ไม่รู้ว่าเกิดกระแสอะไรขึ้นอีก ในโลกโซเชียลถึงได้มีการแชร์บทความเกี่ยวกับแนวคิดชีวิตพึ่งตัวเอง จำพวกบ้านดิน ปลูกผักออแกร์นิค เป็นฮิปปี้ หนีจากสังคมเมืองไปเส็งเคร็งไปสู่ชีวิตอันสุขีในดินแดนชนบทอันแสนสวยงาม
ในนวนิยายเรื่อง ‘นาครเขษม’ ของคอยนุช มีตัวละครตัวหนึ่งที่คำนึงถึงความคิดว่า “อยากมีบ้านเล็กๆ ที่บ้านนอก” อยู่เสมอ เชื่อว่าคนเมืองมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน ก็คงจะมีความคิดทำนองนี้เหมือนกัน เราต่างมีความฝันถึงชีวิตที่สงบงามในโลกชนบท ยิ่งระยะหลังรายการโทรทัศน์หรือโลกออนไลน์ต่างพากันชื่นชมและเชิดชูอดีตมนุษย์เงินเดือนผู้ละทิ้งวิถีเมืองที่วุ่นวาย กลับไปสู่บ้านเกิด ไปทำกิจการ ปลูกผัก ทำโฮมสเตย์ มีวิถีชีวิตที่ ‘เฮ้วตี้’ ต่อทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ
ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง คนเมืองอย่างเราๆ จึงมี ‘ฝัน’ บางอย่างร่วมกัน
ความฝันถึงชนบท
บางทีความฝันกับความจริงก็เป็นสิ่งที่ซ้อนทับกันอยู่… จริงมั้ย
ฝันเรื่องชนบทของคนเมือง มักเป็นภาพของดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ ผู้คนอยู่กันอย่างสงบสุข พายเรือ เก็บผัก แบ่งปัน ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน ชนบทถูกวาดให้ตรงข้ามกับเมืองและกลายเป็นพื้นที่ยอดปรารถนาสำหรับคนเมือง
ความฝันร่วมของชนชั้นกลางเกิดจากการสร้างภาพจินตนาการเกี่ยวกับชนบทจำนวนมากซ้ำๆ กัน ในละคร ในหนัง ภาพของชนบทจึงดูแน่นิ่ง ตายตัว คือเป็นชนบทในจินตนาการที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ชนบทต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายและมีความซับซ้อนในตัวเองต่างกันออกไป ปัญหาก็คือ ที่สุดแล้วภาพในจินตนาการพวกนี้มันมากำหนดความคาดหวังของเราที่มีต่อดินแดนชนบท พอไปเจอของจริงเข้าก็กลายเป็นว่า ‘ช็อก’ เพราะอาจจะไม่มีอะไรเหมือนความฝันเลย
ลักษณะสำคัญของจินตนาการที่เรามีต่อชนบทคือความห่างไกลความเจริญ แทบทุกตารางนิ้วของชนบททั้งหลายคงไม่มีที่ไหนที่ความเจริญทะลวงเข้าไปถึง แต่ความเป็นจริงคืออย่าว่าแต่ไฟฟ้าประปาเลย ทั้ง 3G 4G มีโฆษณาว่าเสาสัญญาณไปถึงสารพัดดอย สุดเขตแดนสยาม สถานีบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายทั้งหลายก็ไปถึง
มีงานวิจัยที่พูดถึงการสร้างจินตนาการและการเผชิญกับความจริงที่นักวิจัยเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่าจริงๆ แล้ว ชีวิตชนบทในจินตนาการของเราๆ ท่านๆ หรือที่เห็นในละครสวยๆ พายเรือในคลอง ใส่บาตรตอนเช้า อาจไม่เป็นอย่างที่คิด งานวิจัยเรื่อง ลูกทุ่งหรือลูกกรุง: ความเป็นเมืองในชนบทไทย ของทับทิม ทับทิม แสดงให้เห็นปัญหาของโลกชนบทที่แท้จริงที่กลายเป็นว่าเมื่อคนเมืองย้ายเข้าไปอยู่กลับเจอความแปลกแยกและปัญหาสารพัด ไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างในฝัน และที่สำคัญชนบทเองก็ไม่ได้แน่นิ่งแช่แข็งตัวเองให้ชนชั้นกลางเข้าไปบริโภคได้เหมือนกับจูราสสิคพาร์คแต่อย่างใด ชนบททั้งหลายต่างก็กำลังกลายเป็นเมือง คนชนบทเองก็ต้องการความเจริญและความสะดวกสบายตามยุคตามสมัย
นอกจากภาพที่สวยงามของชนบทแล้ว ยังมีความเชื่ออีกชุดหนึ่งในการกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบยังชีพ คือการทำเกษตรอินทรีย์ จริงอยู่ว่าย่อมมีผู้ที่ทำได้และสามารถใช้ชีวิตด้วยการผลิตและบริโภคสิ่งดีๆ ด้วยสองมือตัวเอง แต่ชาวบ้านที่ทำไม่ได้ หรือที่ทำเกษตรเคมี กลับกลายเป็นพวกที่ไม่มีความรู้ ไม่รู้จักทำเกษตรปลอดสารพิษ จะได้รวยๆ สุขภาพดีๆ จากอคตินี้เอง อาจารย์ เนตรดาว เถาถวิล จึงลงพื้นที่และทำการศึกษาเป็นบทความ “เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน” : คำถามว่าด้วยการพึ่งตนเองของชาวนาเกษตรอินทรีย์ในยุคโลกาภิวัตน์และการพัฒนา และได้ข้อสรุปของการทำเกษตรอินทรีย์ตามชื่อเรื่องคือก็ทำอยู่แต่ไม่พอกิน ซึ่งสิ่งที่พบคือการทำเกษตรอินทรีย์แท้จริงแล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องทุนและระบบทุนนิยมอยู่ดี ทั้งยังมีความซับซ้อนและปัญหามากมาย ไม่ใช่แค่ฉลาด ชิคๆ คูลๆ แล้วจะอยู่ได้สบายๆ
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความซับซ้อนและความหมายแฝงที่ถูกสร้างกันไปมา ทั้งคนเมืองคิดถึงชนบท และลักษณะของชนบท (รวมถึงคนชนบทตัวเป็นๆ ด้วย) ในที่สุดไม่ได้หมายความว่าวิถียังชีพจะไม่มีอยู่จริง แต่ความจริงย่อมไม่อาจเรียบง่ายเหมือนในฝัน ในโลกของชนบทและการทำกสิกรรมอาจมีปัญหาของการผลิต ต้นทุนการผลิต เมล็ดพันธุ์ การกระจายขนส่งสินค้า คู่แข่งรายใหญ่ และอื่นๆ อีกมากมายที่ชาวบ้านต้องเผชิญ เพราะว่าชาวบ้านเหล่านั้น อยู่กับดิน กับแปลงผัก