1.
ก่อนจะมีกลุ่มลับ ‘รับฝากร้าน’ ของสถาบันการศึกษาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งในระดับอุดมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษา หลายสิบกลุ่ม
ไม่รวมถึงการแตกแฟรนไชส์ออกไปเป็นกลุ่มลับเพื่อหาคู่ เพื่อเล่นมุกเล่นมีม เพื่อล้อสถานการณ์บ้านเมือง ไปจนถึงเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
เชื่อหรือไม่ว่า กลุ่มลับ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ ซึ่งเป็นการล้อจากชื่อดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มีคำว่าการเมืองต่อท้าย และมีตัวย่อว่า ม.ธ.ก. ก่อนที่ตัวอักษร ก. หรือการเมืองจะถูกตัดทิ้งไป ในยุคทหารยึดอำนาจเข้ามาปกครองประเทศ เช่นเดียวกับยุคปัจจุบัน
ดัั้งเดิม แอดมินของกลุ่มตั้งใจว่าจะหาสมาชิกแค่ 30 คนเท่านั้น ! คือเลือกรับเฉพาะคนที่รู้จักกันจริงๆ
แต่ด้วยเอกลักษณ์ ความสนุก เป็นกันเอง และตลกในการฝากร้านและการขายของ ทำให้มีการ invite ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยคนอื่นๆ เข้ามาอีกมากมาย ไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่
จนถึงวันนี้ กลุ่มลับที่มีอายุครบสิบวัน (ก่อตั้งวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2563) กลับมีสมาชิกภายในกลุ่มเกิน 120,000 คน มากกว่าที่ผู้ก่อตั้งคิดไว้ตอนแรกถึง 4,000 เท่า!
แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษารัสเซีย มธ. ผู้ก่อตั้งกลุ่มลับนี้ คุยกับเราด้วยเสียงหัวเราะ ไม่คิดว่าจำนวนสมาชิกในกลุ่มจะโตแบบก้าวกระโดดได้ขนาดนี้
เช่นเดียวกับที่เธอไม่ได้คาดคิดว่า กลุ่มลับจะถูกนำไปทำซ้ำในชื่อสถาบันการศึกษาอื่นๆ กระทั่งนำไปเขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเป็น ‘ไฟลามทุ่ง’
2.
เวลาพูดถึงคำว่า connection หลายคนอาจมีทัศนคติในทางลบกับคำๆ นี้
ทั้งที่ connection ที่ไม่ดี คือการใช้ความรู้จักมาเอาเปรียบผู้อื่นหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
ถ้าเราแปลศัพท์ภาษาอังกฤษดังกล่าวเป็นภาษาไทยว่า ‘สายสัมพันธ์’ มุมมองต่อคำๆ นี้อาจเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการใช้สายสัมพันธ์มาช่วยเหลือจุนเจือกันในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร แบบที่แซนตั้งใจจะทำ
เธอบอกว่า ที่มาของกลุ่มลับฝากร้านของชาวเหลือง-แดงนี้ เกิดจากความต้องจะช่วยเพื่อนเท่านั้นเอง
“แซนเหมือนว่าง ไม่มีงานทำ เพราะงานหลักของเราคือบริษัททัวร์ งานรองทำออร์กาไนซ์ และมีร้านอาหารเม็กซิกันแถวอารีย์ที่เปิดให้แม่ทำ พอมีวิกฤต COVID-19 และรัฐสั่งให้ปิดหมดในเดือนเมษายน ตอนแรกๆ ก็แฮปปี้เพราะเราอยากพักอยู่แล้ว แต่ผ่านไป 3-4 วันก็เริ่มมีคำถามกับตัวเองว่า เบื่อ ทำอะไรดีๆๆ เพราะปกติเป็นคนทำอะไรตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นตอนนอน
“จนมาเปิดเฟซบุ๊กที่ไม่ค่อยได้เข้ามาสักพัก ก็เห็นเพื่อนใน มธ.หลายคน ประกาศขายของ มีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จนเอาไปตั้งสเตตัสว่าถ้าใครไม่ได้ประกาศขายอะไรจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องแล้วนะ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครซื้อ เพราะ community ไม่ได้ใหญ่ เลยคิดว่าเอาคนที่อยากขายกับอยากซื้อมาอยู่ในกรุ๊ปเดียวกันเลยดีกว่า เป็นที่มาของการตั้งกลุ่มลับนี้ขึ้นมา”
ความตั้งใจของเธอคืออยากให้เกิดการไหลเวียนเงินในคนรอบตัว ตอนแรกจึง invite แค่ไม่กี่คน โดยใช้หลักเลือกเพื่อนที่อยู่ต่างคณะกันให้มาเจอกัน ก็มีทั้งเพื่อนจากคณะวารสารศาสตร์ฯ บัญชี ศิลปศาสตร์ ฯลฯ – จากนั้นก็ตั้งประกาศขึ้นมาขำๆ ‘เนื่องในสถานการณ์แบบนี้ เรามารวมตัวกันเพื่อช้อปปิ้งกันดีกว่า’
ด้วยความที่รู้จักกันหมด แซนเลยเข้าไปแซวทุกคน และคนอื่นๆ ในกลุ่มก็เล่นด้วย เลยเกิด conversation เป็นความสนุก บางคนไม่ต้องการซื้อของ แค่อยากมาตอบคอมเม้นต์ขำๆ จนมีการ invite ต่อกันไปอีกเรื่อยๆ หนึ่งชวนสิบ หนึ่งชวนร้อย
ผ่านไป 3 วัน สมาชิกในกลุ่มลับที่เดิมเธอคิดว่า “มีสัก 30 คนก็เยอะแล้ว” ก็เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน!

ส่วนหนึ่งของคอนเทนต์สนุกๆ ในกลุ่มลับนี้ พิธีบายศรีเปิดตลาด
3.
ผมหาคอนแท็กของผู้ก่อตั้งกลุ่มลับ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ จากเพื่อนฝูงในวงการสื่อสารมวลชน – ที่ก็เป็นศิษย์ มธ.เช่นกัน
เมื่อยกหูคุยกับแซน บทสนทนาแรกๆ ก็เป็นการไล่รุ่นกัน อ๋อ เอกรัสเซียเหมือนกัน แต่อยู่ห่างกันหลายปี ตอนเรียนไม่น่าจะได้เจอกันนะ แล้วอยู่โต๊ะไหน รู้จักอาจารย์คนนี้ๆๆ ไหม
นี่คือตัวอย่างของการมี ‘จุดร่วม’ อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะจุดร่วมในฐานะศิษย์ร่วมสถาบัน
ซึ่งเป็นสิ่งที่แซนมองว่า ทำให้กลุ่มลับนี้แตกต่างจากกลุ่มฝากร้านทั่วไป
“ตอนแรกก็กรองมาประมาณหนึ่งแล้วว่าจะเอาแต่เด็ก มธ.เท่านั้น มันเลยมีสายใยบางๆ ว่าเราจะไม่ทำร้ายกัน เพราะเราอยู่สถาบันเดียวกัน เราคงไม่ทำร้ายกัน ไม่เอาของไม่ดีมากขาย แต่ตอนหลังก็มีเด็กสถาบันอื่นเข้ามาด้วย ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีคนอยู่ในกลุ่มเยอะๆ โอกาสจะซื้อขายกันก็มีมากขึ้น สมมุติ ร้อยคนเห็นซื้อหนึ่งคน ถ้ามีพันคนเห็นก็น่าจะซื้อสิบคน ตอนหลังๆ invite เข้ามาเป็นหมื่นคนก็กรองไม่ไหว แต่เราจะ approve เข้ากลุ่มช้านิดนึง เพื่อเล่นตัวว่า นี่ยังเป็นกลุ่มลับอยู่นะ (หัวเราะ)”
ทว่าสิ่งที่น่าเซอร์ไพรส์สำหรับผู้ตั้งกลุ่มลับ กลับไม่ใช่ประเภทของสินค้าที่นับวันยิ่งแข่งกันแปลกขึ้นทุกๆ ที (เธอใช้คำว่า เอามาขิงกัน) ทว่ากลับเป็นเรื่องราวของคนที่มาโพสต์ (เพราะในกลุ่มตั้งกติกาไว้ว่า หากจะโพสต์ขายอะไร ต้องแจ้งชื่อ คณะ และรุ่น ก่อน) ที่ทำให้ได้ช่วยอัพเดทชีวิตของใครต่อใคร
“ที่เซอร์ไพรส์ก็คือมีเพื่อนในคณะ แต่ไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก ถูก invite เข้ามาด้วย อยู่ๆ เขาก็มาโพสต์ธุรกิจของครอบครัวทำกับภรรยาเพราะลูกกำลังจะคลอด นี่คือความน่ารักมาก เขาทำแชมพู organic แล้วลูกจะคลอดก็เลยอยากทำของให้ลูกใช้ ซึ่งโดยธรรมชาติของผู้ชายคนที่โพสต์เป็นคนเรียบร้อย และก็เป็นเพื่อนที่ดีมาก เราก็ดีใจกับเขามากว่า เขาก็มีชีวิตที่ดีมากๆ แล้วเราก็ได้กลับมาเจอกับเขาอีก
“สิ่งที่สร้างความแปลกใจที่สุดจากกลุ่มนี้ เป็นเรื่อง relationship มากกว่าเรื่อง product” คือความคิดของแซน

กลุ่มฝากร้านของมหาวิทยาลัยอื่นๆ
4.
หลังจากได้สิงอยู่ในกลุ่มลับฝากร้านของ มธ. ที่กลายเป็นปรากฎการณ์กลุ่มนี้อยู่หลายวัน สิ่งที่ผมสังเกตได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือพัฒนาการของการเขียน ‘แคปชั่น’ การฝากร้าน ที่นับวันยิ่งตลก ยิ่งสนุก
จนบางโพสต์น่าสงสัยว่า จะมาฝากร้าน มาเล่นมุก หรือแค่มาหาเพื่อนคุยกันแน่
“เรารู้อยู่แล้วว่า sense of humor แบบนี้มันโดนใจหลายๆ คน แล้วทำให้กลุ่มยังโตต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเซ้นส์พวกเนี้ย ห้ามเขาไม่ได้ และจริงๆ โพสต์ของทุกคนควรจะมีคอนเทนต์ในการเล่นต่อด้วยซ้ำ เขาถึงจะเป็นที่สนใจ เพราะถ้ามาโพสต์ง่ายๆ ใครจะไปสนใจ
“แต่ถ้าโพสต์ตลกหน่อย แซนเห็นแล้วไปเล่นต่อ หรือมันมีคนเล่นๆๆๆ ไปเรื่อยๆ มันก็จะดันขึ้นมา มันก็เลยกลายเป็นเสน่ห์ของกลุ่มนี้ เพราะโพสต์แรกๆ ตอนที่ยังมีสมาชิก 2,000-3,000 คน มันมีคือแบบนี้อยู่เยอะ”
ด้วยความนิยมที่มากขึ้น และเม็ดเงินที่ประเมินว่าน่าจะหมุนอยู่ในกลุ่มลับนี้วันละหลายแสนบาท ทำให้แซนเริ่มคิดเริ่มคิดถึงการดึงพลังในโลก online นี้ไปอยู่ในโลก offline เมื่อวิกฤต COVID-19 ยุติลง ในฐานะคนที่ทำงานออร์กาไนซ์อยู่แล้ว เธอมองว่า มันไม่ได้ยากมาก อาจจัดเป็นตลาดนัด งานแฟร์ หรืออีเว้นต์สักอย่าง คาดว่าจะทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น
“แซนตั้งใจจริงๆ อยากช่วยคนให้มีรายได้เพิ่ม”
แต่มีขึ้นก็ย่อมมีลง สมมุติวันหนึ่งกลุ่มลับนี้เสื่อมความนิยมลงไป จะทำอย่างไรต่อ?
แซนตอบว่า ถ้ามันเสื่อมความนิยม คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศิษย์เก่า มธ. ก็คงจะออกไป แต่สุดท้ายแล้ว connection ที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน มันก็จะยังคงอยู่ในกลุ่ม เพราะฉะนั้นทุกคนที่ยังอยู่ในกลุ่มก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เช่น เราอยากได้อะไร พอมาหาในกลุ่ม ก็อาจจะเจอก็ได้
นี่คือพลังของสายสัมพันธ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้คนในภาวะที่กำลังประสบความยากลำบาก จากความตั้งใจของผู้ก่อตั้งกลุ่มลับ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’