แอบชอบใครสักคนนั้นลำบาก นอกจากต้องคอยชวนคุย ชวนไปนั่นไปนี่ คอยทำดีให้ ซ้ำยังต้องอึดอัดที่ไม่ได้พูดความรู้สึกในใจออกไปอีก ดูเหมือนจะต้องใช้ความพยายามมากมาย แต่ถ้าลองเปลี่ยนมุมกลับปรับมุมมองมาเป็นฝ่ายถูกชอบดูบ้าง จะรู้ว่าอีกฝ่ายก็ต้องใช้ความพยายามไม่แพ้กันเลย
มันเป็นไปได้จริงๆ น่ะหรือที่การเป็นฝ่ายถูกชอบจะรู้สึกไม่ดี ในเมื่อดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่ายินดีซะด้วยซ้ำที่มีใครสักคนมาปลื้ม มาให้ความสนใจ มาทำอะไรดีๆ ให้ แทบจะไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อยเลยสักอย่าง ยังไงการที่มีคนชอบมันก็ต้องดีกว่ามีคนเกลียดอยู่แล้ว
แต่การชอบในเชิงความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาวอาจจะไม่ได้มีแค่นั้น เพราะมันไม่ใช่การชอบแบบแค่ปลื้มๆ หรืออารมณ์เหมือนเป็นแฟนคลับของใครสักคน เพราะมีเรื่องของ ‘การวางตัว’ ของคนคนหนึ่งที่จะส่งผลต่อ ‘การคาดหวัง’ ของอีกคนรวมเข้ามาด้วย
“รู้สึกแปลกๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่า
เลยประติดประต่อเหตุการณ์ดู เลยรู้ว่าเขาชอบเรา
จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ดีนะที่มีคนมาชอบ
แต่เราไม่ได้คิดอะไรด้วย เลยไม่รู้ว่าควรวางตัวแบบไหน”
– เบส อายุ 24 ปี อาชีพนักวิเคราะห์การตลาด
แม้คนถูกชอบจะแค่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องพยายามเข้าหามากเท่ากับคนที่แอบชอบ แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะสบายใจอย่างที่คิด โดยเฉพาะเรื่องของ ‘การวางตัว’ หรือการตอบสนองต่อคนที่เข้ามาหา เพราะหลายครั้งที่พอทำดีด้วยก็ถูกหาว่า ‘ให้ความหวัง’ แต่ถ้าไม่สนใจเลยก็จะถูกมองว่าเป็นคนใจร้าย ยิ่งถ้าเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกของคนอื่นมากๆ ก็จะระมัดระวังตัวไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป บางทีอยากจะช่วยเหลือหรือเล่นด้วยในฐานะเพื่อนกันก็ทำไม่ได้ เพราะแม้กระทั่งคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้อีกฝ่ายคิดไปไกลว่ามีใจให้ แต่พอจะเว้นระยะห่างออกมา ไม่อยากไปให้ความหวัง ก็จะโดนมองว่ารังเกียจหรือไม่อยากเจอหน้าอีก
“ถ้ามีคนมาแอบชอบแล้วไม่ได้รู้สึกชอบกลับ เราจะรีบเฟดตัวออกมาเลย
เพราะกลัวว่าบางอย่างที่ทำจะไปให้ความหวังเขา”
– มินนี่ อายุ 23 ปี อาชีพอินฟลูเอ็นเซอร์
ยิ่งถ้าเป็นคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมห้อง หรือรุ่นพี่รุ่นน้องที่คณะ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความอึดอัดเข้าไปอีก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่ายิ่งอยู่ใกล้กันยิ่งหวั่นไหว และการห้ามใจตัวเองไม่ให้แอบชอบคนที่เจอกันบ่อยๆ ไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยๆ นั้นก็เป็นไปได้ยาก แต่กำแพง ‘เฟรนด์โซน’ นั้นก็หนาเกินกว่าจะทำลาย เพราะถ้าคนที่ถูกแอบชอบไม่ได้คิดอะไรด้วย นั่นก็เท่ากับว่า กำแพงเฟรนโซนด์ไม่ได้หายไปไหน แต่ความไว้ใจนี่สิจะหายไปแทน ยิ่งต้องเรียนห้องเดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน การบอกชอบกับคนที่ไม่ได้ชอบกลับ ก็เหมือนการสร้างกำแพงนั้นให้หนามากกว่าเดิม
ในหนังสือ Social Psychology and Human Nature ที่แต่งโดย Roy F. Baumeister และ Brad J. Bushman กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ชายจะเป็นฝ่ายสารภาพรักก่อน และมีประสบการณ์รักคนที่เขาไม่ได้รักตอบมากกว่าผู้หญิง ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงก็มีประสบการณ์การโดนสารภาพรักมากกว่าผู้ชาย โดยที่เจ้าตัวก็ไม่ได้มีการตอบสนองอะไรกลับไปด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับที่มีผลการศึกษาพบว่า ภายในความสัมพันธ์ของผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะคิดกับผู้หญิงมากกว่าเพื่อน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘Friend Zone’ ทำดีแค่ไหนทำไมเป็นได้แค่เพื่อน)
“มีเพื่อนสนิทคนนึงเคยชอบเรา แต่เรารักเขาในฐานะเพื่อน
หลังจากเขาสารภาพว่าชอบเรา เขาก็เลิกยุ่งกับเราไปเลย 3 เดือน
ตอนนั้นเสียใจมากที่ต้องเสียเพื่อนสนิทคนนึงไป”
– แบม อายุ 22 ปี อาชีพครีเอทีฟ
และไม่ใช่ทุกคนจะรับมือได้กับสถานการณ์ถูกบอกชอบแบบซึ่งๆ หน้าได้ แม้อีกฝ่ายจะต้องการบอกเพราะแค่อยากบอกก็ตาม แต่ ณ วินาทีที่บอกไป ภาระได้ถูกผลักมาอยู่ที่คนรับฟัง เพราะอึดอัดใจที่ไม่รู้จะตอบยังไง ทำตัวไม่ถูก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้รู้สึกชอบกลับ พอปฏิเสธไปก็กลัวจะมองหน้ากันไม่ติด กลัวคนบอกจะเสียเซลฟ์ หรือถึงขั้นเสียความสัมพันธ์นั้นไปเลยก็มี แต่จะให้ทำยังไง ในเมื่อคนไม่ได้ชอบ ก็ถือเป็นเรื่องน่าปวดใจไม่แพ้กัน ที่อยู่ดีๆ ก็ต้องมาเสียเพื่อนหรือรุ่นพี่รุ่นน้องที่ดีที่สุดคนหนึ่งไป
ความลำบากใจอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การวางตัวหรือการถูกคาดหวังเท่านั้น เพราะถ้าการแอบชอบไปลุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป หรือเข้าข่าย ‘สตอล์กเกอร์’ ก็สามารถทำให้คนที่ถูกชอบรู้สึกกลัวและพยายามหลบหน้าไปเลยก็ได้
บนโลกใบนี้ มีคนที่เป็นโรคกลัวอะไรแปลกๆ อยู่เต็มไปหมด บางคนจึงอาจจะมีอาการอึดอัดรุนแรงกับการเผชิญหน้าเหตุการณ์เหล่านี้ จนถึงขั้นเป็นฟิโลโฟเบีย (philophobia) หรือ ‘โรคกลัวความรัก’ เอาได้ โดยคนที่มีอาการนี้มีสาเหตุมาจากปมความรักครั้งก่อน หรือประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต จึงทำให้พวกเขากลัวการมีแฟน การถูกจีบ หรือก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์กับใครสักคน ซึ่งถ้าเราเดินไปบอกชอบ สารภาพรัก หรือคอยตามตื๊อ แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยคงเดินหนีหรือตีตัวออกห่างแน่ๆ เพราะมันจะไปกระตุ้นให้พวกเขาเกิดอาการวิตกกังวล เครียด ถึงขั้นที่ว่าคลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น และเหงื่อออก
จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะโอเคกับการถูกจีบหรือการบอกชอบ และเป็นเรื่องที่ต้องดูให้ดีๆ ว่าคนที่เราแอบชอบนั้นมีอาการอึดอัดกับพฤติกรรมเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ไม่ไปทำให้พวกเขาลำบากใจมากกว่าเดิม หรือลองปลี่ยนวิธีการเข้าหาให้เหมาะสมมากขึ้นก็อาจจะช่วยได้บ้าง
แล้วจะต้องทำยังไง ในเมื่อเก็บไว้ก็อึดอัด?
ในมุมของคนที่แอบชอบใครสักคน การเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้ก็เหมือนกับการแบกภูเขาลูกใหญ่เอาไว้ในอก เต็มไปด้วยความหนักอึ้ง เฝ้ารอวันว่าเมื่อไหร่เขาคนนั้นจะรู้สักที แต่ถ้าขืนพูดออกไปมันก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาดีๆ ที่จะไปทำลายความสัมพันธ์เอาได้ แล้วแบบนี้ควรจะเก็บไว้หรือยอมเสี่ยงบอกออกไปดีนะ?
แพทย์หญิงชญานิน ฟุ้งสถาพร หรือ ‘หมอจริง’ เจ้าของเพจให้คำปรึกษาวัยรุ่นและผู้แต่งหนังสือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าวัยรุ่น ได้เขียนคำแนะนำเกี่ยวกับการบอกชอบเอาไว้ในเพจ เพราะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่วัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะมาปรึกษา โดยหมอจริงได้เสนอวิธี ‘pros and cons’ หรือการมองหาข้อดีและข้อเสียของการบอกชอบหรือการไม่บอกชอบ ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าอะไรที่ควรทำมากที่สุด เช่น ข้อดีของการบอกชอบคือ เราจะได้พูดในสิ่งที่อยู่ข้างในใจ และเขาเองก็มีท่าทีว่าจะชอบเรากลับ ดังนั้น มันก็อาจจะนำไปสู่การสานสัมพันธ์ต่อจากนี้ได้ ส่วนข้อเสียก็คือ ถ้าเกิดเราคิดไปเองล่ะว่าเขาชอบเรากลับ มันก็อาจจะทำให้มองหน้ากันไม่ติด และเลิกรู้จักกันไปเลยก็ได้
ส่วนข้อดีของการไม่บอกออกไปคือ คนฟังจะได้ไม่รู้สึกอึดอัด ทำตัวสบายๆ รักษาความสัมพันธ์ไว้ได้เหมือนเดิม ส่วนข้อเสียก็คือ จะมีแต่ตัวเราเองนี่แหละที่อึดอัดอยู่คนเดียว เมื่อลองเอามาชั่งดูแล้ว อะไรที่คิดว่ามีน้ำหนักมากที่สุด ก็ให้เราตัดสินใจทำสิ่งนั้น และผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังก็ตาม ถือว่าอย่างน้อยเราได้ลองใช้ ‘เหตุผล’ หลายอย่างมาประกอบกัน ไม่ได้ใช้แค่ ‘อารมณ์’ ในการตัดสิน วิธีนี้ไม่เพียงแต่จะใช้กับเรื่องการบอกชอบเท่านั้น แต่ยังสามารถเอาไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ที่เรายังเกิดความลังเลในใจได้อีกด้วย
ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนก็มีความอึดอัดใจกันคนละแบบ เพราะวินาทีที่เราบอกชอบใครสักคนออกไป มันอาจจะเป็นวินาทีที่ตัวเราโล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอกก็จริง แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ภูเขาลูกนั้นได้ย้ายไปอยู่กับคนที่โดนบอกชอบแทนหรือเปล่า
อ้างอิงข้อมูลจาก