใช้งาน ปรับใช้ได้ในหลายพื้นที่ และนิยมใช้ในการออกแบบเชิงเทคโนโลยี สีที่ช่วยให้รู้สึกสงบ ปลดเปลื้องและลดทอนรายละเอียด ทำให้เรื่องมากเป็นเรื่องน้อย สะท้อนถึงการปรับสมดุลชีวิต
- สีส้มแสด Fiesta
สีแห่งพลังใจ ในปีที่เหี่ยวเฉาที่เราอาจจะต้องพบเจอ อีกแง่หนึ่งคือสีมงคลแห่งการเฉลิมฉลอง อวยพรให้ทุกคนสามารถปลดล็อกความกังวลใจจากโรคระบาดได้ไปพร้อมๆ กัน เป็นสีที่ตอบสนองต่อจิตใจเมื่อมองเห็นได้อย่างดี
เจาะเทรนด์ผู้บริโภค
แม้จะเป็นปีแห่งรายได้โลกที่ถูกแบ่งขั้ว และชนชั้นกลางอ่อนแรงลง แต่เทรนด์ผู้บริโภคปีนี้ ก็ดูจะชัดเจนว่า พวกเขาจะซื้อสินค้าโดยให้ความสำคัญต่อ ‘คุณค่า’ เหนือ ‘มูลค่า’ โดยแบ่งกลุ่มผู้บริโภคแห่งปี ค.ศ.2021 เป็นดังนี้
- The Compresstionalist หมดไฟแต่จะชุบใจด้วยสิ่งที่ดีที่สุด
ผู้บริโภคที่มีชีวิตสุดยุ่ง เหนื่อยกาย หน่ายใจ ไม่ค่อยมีเวลา เกิดภาวะเบิร์นเอาต์ พวกเขาจึงต้องการอะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น การทำตลาดและโปรดักต์ของแบรนด์ จึงต้องเน้นอะไรที่ less-is-more เช่น การจัดดิสเพลย์ร้านค้าที่ช่วยลูกค้าตัดสินใจซื้อของที่จำเป็น (เพราะคนกลุ่มนี้แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย) ในความสำคัญคือ ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สนใจว่าสินค้าราคาถูกเท่าไหร่ แต่สนใจว่าสินค้าตอบโจทย์แค่ไหนต่างหาก
- The Market Maker ผลิตสิ่งที่อยากได้เอง ไม่รอตลาด
นี่คือกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ง้อบริษัทยักษ์ว่าจะสนใจธุรกิจไหนหรือไม่อย่างไร แต่เลือกจะสร้างตลาดความต้องการขึ้นมาเอง ผ่านการสนับสนุนกันและกันในกลุ่ม เสนอสิ่งที่ผู้คนมีความต้องการแต่ยังไม่มีสินค้านั้นในตลาด เพราะบริษัทใหญ่ไม่อยากลงทุนกลุ่มผู้บริโภครองเพราะความเสี่ยง โดยแบรนด์ที่มองเห็นตลาดตรงนี้ ควรเลือกทำการตลาดแบบ Peer-to-Peer
- Kindness Keeper ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคและความโปร่งใสในสังคม
พวกเขาเลือกซื้อแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทุกประเด็นในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องของสีผิว เชื้อชาติ เพศ การเมือง และพร้อมจะแบนแบรนด์ที่ไม่แสดงออกถึงความโปร่งใส ดังนั้นแบรนด์ที่ต้องการจับหัวใจคนมีจุดยืนกลุ่มนี้ ต้องหลอมรวมประเด็นทางจริยธรรมและการลงทุนเข้าไว้ด้วยกัน โดยทำให้เห็นมากกว่าพูดเฉยๆ
- Cyber Cynics เชื่อมั่นบริษัทที่ปกป้องข้อมูลบุคคลลูกค้า
ยุคที่อินเทอร์เน็ตไหลไปเร็วกว่าความคิดเสียอีก ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มี footprint บนโลกออนไลน์มากมาย เลือกที่จะเชื่อใจแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยความเป็นส่วนตัวของลูกค้า, IBM วิจัยไว้ด้วยว่า 75% จากทั่วโลกเห็นด้วยว่า หากผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของพวกเขาได้ พวกเขาจะไม่ตัดสินใจซื้อสินค้าจากบริษัท ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะดีแค่ไหนก็ตาม
เทรนด์อื่นใดที่น่าสนใจในปีหน้า
- Home Economy
เมื่อยุคที่บ้านคือทุกสิ่งอย่าง และมิลเลนเนียลใช้เวลา 70% ในบ้าน ทำให้แนวคิด ‘ความน่าเบื่อเป็นเรื่องที่ยอมรับได้’ และ ‘ความสุขหาได้จากสิ่งเล็กน้อย’ ถูกยอมรับมากขึ้น แน่นอนว่าการที่คนติดบ้าน โดยเฉพาะช่วงโรคระบาดทำให้ราคาของใช้ในบ้านพุ่งสูงขึ้น อีกเทรนด์สำคัญคือ ความสำเร็จจากการทำงานไม่จำเป็นต้องเกิดที่ออฟฟิศ แต่เกิดจากการ work from home ได้
- Intergeneration
การอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเจเนอเรชัน โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ทำให้เบบี้บูมเมอร์ได้แลกเปลี่ยนกับคนเจนฯ ซี เกิดความสนใจดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้คนสูงวัยหันมาสนใจอุปกรณ์ wearable technology เช่น นาฬิกาออกกำลังกาย สินค้าเหล่านี้จึงขายดีมากขึ้น
- Holistic Beauty
ปีแห่งความงามทั้งกายและใจ กระแสการเคลื่อนไหวเพื่อดูแลตัวเอง หรือ self-care movement ถูกจุดขึ้น ผู้บริโภคโฟกัสความงามที่สามารถทำได้ในบ้าน ดังนั้นธุรกิจความงามจะต้องทำตัวเป็นคอมมูนิตี้ส่งต่อความรู้มากขึ้น
การตลาดต้องเน้นความ ‘โฮมมี่’ หรือความรู้สึกเป็นบ้านมากขึ้น เป็นความงามที่ผู้บริโภคสัมผัสได้ด้วยตัวเอง หลายแบรนด์จึงหันมาปรับหน้าร้านให้มีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านมากขึ้น และผู้บริโภคจะนิยมทักแชทหาแบรนด์โดยตรงเพื่อขอข้อมูล
- Post-Romance
#relationshipgoals อาจหมายถึงความสุขที่ได้อยู่คนเดียว เพราะความสุขของชีวิตตัวคนเดียว เป็นความสุขที่ชีวิตคู่อาจจะให้ไม่ได้ ขณะที่การออกเดตมีเครื่องมือรับรองมากขึ้นในการจับคู่ เพื่อค้นหา ‘คนที่ใช่’ ในรูปแบบ Slow Love หรือค่อยๆ รู้จักกันก่อนตัดสินใจเดตจริงจังหรือเปิดตัว และความสัมพันธ์แบบหลายคน (polyamory) เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เป็นแนวทางที่คู่รักต้องการรับผิดชอบต่อความสุขของตัวเองมากขึ้น
- Flexible Work Culture
เจเนอเรชันมิลเลนเนียลและ Z มองหาที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ยืดหยุ่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยืดหยุ่นเพื่อหาเงินได้มากขึ้น ขณะที่การ work from home ได้รับความนิยมมากขึ้นจนหลายบริษัทใหญ่ของโลก ประกาศ WFH ตลอดไปหรือในระยะยาว เพราะพนักงานผ่อนคลายขึ้นและเสี่ยงออฟฟิศซินโดรมน้อยลง
- Post New World Order
ระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นมาให้เราได้เห็น จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจต่อกรกับสหรัฐอเมริกา
- System Thinking
แนววิธีคิดทุกอย่างอย่างเป็นระบบ โดยธุรกิจจะอยู่รอดในทศวรรษนี้ ต้องการผสมผสานระหว่างการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) และการคิดเชิงระบบ (systems thinking) สินค้าที่คิดเพื่อผู้ใช้งานทุกคน ไม่ว่าจะคนชรา หรือคนพิการ ความหลากหลายเป็นที่ตั้ง เป็นปีที่การเรียกร้องสิทธิเพื่อความเท่าเทียมดุเดือดมากขึ้น ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม สัญชาติ การเมือง การออกแบบสินค้า ต้องคำนึงถึงความหลากหลายในฐานะคนกลุ่มใหญ่
- Neighborhood Dialogue
ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อผู้ผลิต นักออกแบบ ในระดับท้องถิ่นมากขึ้น และเชื่อมั่นในผู้ประกอบการที่ผันตัวจากพลเมืองโลกสู่พลเมืองท้องถิ่น เทรนด์การออกแบบเพื่อช่วยเหลือท้องถิ่นได้รับความนิยมมากขึ้น และเกิดศัพท์ใหม่ ‘slow lifer’ ผลจากการ work from home ทำให้คนในเมืองกระจายตัวสู่นอกเมืองมากขึ้น หนุ่มสาวที่อยู่ในเมืองมานาน กลับมาสนใจความหมายของพื้นที่ ถิ่นที่อยู่อาศัยของตัวเองกันมากขึ้น และเริ่มรู้สึกสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างช้าๆ
- DATANOMICS
โลกแห่งเศรษฐกิจข้อมูล ข้อมูลยิ่งมหาศาลมากขึ้น และจะล้ำค่ามากยิ่งขึ้น กลายเป็นเศรษฐกิจใหม่ขนาดใหญ่ นำมาสู่การจัดระเบียบขนานใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เตรียมจัดสรรบิ๊กดาต้าของตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์หลังการระบาด COVID-19 จบลง จะส่งเสริมเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งระบบการสื่อสาร 5G และความมั่นคงทางไซเบอร์เต็มรูปแบบ เพื่อให้เป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล Korean New Deal และสร้างงานให้คนรุ่นใหม่อย่างมั่นคง
- Sensorial Selling
การระบาดใหญ่ทำให้เกิดการจัดระเบียบการออกนอกบ้าน เพราะมันกลายเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เทคโนโลยีเสมือนจริงต่างๆ จึงถูกนำมาทดแทนความรู้สึกมนุษย์ ทั้งในธุรกิจเกม ธุรกิจบันเทิง รวมถึงค้าปลีก เช่น การสวม VR ช็อปปิ้งจากบ้าน เพื่อเติมเต็มความรู้สึกผู้บริโภค
- New Age of Retail Partnerships
อินเทอร์เน็ตบูม ทำให้หลายปีก่อนผู้บริโภคเริ่มตัดสินซื้อสินค้าจากข้อมูลบนโลกออนไลน์ และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงตามอินฟลูเอนเซอร์ในแต่ละสังคม แต่สำหรับ ค.ศ.2021 เป็นการเดินทางมาถึงของยุค post-consumer รายงาน Trust Barometer ปี ค.ศ.2020 โดย Edelman บอกว่า การเข้าถึงความจริงจากข้อมูลบนสื่อโซเชียล 50% ของผู้บริโภคหันหน้าหนีธุรกิจที่มีนโยบายเพื่อสังคม แต่สนใจผู้ผลิตที่ทำให้เห็นจริงๆ ใส่ใจเรื่องคุณค่าสินค้ามากกว่ากำไร
- To Last a Lifetime
การผลิตอาจหลีกเลี่ยงพลาสติกไม่ได้ แต่หลายแบรนด์เรียนรู้ที่จะนำมารีไซเคิลการผลิตใหม่แบบ 100% และผู้บริโภคก็ให้คุณค่าต่อค่านิยมนี้ เกิดค่านิยมใหม่ บนจุดเด่นของสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล ที่มีความไม่สมบูรณ์แบบของเนื้อสี เพราะเน้นสีที่ได้จากการรีไซเคิลโดยหลักการ Circular แบบครบวงจร
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ : https://web.tcdc.or.th/th/Publication/Detail/Trend-2021-Reform-this-Moment
llustration by Monsicha Srisuantang