มีศิลปินนักร้องหญิงจำนวนมากสร้างบทสนทนาบนพื้นที่ pop culture เกี่ยวกับผู้หญิงและ ‘ความเป็นหญิง’ ว่าพวกนางไม่ใช่เพศที่อ่อนแอเปราะบางหรือเป็นรองผู้ชาย ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องให้หนุ่มๆ มาคอยทะนุถนอม หรือจะย่ำยีบีฑา ผู้หญิงเองก็ดุดันเปี่ยมไปด้วยพลังอำนาจนะเธอ
มากไปกว่านั้นบางนางยังกล่าวถึงศาสนาผู้หญิง และภาวะผู้หญิงของพระเจ้า ทั้งที่ส่วนใหญ่ทุกศาสนาพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ชาย
ล่าสุดนังหนู Ariana Grande ก็ได้ปล่อยซิงเกิล ‘God Is A Woman’ (2018) ซึ่งบทเพลงได้อุทิศให้กับพลังอำนาจของเพศหญิง ไม่เพียงอาราธนาตัวแม่อย่าง Madonnaมาfeaturing เป็นเสียงสวรรค์อ่านพระคัมภีร์ไบเบิลในบทเอเสเคียล (Ezekiel) 25:17 ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากหนังเรื่อง Pulp Fiction (1994) เพียงแต่แปลงสารเล็กน้อยจาก brothers เป็น sisters เพื่อให้สมเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิง
สมกับที่พระเจ้าเป็นผู้หญิง Ariana นางได้ขนทวยเทพีในปกรณัมกรีก มาเป็นกระบุง ทั้งเทพีเฮคาที (Hecate) เทพีแห่งเวทมนตร์คาถาไสยศาสตร์ และวิญญาณผู้ทำหน้าที่เฝ้าทางเชื่อมระหว่างสวรรค์ โลก และนรกใต้บาดาล และเทพีเพอร์เซโฟนี (Persephone) เทพีสัญลักษณ์แห่งการเจริญงอกงามของพืชพรรณธัญญาหาร และเป็นราชินีใต้พิภพผู้น่าเกรงขามสง่างามสามารถสาปส่งวิญญาณได้ และมีเซอร์เบอรัส (Cerberus) หมาสามหัวเฝ้าประตูบาดาลที่เชื่อมโลกมนุษย์กับปรโลก เพื่อป้องกันวิญญาณหลบหนีออกไปโลกมนุษย์และกันมนุษย์ทะเล่อทะล่าเข้าไป
MV ยังประกาศกร้าวว่าพลังฝ่ายหญิงเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลและเป็นเจ้าโลก เจ้าโลกในความหมายที่ไม่ใช่ผู้ชายและแน่นอนไม่ใช่ไอ้จ้อน หากแต่เป็นจิ๋ม
ใช่… MV นางฟุ่มเฟือยไปด้วยอวัยวะเพศหญิง
ตั้งแต่นางมีประภาวลีหรือออร่าไฟรอบกายคล้ายช่องคลอด นางนอนกวัดแกว่งทางช้างเผือกไปมาเป็นรูปจิ๋ม นางนั่งกรรมฐานแล้วทำมุทราเป็นรูปโยนี ไปจนถึงติ้วโลกให้เกิดเฮอริเคน
เพราะภาวะความเป็นพระเจ้าของเธอที่สัมพันธ์กับความเป็นแม่ การตั้งครรภ์ สร้างมนุษย์ MV จึงเต็มไปด้วยการตีความตั้งแต่ปกรณัมตำนานการกำเนิดกรุงโรมเมื่อ 700 กว่าปีก่อนคริสตกาล ‘โรมุลุสและแรมุส’ (Romulus and Remus) ผู้ได้รับการเลี้ยงดูให้น้ำนมโดยแม่หมาป่า และในการสร้างมนุษย์ของพระเจ้าคริสต์ศาสนา Ariana ก็ได้ปรากฏตัวเป็นพระเจ้าแทนในจิตรกรรมฝาผนังของไมเคิลแองเจโล ‘The Creation of Adam’ บนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนนครรัฐวาติกัน แล้วออกมาจากช่องคลอดเพื่อเนรมิตรมนุษย์คนแรกของโลก ‘เอวา’ ในปฐมกาล
MV นี้จึงเป็น manifesto ว่าผู้หญิงก็มีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ fierce ศรี และแข็งแกร่งที่สุดในสามโลก
นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แค่ย้อนกลับไปเพียงปีที่แล้ว Beyoncé ก็เคยหิ้วท้องโย้ลูกแฝดโชว์ในงาน Grammy Awards 2017 ด้วยการร่างอวตารของทั้งพระแม่มาเรียศาสนาคาทอลิคพระแม่ดูรกาศาสนาฮินดู เทพีวีนัสจากปกรณัมกรีก และเทพีเยมาญา (Yemoja) และพระแม่โอซุน( Osun) แห่งศาสนาวิญญาณนิยมของชนเผ่าโยรูบา
โยรูบาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรสูงสุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เป็นพลเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้และตอนกลางภาคเหนือของประเทศไนจีเรีย พระแม่เยมาญา (Yemoja) เป็นเทพมารดรและพระแม่โอซุน (Osun) เทพเจ้าที่เป็นภาพตัวแทน ‘ความเป็นหญิง’ แห่งสายน้ำ น้ำจืด ความงาม ลูกแฝด ความอุดมสมบูรณ์ เพศวิถี ความหรูหราโอ่อ่าความอุดมสมบูรณ์ ความรัก ผู้นำไปสู่เสียงเพลงดนตรีและการร่ายรำเพื่อให้ลืมความโศกเศร้า และเป็นเทพีผู้มีอารมณ์นิสัยใจคอที่คาดเดาได้ยาก มีทั้งภาคใจดีและดุร้ายและจะพิโรธเมื่อมีคนเหยียดหยาม
โชว์ครั้งนี้ของนางแสดงถึงพลังอำนาจของอิตถีเพศผู้ให้กำเนิด ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก เหมือนที่ Beyoncé ให้แม่กล่าวเปิดโชว์และปิดโชว์ด้วยกวีพลังหญิง
เช่นเดียวกับซีรีส์อินเดีย ‘Mahakali — Anth Hi Aarambh Hai’ (2017) ถูกนำมาฉายเป็นภาษาไทยในนาม ‘มหากาลี เทวีพิทักษ์โลก’ ขณะนี้ ก็เล่าถึงพลังศักติ กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ของสตรีผ่านตัวละคร ‘พระแม่อุมาเทวี’ หรือ ‘ปารวตี’ มเหสีเทพเจ้า ‘พระศิวะ’ ในศาสนาฮินดู
ในซีรีส์ ปารวตีแต่งงานกับพระศิวะแล้วเข้าไปอยู่ในโลกของพระเจ้าผัวแบบงงๆ แม้สามีจะหล่อล่ำสูงใหญ่มาดเซอร์ แต่ก็ชอบตีสีหน้าเดียวและแสนจะเย็นชา เขาสร้างระยะห่างด้วยการเอะอะก็ไปนั่งสมาธิหนีไปเข้าณานบนภูเขาน้ำแข็ง ปล่อยให้เธอสงสัยสับสนกับชีวิต
บทละครเต็มไปด้วยหลักครองเรือน การนิยาม ‘ความเป็นหญิง’ และสโลกแกนนักเรียกร้องสิทธิสตรี ว่าสตรีไม่ได้แปลว่าทำอะไรไม่ได้ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ชายช่วยเหลือ และต่อต้านแนวคิดผู้หญิงต้องอ่อนแอ ต่ำต้อยตามหลังผู้ชาย ขณะเดียวกันอสูรที่เป็นศัตรูของเทวดาก็เป็นตัวแทนของชายชั่วที่หื่นกระหายหยาบคายชอบดูถูกเหยียดหยามเพศหญิง คิดว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง มองว่าผู้หญิงไม่มีค่าไม่มีเกียรติ เป็นเพียงวัตถุสนองความใคร่ผู้ชายเท่านั้น และอสูรมักจะคุกคามทางเพศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่พระแม่กาลีสังหาร
ราวกับว่าการนำเข้าซีรีส์เรื่องนี้เป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งของค่านิยม ‘ข่มขืนเท่ากับประหาร’ เหมือนกับละครรีเมคเรื่อง ‘ล่า’
ความตั้งใจนำเสนอพลังอำนาจของผู้หญิงใน ‘มหากาลีฯ’ เป็นการนำเสนอ ‘ความเป็นหญิง’ แบบขั้วตรงข้าม (dichotomy) ที่ขัดแย้งกันเอง แบบพระแม่อุมา ที่เป็นแม่ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต
พระอุมาถูกเล่าเรื่องให้เป็นหญิงหน้าตาจิ้มลิ้มสวยสละเจียมเนื้อเจียมตัว เมตตาอารี ขี้ใจน้อย ขี้สงสาร sensitive พะว้าพะวงขี้กังวล แต่พอโมโหก็กลายร่างเป็นมหากาลี นักรบหญิงพร้อมบู๊ แสนดุดันเกรี้ยวกราด ร่างกายดำมะเมื่อมแลบลิ้นปลิ้นตาผมเผ้ารุงรัง กระหายเลือด มีอิทธิฤทธิ์ damage รุนแรง นางไม่เพียงปลุกระดมผู้หญิงให้ลุกขึ้นสู้ผู้ชายที่ดูหมิ่นพวกเธอ ยังกระทืบตีนกรีดร้องพร้อมจะเผาผลาญจักรวาลด้วยเพลิงพิโรธ ร้อนถึงพระเจ้าผัวต้องมานอนขวางจนโดนกระทืบสะเทือนไปถึงซาง
กลายเป็นว่าเพศหญิงเป็นเพศคุ้มดีคุ้มร้ายขึ้นอยู่กับอารมณ์ มีอัตลักษณ์ 2 บุคลิกที่สุดโต่งไปข้างนึง ไม่มีจุดสมดุล บ้างก็อ่อนแอต้องทะนุถนอม เห็นอกเห็นใจ เป็นแม่คนผู้ให้กำเนิด แต่พอกริ้วขึ้นมาก็ลืมตัว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อาละวาดดุร้าย แม่เล่นถึงตายชนิดที่ว่าเดินเหยียบผัวได้ จนกลายเป็นสโลกแกน ‘อย่าทำให้ผู้หญิงโกรธ โลกจะถล่มทลาย’
ทว่าชุดอธิบายอัตลักษณ์ทางเพศเช่นนี้จะไม่ค่อยปรากฏในมนุษย์ผู้ชาย
มีกลุ่มความเชื่อนึงที่เรียกว่า ‘Goddess movement’ (แปลเป็นไทยยังไงดีล่ะ ‘ขบวนการเทวนารี’ ได้มั๊ย) คือกลุ่มที่ศรัทธาและประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าผู้หญิงเคารพ ‘ความเป็นหญิง’ ในระดับจิตวิญญาณ เชื่อพลังความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าผู้หญิง กลุ่มนี้ไม่ได้มีศูนย์กลาง ไม่ถูกผูกขาด (อย่างที่ศาสนาสากลชายเป็นใหญ่ชอบทำ) ไม่เพียงเป็นพหุเทวนิยมแต่ยังแต่กระจัดกระจายแล้วแต่ปัจเจกบุคคลจะนับถือ ปรากฏการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นลัทธินอกศาสนาสมัยใหม่ (Neopaganism) ที่หวนกลับไปนับถือความเชื่อก่อนประวัติศาสตร์ แสวงหาเทพเจ้าผู้หญิงในปกรณัมและเทววิทยาต่างๆ หรือนำพิธีกรรมและเทพเจ้าเทพีจากสังคมท้องถิ่นที่เป็นมาตาธิปไตย (matriarchy) มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งแน่นอนเป็นเป็นปฏิกิริยาโต้กลับศาสนาสากลที่ผู้ชายครอบงำอยู่ไม่ว่าจะพุทธซิกข์คริสต์อิสลาม
‘Goddess movement’ เริ่มเกิดขึ้นในอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลียช่วงปลาย 60’s อันเป็นช่วงเวลาที่ถวิลหาความสงบสุข ปลอดสงคราม และระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วง70’s โดยได้รับอิทธิพลจากเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 2 มีความพยายามเชื่อมโยงเฟมินิสต์ที่เป็นองค์ความรู้สมัยใหม่กับองค์แม่เทวีทั้งหลายที่เป็นมรดกจากวัฒนธรรมดั้งเดิมท้องถิ่นตั้งแต่ก่อนมีศาสนากระแสหลักที่เป็นปิตาธิปไตย รูปเคารพของศาสนานี้จึงมีตั้งแต่ วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf) จากยุคหินเก่า เทวีอินานา (Inana) ในเมโสโปเตเมีย เทวีไดอาน่าอารยธรรมโรมัน เทวีไอซิสจากอิยิปต์ จากไปจนถึงเจ้าแม่กาลี สุรัสวตี ลักษมีจากฮินดู
ขบวนการเจ้าแม่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สตรีนิยมสำนักเจ้าแม่’ (Goddess feminism) ที่นำเทพนารีนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองและจิตวิทยาของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในการสร้างอำนาจและปลดแอกจากโลกปิตาธิปไตย และสตรีนิยมทางจิตวิญญาณ (spiritual feminism) ที่จิตวิญญาณก็เป็นพื้นที่สำหรับพวกเธอได้แสวงหาตัวตน ความหมาย สร้างสรรค์ปรัชญา พิธีกรรมเพื่อเฉลิมฉลองประสบการณ์และประวัติศาสตร์ของผู้หญิง เชื่อม ‘ความเป็นหญิง’ กับธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ การเลี้ยงดูโอบอุ้มและแน่นอน การเป็นแม่คน
ทั้งเฟมินิสต์และลัทธิจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบสารัตถนิยม( Essentialism) ที่เชื่อว่ามีความจริงแท้แน่นอนร่วมกันเป็นสากล ผู้หญิงทุกคนบนโลกมีความคล้ายคลึงกันแม้ว่าจะมีชาติพันธุ์ ชนชั้น สีผิวแตกต่างกัน นับถือองค์แม่ต่างกัน แต่ก็เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีพลังเทวีในตัว ทั้งกล้าหาญชาญชัย มีอำนาจ และอีกครั้ง ‘ความเป็นแม่’[1]
อย่างไรก็ตามการให้ความหมายคุณค่า ‘ความเป็นหญิง’ ด้วยเทพเจ้าแห่งจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะกรีก โรมัน คาธอลิก ฮินดู ไปจนถึงไนจีเรียก็ไม่ได้ช่วยให้สถานภาพผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น หากเพียงแต่สร้างหลุมหลบภัยจากโลกชายเป็นใหญ่ทางความเชื่อ
เหมือนกับที่ซีรืส์เจ้าแม่กาลีที่นำเข้ามาจากประเทศที่มีอัตราการทำร้ายผู้หญิงสูง แม้อินเดียจะมีเทวนารีมากมายสารพัด มีการสร้างสัญลักษณ์อวัยวะเพศหญิงหรือ ‘โยนี’ แทนพระแม่ศักติพลังหญิง ผู้ก่อกำเนิดจักรวาลที่ผู้ชายก็ต่างกราบไหว้บูชา แต่ก็มีอัตราความรุนแรงต่อผู้หญิงเช่นกัน ทั้งข่มขืน ทุบตี กดทับ เลือกปฏิบัติ สาดน้ำกรด จากสถิติในปี 2015 มีอาชญากรรมความรุนแรงต่อผู้หญิงถึง 327,394 คดีถ้าคำนานจากสถิติตั้งแต่ปี 2012 ความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้น 34 % ซึ่งส่วนใหญ่ของความรุนแรงมาจากสามีและเครือญาติ เหตุที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเพราะผู้หญิงไม่ยอมจำนนอยู่ในความเงียบเหมือนแต่ก่อน และจากสถิติในปี 2016 มีผู้หญิงอินเดียถูกข่มขืนถึง 39,068 คน มีตั้งแต่เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 6 ขวบไปจนถึงหญิงชราอายุ 60 ปีขึ้นไป[2]
เนื่องจากการเชิดชูผู้หญิงและ ‘ความเป็นหญิง’ ในฐานะเพศแม่ เหมือนเทวนารีองค์ต่างๆ เป็นแต่เพียง myth ใน myth เป็นมายาคติทางเพศในปกรณัม
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การเคารพผู้หญิงก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะที่เป็นเพศศักดิ์สิทธิ์ มีเพศสรีระเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า มี reference ไปถึงเจ้าแม่กาลี เทพีเพอร์เซโฟนี หรือพระแม่มาเรียอะไร ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ ไม่ต้องมีหลายมือพ่นไฟได้ เป็น super heroine เป็นเพียงมนุษย์ขี้เหม็นเหมือนกันมี ‘ความเป็นมนุษย์’ เช่นเดียวกับผู้ชาย
และก็ไม่ใช่เพราะพวกเธอเป็นเพศเดียวกับอาม่าเรา หม่าม้าเรา เป็นแม่คนถึงจะได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่า ต่อให้พวกเธอไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่มีลูก เป็นหมันก็ได้ เป็นโสดก็ได้ ก็มีคุณค่าในตัว เพราะเพศหญิงไม่ได้เท่ากับต้องเป็นแม่คน
อย่างไรก็ดีการนั่งชมซีรีส์เจ้าแม่กาลีลุกขึ้นมาคำราม ไล่ฟันอสูรชายเลือดสาดกระจายดู MVพระเจ้าเป็นผู้หญิงของมหาเทวีอารีอานา และมหิทธานุภาพของศรีมหาบียองเซ่ ก็เป็นแฟนตาซีที่ช่วยบรรเทาผ่อนคลาย หรือปลดปล่อยตนเองทางอารมณ์จากการกดขี่ทางเพศในโลกแห่งความเป็นจริงที่ชายเป็นใหญ่
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Kathryn Rountree. The Politics of THE Goddess: Feminist Spirituality and the Essentialism Debate. The International Journal of Social and Cultural Practice, Vol. 43, No. 2, (July 1999), pp. 138-165.
[2] National Crime Records Bureau. Crime in India2016Statistics. New Delhi: Ministry of Home Affairs, Government of India, 2017.