หาก..
หาก.. ผมเป็นกองเชียร์รัฐบาลชุดปัจจุบัน และมีข้อสงสัยว่าการหายตัวไปของ ‘ต้า-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ มีพิรุธ สิ่งที่ผมควรจะทำก็คือเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งติดต่อกับทางการกัมพูชา เพื่อคลี่คลายปริศนาดังกล่าวให้ได้เร็วที่สุด หากมีการจัดฉากก็ต้องเปิดโปงให้ได้อาย ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้หยิบเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์ หรือลือกันในทางร้ายๆ ต่อไป
หาก.. ผมเป็นคนที่แชร์ภาพเหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ชาวบ้านซึ่งไปชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ มีถึง 78 คนต้องเสียชีวิตเพราะหายใจไม่ออก (จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 85 คน) หลังถูกบังคับให้นอนทับกันบนรถบรรทุกระหว่างขนส่งไปยังค่ายทหาร เพื่อมาแย้งกับสิ่งที่พี่สาวของ ต้า-วันเฉลิม เล่าถึงคำพูดสุดท้ายที่ได้ยินจากน้องชาย “โอ๊ย! หายใจไม่ออก” ผมก็จะเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งคลี่คลายกรณีล่าสุดเช่นกัน เพื่อให้เหตุการณ์เช่นตากใบไม่กลับมาซ้ำรอยอีก
หาก.. ผมเป็นคนที่แชร์สถิติการถูกอุ้มหายในรัฐบาลไทยชุดต่างๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร ไปยังเพจต่างๆ หรือบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง รวมถึงพาดพิงกรณีเอกยุทธ อัญชันบุตร ไปจนถึง ชิปปิ้งหมู-กรเทพ วิริยะ ถูก ‘อุ้มหาย’ ผมจะเรียกร้องให้ภาครัฐจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหาย ต้า-วันเฉลิมให้ได้ เพื่อให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย พร้อมกับช่วยเรียกร้องให้กฎหมายป้องกันการอุ้มหาย -ที่ผลักดันไม่สำเร็จในยุค คสช.- ได้เกิดขึ้นมาใช้จริงๆ จังๆ เสียที
หาก.. ผมวิพากษ์วิจารณ์ ต้า-วันเฉลิม ว่าเป็นนักโทษหนีคดี ไม่ว่าจะคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ผมจะเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งหาตัวเขาให้เจอ เพื่อพากลับมาดำเนินคดีในไทย ให้ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในชั้นศาล ว่าที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นความผิดจริงหรือไม่
หลายคนอาจตะขิดตะขวงใจที่จะติดแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม บนโซเชียลมีเดีย เพราะคิดว่า ต้า-วันเฉลิมมีความเชื่อทางการเมืองคนละอย่างกับตัวเอง
แต่ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิการของผู้คน ควรขึ้นอยู่กับจุดยืนทางการเมืองหรือ
ทำไมเราถึงควรสนใจเรื่องนี้ เรื่องของคนที่เราไม่รู้จักด้วย ? ทำไมใครๆ ถึงบอกว่ามันใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ? และทำไม ใครบางคนถึงบอกว่า สักวันหนึ่งเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก ..หรือกระทั่งตัวคุณเอง ?
เกิดอะไรขึ้น ทำไมต้อง #saveวันเฉลิม
ราว 16.45 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2563 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศกัมพูชา ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ หรือต้า ชาวไทยวัย 37 ปี ถูกพาตัวขึ้นรถยนต์ หลังจากลงมาซื้อของหน้าคอนโดมีเนียม Mekong Garden ในกรุงพนมเปญ ที่เขาใช้อยู่อาศัยระหว่างลี้ภัยทางการเมือง
วันเฉลิมหลบมาอยู่ในกัมพูชาได้เกือบหกปีแล้ว หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดอำนาจในปี พ.ศ.2557 พร้อมกับติดโผถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เขาจึงตัดสินใจหลบหนีมายังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ถูกออกหมายจับโดยศาลทหาร
ต่อมา เขาถูก คสช.เข้าแจ้งความว่าทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ในฐานะแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหายาเสพติดและการดูด ส.ส.ของ คสช. – แต่ภายหลัง ศาลยกฟ้อง เพราะเห็นว่าข้อความดังกล่าว แม้กระทบต่อภาพลักษณ์ คสช. แต่ไม่ส่งผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้หน่วยงานความมั่นคงจะให้ข่าวว่า วันเฉลิมเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ และไปลี้ภัยอยู่ในประเทศลาว – ทว่าในเวลาต่อมาก็มีการปฏิเสธว่าไม่เคยมีการแจ้งความข้อหานี้กับเขา ขณะที่คนใกล้ชิดก็บอกว่า วันเฉลิมไม่เคยลี้ภัยอยู่ในลาว เพราะหลังรู้ข่าวว่า ถูก คสช.เรียกรายงานตัว เขาก็ตัดสินใจลี้ภัยออกมาที่กัมพูชาทันที
“ตอนตัดสินใจลี้ภัย เอาจริงๆ มันเร็วมาก ทหารมาปุ๊บ เค้าจะเก็บหลักฐาน ก็ช่วยๆ กันเก็บของให้เค้าใส่กระเป๋า ปีนกำแพงหนีกันตรงนั้นเลย ก็คือไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ไปสนามบินเลย
“ตอนแรกๆ พอลี้ใหม่ๆ เขาก็สับสนว่าจำเป็นต้องหนีไหม ถ้าอยู่ไทยแล้วไปรายงานตัวจะเป็นยังไง”
—แหล่งข่าวใกล้ชิดวันเฉลิม ผู้ขอสงวนนาม บอกกับ The MATTER
หลังทราบข่าววันเฉลิมหายตัว โลกทวิตเตอร์ก็มีการแชร์ข่าวนี้ พร้อมติดแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ที่เพียงข้ามวันก็มีผู้ทวีตข้อความโดยติดแฮชแท็กนี้กว่า 3.5 แสนครั้งจนติดเทรนดิ้ง (และเพิ่มเป็น 1 ล้านครั้งในวันถัดมา) พร้อมกับการเผยแพร่ภาพจาก CCTV รถยนต์ต้องสงสัยว่าพาตัววันเฉลิมไป นอกจากนี้ ยังมีการแชร์ภาพชายฉกรรจ์ 3 คน ที่ต้องสงสัยว่ามาสะกดรอยตามวันเฉลิมในช่วงต้นปี พ.ศ.2563 – เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ของวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม เล่าให้ฟังบีบีซีไทยว่าขณะเกิดเหตุกำลังคุยโทรศัพท์กับน้องชายอยู่ จู่ๆ ก็มีเสียงดังปัง คิดว่าวันเฉลิมโดนชน ก่อนจะได้ยินเสียงน้องชายร้องตะโกน “หายใจไม่ออกๆ” อยู่ร่วม 30 นาที ก่อนที่สายจะตัดไป
“ตอนนั้นอยู่บ้าน พี่สาวเค้าโทรมาจะให้ช่วยติดต่อคนที่นู่นให้หน่อย คิดว่าเค้าป่วย เจ็บหน้าอกล้มไป ตัวเองก็ตกใจแต่ยังไม่ได้คิดอะไร เลยตามโทรหาคนที่นู่นที่พอจะไปดูอาการได้
“ตอนแรกก็โทรไม่ติด แต่สักพักเค้าก็โทรมากลับมา บอกว่าพี่ต้าโดนอุ้ม เราก็ช็อค ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พยายามโทรหาคนนู้นคนนี้ว่าพอจะรู้จักใครที่ช่วยเหลือได้ไหม
“ก็ยังงงอยู่นานมาก สักพักข่าวมันก็ดันกระจายออกไป ก็มีพี่นักข่าวติดต่อมาคุย สรุปก็เครียดๆ งงๆ แต่ยังพอตั้งสติได้ ทางพี่สาวเค้าน่าจะตกใจมากกว่าเพราะเป็นคนในสายเลย”
—แหล่งข่าวใกล้ชิดวันเฉลิมกล่าว
เย็นวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน เครือข่ายนักศึกษานัดชุมนุมกันบริเวณสกายวอล์ก เรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม และรำลึกผู้ถูกอุ้มหายตลอดประวัติศาสตร์ไทย ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรท์วอทซ์ ฯลฯ
มีกระแสเรียกร้องในโลกอินเทอร์เน็ตให้เหล่าคนดังออกมาแสดงจุดยืนต่อกรณี #saveวันเฉลิม โดยเฉพาะจากไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงและนางแบบ ผู้เป็นทูตสันทวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
ขณะที่ผู้มีชื่อเสียงหลายๆ คนก็ออกมาร่วม #saveวันเฉลิม เรียกร้องให้ช่วยตามหา และให้กำลังใจครอบครัว อาทิ มารีญา พูลเลิศลาภ อดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์, จุลจักร จักรพงศ์ นักแสดง, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม, คณาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 32 คน ฯลฯ ไปจนถึงการเรียกร้องผ่านสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทย ให้ช่วยติดตามตัววันเฉลิม
เหตุใดการถูก ‘อุ้มหาย’ ของเขาจึงสำคัญ
วันเฉลิมเป็นคนอย่างไร เคยทำอะไรมา เหตุใดเราถึงต้องสนใจชะตากรรมของเขา
“พี่ต้าเป็นคนทำงานเรื่องเอดส์ เรื่องเพศที่อายุไล่เลี่ยกัน เราไม่ได้เห็นด้วยกันไปทุกเรื่องทุกประเด็น แต่มันเป็นเพื่อนที่เถียงด้วยแล้วสนุกมาก ทั้งในวงทำงานและในวงเหล้า เคยตั้งวงเยาวชนถกเถียงปัญหาสังคมด้วยกัน หาทางออกหาทางลงไม่ได้หรอก แต่มันก็ทำให้เห็นว่าสังคมนี้ยังมีคนแบบเดียวกัน คนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง”
— อดีต NGOs ที่ทำงานด้านสังคมรายหนึ่ง
“ต้าเป็น NGOs รุ่นน้องที่มาจากสายงานเยาวชน เป็นเด็กฉลาด อารมณ์ดี จิตอาสา เปี่ยมไปด้วยความฝันและเขากล้าหาญ”
— สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา
“ป้ารู้จักต้าในฐานะวัยรุ่นที่สนใจสังคม น่าจะตั้งแต่สมัยต้าเป็นนักเรียน มอ.ปลายด้วยซ้ำ ต้ามีความเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้นที่สมบูรณ์”
—ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก
“เจอกันครั้งแรกก็สัก 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นไปช่วยงานพี่ที่รู้จักแล้วก็เจอกันเรื่องงาน ส่วนตัวก็มองว่าเค้าเป็นคนตรงไปตรงมาต่อจุดยืนของตัวเอง มีความรู้ความสนใจหลากหลาย นิสัยส่วนตัวที่รู้จักกันมาเขาก็จะเป็นคนตลกๆ มองโลกในแง่ดี แล้วก็ไม่เคยท้อแท้ให้กับปัญหาอะไร บางทีก็หุนหันพลันแล่นไปหน่อย แบบบางทีก็เหมือนไม่กลัวอะไรเลย”
— แหล่งข่าวใกล้ชิดวันเฉลิม
วันเฉลิมเป็น NGOs ทำงานภาคประชาสังคม ด้านเยาวชน เอดส์ และความเท่าเทียมทางเพศ มีความสนใจและอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ระยะหลังเข้าไปช่วยงานการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทย กระทั่ง คสช.ยึดอำนาจ และมีคำสั่งเรียกให้เขาเข้ารายงานตัว
ในช่วงที่อยู่กัมพูชา วันเฉลิมยังคงเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ผ่านเฟซบุ๊ก Wanchalearm Satsaksit ไม่รวมไปถึงการเคลื่อนไหวผ่านเพจกูต้องได้ 100 ล้านฯ กระทั่งหายตัวไปในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา
บีบีซีไทย รายงานว่า นับแต่ คสช.ยึดอำนาจเข้ามาในปี พ.ศ.2557 มีผู้ตัดสินใจลี้ภัยการเมืองเดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อย 104 คน โดยมีอย่างน้อย 8 คนหายตัวไปอย่างไม่ทราบขะตากรรม 5 รายในลาว – อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ), วุฒิพงศ์ กขธรรมคุณ (โกตี๋), สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) และอีก 3 รายในเวียดนาม – ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง), สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย
กระทั่งมากรณีของวันเฉลิม ถือเป็นรายแรกที่เหตุเกิดในกัมพูชา
ต้นปี พ.ศ.2563 วันเฉลิมส่งภาพชายฉกรรจ์ 3 คน ที่สงสัยว่าถูกส่งมาสะกดรอยเขาให้กับเพื่อนระหว่างแขทคุยกัน แหล่งบางคนเล่าให้ฟังว่า วันเฉลิมรู้ตัวว่าถูกตามมาโดยตลอด ทั้งมีคนหัวเกรียนมานั่งก๋วยเตี๋ยวแถวคอนโดฯ มีชายคล้ายทหารมาติดตามบ้าง
ส่วนการคาดการณ์เรื่อง ‘ถูกอุ้ม’ วันเฉลิมเริ่มตื่นตัวมากขึ้น หลังเกิดกรณีสุรชัยพร้อมเพื่อนอีก 2 คน หายตัวไประหว่างลี้ภัยอยู่ในลาว ช่วงปลายปี พ.ศ.2561 – ที่ต่อมา พบ 2 ศพถูกรัดคอ ศพใส่กุญแจมือ ถูกคว้านท้องยัดแท่งปูน ลอยมาโผล่ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม และพิสูจน์ดีเอ็นเอแล้วพบว่า เป็นสหายภูชนะและสหายกาสะลอง คนใกล้ชิดสุรชัย แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครทราบถึงชะตากรรมของสุรชัย
คนใกล้ชิดซึ่งติดต่อกับวันเฉลิมอยู่ตลอด กล่าวกับ The MATTER ว่า ผู้ลี้ภัยบางคนไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเท่าที่ควร นอกจากนี้ กระบวนการขอลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆ ก็ซับซ้อน รวมไปถึงเหตุปัจจัยทางใจที่ควรให้การสนับสนุนและช่วยให้คนตัดสินใจที่จะไปจากประเทศเพื่อนบ้านนี้ได้ เพราะมันไม่ปลอดภัยเลย
“พูดไปก็อาจจะงงๆ แต่ตอนที่อยู่ที่นั่น มันไม่รู้สึกจริงๆ นะว่าอันตรายขนาดไหน”
เธอบอกกับเราว่า ถึงตอนนี้ก็ยังรับความจริงไม่ค่อยได้ พยายามไม่คิดถึงปลายทาง คิดแค่ขั้นตอนการตามหาอย่างเดียวเลย
“ยังไม่ค่อยอยากอ่านสิ่งที่อยู่ในโซเชียลฯ สักเท่าไร”
กรณีผู้ลี้ภัยชาวไทยสูญหาย ไม่ได้เกิดกรณีวันเฉลิมเป็นรายแรก แต่เหตุใดคนจำนวนไม่น้อยถึงมาสนใจในกรณีนี้?
มีหลายคนพยายามอธิบายด้วยเหตุผลแตกต่างกัน เช่น เพราะโปรไฟล์ของวันเฉลิมไม่ได้ฮาร์ดคอร์มากนัก, การเกิดเหตุอย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ ใจกลางเมือง, มีภาพวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน, เหตุเกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการ ในชีวิตและร่างกายของผู้คน (กรณีจอร์จ ฟลอยด์) ฯลฯ
ท่ามกลางการปฏิเสธของทางการกัมพูชาอย่างทันควันว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็น fake news และความล่าช้าของรัฐบาลไทย ที่โยนไปๆ มาๆ ระหว่างหน่วยงาน – คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร?
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก เป็นคนที่พูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างเห็นภาพว่า การบังคับให้บุคคลสูญหาย (forced disappearance) เป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ความคิดเห็นต่าง อุดมการณ์ทางเมืองต่าง ไม่ใช่เหตุผลที่ใครต้องถูกพราก ถูกฆ่า ถูกเอาชีวิต
“การไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้สูญหาย ไม่ใช่การต่อต้านรัฐ แต่เป็นการปกป้องรัฐไม่ให้เป็นผู้ก่ออาชญากรรมเสียเอง”
ย้อนกลับไปวลีข้างต้นของบทความ หากคุณคิดว่าเรื่องนี้มีพิรุธ ต้องช่วยกันกดดันให้รัฐบาลเร่งหาความจริง หากคุณรับไม่ได้กับเหตุการณ์ตายใจ จะต้องไม่เกิดความสูญเสียเพราะหายใจไม่ออกซ้ำอีก หากคุณคิดว่าคนที่ถูก ‘บังคับให้สูญหาย’ ในรัฐบาลชุดต่างๆ มีมากเกินไปแล้ว คุณจะต้องช่วยกันกดดันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ร่วมกันทำให้การ ‘อุ้มหาย’ ครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย
มีคำกล่าวหนึ่ง ที่มักถูกยกขึ้นมาเสมอ เมื่อเกิดความไม่ถูกต้องขึ้นในบ้านเมือง แล้วคนกลุ่มหนึ่งนิ่งเฉย เป็นบทกวีของ Martin Niemöller นักบวชชาวเยอรมันที่ต่อต้านนาซี และเขียนบทกวีอันโด่งดังในค่ายกักกัน ที่ชื่อว่า “First they came…”
..เมื่อเขามาจับคอมมิวนิสต์ ฉันไม่พูดอะไร เพราะฉันไม่ใช่คอมมิวนิสต์
..เมื่อเขามาจับพวกสังคมนิยม ฉันไม่พูดอะไร เพราะฉันไม่ใช่พวกสังคมนิยม
..เมื่อเขามาจับพวกสหภาพการค้า ฉันไม่พูดอะไร เพราะฉันไม่ใช่พวกสหภาพการค้า
..เมื่อเขามาจับชาวยิว ฉันก็ไม่พูดอะไร เพราะฉันไม่ใช่ยิว
..จนเมื่อเขามาจับฉัน ก็ไม่มีใครเหลืออีกแล้ว ที่จะมาช่วยพูดแทนฉัน
#saveวันเฉลิม ในวันนี้ จึงอาจเป็นการ #saveชีวิตเราเอง ในอนาคต อย่ารอให้ถึงวันที่มันจะสายเกินไป
Illustration by Waragorn Keeranan