ไม่ว่าสถานการณ์ในยูเครนจะถูกเรียกว่าเป็น ‘สงคราม’ ‘การรุกราน’ หรือ ‘ปฏิบัติการพิเศษ’ – ไม่ว่ามันจะเป็นสงครามที่ชอบธรรม สมเหตุสมผล หรือไร้ความชอบธรรมแค่ไหนก็ตาม – แต่ความเสียหายและความสูญเสียก็เกิดขึ้นแล้วกับชีวิตของคนนับล้านในยูเครน ที่บางส่วนต้องอพยพหนีภัยสงคราม บางส่วนต้องจับปืนสู้ บางส่วนต้องสละชีวิตของตัวเอง
ในโอกาสครบรอบ 1 เดือน ที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ประกาศ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ในยูเครน The MATTER ขอสรุปเหตุการณ์สำคัญทั้งหมดมาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อย้อนดูพลวัตและพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจดบันทึกประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งครั้งหนึ่งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
1.
ก่อนหน้าที่สงครามจะปะทุ สิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘วิกฤตยูเครน’ ก็คุกรุ่นและตึงเครียดมานานหลายเดือนก่อนหน้านี้ (เราจะไม่เท้าความถึงที่มาที่ไป แต่หากใครสนใจปูมหลังความขัดแย้ง ก็สามารถย้อนอ่านกันได้ที่นี่) จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญซึ่งปูทางไปสู่สงครามจริงๆ ก็คือ การลงนามโดยปูติน รับรองสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ (DNR) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (LNR) ในภูมิภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมสั่งเคลื่อนพลเพื่อ ‘รักษาสันติภาพ’ ในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ก.พ.
ภายหลังการลงนาม สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบางส่วนโดยทันที เพื่อกดดันสาธารณรัฐเกิดใหม่ทั้งสอง ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ก็ได้นัดประชุมวาระเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชาติสมาชิกอภิปราย ซึ่งก็มีบางส่วน โดยเฉพาะชาติตะวันตก ได้แสดงจุดยืนประณามรัสเซียอย่างไม่รีรอ – แต่ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่าสงครามเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นจริงๆ ในอีกไม่กี่วัน
2.
ผ่านมา 2 วัน ในวันที่ 24 ก.พ. เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่า รัสเซียพร้อมรบแล้วอย่างเต็มที่ ปูตินก็ได้ลงนามสั่งเริ่ม ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (special military operation) ในยูเครน
เมื่อแรกเริ่ม ก็มีการรายงานกันว่า ปฏิบัติการพิเศษที่ว่านี้จะครอบคลุมเพียงแค่พื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนเท่านั้น แต่ไม่กี่นาทีต่อมา พบว่ามีเสียงระเบิดดังขึ้นในหลายเมือง รวมถึงกรุงเคียฟด้วย ขณะที่กองกำลังรัสเซียก็เคลื่อนพลข้ามพรมแดนเข้ามาทั้งจากทิศเหนือ ตะวันออก และทิศใต้ ถือว่าสงครามได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ
3.
ในวันเดียวกัน ชาวยูเครนจำนวนมากพากันอพยพหนีภัยสงครามออกจากเมืองสำคัญ เช่น กรุงเคียฟ เพื่อไปยังเขตที่ปลอดภัยกว่าอย่างเมืองลวิฟ หลายคนอาจจะจำได้กับภาพถนนในกรุงเคียฟ ที่ผู้คนพากันออกจากเมืองจนรถติดยาวเหยียด นั่นถือเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของวิกฤตมนุษยธรรมที่บางฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในยุโรปในรอบหลายทศวรรษ
ตลอดเวลาที่สงครามกำลังดำเนินไป ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนก็เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และจากข้อมูลล่าสุด วันที่ 22 มี.ค. มีผู้ลี้ภัยที่ออกจากประเทศมากกว่า 3.6 ล้านคนแล้ว โดยเดินทางไปยังประเทศโปแลนด์มากที่สุด คิดเป็นจำนวนมากกว่า 2.1 ล้านคนในขณะนี้
ขณะเดียวกัน ย้อนกลับมาวันที่ 24 ก.พ. ประชากรเพศชายชาวยูเครนแทบทั้งหมดต้องจำใจโบกมือลาครอบครัว หลังจากที่ยูเครนสั่งห้ามชายอายุ 18-60 ปีออกนอกประเทศภายใต้กฎอัยการศึก ขณะเดียวกับที่เซเลนสกีได้ประกาศระดมพลทั่วประเทศ เรียกกำลังสำรองเข้าประจำการ เพื่อรับมือกับกองกำลังรัสเซีย
4.
ภายหลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน สิ่งที่ตามมาคือ มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ชาติตะวันตกพากันทยอยประกาศอย่างไม่หยุดหย่อน จนทำให้ในขณะนี้ รัสเซียกลายเป็นชาติที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลก แซงหน้าอิหร่านไปเป็นที่เรียบร้อย
หากสรุปในภาพรวม จะมีทั้งมาตรการที่ชาติต่างๆ ประกาศใช้ในทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย เช่น สหรัฐฯ ที่แบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย รวมถึงที่สำคัญคือการตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบโอนเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่า สวิฟต์ (SWIFT)
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้กดดันกับบุคคลอย่างเช่นเศรษฐีรัสเซีย เพื่อสร้างแรงกดดันถึงผู้นำรัสเซีย เราจะได้เห็นข่าวการยึดทรัพย์สิน ยึดบ้าน ยึดเรือยอร์ชของเหล่าเศรษฐีทั้งในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐฯ และอีกหลายๆ ที่ ซึ่งล่าสุด สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ก็เตรียมจะประกาศคว่ำบาตรสมาชิกรัฐสภาของรัสเซียเพิ่มเติมด้วย
ส่วนในภาคเอกชน เราก็ได้เห็นบริษัทตะวันตกจำนวนมากประกาศระงับการขายหรือการดำเนินกิจการในรัสเซีย โดยที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในรัสเซียอย่างแทบจะทันที ก็คือ การประกาศระงับการทำธุรกรรมของ Visa และ Mastercard แต่ก็ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งมาก รวมไปถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks, McDonald’s, Pepsi และ Coca-Cola ด้วย
5.
วันที่ 28 ก.พ. ปรากฏเป็นภาพประวัติศาสตร์อีกหนึ่งภาพ เมื่อเซเลนสกีลงนามในจดหมายขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ ซึ่งนอกเหนือจากกระแสความต้องการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของยูเครน การเป็นสมาชิก EU ก็เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ต้องจับตามอง
แม้กระบวนการรับเข้าเป็นสมาชิกจะไม่ได้เสร็จสิ้นอย่างง่ายๆ ในเร็ววันนี้ แต่ทางฝั่ง EU ก็แสดงท่าทีต้อนรับและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากดูตัวเลข จะพบว่า EU ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครนเป็นจำนวน 500 ล้านยูโร (18.5 ล้านล้านบาท) แล้ว ยังไม่นับความสนับสนุนทางทหารอีกมหาศาลที่ชาติสมาชิก EU ส่งให้กับยูเครน
6.
ในวันเดียวกัน ทางการรัสเซียและยูเครนได้ตกลงที่จะมาเจรจากันเป็นครั้งแรก โดยทั้งสองประเทศได้ส่งผู้แทนทางการทูตมาพบปะกันที่บริเวณพรมแดนเบลารุส–ยูเครน ใกล้กับแม่น้ำปรีเปียต โดยมีเบลารุสเป็นเจ้าภาพ แต่น่าเสียดายที่การเจรจาไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ใดๆ ที่จับต้องได้ ขณะที่การเจรจาในรอบหลังๆ อีกหลายรอบ ก็ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน
7.
วันที่ 2 มี.ค. ขณะที่สงครามยังดำเนินต่อไป สมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้มารวมตัวกันในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 (Eleventh Emergency Special Session) หลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่สามารถออกข้อมติประณามรัสเซียได้ เนื่องจากรัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกถาวรได้ใช้สิทธิยับยั้งหรือ ‘วีโต้’ (veto) ปัดตกร่างข้อมติ
แต่ในการประชุมของสมัชชาใหญ่ฯ ประเทศสมาชิกกว่า 141 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศ ได้ร่วมใจกันโหวตรับร่างข้อมติประณามรัสเซียกันอย่างท่วมท้น รวมถึงประเทศไทยเองก็โหวตเห็นชอบด้วย มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่โหวตไม่เห็นชอบ คือ เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทรีย และรัสเซีย ถือเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญของประชาคมที่ไม่เห็นด้วยกับการบุกยูเครนของรัสเซีย
8.
ขณะที่ในประเทศรัสเซียเอง ก็ไม่ใช่ว่าประชาชนทุกคนจะเห็นด้วยกับสงคราม ตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน วันที่ 24 ก.พ. เป็นต้นมา เราก็ได้เห็นชาวรัสเซียออกมารวมตัวประท้วงต่อต้านสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมผู้ชุมนุมอย่างไม่รีรอ จากข้อมูลล่าสุดของ OVD-Info องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย มีประชาชนในรัสเซียถูกจับกุมไปมากกว่า 15,000 คนทั่วประเทศแล้ว
9.
ไม่เพียงเท่านั้น วันที่ 4 มี.ค. ปูตินได้ลงนามบังคับใช้กฎหมาย ‘เฟคนิวส์’ ที่ห้ามการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับกองทัพรัสเซียหรือปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย โดยมีโทษจำคุก 5-10 ปี และหากข่าวปลอม ‘ส่งผลกระทบร้ายแรง’ ก็จะมีโทษจำคุกถึง 10-15 ปี
กฎหมายฉบับดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคอย่างหนักต่อการรายงานข่าวสารสงครามในยูเครน ส่งผลให้สื่อตะวันตก เช่น BBC, CNN, Bloomberg, ABC News ฯลฯ พากันระงับสัญญาณออกอากาศเป็นการชั่วคราวในช่วงแรกที่กฎหมายออกมา ขณะที่ก่อนหน้านี้ สื่ออิสระในรัสเซีย อย่าง TV Rain และ Echo of Moscow ก็ถูกรัฐบาลกดดันจนต้องยุติการออกอากาศ
นอกจากสื่อหลัก รัฐบาลรัสเซียยังได้แบน Facebook และ Instagram รวมถึงได้ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่าง Twitter ด้วย ล่าสุด วันที่ 22 มี.ค. ศาลเขตทเวอร์ซโกย ในกรุงมอสโก ได้มีคำตัดสินระบุว่า Meta Platforms บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram เป็นองค์กร ‘หัวรุนแรง’ (extremist) หลังจากที่บริษัทได้ผ่อนปรนกฎ อนุญาตให้ผู้ใช้โพสต์ปลุกระดมความเกลียดชังต่อผู้นำรัสเซียได้ ซึ่งศาลก็ได้สั่งห้ามบริษัทไม่ให้ดำเนินกิจกรรมใดๆ ในรัสเซีย
10.
วันที่ 5 มี.ค. ในเมืองมารีอูปอลและวอลโนวากา กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศหยุดยิงชั่วคราวเป็นครั้งแรก อ้างว่าเป็นการเปิดระเบียงมนุษยธรรม อนุญาตให้พลเรือนเดินทางออกจากทั้งสองเมืองเพื่อไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ แต่ความพยายามดังกล่าวก็เรียกได้ว่าล้มเหลว หลังจากที่ยูเครนเปิดเผยในภายหลังว่า รัสเซียไม่ยอมหยุดยิง และยังคงเดินหน้าโจมตีในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
จนถึงตอนนี้ ยูเครนระบุว่ายังมีพลเรือนอีกเกือบ 100,000 คนที่ติดอยู่ในเมืองมารีอูปอล ซึ่งถูกปิดล้อมโดยรัสเซีย โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ทั้งสองฝ่ายเพิ่งจะได้ข้อตกลง กำหนดเส้นทางระเบียงมนุษยธรรม 9 เส้นทางเพื่ออพยพพลเรือนออกจากเมืองต่างๆ ของยูเครน
11.
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าเศร้า คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 9 มี.ค. เมื่อกองทัพรัสเซียทิ้งระเบิดถล่มโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมารีอูปอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 17 ราย สะท้อนสัญญาณว่า พื้นที่เขตพลเรือนก็อยู่ในเป้าหมายโจมตีของรัสเซียด้วยเหมือนกัน หลังจากนั้น เราก็พบว่ามีการโจมตีในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น การถล่มโรงละคร สระว่ายน้ำ และโรงเรียนศิลปะ ซึ่งเป็นสถานที่หลบซ่อนของพลเรือน
12.
วันที่ 12 มี.ค. เบรนต์ เรโนด์ (Brent Renaud) นักข่าวสารคดีสัญชาติอเมริกัน ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณจุดเช็คพอยท์ของเมืองเอียร์ปิน ใกล้กับกรุงเคียฟ ถือเป็นนักข่าวต่างประเทศคนแรกที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ แม้จะคาดเดาได้ไม่ยากว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีนักข่าวเสียชีวิตในที่สุด แต่การจากไปของเรโนด์ก็สะเทือนวงการสื่อมวลชนทั่วโลกไม่น้อย
นอกจากเรโนด์ ยังมีนักข่าวและสื่อมวลชนอีกอย่างน้อย 4 คนที่เสียชีวิตในยูเครน ได้แก่ เยฟเฮนี ซากุน (Yevhenii Sakun) ช่างกล้องชาวยูเครน โอเลกซานดรา คูฟชีโนวา (Oleksandra Kuvshynova) โปรดิวเซอร์ของ Fox News ปิแอร์ ซักซิวสกี (Pierre Zakrzewski) ช่างภาพของ Fox News และล่าสุด คือ ออกซานา เบาลินา (Oksana Baulina) นักข่าวชาวรัสเซียที่กำลังรายงานจากกรุงเคียฟ
13.
ในเรื่องของนักข่าว มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจ คือกรณีของ มารินา ออฟไซยานิโควา (Marina Ovsyannikova) บรรณาธิการช่อง Channel One ของรัสเซีย ที่ได้บุกเข้ามาในสตูดิโอรายการสดของช่องทีวีที่เธอทำงานอยู่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เพื่อประท้วงสงครามในยูเครน และการเผยแพร่ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ของรัสเซีย
ภายหลังจากเหตุการณ์ประท้วง เธอถูกตำรวจเข้าจับกุมทันที ศาลสั่งปรับเธอเป็นเงิน 30,000 รูเบิล (ประมาณ 10,000 บาท) แต่เธอยังอาจจะต้องเผชิญโทษจำคุกภายใต้กฎหมายเฟคนิวส์ที่ปูตินเพิ่งลงนามไป
การประท้วงของออฟไซยานิโควายังจุดติดเป็นกระแส ทำให้นักข่าวรัสเซียหลายคนพากันลาออกจากสังกัดที่อยู่ภายใต้รัฐบาลรัสเซียกันมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวจาก NTV, RT, VGTRK และอื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นนำรัสเซียทั้งหมด
14.
วันที่ 16 มี.ค. มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นการอ่านคำวินิจฉัยเบื้องต้นของ ‘ศาลโลก’ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ที่ไต่สวนตามคำร้องของยูเครน และได้มีคำสั่งด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 2 เสียง ให้รัสเซียระงับ ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ ในยูเครนทันที และห้ามกระทำการใดๆ ที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น
แม้คำสั่งของศาลโลกจะมีผลผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่แน่นอนว่ารัสเซียจะไม่ยอมปฏิบัติตาม จะเห็นได้จากก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินว่า รัสเซียก็ไม่ได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนของศาลโลกแม้แต่ครั้งเดียว
15.
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญ คือ การแถลงของเซเลนสกีต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งอันที่จริง เซเลนสกีก็ได้กล่าวปราศรัยกับรัฐสภาของอีกหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน แต่เราจะขอใช้โอกาสนี้พูดถึงสิ่งที่เซเลนสกีร้องขอจากสหรัฐฯ นั่นก็คือ การประกาศ ‘เขตห้ามบิน’ หรือ ‘no-fly zone’ เหนือน่านฟ้ายูเครน ซึ่งเป็นสิ่งที่เซเลนสกีเรียกร้องจากชาติสมาชิก NATO มาโดยตลอดตั้งแต่เกิดสงคราม
สำหรับการประกาศเขตห้ามบิน ปกติมักจะใช้กับพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว โดยจะเป็นการห้ามไม่ให้อากาศยานใดๆ บินผ่านเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ในทางการทหารนั่นหมายความว่า จะต้องมีการบังคับใช้ด้วยเครื่องบินรบ ที่จะต้องมาตรวจตราและขับไล่หรือโจมตีเครื่องบินที่ฝ่าฝืนออกไป ซึ่งสำหรับ NATO ก็จะเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับรัสเซียในทางปฏิบัติ จึงทำให้จนถึงตอนนี้ ชาติตะวันตกยังไม่ยอมขยับตามข้อเรียกร้องของเซเลนสกีแต่อย่างใด
16.
และในวันเดียวกัน คือ วันที่ 16 มี.ค. นายกรัฐมนตรีจาก 3 ประเทศในยุโรป ได้แก่ มาแตอุซ มอราวีแยกสกี (Mateusz Morawiecki) ของโปแลนด์ แปเดอร์ เฟียลา (Petr Fiala) ของสาธารณรัฐเช็ก และยาแน็ส ยานชา (Janez Janša) ของสโลวีเนีย ได้เดินทางด้วยรถไฟเพื่อเข้าพบเซเลนสกีที่กรุงเคียฟ และแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนในนามของ EU ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้นำจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในยูเครนหลังจากที่เกิดสงคราม
17.
ขณะที่สงครามยังร้อนระอุ คร่าชีวิตและความหวังของผู้คนไม่เว้นแม้แต่วันเดียว เรากลับพบว่า ความขัดแย้งมีแต่เลวร้ายลงกว่าเดิม ไม่มีท่าทีดีขึ้น เมื่อรัสเซียเปิดเผยในวันที่ 19 มี.ค. ว่ากองทัพของรัสเซียได้ใช้ ‘Kinzhal’ ขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิก (Hypersonic missiles) เป็นครั้งแรก เพื่อทำลายคลังแสงทางภาคตะวันตกของยูเครน
ขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิก ถือว่าเป็นอาวุธใหม่ที่รัสเซียยังไม่เคยใช้มาก่อน มีความได้เปรียบเหนือขีปนาวุธแบบปกติตรงที่จะมีความเร็วสูงมาก หรือเป็นความเร็วที่เหนือเสียง ซึ่งเมื่อประกอบกับวิถีการยิงในระดับความสูงที่ต่ำ ก็จะทำให้เรดาร์หรือระบบตรวจจับขีปนาวุธแทบจะตามสกัดไม่ได้เลย
18.
ในการเมืองระหว่างประเทศ เรายังได้เห็นอะไรที่นานๆ ครั้งจะได้เห็น นั่นคือ การต่อสายตรงพูดคุยกันระหว่างผู้นำจีน–สหรัฐฯ หรือ สี จิ้นผิง กับ โจ ไบเดน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา
ในการหารือผ่านทางวิดีโอคอล ไบเดนได้เตือนสีว่า จีนอาจจะต้องเจอกับ “ผลกระทบและผลลัพธ์ที่ตามมา” หากส่งความช่วยเหลือให้กับรัสเซีย ขณะที่สีก็ระบุว่า “วิกฤตยูเครนคือสิ่งที่เราไม่ต้องการที่จะเห็น” โดยจีนได้หนุนให้สหรัฐฯ กับ NATO ไปหารือกับรัสเซียโดยตรง เพื่อแก้ปมปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวด้วยตัวเอง
19.
ขณะที่ในวันนี้ (24 มี.ค.) ไบเดนเดินทางถึงยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเข้าร่วมประชุมด่วนของ NATO การประชุมสุดยอด G7 และประชุมร่วมกับคณะมนตรียุโรป (European Council) ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อหารือเกี่ยวกับการตอบโต้รัสเซียเพิ่มเติม เขายังมีกำหนดการเดินทางไปโปแลนด์ในวันศุกร์นี้ (25 มี.ค.) เพื่อพบปะกับประธานาธิบดี อันด์แชย์ ดูดา (Andrzej Duda) อีกด้วย
20.
ท้ายที่สุด นั่นหมายความว่า แม้ผ่านมานานถึง 1 เดือน แต่สถานการณ์ยังห่างไกลจากคำว่าคลี่คลายอยู่มากนัก และเราคงไม่มีทางรู้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะใช้เวลาอีกนานเท่าไร หรือจะคลี่คลายไปในทิศทางใด
ถึงจุดนี้ สิ่งที่เราพอทำได้คือ ต้องจับตามองสถานการณ์กันต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับทั่วโลกที่ยังคงตามติดไม่เว้นแต่ละวัน เพราะคงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสงครามจะจบลงเมื่อไร เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ที่ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่า สถานการณ์จะบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบจริงๆ
อ้างอิงจาก