เป็นเวลา 30 วันแล้ว นับตั้งแต่ที่ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา หายตัวไป บริเวณหน้าคอนโดฯ ที่พักอาศัย ในกรุงพนมเปญ ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า ระหว่างที่โทรศัพท์คุยกับวันเฉลิมอยู่ ได้ยินเสียงสุดท้ายจากวันเฉลิมว่า “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนสายจะตัดไป
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา #Saveวันเฉลิม ได้ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม เพื่อทวงถามความยุติธรรม และเรียกร้องให้เกิดการตามหาตัววันเฉลิม ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ตอบถึงกรณีนี้ว่า ไม่รู้จักวันเฉลิม แต่ก็ประสานขอความร่วมมืออยู่ และพร้อมจะช่วยเหลือครอบครัว ส่วนดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามในสภาถึงประเด็นนี้ ก็ตอบเช่นกันว่า ไม่รู้จักวันเฉลิม แต่ได้มีการสอบถามไปยังสถานทูต และทราบว่าทางการกัมพูชากำลังสอบสวนเรื่องนี้
แต่ที่ผ่านมา ทางการกัมพูชาเองก็ระบุว่า ยังไม่พบเบาะแส แม้ว่าจะมีความกดดันจากต่างประเทศอย่าง องค์กรสหประชาชาติ (UN) ที่ขอให้กัมพูชาเร่งสอบสวน และรายงานต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 2 สัปดาห์ และผู้นำสภายุโรปเรียกร้องทางการไทยและกัมพูชาเร่งสืบสวน เช่นกัน
ในด้านของสิตานัน สัตย์ศักสิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมเอง ก็ได้เดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ และยื่นจดหมายร้องเรียนให้มีการสอบสวน และติดตามการหายตัวไปของน้องชายมาโดยตลอด ตั้งแต่กมธ.กฎหมาย, กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, อัยการสูงสุด, อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รวมทั้งล่าสุดยังได้ จ้างทนายความชาวกัมพูชาเพื่อเดินเรื่องแจ้งความกับตำรวจขอให้สืบสวนการหายตัวไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินเรื่องในสัปดาห์นี้
นอกจากกระแสแฮชแท็ก และการเรียกร้องในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้น กลุ่มนักศึกษา และนักกิจกรรมเอง ก็ได้มีการจัดกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับวันเฉลิม ตั้งแต่กิจกรรมของ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่นัดรวมตัวกันที่สกายวอร์ก ปทุมวัน, ผูกโบว์สีขาวรั้วเหล็กกั้นโดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล และบริเวณกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งแกนนำของ สนท.เองก็ถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดจากการแขวนโบว์ด้วย เช่นเดียวกับแกนนำนักศึกษา ซึ่งจัดกิจกรรมใคร-สั่ง-อุ้ม ? วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่จังหวัดระยอง ที่ก็ถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน
รวมถึงกิจกรรมยื่นหนังสือ #saveวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา ที่แม้ว่าสถานทูตจะแจ้งว่าไม่รับหนังสือ แต่ภายหลังมี นักกิจกรรมอย่างน้อย 6 คน และตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน. 4 คน ก็ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรมนี้ด้วย
โดยล่าสุด ในวันที่ 2 มิถุนายน กสม. ได้เผยแพร่เนื้อหาในจดหมายที่ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกลับหนังสือของ กสม.ถึงความคืบหน้าของคดีว่า ที่ผ่านมามีการพบกันระหว่างเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กับ รมช.กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ก็ได้ติดตามความคืบหน้าจากทางกัมพูชาเป็นระยะๆ แต่ทางฝ่ายกัมพูชาแจ้งว่า ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด
นับตั้งแต่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 วันเฉลิมนับเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยรายที่ 7 แล้ว ที่มีรายงานการหายตัว ขณะที่มีผู้ลี้ภัยอีก 2 รายที่พบเสียชีวิตแล้ว รวมถึงคนไทยอีกกว่า 100 คนที่ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ
อ้างอิงจาก