เจ้านายยยยยย ขอดูวอลเลย์บอลแป๊บ!
ด้วยฟอร์มแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ของนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยชุดสู้ศึกวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 ที่ทวงบัลลังก์กีฬายอดนิยมของคนไทย ทั้งหน้าจอทีวี และโซเชียลมีเดียในทุกนัดที่ลงสนาม แล้วอย่างนี้ใครจะไปอดใจไม่ดูไหว จนร่ำร่ำจะขอลางานไปเชียร์ให้รู้แล้วรู้รอด
เชื่อว่าหลายคนอาจใจหวิวๆ หลังทราบข่าวเป็นทางการวันนี้ (15 มิ.ย.) ว่ามีนักกีฬาวอลเลย์บอลติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 8 คน ซึ่งหลายคนเป็นกำลังหลักมาตลอด ทั้งปิยะนุช สุพัตรา รวมถึงหัตถยา ทำให้ทั้งหมดไม่สามารถลงแข่งในสัปดาห์ที่สองได้ แต่คาดจะหายกลับมาทันในสนามที่ 3
ก่อนจะไปตุนยาดม ยาหอม หรือลูกอมแก้เจ็บคอ เพื่อเตรียมลุ้นในนัดต่อไป The MATTER อยากชวนไปทำความรู้จัก กับบรรดานักตบลูกยางสาวไทยสายเลือดใหม่ ที่รับไม้ต่อจากตำนาน 7 เซียน ว่าใครเป็นใครกันบ้าง
หมายเหตุ รายชื่อนักกีฬาที่ปรากฏ อ้างอิงข้อมูลจนถึงวันที่ 14 มิ.ย. จากผู้เล่นที่มีสถิติลงสนามแล้ว ตามเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการแข่งขัน วอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022
ใครเป็นใครบ้าง?
อธิบายก่อนว่า วอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 หรือที่คุ้นชินในชื่อ ‘VNL 2022’ ถือเป็นเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับโลก ซึ่งครั้งนี้มีรายละเอียดหลายอย่างที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสถานการณ์โรคระบาด โดยจัดแข่งขัน 3 สนามใน 3 ประเทศ (ตุรกี ฟิลิปปินส์ และบัลแกเรีย)
โดยแต่ละทีมจะแข่งขันกันแบบพบกัน 3 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4 เกม เพื่อเก็บคะแนนสะสม ก่อนจะคัดเอาทีมอันดับ 1-8 ที่มีผลงานดีที่สุด ผ่านเข้ารอบสุดท้ายที่ประเทศตุรกี ซึ่งถึงวันนี้ก็เข้าสู่สนามที่ 2 หรือ สัปดาห์ที่ 2 ของการแข่งขันที่มีฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ
หากใครติดตามก็จะเห็นรายชื่อนักกีฬาที่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากสนามแรก ด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บจนต้องถอนตัว และมีการเรียกนักกีฬาบางคนเข้าเสริมทีมแทน
เริ่มกันที่ตำแหน่ง Setter หรือ ตัวเซ็ต ที่นำมาโดย กัปตันพู่-พรพรรณ เกิดปราชญ์ ที่เพิ่งเรียกเสียงฮือฮาจากนัดที่เอาชนะแคนาดา กับการเข้าไปพูดคุยกับฝั่งตรงข้ามหลังมีช็อตเจ้าปัญหาช่วงท้ายเกม ด้วยท่าทางมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้
เช่นเดียวกับ ฑิชาญา บุญเลิศ และสิริมา มานะกิจ อีกสองผู้เล่นในตำแหน่งนี้ ส่วนอีกคนที่เป็นขวัญใจใครหลายคน อย่างณัฐณิชา ใจแสน ก็กำลังรอโอกาสลงสนาม หลังถูกเรียกเป็นกำลังเสริมในสนามที่ 2 นี้
ตัวตบหัวเสา หรือ Outside Hitter ก็มีผู้เล่นอายุยังน้อยที่มีประสบการณ์สูง ทั้งอัจฉราพร คงยศ ชัชชุอร โมกศรี สุทัตตา เชื้อวู้หลิม และศศิภาพร จันทวิสูตร
รายชื่อหนึ่งที่อาจสร้างความสับสนให้ใครหลายคน คือ ปิยะนุช แป้นน้อย ที่ถูกวางชื่อในตำแหน่งนี้ตามแผนของโค้ช ทั้งที่เรามักคุ้นชินว่าเป็นลิเบโรขวัญใจคนไทยอีกคนหนึ่ง
สำหรับตำแหน่งบอลเร็ว หรือ ตัวบล็อก Middle Blocker ก็เรียงมาด้วยบรรดาผู้เล่นสูงยาวเข่าดี ทั้งหัตถยา บำรุงสุข ฑิชากร บุญเลิศ แก้วกัลยา กมุลทะลา รวมถึงทัดดาว นึกแจ้ง ที่สามารถทำ ‘Monster Block’ จนได้รับเสียงชื่นชมจากผู้บรรยายภาษาอังกฤษไปได้ แต่ได้รับบาดเจ็บในสนามแรกจนต้องถอนตัว ขณะที่วัชรียา นวลแจ่ม เป็นอีกคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้ แต่ยังไม่ปรากฏรายชื่อเป็นตัวจริง
ข้ามไปไม่ได้กับ พิมพิชยา ก๊กรัมย์ ในตำแหน่ง Opposite Hitter หรือ ตัวตีตรงข้าม ที่ยืนหนึ่ง Best scorers ของการแข่งขันที่ 118 คะแนน หลังผ่านมา 5 นัด และผู้เล่นอีกคนที่ในตำแหน่งนี้ที่ทำผลงานเต็มที่ในทุกครั้งที่ลงสนาม คือ ธนัชชา สุขสด
ตำแหน่งสุดท้าย ที่ว่ากันว่าวัดพื้นมาแล้วทุกสนาม อย่างตัวรับอิสระ หรือ Libero ก็ได้สุพัตรา ไพโรจน์ และณัฎฐพร สนิทกลาง หรือที่สาวกวอลเลย์บอลรู้จักในชื่อเดิมคือ ยุพา มาคอยทั้งรับทั้งขุดจนพื้นสนามแวววับ
ทีมนักตบชุดนี้มาจากจังหวัดไหนกันบ้างนะ ?
อาจจะไม่ใช่มาตรวัดทั้งหมด แต่จังหวัดบ้านเกิดพื้นเพของแต่ละคน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความนิยมของกีฬาวอลเลย์บอลในภูมิภาคนั้นๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะในระดับเยาวชน ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างสาวๆ หลายคนมาจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง 8 คน ทั้งนครพนม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา
รองลงมาเป็นภาคกลาง 4 คน ได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และกำแพงเพชร ขณะที่ 2 สาวจากนครศรีธรรมราช ถือเป็นตัวแทนจากภาคใต้ และอีก 2 คนจากปริมณฑล อย่างนนทบุรี
เช็กส่วนสูงกันหน่อย
ธรรมชาติของกีฬาที่ทุกความได้เปรียบอาจถูกแปลงเป็นผลแพ้ชนะ จึงทำให้ประเด็น ‘ความสูง’ ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในการแข่งขันวอลเลย์บอล โดยเฉพาะในวันที่ฝ่ายตรงข้ามเรียงหน้าเป็นกำแพงสูง หรือกระโดดขาเดียวก็เหนือบล็อกไม่ยาก
สำหรับความสูงของทีมไทยในศึกวอลเลย์บอลเนชั่นส์ลีก 2022 นั้น ผู้เล่นสูงสุดของทีม คือ ทัดดาว นึกแจ้ง ที่สูง 184 ซม. รองลงมา คือหัตถยา บำรุงสุข ฑิชากร บุญเลิศ และ ธนัชชา สุขสด ที่สูงแตะ 180 ซม.
ขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆ ลดหลั่นกันไป ส่วนผู้เล่นที่ต้องอาศัยความคล่องตัวสูงในตำแหน่งตัวรับอิสระ ซึ่งมักมีขนาดตัวไซส์มินิ ทางสุพัตรา ไพโรจน์ ก็เช่นกัน ด้วยความสูง 160 ซม.
ส่งผลให้ผู้เล่นที่ลงสนามแล้วของทีมชาติไทยจนถึงวันที่ 14 มิ.ย. จำนวน 16 คน มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 174.8 ซม.
แต่นั่นก็ไม่ได้มีบทสรุปตายตัว เพราะมีหลายต่อหลายครั้งที่สถิติชี้ว่ามดก็ตบจนกำแพงยักษ์แตกได้สำเร็จ อย่างนัดที่เอาชนะทีมจีน ซึ่งมีผู้เล่นที่สูงที่สุดในทีมอยู่ที่ 201 ซม. และค่าเฉลี่ยความสูงผู้เล่นที่ลงสนามแล้ว อยู่ที่ 187 ซม.
พวกเขามาจากโรงเรียนอะไรกัน?
แม้พรสวรรค์ทางกีฬาอาจเป็นสิ่งที่หลายคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ค้นพบทักษะจากพรแสวง หรือการฝึกฝนด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ อย่างนักกีฬาวอลเลย์บอลชุดนี้ ก็ต่างมีจุดเริ่มต้นเส้นทางสายลูกยางที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีคุณครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษาเป็นผู้ปลุกปั้น จนเป็นที่รู้กันว่าใครเป็นลูกศิษย์ครูคนไหน
หลายโรงเรียนมีการจัดตั้งเป็นห้องเรียนกีฬาและศูนย์บ่มเพาะนักกีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งก็มีนักกีฬาที่เป็นผลิตอยู่หลายต่อหลายคน อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมจึงเป็นที่หมายตา จนได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมทีมในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้
อย่างบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็เป็นโรงเรียนนี้ที่ผลิตนักวอลเลย์บอลชุดนี้ถึง 5 คน รองลงมากโรงเรียนกีฬานครนนท์วิทยา 6 จ.นนทบุรี ที่มี 4 คน
นอกจากนี้ยังมีนักกีฬาจากโรงเรียนกีฬา จ.อ่างทอง โรงเรียนเทศบาล 3 (วัดไชนาวาส) สุพรรณบุรี โรงเรียนหนองเรือวิทยา จ.ขอนแก่น โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา และโรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต จ.นครราชสีมา
เล่นอาชีพในลีกไหนบ้าง?
การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกต่างแดน ถือเป็นอีกหนึ่งความฝันของนักวอลเลย์บอลหลายคน เพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองผ่านระบบของทีม รวมถึงเปิดโอกาสให้ประลองฝีมือกับผู้เล่นจากนานาชาติ
ลีกวอลเลย์บอลญี่ปุ่น เป็นหนึ่งลีกที่แฟนๆ ให้ความสนใจ ด้วยขึ้นชื่อเรื่องความเหนียวแน่น และระบบการพัฒนาทีมที่ดี จึงมีนักกีฬาไทยหลายคนเล่นอาชีพที่นั่น อย่างพิมพิชยาที่เล่นอยู่กับสโมสรคุโรเบะ อควาแฟรีส์ ทัดดาวอยู่กับสโมสรเจที มาร์เวลลัส รวมถึงหัตถยาที่เล่นในสโมสรโตโยต้า ออโต บอดี ควินซีส์ ด้านธนัชชา ก็เพิ่งเข้าร่วมสโมสรโอคายามะ ซีกัลส์
ขณะที่ลีกตุรกี ยังคงความฝันของนักวอลเลย์บอลทั่วโลก เพราะขึ้นชื่อในการรวมสุดยอดฝีมือ บรรดารุ่นพี่ทีมชาติไทยต่างก็เคยไปเล่นกันมาแล้ว ก่อนที่อัจฉราพรและชัชชุอรจะตามรอย ด้วยการเข้าร่วมกับสโมสรซาริเยร์ เบเลดิเยสปอร์ ในตอนนี้
อย่างไรก็ดี เกินกว่าครึ่งของชุดนี้เล่นอยู่ในไทยแลนด์ลีก ซึ่งก็ได้รับการรับรองเป็นลีกอาชีพ และมีผู้เล่นทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ในแต่ละทีม ซึ่งครั้งนี้ก็มีผู้เล่นที่มาจากสโมสรสุพรีม ชลบุรี-อี.เทค สโมสรไดมอนด์ ฟู้ด-ไฟน์เชฟ สปอร์ต คลับ รวมถึงสโมสรนครราชสีมา คิวมินซี วีซี ซึ่งหลายคนก็เคยไปเล่นอาชีพในต่างประเทศมาก่อน
อีกลีกที่เพิ่งเป็นที่รู้จักหลังพรพรรณเข้าร่วมสโมสรจาการ์ตา โปปซิโว โปลวาน คือ ลีกอินโดนีเซีย ซึ่งในประเทศทีมหญิงมีแข่งกัน 5 ทีม
5 อันดับผู้ติดตามสูงสุดใน IG
สมัยนี้คนตามกรี๊ดนักกีฬาไม่ต่างกับดาราคนหนึ่ง เห็นได้จากบรรยากาศในแต่ละสนามที่ลงแข่ง ที่ไม่ได้เป็นที่สนใจเฉพาะคนในชาตินั้นๆ อย่างนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทยเองก็เป็นขวัญใจของแฟนกีฬาต่างชาติ ด้วยรอยยิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ในทุกครั้งที่ลงแข่ง ไม่ว่าทีมจะเป็นรองแค่ไหน
ตัวอย่าง ช่องทางอินสตาแกรม (IG) ที่หลายคนมีผู้ติดตามหลักแสน เรียง 5 อันดับ ดังนี้
- ปิยะนุช IG : plawann2 จำนวน 678,000 ราย
- ทัดดาว IG : thatdao_naldo จำนวน 479,000 ราย
- อัจฉราพร IG : zalengnpure จำนวน475,000 ราย
- หัตถยา IG : bumrunghat7 จำนวน 423,000 ราย
- พรพรรณ IG : guedparddhoy จำนวน 346,000 ราย
หมายเหตุ ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.
คงต้องรอติดตามว่าในอนาคตจะมีใครสามารถขึ้นไปอยู่ในลิสต์ นักกีฬาวอลเลย์บอลที่มียอดติดตามเกิน 1 ล้านคน ตามรุ่นพี่อย่างนุศรา ต้อมคำ และปลื้มจิตร์ ถินขาว ได้อีกหรือไม่
ท้ายสุดคงต้องรอติดตามกันว่า ในศึกเนชั่นส์ลีก2022 นี้ ทีมนักวอลเลย์บอลสาวไทยจะไปถึงรอบสุดท้ายได้หรือไม่ จะทำผลงานร้อนแรงต่อเนื่องจนคว้าตั๋วไปโอลิมปิกตามหวังได้ไหม อย่างน้อยก็ขอให้คนไทยทุกคนร่วมลุ้น ให้กำลังใจพวกเธอไปด้วยกัน ทั้งในวันที่ยิ้มได้ใจ และวันที่ผลลัพธ์อาจไม่เป็นตามที่คาดหวัง
ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาทุกคนหายป่วยไวๆ นะคะ ไทยแลนด์ สู้ๆ