อีกไม่นานเมืองไทยเรากำลังจะต้องโบกมือลาหน้าหนาว ต่างกับเมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวกันอยู่ ซึ่งในปีนี้มีการแข่งขันที่น่าสนใจมากมาย ที่โดดเด่นคือมีการปรับเปลี่ยนกฎกติกามารยาทของการแข่งขันฟิกเกอร์สเก็ตน้ำแข็ง โดยการแข่งครั้งนี้เป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้เพลงที่มีเนื้อร้องในการแข่งขัน
การแข่งขันฟิกเกอร์สเก็ตครั้งนี้จึงมีสีสันมากกว่าปกติ เพราะนักกีฬาหลายประเทศใช้เพลงดังของ Adele, Beyoncé รวมถึงเพลง Despacito ที่ฮิตระเบิดระเบ้อเมื่อปีก่อน ก็กลายเป็นเพลงที่เอามาใช้ประกอบท่าเต้นอันงดงามได้ ซึ่งนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นที่แสดงในโปรแกรมคู่ชายหญิงก็เลือกใช้เพลงที่ทันสมัยแทนที่เพลงคลาสสิกตามรอยชาติอื่นๆ โดยเพลงที่ถูกหยิบมาใช้นั้นก็เป็นเพลง Yuri!!! On Ice เพลงประกอบจากอนิเมชั่นชื่อเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นว่าเพลงนี้สามารถเรียกความสนใจจากแฟนการ์ตูนที่ไม่ได้ตามกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว รวมถึงนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตน้ำแข็งหลายๆ ท่าน
การที่คนรับชมอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นจะเซอร์ไพรส์และอินกับการแสดงนั้นไม่น่าแปลกใจนัก แต่นักกีฬาก็ถึงขั้นแปลกใจและปลื้มใจที่มีการหยิบยกเอาเพลงนี้มาใช้งาน หรือจริงๆ แล้วการ์ตูนกีฬาจะส่งผลต่อสังคมได้มากกว่าที่คิดกันแน่นะ คิดได้แบบนี้ The MATTER ก็อยากหยิบยกเรื่องราวของการ์ตูนดังในญี่ปุ่นที่ส่งผลต่อโลกแห่งความจริงกัน
Yuri!!! On Ice
Yuri!!! On Ice เล่าถึง คัทสึกิ ยูริ นักกีฬาวัย 23 ปี ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาท้ายๆ ของการแข่งขันและตัวเขาเองก็ถอดใจจากการแข่งขันแล้ว จนกระทั่ง วิคเตอร์ นิคิโฟรอฟ ยอดนักสเก็ตจากรัสเซียที่ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นโค้ชให้ ยูริ อย่างกะทันหัน ในขณะเดียวกัน ยูริ พิเลทสกี้ นักกีฬาดาวรุ่งจากรัสเซียก็ได้เดินทางมาตามวิคเตอร์เพื่อทวงสัญญาที่เคยให้ไว้ การแข่งขันสเก็ตอันดุเดือดของ ยูริ จากสองประเทศที่กลายเป็นคู่แข่งรอบโลกก็เริ่มขึ้น
จริงๆ แล้ว Yuri!!! On Ice ได้รับอิทธิพลจากการที่ ฮานิว ยูซุรุ นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตญี่ปุ่นสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬาฟรีสเก็ตชายเป็นคนแรกในปี 2014 กระแสความนิยมฟิกเกอร์สเก็ตชายจึงมีมากขึ้น จนทำให้มีนายทุนกล้าสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ ภายใต้การควบคุมของผู้กำกับหญิง ยามาโมโตะ ซาโยะ กับ การแต่งเรื่องของ คุโบะ มิทสึโระ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง ทคคิว ผู้พิทักษ์ทะเลลึก
ถึงจะดูเหมือนว่าเป็นการสร้างอนิเมชั่นเกาะกระแสกีฬาที่กำลังเป็นเทรนด์ แต่การที่อนิเมชั่นกีฬาเรื่องนี้กลายเป็นกระแสทั้งในบ้านเกิด และต่างชาติ นั้นเป็นเพราะผู้สร้างตั้งใจถ่ายทอดมุมที่มีน้อยคนจะนำเสนอ คนดูจึงไม่ได้คาดคิดว่ามีความเร่าร้อนของการฝึกฝนซ่อนอยู่ในกีฬาประเภทนี้ โดยต้องนำเอาความอ่อนช้อยมาผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับร่างกายที่แข็งแรงของนักกีฬา รวมถึงเมื่อเดินเรื่องไปแล้วอนิเมชั่นยังนำเสนอความรักของเหล่า LGBTQ ในหมู่นักกีฬาได้อย่างไม่เคอะเขิน ทั้งยังเป็นการโปรโมทให้เมืองต้นแบบ อย่างเมืองคาราสึ ในจังหวัดซากะ อีกต่างหาก
ผลก็คือ กีฬาที่เคยมีแฟนคลับแค่ในประเทศเมืองหนาวก็ได้รับความสนใจมากขึ้น อย่างในบ้านเราเองก็ได้รับความสนใจเนื่องจากมีตัวละคร ‘พิชิต จุฬานนท์’ นักกีฬาชาวไทยที่ติดอินสตาแกรมแบบสุดๆ เป็นเพื่อนกับตัวพระเอก ใช้ท่ารำไทยปนเปเข้าไปในการแสดง ทั้งยังสนับสนุนในความรักของพระเอกกับโค้ชของเขา และหลังจากได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ กลายเป็นว่าคนไทยหลายๆ คนก็เพิ่งทราบว่าในบ้านเรานั้นมี ‘สมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย’ ที่มีนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตฝีมือดีไม่น้อยในระดับเอเชีย
นอกจากที่เนื้อเรื่องมีการเล่าเบื้องหลังชีวิตนักกีฬาประเภทนี้ได้อย่างดีแล้ว อีกส่วนที่ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตตัวจริง คือตัวละครในการ์ตูนนั้นอ้างอิงมาจากนักกีฬาจริงนั่นเอง อย่างตัว วิคเตอร์ นิคิโฟรอฟ อ้างอิงมาจาก เยกวินี พลูเชนโก (Evgeni Plushenko) นักกีฬาที่คว้าแชมป์มามากมายก่อนจะผันตัวเป็นโค้ชเช่นเดียวกับตัวละครในการ์ตูน, ยูริ พิเลทสกี้ นักกีฬาเยาวชน นั้นมีต้นแบบมาจาก ยูเรีย ลิปนิทสกายา (Yulia Lipnitskaya) นักกีฬาหญิงที่ได้รับเหรียญทองเมื่อตอนอายุ 15 ปี, พิชิต ตัวละครไทยนั้นไม่ได้อิงมาจากนักกีฬาไทย แต่อ้างอิงจาก ไมเคิล คริสเตียน มาร์ติเนซ (Michael Christian Martine) ชาวฟิลิปปินส์ เชื่อกันว่าถูกปรับมาเป็นคนไทยเพื่อให้บทสนับสนุน LGBTQ นั้นสมจริงกว่า ฯลฯ
นักกีฬาตัวจริงอย่าง Johnny Weir หรือ Evgenia Medvedeva ก็ได้พูดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการสัมภาษณ์ออกสื่ออื่นๆ ว่าพวกเขาเป็นแฟนของอนิเมชั่นเรื่องนี้และตอนหลังๆ ของอนิเมชั่นก็มีนักกีฬา Stephane Lambiel มาปรากฎตัวและร่วมพากย์เสียงด้วย
จากจุดแรกเริ่มที่เหมือนจะเกาะกระแสกีฬาที่มีคนสนใจเพียงกลุ่มเล็กๆ ในญี่ปุ่น กลายเป็นว่าตัวอนิเมชั่นได้สร้างกระแสให้คนสามารถสนุกกับกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นอะไรที่น่าจะเกินความคาดเดาของคนดูหรืออาจรวมถึงผู้สร้างไปไกลทีเดียว
Captain Tsubasa
กัปตันสึบาสะอาจเป็นการ์ตูนฟุตบอลที่เล่นกันโม้และมีหลายภาคสุดๆ เรื่องหนึ่ง (ตอนนี้มีภาคใหญ่ๆ 6 ภาคแล้ว) แต่ความดีงามของเรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความสนุกเท่านั้น นับตั้งแต่ที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้ทำให้กีฬาฟุตบอลก้าวออกจากกีฬานอกสายตาของชาวญี่ปุ่น มาเป็นกีฬาที่เด็กๆ สามารถเล่นในยามว่าง
จริงๆ แล้วมีการพูดชื่นชมจาก Kawabuchi Saburo อดีตนักฟุตบอลมืออาชีพและประธานของสมาพันธ์ฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ว่า มีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้การเล่นบอลบูมขึ้นมา และยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามารถก่อตั้งระบบ J-League ขึ้นมาได้ (ช่วงหนึ่ง ตัวละครสึบาสะเองถูกใช้เป็นมาสคอตร่วมกับป้ายตราอีกาสามขาด้วย)
ไม่ใช่แค่ตัวสมาคมเท่านั้น นักกีฬาฟุตบอลหลายคนก็ยังเป็นแฟนของการ์ตูนเรื่องนี้ ซึ่งนักบอลที่เราพูดถึงก็ไม่ใช่นักบอลญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่มีนักฟุตบอลระดับโลกอย่าง เฟอร์นันโด ตอร์เรส, ลีโอเนลเมสซี่, อังเดร อิเนสต้า หรือ อเลสซานโดร เดล ปิเอโร ก็ได้รับอิทธิพลจากการรับชมการ์ตูนฟุตบอลฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะตอร์เรสที่ออกปากว่าแรงบันดาลใจสำคัญในการที่เขามาเป็นมืออาชีพคือกัปตันสึบาสะนี่แหละ
นอกจากนี้ ด้วยความนิยมของการ์ตูนเรื่องนี้ที่ดังไปทั่วโลกทำให้ช่วงหลังสงครามในตะวันออกกลาง ทางญี่ปุ่นได้ส่งอนิเมชั่นกัปตันสึบาสะที่พากย์ด้วยภาษาอารบิกเข้าไปในฉายในประเทศอิรักแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ในฐานะทูตที่มอบความสุขให้กับเด็กๆ และคนดูในพื้นที่หลังผ่านภาวะสงคราม
The Prince Of Tennis
ภาพจำของคุณเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้อาจเป็นฉาก ‘ลูกเทนนิสตกใส่โลกจนไดโนเสาร์สูญพันธ์’ แต่ช้าก่อน แม้จะให้ภาพที่เวอร์มากๆ ยิ่งกว่าสึบาสะ อนิเมชั่นเรื่องนี้ก็มอบเรื่องราวดีๆ ให้กับสังคมอยู่ไม่น้อยนะ
เนื้อเรื่องของการ์ตูนพูดถึง เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่เพิ่งเข้าร่วมชมรมเทนนิส โดยที่มี เอจิเซ็น เรียวมะ ทายาทนักเทนนิสในตำนาน (ของเรื่อง) เป็นตัวละครเอก ด้วยการสร้างตัวละครเป็นเด็กเช่นนี้จึงทำให้เทนนิสได้รับความนิยมในหมู่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ภาพลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้ในญี่ปุ่นอาจดูเหมาะกับเด็กมหาวิทยาลัย หรือเด็กผู้หญิง (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนเก่าอีกเรื่องหนึ่ง) มากกว่า และตัวละครเอจิเซ็น เรียวมะ ก็ได้กลายเป็นมาสคอตกลายๆ ของสมาคมเทนนิสญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าสาวๆ จะไม่ชอบเรื่องนี้เพียงแต่พวกเธออาจชื่นชอบหนุ่มๆ หลากสไตล์ในเรื่องมากกว่า เพราะหลังๆ การแข่งขันนั้นเกินเลยระดับมนุษย์ไปแล้ว ทำให้มีการสร้างละครเวที หรือแม้แต่คอนเสิร์ตเพื่อเอาใจแฟนคลับผู้หญิงออกมาหลายงาน แต่อาจารย์ ทาเคชิ โคโนมิ ผู้แต่งก็เคยทำอีเวนต์พิเศษเป็นการเปิดคอนเสิร์ตของตัวเองร่วมร้องเพลงกับตัวละครจากการ์ตูนที่เป็น 3D ล้ำๆ (อย่าแปลกใจครับ อาจารย์แกออกซิงเกิลเพลงมาจำนวนหนึ่งแล้ว) เป็นจำนวน 7 รอบ ในวันเดียว เพือหาเงินสมทบทุนให้กับจังหวัดคุมาโมโต้เมื่อครั้งที่เกิดธรณีภิบัติขึ้น
ส่วนเกร็ดน่าสนใจอีกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก้คือ ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์แฟนคลับที่ชื่นชอบตัวละครหนุ่มๆ ในเรื่องก็จะพร้อมใจกันส่งช็อคโกแลตให้กับตัวละครที่ชอบเป็นจำนวนมากถึงขั้นต้อง เช่าตึกเพื่อเก็บช็อคโกแลตจากแฟนๆ เลยทีเดียว
Slam Dunk
ผลงานสร้างชื่อของอาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ ได้ออกมาในช่วงที่บาสเก็ตบอลฝั่ง NBA กำลังบูม ซึ่งเนื้อเรื่องกับตัวละครต่างๆ ในเรื่องได้รับอิทธิพลจากนักบาสเก็ตบอลในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ละในยุคนั้นก็เป็นการ์ตูนที่ทำให้เด็กผู้ชายโดยเฉพาะในฝั่งเอเซียหันมาเล่นบาสเก็ตบอลมากขึ้นไม่ต่างกับการ์ตูนกีฬารุ่นพี่ที่จุดกระแสคนเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ได้ และเมื่อการ์ตูนไปถึงฝั่งอเมริกาอันเป็นบ้านเกิดของฝั่ง NBA ก็มีคอมเมนต์ชื่นชมถึงการสอนพื้นฐานที่ดีและสร้างเกมในโลกสมมติได้อย่างน่าเชื่อถือ
กระนั้นอาจเพราะกีฬาบาสเก็ตบอลไม่ใช่กีฬาที่บูมในญี่ปุ่น ทำให้วงการนี้ไม่ได้เติบใหญ่มากนัก แต่ก็ใช่ว่าอาจารย์อิโนะอุเอะจะปล่อยผ่านวงการบาสเก็ตบอลไปเลยเพราะตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมาอาจารย์ได้เปิดแจก ‘ทุนการศึกษาสแลมดังค์” เพื่อส่งนักเรียนญี่ปุ่นที่มีความสามารถไปศึกษาต่อด้านบาสเก็ตบอลที่อเมริกา ด้วยมุมมองที่ว่านักกีฬาระดับชั้นมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นนั้นมีโอกาสน้อยกว่าที่จะสร้างชื่อหรือสร้างผลงาน
นอกจาก Slam Dunk แล้วอาจารย์อิโนะอุเอะก็เขียนการ์ตูนเรื่อง Real ที่เลือกจับอีกมุมของกีฬาบาสเก็ตบอล อย่างการเล่าเรื่องวีลแชร์บาสเก็ตบอลที่เล่าออกมาได้น่าสนใจ ซึ่งมุมนี้มีคนเล่าถึงน้อยกว่าบาสเก็ตบอลธรรมดาเสียอีก แต่อาจารย์ก็เล่าเรื่องการต่อสู้ของนักกีฬาคนพิการออกมาได้อย่างงดงามจนเราเชื่อว่าในอนาคตอาจมีทุนอีกสักก้อนที่จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาพิการเป็นการต่อไป
Yowamushi Pedal
ไม่ว่าจะเรียกเรื่องนี้ว่า โอตาคุปั่นสะท้านโลก หรือ โอตาคุน่องเหล็ก นี่ก็เป็นการ์ตูนเรื่องเดียวกันที่เล่าชีวิตของโอตาคุที่กลายมาเป็นนักกีฬาปั่นจักรยานได้ หลายคนคิดว่าเพราะอาจารย์วาตานาเบะ วาตารุแกเป็นโอตาคุหรือเปล่าจึงแต่งเรื่องแบบนี้ จริงๆ แล้วต้องบอกว่าอาจไม่ผิดมากนักเพราะอาจารย์เคยเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับโอตาคุถึงสองเรื่อง แต่อีกส่วนที่สร้างแรงบันดาลใจน่าจะมาจากการที่ตัวของอาจารย์เองนั้นนิยมขี่จักรยานคนหนึ่งเหมือนกัน
แม้เทคนิคการขี่จักรยานในการ์ตูนบางอย่างจะถูกทำให้เกินจริง แต่ก็ยังมีพื้นเพของความจริงอยู่มาก จนมีคนเคยขี่จักรยานแม่บ้านปีนขึ้นเขาตามแบบของตัวละครในการ์ตูน (ไม่แนะนำให้ทำตาม) และอาจารย์ไม่เพียงชอบขี่จักรยานเท่านั้น เขายังเป็นผู้จัดการทีมจักรยาน Yowamushi Pedal Cycling Team ที่เอาชื่อทีมมาจากตัวการ์ตูนของแกเอง จนน่าสงสัยว่านักวาดการ์ตูนมีเวลาเพียงพอไปคุมงานอื่นขนาดนี้เชียวหรือ (ฮา)
การ์ตูน Yowamushi Pedal ยังเคยร่วมมือกับจังหวัดจิบะในการทำแคมเปญรณรงค์การใช้จักรยานบนถนน โดยมีตัวมาสคอตของจังหวัดจิบะ อย่าง จิบะคุง เข้ามาร่วมแจมด้วย
Tiger Mask
หน้ากากเสือเป็นการ์ตูนยอดนิยมมาตั้งแต่สมัยก่อน ด้วยเรื่องราวของนักมวยปล้ำที่ครั้งหนึ่งเคยปล้ำเพื่อฝ่ายตัวร้าย แต่เขากลับต่อต้านแล้วผันตัวเองมาเป็นนักมวยปล้ำคุณธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก เขาต้องต่อสู้กับเหล่าร้ายที่ถูกส่งมาจาก ‘ถ้ำเสือ’ และนำเงินไปบริจาคให้บ้านเด็กกำพร้าโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นใคร (ถึงเนื้อเรื่องช่วงหลังๆ จะเซอร์เรียลไปนิด) จึงไม่แปลกนักที่คนดูการ์ตูนเรื่องนี้จะชื่นชอบการกระทำของตัวเอก
ด้วยคาแรคเตอร์ที่ดูดี ทำให้ New Japan Pro Wrestling สมาคมนักมวยปล้ำแห่งหนึ่งซื้อสิทธิ์การใช้ตัวละครตัวนี้มาใช้เป็นตัวละครสำหรับการแข่งขันมวยปล้ำจริง ซึ่งมี ซายามะ ซาโตรุ เป็นผู้สวมหน้ากากเสือเป็นรุ่นแรก มีฝีมือเก่งกาจจนสามารถสร้างชื่อในเวทีนักมวยปล้ำอเมริกาได้ ก่อนที่จะมีคนมารับช่วงแบบไม่เป็นทางการอีกสองคน ก่อนที่ ซายามะ จะกลับมาฝึกฝนและส่งต่อตำแหน่ง หน้ากากเสือ ให้นักมวยปล้ำคนใหม่ในปี 1995 ก่อนจะมีนักมวยปล้ำอีกสองคนมารับช่วงในเวลาต่อมา
ซายามะ ยังปั้นบทบาทหน้ากากเสือเวอร์ชั่นผู้หญิงที่ใช้ชื่อ ไทเกอร์ดรีม (Tiger Dream) และยังมีตัวละครคู่ปรับอย่าง Black Tiger ออกมา ซึ่งตัวละครในวงการมวยปล้ำนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัว King กับ Armor Kingละครในเกม Tekken อีกทอดหนึ่ง
นอกจากส่วนที่ข้องเกี่ยวกับวงการกีฬา หน้ากากเสือ ก็มีชื่อผ่านหน้าสื่ออีกครั้งในช่วงปี 2010-2011 ที่มีคนบริจาคของให้กับบ้านเด็กกำพร้าโดยใช้ชื่อ ‘ดาเตะ นาโอโตะ’ อันเป็นชื่อจริงของตัวพระเอกในฉบับการ์ตูน ก่อนที่หลังจากนั้นมีประชาชนจำนวนมากใช้ชื่อตัวละครการ์ตูน (ทั้งชื่อ ดาเตะ และตัวละครอื่นๆ) มาบริจาคของให้กับหน่วยงานเพื่อสังคมในหลายๆ แห่งทั่วประเทศ
อื่นๆ อีกมากมายของการ์ตูนกีฬา
นอกจากการ์ตูนที่เราพูดถึงไปแล้ว ยังมีการ์ตูนอีกหลายสิบเรื่องที่มีนื้อหาเกี่ยวกับกีฬา มวยเองก็มีการ์ตูนเด่นอย่าง โจ สิงห์สังเวียน, ก้าวแรกสู่สังเวียน การ์ตูนวอลเลย์บอลก็มี Haikyu ที่สร้างกระแสได้ไม่น้อยกับคนอ่านในเวลานี้ กีฬาเฉพาะทางซูโม่ ก็มีเรื่อง ฮิโนะมารุ ที่หยิบมุมดุเดือดมาเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ และอาจทำให้คนในญี่ปุ่นเองหันมาเล่นกีฬาท้องถิ่นมากขึ้น
อาจฟังดูแปลกสักหน่อย เพราะการ์ตูนบางเรื่องก็ทำให้คนดูชาวไทยได้รับรู้ข้อมูลที่น่าแปลกใจอย่างที่เราพูดถึงไปแล้วกับเรื่อง Yuri On Ice ที่ทำให้คนไทยรู้ว่า บิ๊กซีบางนามีลานสเก็ตที่นักกีฬาทีมชาติไทยไปซ้อมอยู่ อนิเมชั่นอย่าง Gundam Build Fighters ก็พูดถึงสมาคมเบสบอลไทย ที่มีฝีมือดีระดับต้นๆ ของเอเซีย หรือ ละครยอดหญิงชิงโอลิมปิก ที่มี จุง โคชิกะ เป็นนางเอกของเรื่อง ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับทีมวอลเลย์บอลสตรีเหล็กของไทย
การ์ตูนกีฬาไม่ได้มาแค่โม้เท่านั้น เพราะในความเวอร์วังมันเป็นตัวชักนำที่ทำให้สังคมได้สนุกและเข้าถึงเรื่องที่พวกเขาเคยไม่เข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
edition.cnn.com
www.animenewsnetwork.com
tokyogirlsupdate.com
www.eifsoccer.com
news.blogs.cnn.com
akibatan.com
www.duckingtiger.com
anngle.org
comipress.com
slamdunk-sc.shueisha.co.jp