บางที เราอาจจะมีสมการบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ แต่สำหรับเรื่องหัวใจและความรู้สึก สมการอาจจะยิ่งซับซ้อนกว่านั้น
ในโลกของ ‘เพื่อนที่แอบรักเพื่อน’ การเป็นชายหนุ่มที่ดีแสนดี เป็นคนที่คอยอยู่เคียงข้าง คอยแอบยิ้มเงียบๆ เวลาอีกฝ่ายดีใจ คอยเป็นคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างให้อีกฝ่ายมีความสุข ก็ดูเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นคนแอบรักเพื่อนแนว POLYCAT คือเป็นเพื่อนที่ยินดีจะ ‘แอบ’ รักไปตลอด หรือจะอยู่ในประเภทตัดพ้อว่า ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ แต่ทำไมเธอไม่เคยเป็นอะไรกับฉันเลยแบบ Room 39
ลึกๆ แล้ว แรงจูงใจที่ทำให้หนุ่มๆ กลายเป็น ‘เพื่อน’ ที่ดี (ปวดร้าวเนอะ) ก็อาจจะตั้งอยู่บนความคิดและสมการสามัญว่า ถ้าเรารักใคร เราทำสิ่งดีๆ ให้ใคร มันก็น่าจะเป็นการขุดพรวนรดน้ำ ทำให้ผลที่ออกมาเป็นเรื่องดีๆ ไปด้วย ซึ่งจะว่าไป ผลมันก็ออกมา ‘ดี’ แหละ การเป็น ‘เพื่อน’ ก็ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ดี’ รูปแบบหนึ่ง แค่เป็นคนละรูปแบบกับ ‘คนรัก’ ไง
สมการของความสัมพันธ์ก็เลยแสนจะซับซ้อนขึ้น พอคนคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ดีมากๆ ในชีวิต ก็เป็นไปได้ที่หญิงสาวจะเอา ‘คนที่แสนดี’ นี้ใส่ไว้ในโซนความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกว่า ในทางกลับกัน ‘อาการดีแสนดี’ ในผู้ชาย ทั้งการอยากจะอยู่ข้างเธอตลอด อยากจะคอยแก้ปัญหา ซับน้ำตาและเยียวยาหัวใจให้ตลอดเวลา ชายหนุ่มที่มีอาการดังกล่าวนี้อาจมองตัวเองเป็น ‘เจ้าชายขี่ม้าขาว’ (White Knight Syndrome) ตามนิทานที่ตอนจบก็จะต้องลงเอยกับเจ้าหญิง แต่ในโลกความเป็นจริง การกระทำของเจ้าชายมักไม่ค่อยนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้ามากไปกว่าความเป็นเพื่อน
สมการซับซ้อนของความสัมพันธ์ชายหญิง
เฟรนด์โซน (Friend Zone) ถือเป็นปัญหาระดับนานาชาติ สำคัญถึงขนาดมีงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย โดยงานศึกษาในปีค.ศ. 2012 จาก University of Wisconsin-Eau Claire ในสหรัฐฯ พบว่า ภายในความสัมพันธ์ของชายหญิง ผู้ชายมักจะมองว่าเพื่อนหญิงของตัวเองมีความ ‘ดึงดูดใจ’ มากกว่าที่ผู้หญิงมองเพื่อนชาย
งานวิจัยรวบรวมข้อมูลจากเพื่อนข้ามเพศ 88 คู่ โดยถามถึงความรู้สึกที่ต้องตาต้องใจที่แต่ละฝ่ายมีต่อกัน จากสเกล 1-9 ฝ่ายชายมักบอกว่าเพื่อนสาวของตัวเองอยู่ในระดับ 5 ในขณะที่ฝ่ายหญิงมักมองว่าเพื่อนชายของตัวเอง sexy ที่ระดับ 4 คะแนนเท่านั้น ข้อมูลตรงนี้เลยอาจตีความได้ว่า ผู้หญิงมักจะจำกัดความรู้สึกต่อเพื่อนผู้ชายเอาไว้ ในขณะที่เพื่อนชายมักจะแอบมีความรู้สึกให้เพื่อนตัวเองอยู่บ้าง
ข้อค้นพบตรงนี้ก็สอดคล้องกับประสบการณ์ที่เรามักเจอคือ หนุ่มๆ มักเป็นฝ่ายแอบรักเพื่อนผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะมองว่าเพื่อนชายคงไม่ได้ชอบอะไรในตัวเอง จึงจำกัดความรู้สึกไว้แค่ความเป็นเพื่อน ดังนั้น ส่วนหนึ่งของการขีดเส้นเฟรนด์โซนให้กันและกันนี้ นัยหนึ่งจึงหมายความถึงการรักษาคนอีกคนไว้ในความสัมพันธ์แบบเพื่อน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ปลอดภัย’ มากกว่า
ดังนั้น ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่มีสมการ ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ คือ ทำดีเพื่อหวังว่าจะเกิดเรื่องดีๆ สุดท้ายคุณอาจจะหลุดเข้าสู่ภาวะ ‘เพื่อนกันตลอดไป’ ได้ง่ายๆ
ปัญหาของเจ้าชายขี่ม้าขาว
‘อาการเจ้าชายขี่ม้าขาว’ (White Knight Syndrome) เป็นอาการสำคัญที่ผลักดันให้หนุ่มๆ ตกอยู่ในเฟรนด์โซน หนุ่มๆ บางคนอาจจะต้องลองสำรวจตัวเองก่อนว่า เฮ้ย เรามีอาการแบบ ‘เจ้าชายขี่ม้าขาว’ ไหม เป็นคนที่มีหน้าที่คอยกู้สถานการณ์ให้กับหญิงสาวในหอคอยอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า
ในระดับจิตใจ อาการเจ้าชายขี่ม้าขาวอาจเกี่ยวข้องกับปมบางอย่างในวัยเด็ก คือตอนเด็กๆ เราอาจจะมีบาดแผลบางอย่าง พอโตขึ้นก็เลยรู้สึกว่าเรามีหน้าที่จะต้องรักษาเยียวยาแก้ไขปัญหาของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ คนอื่นอาจจะไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้นหรอก แต่ด้วยปมของเรานี่แหละที่รู้สึกอยากแก้หรือโอบอุ้มคนอื่นอยู่เสมอ
ปัญหาของการอยากช่วยเหลือคนอื่น ยิ่งกับสาวเจ้าที่แอบชอบ เลยกลายเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ที่กำลังสานอยู่นั้น ไม่ได้มีความเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน
ถ้าในระดับทั่วไป ไม่ขนาดว่ามีปมอะไรมากมาย การที่ชายหนุ่มเข้าไปยุ่มย่ามกับหญิงสาวซะทุกเรื่อง ก็อาจทำให้หนุ่มคนนั้นตกไปสู่ภาวะของการเป็น ‘เพื่อน’ เมื่อกลับไปดูสมการด้านบนแล้ว ก็ไม่แปลกที่สาวเจ้าจะจัดชายหนุ่มคนนั้นเข้าสังกัด ‘ความเป็นเพื่อน’ และจำกัดความรู้สึกของตัวเองเพื่อรักษาเพื่อนที่แสนดีคนนี้ไว้ต่อไป
หนึ่งในตัวอย่างง่ายๆ ที่ชายหนุ่มมักจะพลาด คือการเข้ารับฟังปัญหาหัวใจของเพื่อนที่ตัวเองแอบชอบ พอถึงจุดที่ผู้หญิงเริ่มบ่นหรือปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของตัวเองได้ ก็เลยนำไปสู่การวางชายหนุ่มผู้นั้นให้กลายเป็นเพื่อนไป
การเป็นเจ้าชายขี่ม้าขาวจริงๆ ก็มีความลักลั่นในตัวเองพอสมควร โอเค การเป็นที่พักพิงยามต้องการของผู้หญิงก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสุภาพบุรุษแหละ แต่ ‘ท่าที’ ของการเข้าช่วยเหลือว่า เอ้อ เราช่วยเหลือทั้งๆ ที่อีกฝ่ายไม่ต้องการ อาจหมายถึงเราพยายามเกินไปไหม หรือเราเข้าไปช่วยโดยใช้ความเป็นเพื่อนเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้หรือเปล่า เหตุผลเหล่านี้ที่อาจทำให้ตัวเราเองกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งสัญญาณของความเป็นเพื่อนให้กับอีกฝ่ายไปโดยปริยาย
ดังนั้น ความชัดเจน ความกล้าหาญ และการไม่แทงกั๊ก อาจจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่เหล่าอัศวินเฟรนด์โซนใช้เพื่อทลายกำแพงความเป็นเพื่อนได้
อ้างอิงข้อมูลจาก