ในช่วงปี 2510-2519 รัฐใช้เงินเพื่อผลิตสื่อจนนำไปสู่ความรุนแรงในสองรูปแบบ คือ
- เกิดความรุนแรงทางกายภาพ การทำร้ายทางร่างกายซึ่งกันและกันไปจนถึงการสังหารหมู่ เช่น กรณี 6 ตุลา 19 โดยมีการกล่อมเกลาผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ เป็นสำคัญ โดยมีสื่อเอกชนเช่นหนังสือพิมพ์ร่วมด้วย
- ความรุนแรงทางทัศนคติและจิตสำนึก รัฐได้ผลิต ‘ชุดความคิดรักชาติ’ และปลูกฝังผ่านการผลิตสื่อภาพยนตร์ หนังสือ ละคร และเพลง ในช่วงสงครามเย็น (โปรดอ่าน อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล, 2561) ช่วงนั้นสำนักข่าวสารอเมริกันก็มีบทบาทอยู่ด้วย ชุดความคิดนั้นได้บรรจุ “จิตสำนึกเกลียดกลัว” ฝ่ายที่คิดต่าง (เช่น คนที่มีแนวคิดสังคมนิยมหรือรักชาติในความหมายอื่นๆ) จนกระทั่งสังคมเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เชื่อเหมือนรัฐ และคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งเลวร้ายต้องกำจัดทิ้งในที่สุด
ทั้งสองกรณี เป็นความรุนแรงที่เกิดจาก สื่อ การสื่อสาร และสื่อสารมวลชน ซึ่งต่อมาได้ตกตะกอนเป็น ‘สำนึกทางประวัติศาสตร์’ให้ประชาชนต่างเกลียดกลัว ‘คนคิดต่าง’ อย่างไม่รับฟังกัน ไม่ใช้เหตุผล ความอดกลั้นและธรรมะต่อกัน เพราะเชื่อฝังใจว่า อีกฝ่ายผิดและเลว และเชื่อว่ามี ‘ความดีสูงสุด’ ที่มิอาจตรวจสอบได้ ต้องละเว้นไว้
หลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 สื่อเพลง เป็นการสื่อสารที่รัฐใช้กล่อมเกลาสังคมด้วยความซาบซึ้ง ให้ความหวัง และสั่งสอน เช่น เพลงค่านิยม 12 ประการ มีทั้งเวอร์ชั่นสตริง ลูกทุ่ง แอนิเมชั่น และประสานเสียงหลายคณะ นอกจากนี้ยังมีซิงเกิ้ลเพลงต่างๆ ของผู้นำประเทศที่ผลิตพร้อมกับมิวสิควิดีโออย่างเอิกเกริก
ปี พ.ศ.2563 กรมประชาสัมพันธ์ผลิต MV อันเป็นสื่อภาพและเสียงด้วยความรวดเร็ว งานโปรดักชั่นของ MV สเกลใหญ่ลงทุนสูง โดยเนื้อหาตั้งใจประกอบสร้างความหมายของ ‘ชาติ’ ที่แบ่งแยกชัดเจนระหว่าง ‘พวกเขา’ และ ‘พวกเรา’ มีนัยแบ่งขั้วประชาชน โดยมีภาพ พวกเขา ในเนื้อเพลงและภาพอันซุกซ่อนความหมายว่าพวกเขามาทำลายสามสิ่งบนธงชาติ มีใบหน้าของแกนนำเยาวชนที่จัดชุมนุมโดนตีตราในสื่อไวรัลนี้ ด้วยวิธีการคล้ายๆในอดีตช่วง พ.ศ.2519
แม้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะออกมาปฏิเสธความเป็นเจ้าของสื่อเพลงสุดฮอตนี้ แต่ในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการที่ใช้เงินภาษีของประเทศ สื่อทั้งหลายก็ควรตรวจสอบดูว่าใครเขียนบท production house ใดที่รับจ้างทำ ใครตัดต่อ และใครคือผู้อนุมัติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างการผลิตสื่อนี้ จัดจ้างผ่านใคร ผ่านวิธีการใด ด้วยงบประมาณเท่าไร และกรมประชาสัมพันธ์ใช้งบหมวดใดในท้ายปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อผลิตสื่อนี้
เราเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ความรุนแรงมาแล้ว
ชนิดที่เจ็บปวดด้วยกันทุกฝ่าย การปลูกฝัง
‘ความรุนแรงในเชิงจิตสำนึก’ แบบนี้
ถูกกระทำผ่านสื่อมาครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยมีข้ออ้างด้านอุดมการณ์หลักว่าจะทำให้ชาติอยู่รอด และเป็นสิ่งเดียวที่ถูกต้องที่สุด โดยหวังว่ามวลชนจะเข้าถึงและซาบซึ้งกับอุดมการณ์หลักอย่างที่รัฐต้องการ
การผลิตชุดความคิดเช่นนี้มีประสิทธิภาพยิ่งเมื่อกระทำผ่านสื่อในชีวิตประจำวัน เช่น รายการละครโทรทัศน์ที่ประชาชนดูทุกวัน คลิปไวรัล เพลง นอกจากนี้วิธีการเรียนการสอนใน ‘ระบบการศึกษา’ ของไทย ก็ยังปลูกฝัง ‘จิตสำนึกการยอมรับอำนาจนิยม’ ทั้งจากครูที่ใช้อารมณ์และอำนาจ รุ่นพี่ (เช่นระบบโซตัสในการรับน้อง) และคนที่มีฐานะเหนือกว่าในสถาบันต่างๆ รวมทั้งเนื้อหาการเรียนการสอนที่แทบไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เลย
ซึ่งตัวอย่างของ ‘ความรุนแรงเชิงจิตสำนึก’ ที่ฝังในสังคมไทยมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ อาจสำรวจพบได้ในหลายรูปแบบ เช่น การมองเห็นเรื่องผิดปกติและความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา การปิดกั้นความเห็นต่างหรือรสนิยมต่าง เช่น การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่มีมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่เริ่มถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรก คือ ‘นางสาวสุวรรณ’ มาถึงภาพยนตร์เรื่อง Anna and the King of Siam (John Cromwell, 1946) ที่ไม่สามารถฉายได้ และเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ชั้นครูที่ทั่วโลกยกย่อง เช่น Breathless (Jean-Luc Godard, 1960) (ผู้สนใจ โปรดอ่านอุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล, 2563) รวมถึงการจับกุม/ประณามด่าทอคนที่มีความเห็นต่าง หรือแสดงออกในสิ่งที่ต้องห้าม และการล่าแม่มด ความสะใจที่กำจัดคนที่ไม่ใช่พวกเราออกไปได้ เช่น ดาราที่พูดอย่างสะใจเมื่อเห็นคนถูกยิงตาย โดยเข้าใจว่าผู้ตายคือ ‘พวกเขา’ และรู้สึกว่าชอบธรรม ทั้งที่มันคือความขมขื่นปวดร้าวอย่างมากของอีกหลายคน
กล่าวอย่างเป็นธรรม ดาราผู้นั้นและพวกเราทุกคนก็ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการปลูกฝังความรุนแรงเชิงจิตสำนึก เช่นนี้มาอย่างยาวนาน ผ่านกลไกของ soft power ทั้งการสื่อสารและระบบการศึกษา รวมทั้งกลไกการอบรมสั่งสอนอื่นๆ จวบจนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุคการสื่อสารอินเทอร์เน็ต ความจริงหลายประการจึงพรั่งพรูและถูกให้ความหมายใหม่แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในหลายเรื่องสำคัญ
จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การที่สื่อของรัฐพยายามตอกย้ำและตีตราบุคคลด้วยภาพและเนื้อหาต่างๆ ที่แบ่งแยกพวกเขา-พวกเรา โดยหยิบยกเรื่อง ‘ชาติ’ มาเป็นตัวประกันนั้น จะยิ่งสร้างรอยร้าวของสังคมให้ลึกขึ้น และสร้างความสับสนหนักขึ้นไปอีกในภาวะเช่นนี้ เพราะต่างฝ่ายก็ยึดมั่น ความหมายของ ‘ความเป็นชาติไทย’ ที่ทำให้ ‘พวกเรา’ ดำรงอยู่ได้
การที่รัฐยังยืนยันความหมายของ ‘ชาติ’ ในแบบเดิม ดังที่เราได้เห็นใน MV ล่าสุดคือ ชาติที่มีสามสิ่งในธงชาติ โดยนัยแล้วอาจกล่าวได้ว่า สองสิ่งที่รัฐต้องการสื่อคือ ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ที่จะต้องปกป้องไว้อย่างที่สุด
กับ ‘ชาติ’ ของกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความหมายว่า คือ ความเท่าเทียมกันของประชาชนอันหลากหลาย ความโปร่งใส การมีตัวแทนประชาชนอันชอบธรรม และการที่ทุกคนได้มีโอกาสในทรัพยากรและภาษีของประเทศอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบอำนาจที่มองไม่เห็น
ภาวะต่อสู้เชิงอุดมการณ์เช่นนี้ก็อ่อนไหวมากอยู่แล้ว
ยิ่งเมื่อสื่อที่รัฐผลิตมาตอกย้ำและตีตรา ‘พวกเขา’
ก็ยิ่งขับเน้นกระบวนการสร้างความรุนแรงเชิงจิตสำนึกให้กับทั้งสองฝ่าย
ในทางการเมือง การที่รัฐใช้ soft power เช่น MV เพลง ละคร ภาพยนตร์ หนังสือ หรือการ์ตูน ในการจัดการ ‘พวกเขา’ หรือคนที่คิดต่างด้วยวิธีการตอกย้ำอุดมการณ์กระแสหลัก แบ่งแยกคนที่คิดต่างและตีตราให้เป็นพวกที่เลวร้าย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากมายาคติที่ปลูกฝังมาอย่างยาวนาน แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็คือกระบวนการการสื่อสารเพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีโอกาสมากที่สุดในการใช้ทรัพยากรของประเทศ
ทางออกก็คือ หากรัฐจริงใจและไม่ต้องการทำร้ายใคร ก็ควรเปิดรับฟัง หาเวทีดีเบตกันอย่างสันติ ไม่ต้องใช้ soft power ใดๆ ไม่ว่าจะเป็น MV เพลง ละคร ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนอะไรให้เปลืองงบประมาณ ในห้วงเวลานี้ หากจะผลิตสื่อ ก็ควรมีวิจารณญาณ และที่สำคัญ หากจำเป็นต้องผลิตสื่อ สื่อนั้นต้องไม่รับใช้ใครหรือกลุ่มใด
รับฟังพวกเรามามากแล้ว เปิดใจรับฟังพวกเขาบ้าง จะได้เห็นความจริงของโลกอีกด้านหนึ่ง เป็นโลกที่วิ่งไปข้างหน้าเร็วมากและเดิมพันความรักชาติภายใต้อุดมการณ์ที่อาจจะไม่เหมือนรัฐและคนอีกกลุ่มหนึ่ง
ที่สำคัญ ควรยอมรับด้วยว่า ‘การสื่อสาร’ ที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากที่สุด คือ การลงมือปรับปรุงแก้ไขทัศนคติของความเป็นพวกเรา-พวกเขา แก้ไขข้อกฎหมาย หรือปรับเปลี่ยนตัวบุคคลที่ส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างสันติ เป็นธรรม โปร่งใส และเท่าเทียม