หลังจากรัสเซียประกาศสงครามกับยูเครน นอกจากหลายประเทศจะคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสงครามแล้ว ยังมีหลายบริษัทที่ออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน ซึ่งล่าสุด (วันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.2022) เว็บไซต์ของ Yale Chief Executive Leadership Institute ระบุว่า มีบริษัทมากกว่า 300 แห่งประกาศถอนตัวจากรัสเซียเพื่อประท้วงการรุกรานในยูเครน รวมทั้งแบรนด์ดัง ๆ ตั้งแต่บริษัทด้านการเงินไปจนถึงอาหารฟาสต์ฟู้ด
The MATTER จึงหยิบยกแบรนด์ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยมาสรุปความเคลื่อนไหว
แบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม
McDonald’s ปิดร้านกว่า 850 สาขาในรัสเซีย หลังจากที่มีกระแสเรียกร้องและกดดันผ่านแฮชแท็ก #BoycottMcDonalds โดย McDonald’s กล่าวว่าจ่ายเงินเพื่อดูแลพนักงานในรัสเซียกว่า 62,000 คนที่ได้รับผลกระทบ
Starbucks ปิดสาขาในรัสเซียอย่างน้อย 100 แห่ง รวมทั้งระงับการจัดส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Starbucks ไปยังรัสเซีย
PepsiCo ระงับการจำหน่ายสินค้าและโฆษณาต่างๆ ในรัสเซีย แต่ยังขายผลิตภัณฑ์จากนม นมผง อาหารสำหรับทารกและสิ่งจำเป็นอื่นๆ
แบรนด์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเฟอร์นิเจอร์
ZARA , H&M ปิดสาขาในรัสเซียและระงับการจำหน่ายสินค้าในรัสเซียชั่วคราว
Adidas ยุติความร่วมมือกับ Russian Football Union
IKEA ปิด IKEA 17 สาขา รวมทั้งระงับการผลิต นำเข้า ส่งออกในรัสเซียและเบลารุส โดยกล่าวว่าจะยังคงดูแลพนักงานกว่า 15,000 คนที่ได้รับผลกระทบ
Levi’s ระงับการจำหน่ายสินค้าในรัสเซียชั่วคราว และบริจาคเงินมากกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9,913,500 บาท) แก่องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง
แบรนด์เทคโนโลยี
Apple บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เจ้าแรกๆ ที่คว่ำบาตรรัสเซียด้วยการปิด Apple Store และระงับการสั่งซื้อหรือจัดส่งสินค้าของ Apple ภายในรัสเซีย รวมทั้งลบแอพพลิเคชั่นสำนักข่าวรัสเซียอย่าง RT News และ Sputnik News ออกจาก App Store
Samsung ระงับการจัดส่งสินค้าไปยังรัสเซีย และบริจาคเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 199,140,000 บาท) เพื่อช่วยเหลือยูเครน
Microsoft ระงับการขายผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft ในรัสเซียทั้งหมด และช่วยเหลือยูเครนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
โซเชียลมีเดีย
Facebook และ YouTube แบนสื่อจากรัสเซียอย่าง RT News และ Sputnik News ในสหภาพยุโรปและยูเครน รวมทั้งไม่อนุญาตให้สื่อดังกล่าวเผยแพร่โฆษณาหรือสร้างรายได้ในแพลตฟอร์มของตนเอง
Twitter ประกาศว่าจะจำกัดและลดการมองเห็นของสื่อที่ถูกควบคุมโดยรัฐในรัสเซีย
การเงิน
Visa, Mastercard, American Express, และ Paypal ระงับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ในรัสเซีย
สื่อเอนเตอร์เทนเมนต์
Netflix ระงับการสตรีมมิ่งและทุกโปรเจกต์ที่ร่วมมือกับรัสเซีย
Disney ประกาศระงับการฉายภาพยนตร์ในรัสเซีย รวมถึงเรื่อง ‘Turning Red’ จาก Pixar ที่มีกำหนดเข้าฉายในรัสเซียในวันที่ 10 มีนาคมนี้
Warner Bros. ประกาศระงับการฉายภาพยนตร์ในรัสเซียรวมถึงเรื่อง The Batman
Sony ประกาศระงับการฉายภาพยนตร์ในรัสเซีย รวมถึงเรื่อง Morbius ที่จะเข้าฉายในวันที่ 24 มีนาคมนี้
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีแนวโน้มว่าบริษัทอื่นๆ อาจทยอยออกมาคว่ำบาตรหรือระงับการทำธุรกิจในรัสเซียมากขึ้น ทั้งจากเหตุผลด้านจริยธรรม ผลกระทบทางธุรกิจ ไปจนถึงการกดดันของผู้บริโภค สื่อ และบริษัทอื่นๆ เช่นเดียวกับกรณีของ McDonald’s PepsiCo และ Starbucks ที่ถูกกดดันมาก่อนหน้านี้
อิแอน พีเตอร์ส (Ian Peters) ผู้อำนวยการสถาบันจริยธรรมธุรกิจกล่าวกับ BBC News ว่า “โลกมีแนวโน้มที่จะตัดสินบริษัทจากสิ่งที่พวกเขาทำในสถานการณ์เช่นนี้ และการตัดสินใจตามหลักจริยธรรมสำคัญพอๆ กับการปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบายคว่ำบาตรของรัฐบาล ซึ่งเราแนะนำให้บริษัทต่างๆ มองในภาพรวมและพยายามทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในวงกว้างมากกว่าผลกำไรระยะสั้น” โดยพีเตอร์สเสริมว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ในวงกว้างนั้น รวมถึงการดูแลพนักงานในรัสเซียที่ได้รับผลกระทบและคำนึงถึงประเด็นการกีดกันคนรัสเซียจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นบางอย่างอีกด้วย
ส่วน เอริก กอร์ดอน (Erik Gordon) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Ross School of Business ของ University of Michigan ได้กล่าวกับ ABC News ว่า “บริษัทต่างๆ พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะวางตัวออกห่าง <จากสถานการณ์ปัจจุบัน> เพราะนั่นไม่ได้ผลแล้ว ถ้าคุณไม่เลือกยืนหยัดอยู่ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บริษัทของคุณจะถูกสรุปว่าไม่มีศีลธรรมหรือมีจุดยืนที่ไม่ดี”
อย่างไรก็ตาม กอร์ดอนมองว่า การระงับหรือยุติการดำเนินธุรกิจของชาติตะวันตกในรัสเซีย อาจส่งผลกระทบต่อการทำสงครามของรัสเซียในยูเครนได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียยังมีแนวโน้มจะตอบโต้บริษัทดังกล่าวด้วยการคว่ำบาตรและบล็อกกลับเช่นเดียวกัน ถึงอย่างนั้น ซิมอน บราวนิง (Simon Browning) ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจจาก BBC กลับมองว่า แฟชั่นและเทคโนโลยีเป็นความสนใจลำดับต้นๆ ของหนุ่มสาวทั่วโลก ดังนั้นการคว่ำบาตรหรือระงับการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ในรัสเซีย อย่างน้อยก็เป็นการจำกัดทางเลือกของประชาชนรัสเซีย ซึ่งช่วยกระตุ้นให้พวกเขาออกมาคัดค้านการบุกรุกยูเครนมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก