เวลาเราพูดถึงพื้นที่สาธารณะ เรามักคิดถึงสวนสาธารณะ สวนขนาดใหญ่ที่มีแนวต้นไม้และสนามหญ้า แต่ด้วยจินตนาการใหม่ๆ และการมองเห็นความหลากหลาย ไปจนถึงความซับซ้อนของตัวพื้นที่สาธารณะ ที่ทั้งตัวมันเองอาจมีบริบทแตกต่างกัน ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน ไปจนถึงเป็นพื้นที่ที่ชวนให้เรารับรู้ และใช้งานพื้นที่เมืองในมุมมองที่เราไม่เคยนึกฝันถึง เป็นการช่วยคิดถึงชีวิตและกิจกรรมในเมืองในรูปแบบใหม่ๆ
การลงทุนและการคิดต่อพื้นที่สาธารณะที่สดใหม่ ค่อนข้างเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในเมืองสำคัญ และในพื้นที่ของการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ทั่วโลก พื้นที่สาธารณะอาจไม่ใช่แค่พื้นที่สันทนาการ แต่มันอาจมีบทบาทอื่นๆ ในเรื่องความยืดหยุ่นให้กับเมือง บางพื้นที่เช่นสิงคโปร์ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความตาย เป็นพื้นที่ที่ละลายเส้นแบ่งของผู้คนที่ยังมีชีวิตกับผู้ที่จากไป โดยมีบริการสาธารณะและธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ ในหลายพื้นอย่างกลุ่มสแกนดิเนเวียที่พื้นที่ริมน้ำ ทั้งแม่น้ำและชายฝั่งเสื่อมโทรมลง การเปิดเป็นพื้นที่ให้คนได้เล่นน้ำผ่านสระว่ายน้ำ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญในการฟื้นฟูและคืนพื้นที่เมืองให้กับผู้คน
ในโอกาสที่เรามองเมืองไปข้างหน้า The MATTER ชวนเดินทางไปยังเมืองสำคัญ และไปเยี่ยมเยียนพื้นที่สาธารณะที่ล้ำสมัย และเป็นต้นแบบการคิดและการพัฒนาจากทั่วโลก จากเนินโรงเผาขยะพร้อมลานสกีของโคเปนเฮเกน ถึงเกาะน้อยจากโครงสร้างท่าเรือที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำฮัดสัน ไปจนถึงห้องสมุดริมทะเลจากจีน หนึ่งในประเทศที่กำลังลงทุนและเปิดพื้นที่สาธารณะระดับโลก จากจีนถึงไต้หวันที่เปิดจัตุรัสให้ผู้คนลงเล่นน้ำได้ และส่งท้ายด้วยโปรเจ็กต์ทดลอง รวมถึงกระแสของกรุงรอตเตอร์ดัมที่กำลังพยายามเปิดท้องฟ้าและดาดฟ้า ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เมืองอีกชั้น
CopenHill – Copenhagen, Denmark
ในทศวรรษที่ผ่านมา จริงๆ เรามีพื้นที่สาธารณะที่เปิดมิติของความเป็นพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง หนึ่งในนั้นที่ได้รับการพูดถึงในแง่นวัตกรรมต้องยกให้เจ้าโคเปนฮิลล์ (Copenhill) จาก Bjarke Ingels Group ตัวโปรเจ็กต์เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2005 และสร้างเสร็จในปี 2019 ความเท่ของเจ้าเนินยักษ์นี้คือ ภายในเป็นโรงเผาขยะล้ำสมัยที่ไม่ปล่อยสารพิษเลย ตัวโรงเผาขยะรับขยะที่บริการประชากรได้ราว 680,000 คนต่อวัน ตัวโรงงานลงทุนและเป็นเจ้าของโดยเขตเทศบาลเมือง 5 เขต แถมตัวโรงแยกขยะยังสามารถผลิตไฟฟ้าและความร้อนได้มากถึง 30,000 และ 70,000 ครัวเรือนตามลำดับ
แน่นอนว่าตัวโรงเผาขยะนี้เป็นทั้งพื้นที่จัดการขยะ ซึ่งด้านบนถูกออกแบบเพื่อการใช้งานอย่างดี โดยสอดคล้องกับพื้นที่และอุปกรณ์เตาเผาขยะด้านล่าง ตัวเนินด้านบนสามารถใช้ได้ทุกฤดู เป็นลานสกีหิมะหรือลานสกีหญ้าเทียมก็ได้ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เดินเขาชมธรรมชาติ ด้วยความครบเครื่องและมาก่อนกาลนี้ จึงทำให้โคเปนฮิลล์กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการพัฒนาและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างกระแสไปทั่วโลก
Little Island at Pier 55 – New York, USA
เราคงจะจินตนาการไม่ออกว่าเราจะมองเมืองที่เราอยู่ในที่นี้ คือนิวยอร์กออกมาเป็นแบบไหน ถ้าเรามองจากเกาะกลางแม่น้ำ ซึ่งรายล้อมด้วยดอกไม้และใบหญ้า นี่คือโปรเจ็กต์พื้นที่สาธารณะที่สร้างความฮือฮาให้ทั่วโลก กับการสร้างเกาะขึ้นบนโครงสร้างท่าเรือเก่า จนกลายเป็นเกาะจำลองกลางแม่น้ำฮัดสัน โปรเจ็กต์เกาะน้อยนี้ออกแบบโดย Heatherwick Studio อีกหนึ่งสตูดิโอที่เชี่ยวชาญด้านการใช้รูปทรงสมัยใหม่ ผสานเข้ากับพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ในมุมมองที่เราคาดไม่ถึง โดยภายในเกาะนี้เป็นสวนที่เข้าได้ฟรี มีเนินที่ประกอบไปด้วยต้นไม้ใหญ่ และไม้พุ่มพร้อมด้วยทุ่งดอกทิวลิป ถ้านึกภาพการที่เราได้มองเห็นพระอาทิตย์ตกของเมืองจากกลางแม่น้ำ ท่ามกลางเหล่าต้นไม้ที่ยืนต้นอย่างแปลกประหลาดบนเกาะเทียม มุมเมืองใหม่ๆ นี้ ผู้ออกแบบเชื่อว่าจะทำให้เรายิ่งรักเมืองที่เราอยู่มากขึ้น
Garden of Peace – Singapore
เราพูดกันถึงเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการหลังความตาย สวน Garden of Peace ของสิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคสำหรับจัดการร่างคือ Choa Chu Kang Cemetery Complex เนื่องด้วยสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลาย และเริ่มเจอปัญหาด้านพื้นที่ที่จำกัดคือ สุสาน ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อ สวนแห่งนี้เป็นสวนสำหรับการโปรยอัฐิลงบนแผ่นดินที่แรกของสิงคโปร์ ผู้ใช้บริการจะสามารถนำร่างมาเผา และเข้าไปโปรยอัฐิได้
บริการนี้เป็นบริการและสาธารณูปโภคของรัฐที่ไม่มีนัยทางศาสนา คือไม่ใช่และห้ามประกอบกิจทางศาสนา แต่เป็นการเผาและโปรยเถ้าอัฐิด้วยความเรียบง่าย ตัวสวนเองออกแบบเป็นแถว เป็นพื้นที่ให้ผู้มาใช้บริการโปรยอัฐิ และราดน้ำเพื่อชะล้างอัฐิลงไปตามแนวที่กำหนดไว้ เป็นกระบวนการที่เรียบง่าย และเป็นการจัดการร่างทางโลกย์ ค่าบริการก็แยกกันระหว่างบริการเผาร่าง ซึ่งยังจำกัดให้บริการเฉพาะพลเมืองสิงคโปร์ โดยค่าบริการโปรยอัฐิอยู่ที่ราว 8000 บาท (คิดเป็น 320 ดอลล่าสิงคโปร์) ถือว่ามีราคาถูกกว่าการโปรยอัฐิลงสู่ทะเล
Aarhus Harbor Bath – Aarhus, Denmark
Harbor Bath เป็นกระแสการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสำคัญในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เรากลับไปยังกรุงโคเปนเฮเกน หนึ่งในเมืองแนวหน้าของการสร้าง Harbor Bath โดยลักษณะทั่วไปของมันมาจากการที่เมืองต้องการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งหรือพื้นที่ริมแม่น้ำ ซึ่งมักจะเสื่อมโทรมลง เพราะอุตสาหกรรมโดยเฉพาะท่าเรือ การพัฒนาความเสื่อมโทรมนี้ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพน้ำ และบรรยากาศพื้นที่ริมน้ำโดยรอบ
ความเท่กว่านั้นคือ เจ้า Harbor Bath เป็นการสร้างโครงสร้างและสระว่ายน้ำรูปแบบต่างๆ ลงไปในน้ำ มีพื้นที่สาธารณะแบบชาวสแกนดิเนเวีย เช่น ซาวน่า สระน้ำวน และสระว่ายน้ำยาว 50 เมตร โปรเจ็กต์นี้เป็นการออกแบบร่วมของ BIG (Bjarke Ingels) ร่วมกับยาน เกห์ล (Jan Gehl) สถาปนิกและนักออกแบบเมืองระดับตำนาน ซึ่งสระว่ายน้ำกลางน้ำจะทำให้เราเห็นบรรยากาศสดใสของเมือง ทั้งยังเป็นการขยายพื้นที่เมืองลงไปในน้ำด้วย
Wormhole Library – Haikou, China
ถ้าเราเปิดภาพพื้นที่สาธารณะ และสถาปัตยกรรมล้ำสมัย เราจะเริ่มเห็นโปรเจ็กต์ใหญ่ใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากจีน ในภาพรวม จีนค่อนข้างใช้สถาปัตยกรรม และพื้นที่สาธารณะในการพัฒนาและสร้างพื้นที่เมืองใหม่ จากที่เคยสร้างแต่เมืองแล้วกลายเป็นเมืองไร้ชีวิต เจ้าห้องสมุดรูหนอนนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ใหญ่ในการพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งเมืองไหโข่ว ในไหหลำ ตัวโครงการใหญ่ของจีนจะเป็นการสร้างพาวิลเลี่ยนจำนวนหนึ่งที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นการจินตนาการถึงชีวิตและอนาคตของการอยู่ริมทะเล โดยสอดคล้องกับเมืองใหม่ และการเปิดเขตอุตสาหกรรมของเมือง ตามแผนการสร้างเป็นพาวิลเลี่ยนจะใช้สตูดิโอระดับโลกมาออกแบบ และสร้างให้เป็นพื้นที่สาธารณะถาวร แต่เท่าที่มีการอัปเดต โครงการน่าจะหยุดชะงัก เพราะมีเพียงบางพาวิลเลี่ยนที่เดินหน้าสร้าง และเจ้าห้องสมุดรูหนอนนี้ถือเป็นอาคารแรกที่สร้างเสร็จ
ห้องสมุดรูหนอน ถ้านิยามตัวมันเองก็คือ ห้องสมุดที่อยู่ริมทะเล จีนใช้สถาปัตยกรรมที่แปลกประหลาด ทำให้ความรู้สึกของผู้คนเปลี่ยนไปกับบรรยากาศชายฝั่งของเมือง ตัวอาคารนอกจากจะเป็นห้องสมุดแล้ว ยังเน้นออกแบบเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม เป็นพื้นที่ให้ชุมชนรวมตัว จัดงานทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งโดยรวมมีความน่าสนใจ เมื่อจีนจะเปิดเขตอุตสาหกรรม และกระตุ้นพื้นที่เมืองใหม่ อาคารสาธารณะริมทะเลแห่งนี้ชวนให้เราฝันถึงชีวิตแบบใหม่ ผ่านห้องสมุดที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากดาวอังคาร
Oslo Opera House – Oslo, Norway
เมื่อเราพูดถึงโรงละคร เรามักนึกถึงพื้นที่ที่เราทำตัวเล็กๆ จนแทบไม่มีโอกาสเข้าไปชมละคร เป็นพื้นที่ไกลตัว แต่ทั้งหมดนั้นกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับโรงอุปรากรของนอร์เวย์ ซึ่งตั้งใจออกแบบให้การห้ามจับ ห้ามสัมผัส ไม่จำเป็นต้องใช้กับโรงละครประจำชาติของนอร์เวย์ โดยความเท่ของอาคารนี้เป็นการออกแบบตามสไตล์ของบริษัทด้านสถาปัตยกรรมอย่าง Snøhetta ที่คิดขึ้นใหม่และใช้องค์ประกอบของความเป็นธรรมชาติจำลองอาคารขึ้นมา
คำว่าพื้นที่ศิลปะที่เข้าถึงได้ คือการออกแบบให้ผู้คนเข้าถึงได้จริงๆ ให้เราเหยียบขึ้นไปบนหลังคาของอาคารได้ โดยตัวอาคารนั้นตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ริมน้ำที่สวยงาม หลังคาโรงละครแห่งนี้รวมถึงบริเวณริมน้ำ จึงออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ เป็นโรงละครที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เราเข้าถึงได้ จับต้องได้ และเชื่อมโยงผู้คนกลับเข้าหาพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่เมือง ซึ่งรูปร่างอาคารเป็นการจำลองก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย ส่วนพื้นที่ด้านในอาคารเป็นโรงละคร เป็นพื้นที่แสดงบัลเลต์และดนตรีอื่นๆ ตามวาระโอกาส
Tainan Spring – Tainan, Taiwan
คำว่าพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในนิยามที่เป็นสวน หรือเป็นลาน ส่วนหนึ่งเรามักแยกพื้นที่สีฟ้า รวมไปถึงพื้นที่ธรรมชาติ ให้เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ได้ ต้นไม้อยู่ส่วนต้นไม้ น้ำพุก็อยู่ในพื้นที่ของมัน แต่ด้วยความคิดใหม่ๆ ของการเป็นลานโดยเฉพาะน้ำ กำลังกลายเป็นองค์ประกอบ กระทั่งกลายเป็นฟังก์ชั่นสำคัญ เช่น การช่วยรับมือกับความร้อน ดังนั้นเราจะเริ่มเห็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้เราเข้าถึงน้ำได้ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และคลายร้อนให้กับเมือง
จัตุรัสน้ำพุไถหนานในไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งพื้นท่ีที่มีการฟื้นฟูน้ำ และเอาน้ำกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ตัวโปรเจ็กต์เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำและโครงข่ายแม่น้ำ บริเวณจัตุรัสเดิมเป็นห้างเก่า ซึ่งทาง MVRDV สตูดิโอจากรอตเตอร์ดัม ได้ทำการปรับโครงสร้างห้างและลานจอดรถเก่า ไปสู่จัตุรัสที่มีสระว่ายน้ำ และพื้นที่สีเขียวที่จะกลายเป็นดินแดนชุ่มฉ่ำใหม่ เป็นที่หลบร้อน ที่เล่น และที่รวมตัวให้กับผู้คน
The Stairs to Kriterion – Rotterdam, Netherlands
ส่งท้ายด้วยโปรเจ็กต์จากเมืองรอตเตอร์ดัม อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสการพัฒนาระดับเมือง อย่างแรกคือด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่เมืองของรอตเตอร์ดัม ทางเมืองจึงพยายามสำรวจและขยายพื้นที่เมืองไปสู่พื้นที่ดาดฟ้าบนหลังคา นิยามหนึ่งที่เมืองพูดถึง คือการเปิดพื้นผิวชั้นที่ 2 หรือ Second Layer โดยเจ้า The Stairs to Kriterion เป็นโปรเจ็กต์ชั่วคราวของทางเมืองที่จัดขึ้นในวาระฉลองครบรอบ 75 ปีของสร้างเมืองขึ้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โปรเจ็กต์นี้เป็นความร่วมมือระหว่างสตูดิโอ MVRDV กับเมือง ในการสร้างสะพานขนาดยักษ์ขึ้นกลางเมือง แล้วทอดตัวขึ้นสู่กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ และสร้างทางเดินเชื่อมกลุ่มอาคารกลางเมืองนั้น การได้เหยียบขึ้นไปบนดาดฟ้าจึงถือเป็นการเปิดพื้นที่และมุมมองใหม่ให้กับเมือง ทำให้ดาดฟ้าบนหลังคากลายเป็นพื้นที่ใช้งานใหม่ เป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้ ซึ่งหลังจากบันไดยักษ์ที่สร้างในปี 2016 เมืองก็มีโปรเจ็กต์ต่อเนื่อง เช่น ทางเดินลอยฟ้าสีส้มในปี 2022 ด้วยการออกแคตตาล็อกการปรับปรุงและเปิดดาดฟ้า โปรเจ็กต์นี้จึงทำให้ท้องฟ้าที่เราเคยเห็นกลายเป็นพื้นที่สาธารณะได้
อ้างอิงจาก