ถือเป็นเรื่องน่าดีใจที่ทางการพบน้องจีน่าแล้ว แต่สำหรับกรณีจากจับตัวผู้ก่อเหตุลักพาน้องจีน่าไปนั้น จากคำให้การเบื้องต้นแม้ตำรวจจะยังไม่ปักใจ ทว่า การบอกว่าอุ้มไปเพื่อสังเวยผีถ้ำก็ดูจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยมีขาข้างหนึ่งอยู่กับความเชื่อนั้น เป็นความเชื่อที่ก็อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง
ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องยอมรับได้ หากไม่นับเรื่องการอำพรางอื่นๆ คนในสังคมอาจจะโจมตีว่าเพื่อนบ้านเป็นพวกงมงาย ลงมือเอาเด็กไปสังเวยเพราะความเชื่อ ซึ่งก็ดูจะเป็นทิศทางที่สังคมอาจจะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเชื่อ ความไม่สมเหตุสมผลบางอย่างจนเกือบเกิดโศกนาฏกรรม
ทว่า ในความคุ้นเคยกับเรื่องเหนือธรรมชาติ เจ้าป่าเจ้าเขา การหลงป่า ในพฤติการณ์เท่าที่ทราบของเพื่อนบ้านนั้น ด้านหนึ่งเราอาจจะมองได้ว่านี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ชนบท แน่นอนว่าปัญหาสุขภาพจิตและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การรักษาหรือได้รับคำแนะนำด้านจิตเวชแม้แต่ในพื้นที่เมืองเองก็ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด และในอีกด้านนั้นปัญหาสุขภาพจิตมักถูกผูกเข้ากับพื้นที่เมือง กับความตึงเครียด พื้นที่เช่นชนบทที่เป็นคู่ตรงข้ามของเมืองนั้นก็อาจจะถูกมองข้ามเรื่องปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพจิตใจและความเจ็บป่วยทางจิตใจอื่นๆ
ประเด็นเพื่อนบ้านน้องจีน่านั้นอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องสุขภาพจิตหรือไม่ แต่แน่นอนว่าปัญหาเรื่องสุขภาพจิต การเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตนั้นก็อาจเป็นประเด็นสำคัญที่เราอาจต้องดูแลใส่ใจกันต่อไป โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญก็เช่นปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่ในที่สุดแล้วอาจกำลังส่งผลกระทบกับชีวิตบั้นปลายจากการขาดทั้งทรัพยากรและความเข้าใจด้านจิตเวช
เพราะจิตใจก็ป่วยได้ : ปัญหาการเข้าถึงด้านสุขภาพจิต
จากประสบการณ์ ทุกวันนี้สังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานอายุสัก 30 ขึ้นไป เริ่มมีทัศนคติต่อการเข้ารับบริการทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คือ เริ่มมองว่าเป็นเรื่องทั่วไป ยอมรับและเข้าใจว่าจิตใจคนเราป่วยได้ หายได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังคงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาอยู่บ้างแม้จะเป็นผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมือง เราจะพบว่าบริการด้านสุขภาพจิตนั้นยังมีอย่างจำกัด เข้าถึงได้ค่อนข้างยาก และการรักษาส่วนใหญ่กินระยะเวลานานและยาค่อนข้างมีราคาแพงในบางกรณี
จากข้อจำกัดเรื่องการมีบริการที่เพียงพอ (availability) ไปจนถึงการเข้าถึงได้และจ่ายได้นั้นก็เป็นปัญหาใหญ่แล้ว เรื่องทัศนคติก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นอุปสรรคอันสำคัญยิ่ง ลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศไทย มีงานศึกษาว่าแม้แต่ในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2011 นับว่าไม่นานมาก (อ้างถึงในงานศึกษาของ ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ และคณะ) ก็ยังระบุว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคทางอารมณ์เช่นวิตกกังวล ปัญหาด้านการยับยั้งชั่งใจและอื่นๆ ครึ่งหนึ่งรายงานว่าคิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกหรือปัญหาของตัวเองได้
ในงานศึกษาชื่อ ‘ช่องว่างในการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน’ ของ ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ และคณะ ในงานศึกษามีตัวเลขสำคัญๆ เช่นตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าในปี พ.ศ.2551 ที่สูงถึง 1.2 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน ชี้ให้เห็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาด้านจิตเวชของประเทศไทย ประเด็นสำคัญของการเข้าไม่ถึงเกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรด้านบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับจิตเวช การกระกระจุกตัวของทรัพยากรที่ไม่มีการกระจายอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้งานศึกษาของตะวันชัยยังชี้ให้เห็นบางปัญหาจากการเก็บข้อมูล 1 ปีในจังหวัดปทุมธานีก็ชี้ให้เห็นตัวเลขการเข้ารับการรักษาที่ต่ำ และประเด็นการเจ็บป่วยที่ส่งผลกับมิติทางเศรษฐกิจ การที่รัฐสามารถกระจายหรือเพิ่มทางเลือกในการรักษาทางจิตเวชได้อาจช่วยบรรเทาปัญหาเช่นทำให้ผู้ป่วยมีรายได้หรือกลับมามีรายได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไป
ปัญหาสุขภาพจิตในเขตชนบท : กรณีจากผู้สูงอายุ
นัยสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตคือปัญหาสุขภาพจิตนั้นเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงวัยและในทุกพื้นที่ พื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกลนั้นก็ค่อนข้างมีความเสี่ยงจากการกระจายตัวของทรัพยากรสาธารณสุขโดยเฉพาะด้านสุขภาพจิตค่อนข้างน้อย
จากประสบการณ์ในสังคมไทย เราอาจค่อนข้างผูกปัญหาสุขภาพจิตไว้กับพื้นที่เมือง และถ้าเรามองประเด็นที่เฉพาะเจาะจงเช่นกลุ่มผู้สูงอายุ เราก็มักจะมองผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างจังหวัดว่าน่าจะมีสุขภาพใจค่อนข้างแข็งแรง ยิ่งถ้าผู้สูงอายุนั้นมีคุณภาพชีวิตค่อนข้างดี ทำสวนครัว ไม่มีโรคเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่มีปัญหาด้านรายได้ในการยังชีพ เข้าวัดทำบุญ แต่วันหนึ่งด้วยเงื่อนไขทางกายภาพของร่มโพธิ์ร่มไทยโดยเฉพาะสุขภาพจิต การเสื่อมลงของสารเคมีในสมอง ในที่สุด การสวดมนต์ไหว้พระอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ส่งเสริมสุขภาพได้เพียงพออีกต่อไป แต่คือการเข้ารับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ—จากจิตเวชที่เฉพาะเจาะจง
ในงานวิจัย ‘การศึกษาเปรียบเทียบปัญหาสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตระหวางผู้สูงอายุชุมชนเมืองและชุมชนชนบท’ พบว่าผู้สูงอายุในพื้นที่เมืองและชนบทเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตไม่แตกต่างกัน ปัญหาด้านสุขภาพเช่นอาการวิตกกังวล ปัญหาการนอนไม่หลับ การบกพร่องทางด้านสังคม และอาการซึมเศร้ารุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบทเผชิญอยู่เหมือนๆ กัน
นอกจากนี้ ในการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดได้โดยเท่ากันแล้ว ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการสนใจคือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ อาการป่วยทางจิตใจส่งผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง งานศึกษาจากมหาวิทยาลัย Penn State ระบุว่าอาการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตเพียงหนึ่งวันในหนึ่งเดือน—สมมติว่ามีหนึ่งคนที่เกิดปัญหาสุขภาพจิตเพียงหนึ่งวัน—จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 1.84% เช่น อาจจะต้องลางาน ไปจนถึงเกิดปัญหาใหญ่ๆ นักวิจัยจึงประเมินว่าความเจ็บป่วยที่ดูเล็กนี้ในที่สุดอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ถึง 5 หมื่นล้านเหรียญฯ ต่อปี
การค้นพบที่น่าสนใจนี้ นักวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีความรุนแรงมากขึ้นในเขตพื้นที่ชนบท รุนแรงกว่าในเขตเมือง เนื่องจากว่าพื้นที่ชนบทโดยรวมมีรายได้น้อยกว่าพื้นที่เมือง การที่การเติบโตทางเศรษฐกิจกระทบจากปัญหาสุขภาพจิตก็เลยมีสัดส่วนการสูญเสียมากกว่าจากเฉลี่ย 1.8% สูงขึ้นไปถึง 2.3%
สุดท้ายแล้ว อย่าลืมว่าการพูดถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้านจิตเวชนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับกรณีลักพาน้องจีน่าโดยตรง แต่ประเด็นเรื่องความเชื่อ เรื่องทัศนคติที่สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ชนบทนั้นก็ดูจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ชนบทจนทำให้เราอาจมองข้ามประเด็นพื้นฐานเช่นเรื่องสุขภาวะและความเจ็บป่วยทางจิตใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในพื้นที่เมืองและในพื้นที่ชนบท
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ทั้งปัญหาเบื้องต้นคือการขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพ การกระจายตัวและการเข้าถึงที่มีจำกัด และที่สำคัญคือความคิดพื้นฐานและความเข้าใจที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิตใจ การมองเห็นถึงความเจ็บป่วยได้ก่อนและการสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทั้งรักษาคุณภาพชีวิตส่วนบุคคล และความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมไปพร้อมกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon