โรคระบาดทำให้หลายคนต้องตกงาน และหลายธุรกิจได้กำไรลดลง จนต้องลดจำนวนพนักงาน ไปจนถึงต้องมีการปิดกิจการ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทำให้หลายคนกลับมาพูดถึง แนวคิด ‘เงินเดือนให้เปล่า’ เมื่อทั้ง พระสันตะปาปาฟรานซิส, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และลูอิส กินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป ล้วนมีความเห็นตรงกันว่านี่เป็นเวลาที่ควรมีการพิจารณาเรื่องเงินเดือนให้เปล่า (Universal Basic Income หรือ UBI) หรือ การให้เงินประชาชนทุกคนทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไข เพิ่มมากขึ้น
“นี่อาจเป็นเวลาที่จะพิจารณาเรื่องเงินเดือนให้เปล่า เพื่อยอมรับและทำให้เป็นเกียรติแก่งานที่สำคัญและสูงส่ง และเพื่อบรรลุอุดมคติ..ไม่มีแรงงงานที่ปราศจากสิทธิ” พระสันตะปาปาฟรานซิส กล่าวในจดหมายที่เขียนถึง World Meeting of Popular Movements ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยแนวคิดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ แอนโทนี เพ้นท์เตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ RSA Center for Action and Research ที่เผยว่า โคโรนาไวรัสเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอในการสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยทางเศรษฐกิจไปทั่วทั้งยุโรป
“แรงงานเผชิญหน้ากับตัวเลือกระหว่างงานของพวกเขา ครอบครัวของพวกเขา และสุขภาพของพวกเขา ด้วยเงินเดือนใหัเปล่า พวกเขาจะรู้ว่าตัวเองจะไม่ต้องกัดฝุ่น มันมีเครือข่ายที่ช่วยลดความขัดแย้งเหล่านี้”
UBI คืออะไร ?
แนวคิด ‘เงินเดือนให้เปล่า’ มีมานานกว่าหลายร้อยปีแล้ว สืบสาวที่มาได้จากนิยายเรื่อง ‘Utopia’ ของ Thomas More ที่มีตอนหนึ่งกล่าวว่า ‘ไม่มีการลงโทษใดในโลกที่จะหยุดคนมิให้ขโมย ถ้านั่นคือการขโมยเพื่อปากท้อง’ สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์มีแสำคัญที่สุด และนำไปสู้แนวคิดการให้เงินเดือนแก่มนุษย์ทุกคนเพื่อดำรงชีวิต
บางประเทศได้มีการนำแนวคิด UBI มาประยุกต์ทดลอง อย่าง ฟินแลนด์ ที่เคยทำการทดลองแจกเงินประชาชนจำนวนกว่า 2,000 คน ตกคนละ 560 ยูโร (ราว 19,700 บาท) ต่อเดือน ในปี ค.ศ.2017 โดยคัดเลือกผู้เข้าร่วม เป็นผู้ที่กำลังตกงาน และมีอายุตั้งแต่ 25 ถึง 58 ปีแบบสุ่ม
ผลการทดลองในเบื้องต้นพบว่า แม้การทดลองจะล้มเหลวในการกระตุ้นให้เกิดการหางาน แต่มันก็ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฟินแลนด์ได้หยุดการทดลองนี้ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2018
ต่อมาในเยอรมันก็มีการทดลองที่คล้ายคลึงกัน โดย องค์กรเอกชน Sanktionsfrei ได้เริ่มการทดลองที่มีชื่อว่า HartzPlus กับผู้รับผลประโยชน์สวัสดิการจำนวน 250 คน ภายใต้โครงการสวัสดิการ Hartz IV ผู้ที่ถูกคัดเลือกแบบสุ่มจะได้รับเงิน 416 ยูโร (ราว 14,600 บาท) ต่อเดือน โดยการทดลองนี้จะใช้เวลา 3 ปี เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2019
แนวคิด UBI ในต่างประเทศ
ตอนนี้บางประเทศได้เริ่มมีการนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้เป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ อย่างสเปนเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีมาตรการให้เงินรายได้ขั้นต่ำที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต แก่ทุกครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 450 ยูโร (ราว 15,900 บาท) เริ่มในเดือนพฤษภาคม และจะมีผลบังคับใช้ในระยะยาว แม้จะผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปแล้วก็ตาม
ตั้งแต่ที่ COVID-19 เริ่มระบาด การว่างงานของสเปนก็เพิ่มขึ้นสูง หากอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสวัสดิการสังคมของสเปน ราว 900,000 คนได้สูญเสียงาน นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึง 1 เมษายน มากกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี ค.ศ.2008
แต่การให้เงินเดือนขั้นต่ำของสเปนก็ยังไม่ถือว่าเป็น UBI เพราะเป็นการให้เงินแบบมีการกำหนดเงื่อนไขผู้มีสิทธิได้รับเงิน ไม่ใช่เป็นการมอบเงินให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ในสหราชอาณาจักรก็ได้มีการส่งจดหมายถึงรัฐบาลให้มีการออกมาตรการ UBI เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกคน แต่ก็ได้ถูกปฏิเสธโดย ริชิ ซูนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่ามันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ที่ถูกต้อง
ในอิตาลี พรรค Five Star Movement party ซึ่งมีอำนาจในรัฐบาลผสม ได้ผลักดันมาตรการ ‘รายได้ของประชาชน’ ในปี ค.ศ.2018 โดยผู้มีสิทธิได้รับเงินต้องมีรายรับต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 780 ยูโร (ราว 27,000 บาท) ต่อเดือน ส่วนวิธีการให้เงินก็จะมีทั้งแบบให้เงิน 780 ยูโรต่อคน และให้เงิน 1,300 ยูโร (ราว 45,000 บาท) ต่อครอบครัวที่มีบุตร 2 คน นอกจากนี้ นันเซีย คาทอลโฟ (Nunzia Catalfo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็กำลังเสนอให้ประชาชนอีก 3 ล้านคนมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเติมด้วย ซึ่งก็มีคนวิจารณ์ว่ามาตรการนี้จะทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบพึ่งพาเงินแจกมากกว่าการสร้างงาน
ในเยอรมันได้มีการยื่นข้อเสนอแก่คณะกรรมการคำร้องรัฐสภา พร้อมลายเซ็นผู้เห็นชอบใน UBI จำนวน 450,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย
แล้ว UBI ในไทย จะเป็นไปได้ไหม ?
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น และล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เช่นกัน
กลุ่มอาจารย์เศรษฐศาสตร์ 18 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. เสนอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท จากที่มีผู้เดือดร้อนเข้าไม่ถึงมาตรการดังกล่าว และระบบคัดกรองยังมีความไม่สมบูรณ์แบบ โดยให้เปลี่ยนนโยบายเป็นแจกเงิน 3,000 บาท แก่ประชากรทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นระยะเวลา 3 เดือน ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐฯ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้มาตรการมีความครอบคลุมคนทุกกลุ่ม คาดว่าใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาท
อีกทั้ง ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในไลฟ์สดของเพจคณะก้าวหน้า หัวข้อ “Eat The Rich : เมื่อคนส่วนใหญ่ถูกกดขี่ ความเจ็บปวดสิ้นหวังของมวลชนจะพ่นพิษใส่ทุกส่วนของสังคม” เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่า สิ่งหนึ่งที่คนเคยคิดมาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ หากแต่วันนี้มีการพูดถึงเยอะมาก นั่นคือ เรื่องระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิต หรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีแล้ว จะมีคนค้านว่าเป็นไปไม่ได้ ทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน หากแต่วันนี้ เมื่อเจอวิกฤตเข้า คนเริ่มกลับมาทบทวนเรื่องระบบเงินเดือนพื้นฐานจะช่วยเรื่องการดำรงชีวิตพื้นฐานได้
แม้เงินเดือนให้เปล่าจะมีข้อดี เช่น ทำให้คนที่ทำงานไม่ได้รายได้พอมีรายได้ ทำให้คนยากจนไม่ลำบากมากเวลาเจอกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการทำให้คนที่ตกงานมีต้นทุนในการลงทุนทางธุรกิจต่างๆ
แต่หลายคนก็กังวลว่ามันจะทำให้คนหางานกันน้อยลง และหวังพึ่งพาสวัสดิการของรัฐอย่างเดียว รวมไปถึงเรื่องงบประมาณที่อาจไม่เพียงพอในการแจกเงินให้กับคนทั้งหมด ดังนั้น UBI ที่สมบูรณ์แบบจึงอาจเป็นจริงได้ยาก ต้องมีการปรับเปลี่ยนแบบที่หลายประเทศทำอยู่ในตอนนี้
อ้างอิง