แสงแดดจัดจ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 16 สิงหาคม 2563 คล้ายยิ่งปลุกเร้าให้มวลชนรีบเร่งมุ่งหน้าสู่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงแม้มาจากต่างทิศ แต่จุดมุ่งหมายมีหนึ่งเดียวคือให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจยอมรับข้อเสนอจากของกลุ่มประชาชนปลดแอก 3 ข้อเรียกร้อง 2 เงื่อนไข 1 ความฝัน
สื่อหลายสำนักประมาณจำนวนผู้ชุมนุมกันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า 10,000 คน บ้างว่า 20,000 และมากสุดถึง 30,000 คน แต่ถ้ายึดจำนวนผู้ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญกับ iLaw เป็นหลัก อย่างต่ำๆ ก็ต้องมีคนเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้มากกว่า 10,000 คนแน่นอน
และไม่ใช่เพียงแค่คนเจนเนอเรชั่นใดเจเนอเรชั่นหนึ่งเท่านั้น เพราะมีทั้งคนรุ่นใหม่ผมดำ วัยกลางคนไล่จนผมสีดอกเลา ตลอดจนเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ปราศรัยเท่านั้นที่มีสิ่งที่อยากพูด ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนก็ล้วนมีความคิด ความรู้สึก และประเด็นที่ต้องการสื่อสาร The MATTER จึงได้เก็บความคิดของผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคน และถอดออกมาเป็นบทความชิ้นนี้
ธัน (นามสมมุติ) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตัดสินใจสวมเครื่องแบบนักเรียนมัธยมออกมาร่วมชุมนุมเพียงคนเดียว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่คุ้นชินกับเพื่อนใหม่เสียเท่าไร และคนรุ่นเขาส่วนมากถูกปลูกฝังให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ธันรู้สึกว่า เขาต้องออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม เพราะตลอดระยะเวลาที่คณะ คสช. อยู่ในอำนาจ ทั้งจากการรัฐประหารและหลังเลือกตั้ง เขามองไม่เห็นว่าสังคมจะพัฒนาไปทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร
ธันนำแผ่นป้ายกระดาษแผ่นนึงมาด้วย ซึ่งสองหน้ากระดาษเขียนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขากล่าวว่า เขาศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาด้วยตัวเขาเอง เพราะในหนังสือเรียนแทบไม่มีการพูดถึง เขามองว่ามันเป็นความพยายามของผู้มีอำนาจที่จะลบประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้หายไปจากการรับรู้ของสังคม แต่เขาไม่เชื่อใครลืมเหตุการณ์โหดร้ายครั้งนั้นได้
ธันเล่าว่า “มาวันนี้ ผมก็กลัวมากว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือเปล่า (6 ตุลา) แต่เราจะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมออกมา และใครจะออกมาช่วยพวกเขาเหล่านี้ คนรุ่นเดียวกับผมหรือคุณป้าคุณยาย เขาออกมาเรียกร้องเพื่อความถูกต้องของเราและถ้าเขาเสียชีวิตและตายไป เราจะยืนอยู่ได้หรอครับ”
สำหรับธันการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในทุกมิติของชีวิต และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญ สังคมควรมีพื้นที่ให้การถกเถียงทุกประเด็น เพราะมันจะทำให้เราได้เห็นข้อผิดพลาดของแต่ละฝ่าย และนำไปสู่การปรับเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
ธันทิ้งท้ายว่า “ทั้งๆ ที่เราเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง ทำไมเราถึงปล่อยให้ระบบผิดๆ แบบนี้อยู่ต่อไปได้ เราเป็นนักเรียนเราก็มีสิทธิออกมาแสดงจุดยืนและความคิดของเราได้เหมือนกัน”
นาย-นางสาว โฮมเลส บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ให้เหตุผลที่ใช้คำนำหน้าชื่อแบบนี้ว่า “รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและไม่ใช่ผู้ชาย ถ้าจะเรียกนายอย่างเดียวก็ผู้ชายเกินไป นางสาวอย่างเดียวก็ผู้หญิงเกินไป แต่หนูอยู่ระหว่างคั่นกลาง เลยใช้คำนี้เป็นการรวมกันระหว่างสองเพศ”
โฮมเลสเล่าว่า เริ่มหันมาเสพการเมืองอย่างหนัก หลังตัวเองมีสิทธิในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาชุมนุม หลังจากพรรคการที่เลือกถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งสั่งยุบพรรค บวกกับการได้รับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่หลั่งไหลในโลกโซเชียลมีเดีย
นอกจากคำแนะนำตัวที่แตกต่างแล้ว โฮมเลสยังหอบหิ้วชุดครุยมาถ่ายรูปในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย โดยให้ความคิดเห็นในประเด็นการรณรงค์ไม่เข้ารับปริญญาว่า “จริงๆ แล้ว เราจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จในชีวิต หรือจะเรียนจบมหาวิทยาลัยไหม ขึ้นอยู่กับความสามมารถของตัวเราเอง พิธีรับปริญญาเป็นแค่พิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมองว่าจะเข้ารับหรือไม่เข้ารับก็ได้” อย่างไรก็ตาม โฮมเลสยอมรับว่า ทางบ้านก็อยากให้เข้ารับปริญญา ตอนนี้เลยยังตัดสินใจไม่ได้ว่าควรทำอย่างไรดี
โฮมเลสมองว่า เราควรมีเสรีภาพในการถกเถียงประเด็นทางสังคม โดยยกตัวอย่าง ระบบการทำงานของบริษัทที่มีหัวหน้า รองหัวหน้า และพนักงานคนอื่นๆ ที่ย่อมต้องถกเถียงกันเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด และถ้าไม่ยอมพูดคุยกัน ปัญหาก็จะคาราคาซังเปรียบกับอุจจาระที่ติดผิวก้นไม่ไปไหน
โฮมเลสทิ้งท้ายว่า “ไม่ว่าฝั่งไหนก็มีคนที่แรงและไม่เปิดรับความคิดคนอีกฝั่ง แต่มันเหมือนการทำงานกลุ่มที่เราต้องถกเถียงกันตลอดเวลา เธอมีข้อดีอะไร เรามีข้อเสียอะไร และมาหาจุดตรงกลางว่าเราจะทำให้ประเทศเราเดินไปข้างหน้าอย่างทันสมัยได้อย่างไร”
อั้ม อดีตนักศึกษาฝึกงานด้านสื่อสารมวลชน เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มสนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนก่อนที่หันมาสนใจการเมือง เขามองว่าถ้าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทุกคนในสังคมต้องอยู่ในระนาบที่เท่าเทียมกันมากที่สุด และปรากฎการณ์ที่จะนำสังคมไปถึงตรงนั้นคือ การเคลื่อนไหวของคนในสังคม
เขามองว่า ข้อเสนอปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ข้อเสนอที่รุนแรง เพียงแต่มุ่งลดทอนอำนาจของสถาบันลง และเปิดให้มีการตรวจสอบได้เพื่อความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อให้กษัตริย์กลับไปอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหมือนช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการครองสู่ประชาธิปไตย
อั้มตั้งคำถามว่า การถกเถียงถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันในตอนนี้ ปัญหาอยู่ที่การสื่อสารระหว่างเจเนอเรชั่น ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ถกเถียงกันเองจะรู้เรื่อง แต่ถ้าคนต่างรุ่นกันจะเริ่มมีปัญหา
ในฐานะที่เคยทั้งฝึกงานและทำงานเป็นสื่ออยู่ช่วงหนึ่ง เขามองประเด็นที่สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบันว่า สื่อควรยึดแกนหลักเนื้อหนังหน้าที่ของสื่อให้มั่น ต้องรายงานสถานการณ์ ความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นให้สังคมรับรู้ โดยไม่บิดเบือนหรือเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะสื่อมีอำนาจอยู่ในมือมหาศาล ในการชักจูงสังคม และถ้าสื่อใช้อำนาจในการบอกเล่าความจริงผสมไปกับอารมณ์ความคิดของตัวเอง คงไม่ใช่เรื่องที่ดีกับสังคมนัก
เจฟฟรี และ เชฟวี (นามสมมุติ) เล่าว่าทั้งคู่ออกมาชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งแรกคือ การชุมนุมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สาเหตุหลักที่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกว่าต้องออกมาบนนถนนคือ ปัญหาการถูกอุ้มหาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม
เจฟฟรีเรียกร้องว่า สังคมควรยอมรับกลุ่ม LGBTQIA ให้เท่าเทียมกันกับเพศอื่นๆ ปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนเป็นคนธรรมดา เธอยังเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนิสิตนักศึกษาตามเพศสภาพ และสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่รับรองสิทธิของคู่รัก LGBTQIA เท่าเทียมกับคู่รักชาย-หญิง
ทางด้านเชฟวีมองว่า ถ้าหากประเทศเราเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง เราควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะเกิดอันตราย หรือถูกคุกคาม เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว
นนท์ (นามสมมุติ) ออกมาเรียกร้องให้เพื่อนของเขา นายสตีเว่น เบรนท์วู้ด หรือ ตั้ง อาชีวะ ที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ หลังถูกตั้งข้อหาคดี 112 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยเขาเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกตั้งได้เดินทางลี้ภัยไปอยู่ในกัมพูชา แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยตามไปคุกคาม ทำให้ต้องขอลี้ภัยไปนิวซีแลนด์ในท้ายสุด
นนท์แสดงความเห็นว่า ในฐานะประชาชน เราเสียภาษีให้กับประเทศชาติทุกปีไม่เคยขาด เขาจึงต้องการเรียกร้องให้ประเทศมีความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบประชาชน และต้องเปิดให้มีการถกเถียงเรื่องต่างๆ กันอย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของข้อมูลและเหตุผล ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ปัญหาถูกซุกไว้ใต้พรมเพียงอย่างเดียว
โด่ย (นามสมมุติ) ยืนถือป้ายฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลือง อยู่บริเวณหน้าร้าน Mcdonald โดยมีข้อความสนับสนุนให้มีการปฏิรูปสถาบัน และมีติ่งเขียนอยู่ข้างท้ายว่า ตัวเธอเป็นกล่มคนที่รักสถาบัน หรือรอยัลลิสต์
เธอกล่าวว่า “ยุคสมัยนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และไม่ว่าเรื่องอะไรทุกคนก็ต้องการให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และถ้าสถาบันกษัตริย์โปร่งใสและตรวจสอบได้แล้ว ก็จะทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่นับถืออย่างสมบูรณ์”
เธอมองว่า ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมุนุมไม่ได้รุนแรงและมีเนื้อหาล้มล้างสถาบัน แต่เป็นความพยายามทำให้สถาบันอยู่ในสังคมปัจจุบันได้มากกว่า ถ้าหากสถาบันกษัตริย์โปร่งใสและตรวจสอบได้ ก็จะเป็นที่ยอมรับของสังคม และจะไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องนำสถาบันกษัตริย์ออกไปจากสังคม
เธอมองว่า สถาบันกษัตริย์ยังสำคัญกับสังคมไทย ทั้งในด้านวัฒนธรรมและจิตใจของผู้คน เธอกล่าวว่า “ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ สิ่งที่สถาบันกษัตริย์มทำมาดีๆ ก็มี แต่ด้วยความไม่โปร่งใสทำให้คนเกิดความสงสัย และไม่รู้ว่าควรเชื่อในความดีและนับถือดีไหม และถ้าทุกอย่างโปร่งใส ก็จะไม่มีคนแคลงใจกับการการดำรงอยู่ของสถาบัน”
นอกจากนี้ เธอเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการหยุดคุกคามประชาชน เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดข้อครหาว่าใครเป็นผู้สั่งการ ทำให้เกิดความระแวงในสังคม และยิ่งทำให้ความเกลียดชังขยายตัวและฝังรากลึกลงมากขึ้นในสังคม
ดูเหมือนว่า ถึงแม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ พร้อมประเด็นที่แตกต่างหลากหลายในกระเป๋า แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นร่วมกันว่าจะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นคือ สิทธิเสรีภาพสำหรับเสียงที่ผ่านการคิดอ่าน และหูที่ไขขานพร้อมฟังเสียงที่แตกต่าง