The privilege of a lifetime is being who you are.
เอกสิทธิ์ของชีวิตหนึ่งคือการเป็นคนที่เธอเป็น – Joseph Campbell
มันเป็นห้องเรียนที่ประหลาดหน่อยๆ แต่ก็นับเป็นเรื่องปกติสำหรับพื้นที่อย่างสถาบันวัชรสิทธา หมอ วิศวกร คนทำงานบริษัท ฟรีแลนซ์ นักเดินทาง นักการธนาคาร นักธุรกิจ นักศึกษา มัคคุเทศก์ นักสิ่งแวดล้อม นักเขียน คนเกษียณ หลายอาชีพหลากอายุมาอยู่ใน workshop เดียวกัน อย่าง The Power of Living Myth ตำนานมีชีวิต
สิ่งที่เหมือนกันมีอย่างเดียวคือไม่มีใครเข้าใจว่า myth คืออะไร แต่กระนั้นก็มีอะไรบางอย่างดึงดูด ขณะที่บางคนมาเพราะอยากฟังชาดก ตำนานเทพปกรนัมโบร่ำโบราณ ซึ่งนั่นน่าจะผิดหวังอยู่พอสมควร
ณัฐฬส วังวิญญู หรือที่ใครๆ เรียก ‘พี่ณัฐ’ นักอบรมที่มีชื่อเสียงในการทำงานกับ ‘ภายใน’ ของผู้คนมายาวนาน เขาจบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยนาโรปะที่โดดเด่นในเรื่องทางจิตวิญญาณ (spirituality) ส่วนเรื่องของ myth อันเกี่ยวพันกับศาสตร์ในแขนงมานุษยวิทยาและจิตวิทยาเป็นสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษ ในห้องเรียนนี้เขาอธิบายมันผ่านมุมมองของ Joseph Campbell ศาสตราจารย์ด้านตำนานวิทยา (Mythology) ที่ศึกษาตำนานในวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่างๆ ของศาสนาต่างทั่วโลก ซึ่งแคมป์เบลพัฒนาแนวคิดของเขาจากแนวคิดทางจิตวิทยาของ Carl Jung อีกที
ณัฐ อธิบายถึงฟังก์ชันของ myth ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่ามีเพื่ออะไรบ้าง
1. ทำให้มนุษย์อบอุ่นใจว่าได้รับ ‘การดูแล’ จากบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่เหนือตัวเอง
2. อธิบายกฎจักรวาลหรือกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติในช่วงที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ขโมยหน้าที่นี้
3. เพื่อนำมาเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคม ควบคุมความประพฤติของสมาชิก
4. ด้านจิตวิทยาที่ myth จะทำหน้าที่ปลดปล่อยมนุษย์ (independent) ซึ่งการปลดปล่อยในที่นี้ก็คือการยอมรับว่าเรา ‘เป็น’ สิ่งใด
“Living Myth ก็คือตัวเรา เป็นตำนานที่กำลังเดินทาง และเราจะรู้ก็ต่อเมื่อเราเดินไปแล้ว” ณัฐกล่าว
Follow your bliss and the universe will open doors for you where there were only walls.
เดินตามสิ่งที่เธอทำแล้วมีความสุข เมื่อมาถึงที่ที่เต็มไปด้วยกำแพงรอบด้าน จักรวาลก็จะเปิดประตูมากมายให้แก่เธอเอง
– Joseph Campbell
ณัฐเน้นถึงคอนเซ็ปต์หลักที่โด่งดังอันหนึ่งของแคมป์เบล นั่นคือ the pathway to bliss หรือ follow your bliss คำว่า bliss ไม่ใช่ความสุขธรรมดา แต่น่าจะใกล้เคียงกับความอิ่มเอม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสุขและทุกข์
การตามหาเส้นทางของตัวเอง ตามหาว่าตัวเองคือใคร เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ยาก เพราะเส้นทางการเติบโตของชีวิตเราดูจะสวนทางหรือทอดทิ้งการเติบโตของจิตวิญญาณภายใน โรงเรียนขัดเรา ครูเกลาเรา ครอบครัวเปลี่ยนแปลงสีสันของเรา ที่ทำงาน สังคมเปลี่ยนรูปทรงของเรา คอร์สนี้จึงน่าจะสรุปได้สั้นที่สุดว่า เป็นการตามหาส่วนที่หายไป ไม่ว่าส่วนนั้นจะน่ารักหรือน่าชัง โดยการตัดสินเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ เพราะสังคมทำมันกับเรามามากเกินพอแล้ว แม้แต่ชื่อเรียกสิ่งต่างๆ ก็ยังเต็มไปด้วยการตัดสิน
เช่น ความก้าวร้าว ณัฐยกตัวอย่าง archetype หรือคุณลักษณะทางจิตอันหนึ่งซึ่งมีพลังงานแบบหนึ่ง สำหรับเขา สิ่งนี้คือ shadow หรือด้านที่เขากดไว้หรือหายไป มันเป็นส่วนผสมที่เขาเริ่มอยากให้มันสำแดงตัวในบางโอกาส เพราะนั่นก็เป็นตัวเขาแบบหนึ่ง
ณัฐจำแนกให้เห็นว่าวิธีค้นหาเส้นทางนั้นมีหลายแบบ คือ
1. active imagination เป็นการค้นหาเส้นทางจิตวิญญาณผ่านการกระทำ (action) เช่น Jung ชอบการเรียงหิน Campbell ชอบขีดเส้นใต้เวลาอ่านหนังสือ บางคนชอบวิ่ง บางคนชอบเย็บผ้า ฯลฯ ตามแนวคิดของ Jung กิจกรรมที่เราจดจ่อนี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึก
2. การจดจำและตีความความฝัน ฝันของเราจะให้ข้อมูลว่าเรามีสิ่งใด และขาดสิ่งใด
3. capture moment คือ บางสถานการณ์ บางสถานที่ บางคำพูด บางช่วงเวลาที่สะกดใจหรือทำเราดำดิ่ง อาจเป็น symbol หรือสัญลักษณ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ capture ให้เราลืมตัวเองไปชั่วขณะ ลักษณะเช่นนี้เห็นได้ชัดในการเสพงานศิลปะ
เมื่ออธิบายเสร็จเขาให้ทุกคนลองเชื่อมต่อกับสถานที่ในห้องอบรม มีมุมไหน จุดไหนที่เราอยู่แล้วสบายหรือดึงดูด เขาปล่อยให้เราเดินหาและอยู่ตรงนั้นสักพักก่อนจะถามว่า นึกถึงภาพอะไรในหัว…ไม่น่าเชื่อ คนไม่รู้เหนือรู้ใต้บางคนก็ตอบคำถามกับเขาได้ด้วย “ชิพมั้งค์(กระรอก)” คำตอบของผู้เข้าร่วมมีหลากหลาย จำนวนมากตอบเป็นสัตว์ บ้างเป็นสิ่งของ บ้างเป็นคุณลักษณะ
ต่อมาคือถอดมันออกมาเป็นภาพ ผู้ใหญ่ทั้งหลายกลับเป็นเด็กอีกครั้ง เมื่อได้กระดาษหนึ่งแผ่นกับสีเทียนหนึ่งกล่อง เป็นการทบทวนตัวตนถ่ายทอดออกมาเป็นรูปภาพ รูปภาพของแต่ละคนมีเรื่องราวน่าสนใจ บ้างเป็นการยืนยันสิ่งที่ตัวเองเป็น บ้างเป็นสิ่งที่กดไว้หรือหายไป
การได้ใช้เวลาใคร่ครวญความรู้สึก ความคิด และโดยเฉพาะวัยเด็กของตนเองเพื่อสำรวจปมต่างๆ คุณลักษณะบางอย่างเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คุณลักษณะบางอย่างหายไปได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ทั้งสนุกและลี้ลับ
เราจับกลุ่มย่อยฟังตำนานของเพื่อนในคอร์ส เพื่อนๆ อธิบายภาพวาดของพวกเขา เชื่อมโยงสีที่เขาเลือก สัญลักษณ์ที่เขาใช้ ความรู้สึก ณ ขณะที่เขาวาด ประกอบส่วนกับเรื่องราวในอดีตของเขา บางคนนึกถึงเรื่องในวัยเด็กที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนเพื่อวิเคราะห์จุดเปลี่ยนของพลังงานในตัว บางคนเล่าสิ่งที่ไม่เคยเล่ากับใคร บางคนเล่าถึงสภาวะเหนื่อยล้าภายในซึ่งไม่สามารถดูแแกได้ด้วยตาเปล่า
การสนทนากลุ่มย่อยเกิดขึ้นเป็นระยะและเป็นเครื่องมือสำคัญของจิตวิทยา คนแปลกหน้าและพื้นที่ชั่วคราวกลายเป็นสิ่งที่สร้างความอบอุ่นและความไว้วางใจอย่างประหลาด สำหรับบางคนการได้พูดแบบไม่ต้องแคร์อะไรช่วยเยียวยาเขาไปในตัว น้ำตาที่ไหลอาบแก้มของบางคนเป็นสิ่งที่ทั้งมีความหมายและไร้ความหมาย คือมีความหมายในแง่การได้แสดงความรู้สึกเต็มที่ และไร้ความหมายในแง่ที่มันไม่ถูกตัดสินตีความอะไร สำหรับหลายคนการฟังเรื่องของคนอื่นช่างเป็นบทเรียนอันดื่มด่ำ สีสันของเรื่องเล่านั้นฉูดฉาดกว่าละครทั้งหมดที่เคยดูมา
The cave you fear to enter holds the treasure you seek.
ถ้ำที่เธอกลัวที่จะเข้าไป คือที่อยู่ของสมบัติที่เธอตามหา
– Joseph Campbell
เซสชั่นที่น่าประทับใจอีกอันหนึ่งคือ ‘ชีวิตคู่ในฐานะการเดินทางทางจิตวิญญาณ’
เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เข้าใจ shadow ของตัวเอง เข้าใจด้านมืดอันเป็นคุณสมบัติของเราถูกเก็บไว้ในถ้ำ โดยมีกลไกป้องกันตนเอง หรือ ‘มังกร’ คอยปกป้องไว้อย่างแน่นหนา มันปกป้องไม่ให้เราเข้าไปในถ้ำเพราะกลัวว่าเราจะเจ็บปวดเหมือนที่เคยเป็นในอดีต แต่กระนั้นเราก็มักเจอสภาวะไม่คาดฝันที่ทำให้เราต้อง ‘ฆ่าและดื่มเลือดมังกร’ เพื่อจะเจอสมบัติที่หายไป การฆ่ามังกรจึงกลายเป็นความท้าทายของชีวิตทางจิตวิญญาณที่ต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อไปถึง และลิ้มรสสิ่งที่เราอาจแปะป้ายว่า ‘เลวร้าย’ เพื่อ integrate หรือรวมสิ่งเหล่านั้นมาไว้ในตนเองอีกครั้ง
เมื่อเราเข้าใจตัวเองได้เช่นนั้น เราก็มีศักยภาพจะเข้าใจคนอื่นเช่นกัน การวิเคราะห์จิตในลักษณะนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมบางคนบอกว่า เขาเริ่มเข้าใจเพื่อนร่วมงานบางคนที่นิสัยไม่ดีมากขึ้น
สำหรับชีวิตคู่ เป็นอีกเส้นทางวิบากของการเติบโตด้านใน ณัฐขยายความว่า ผู้คนมักเลือกคู่ที่เป็น shadow ของตัวเอง เช่น เพื่อนฝรั่งของเขาเป็นคนน่ารัก เป็นมิตรมากๆ เป็นนักกีฬา แต่มีแฟนกี่คนมักเป็นคนที่เสพเฮโรอีนทั้งนั้น เธอให้เหตุผลว่า เธอชอบลักษณะการหมกมุ่น การไม่สนใจใครในโลก อันเป็นสิ่งที่เธอไม่มี
คำถามสำคัญคือ การหลุดกรอบ หรือ integrate กับสิ่งที่สังคมแปะป้ายว่า ‘ไม่ดี’ จะทำให้สังคมเกิดความสับสนวุ่นวายไหม คำตอบของณัฐน่าสนใจ
“เราสัมพันธ์กับมัน ไม่ใช่ในเชิงการกระทำ แต่เป็นในแก่นคุณค่าของมัน การรวมสิ่งนั้นเข้ามา ที่ spirit ของมัน ไม่ใช่ form เพื่อดูความเป็นไปได้ในตัวเราว่าเราจะขยาย (ยอมรับ) ความเป็นตัวเราออกไปได้อีกไหม”
ดังนั้น ในแง่นี้เพื่อนฝรั่งของณัฐจึงไม่จำเป็นต้องติดเฮโรอีนไปด้วย แต่ซึมซับเอาคุณลักษณะความหมกมุ่น มีสมาธิ และสนใจโลกให้น้อยลงมาสู่ตัวเอง เราสามารถเทียบเคียงกับหลายเรื่องราวที่สังคมบอกว่าเลวร้ายได้ เช่น โสเภณี อันเป็นหัวข้อที่พูดถึงทีไรก็ฮอตแอนด์สไปซี่ทุกที (ณัฐตีความว่า โสเภณีคือคุณลักษณะของคนที่กล้าทำอะไรได้ทุกอย่างแต่ไม่เสียศักดิ์ศรีของตัวเอง และด้านมืดคือการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ทำได้ทุกอย่างเพื่อเงินหรือวัตถุสิ่งของ) ในเมื่อทุก archetype มีคุณลักษณะทั้งด้านบวกและลบในตัวเอง ดังนั้นการตัดสินแบบที่เราเคยชินจึงไม่ฟังก์ชันอีกต่อไป
Your sacred space is where you can find yourself again and again.
พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ คือที่ที่ซึ่งเธอสามารถค้นพบตัวเองอีกครั้งและอีกครั้ง
– Joseph Campbell
ถามว่า myth มีความเป็น universal หรือเหมือนกันแบบสากลไหม ณัฐก็ตอบคำถามนี้ว่า หากว่ากันตามแนวคิดของแคมป์เบลคงต้องตอบว่า ไม่มี แต่มันอาจมี theme หรือ pattern บางอย่างที่คล้ายกัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้คล้ายกันเป็นเพราะเรามีอวัยวะหรือร่างกายที่คล้ายกัน มีสัญชาตญาณที่คล้ายกัน และ myth เป็นสัญชาตญาณของจิต
อีกแบบฝึกหัดที่หลายคนอึ้งๆ งงๆ แต่ก็ดูจะชอบมากกันมาก คือ การเปิดไพ่ ซึ่งเป็นการฝึกอ่านและตีความสัญลักษณ์ โดยไพ่ที่เราสุ่มเลือกจะบอกลักษณะของจิต หรือ archetype หลักๆ ของเราที่มีคำอธิบายทั้งบวกและลบ ลักษณะเด่นของตัวตน และไพ่ที่บอกว่าเราพึงศิโรราบต่อสิ่งใด ก่อนหยิบไพ่ณัฐให้เรานึกถึงหนึ่งคำถามที่สงสัยอยู่ตอนนี้เพื่อจะตีความจากไพ่(โดยตัวเราเอง) ไม่น่าเชื่อว่าหลายๆ คนจะได้คำตอบหรือความมั่นใจในคำตอบจากการหยิบไพ่นี้ และความฉงนสนเท่ห์ที่ได้ยินซ้ำๆ คือ “ทำไมฉันถึงได้ใบนี้จากไพ่จำนวนมากมาย”
ยังมีอีกหลายบทเรียนที่มีการอภิปรายกันอย่างเมามัน แต่สำหรับ “ชิพมังค์” อย่างฉัน ข้อสรุปของการได้รู้เรื่องนี้ก็คือ อย่างน้อยที่สุด เราตัดสินตัวเองและคนอื่นน้อยลง ทำความเข้าใจมากขึ้น และมีแรงบันดาลใจอยากทดลองใช้ชีวิตให้สนุกขึ้น บ้าบอขึ้น พร้อมเผชิญกับสิ่งต่างๆ มากให้สมกับเป็น ‘ชีวิต’ นั่นเอง
Content by Mutita Chuachang