คล้อยหลังวันเกิดครบรอบ 28 ปีไม่นาน เขาก็ลุกขึ้นตั้งกระทู้ถามในที่ทำงาน ถึงการหายไปชายไทยคนหนึ่งในต่างแดน
ผลที่ตามมา แม้จะได้รับเสียงชื่นชมต่อคำถามที่ ‘กล้าหาญ’ แต่ก็มีกระแสข่าวโผล่ขึ้นมาทันทีว่า เขากำลังถูกใครบางคนปองร้าย จนเกิดแฮชแท็ก #Saveโรม ขึ้นในโลกทวิตเตอร์กว่า 1 ล้านข้อความ
โรม-รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยอมรับว่ารับรู้ข่าวลือร้ายๆ ที่ว่า พร้อมกับคนทั้งประเทศ “แต่จะให้ผมทำยังไงล่ะ ก็ได้แต่เดินหน้าทำงานต่อไป”
มีบางคนแนะนำให้เขา low profile แต่เขาก็ตั้งคำถามว่า low profile คือยังไง คือการทำหน้าที่น้อยลงหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาก็ไม่เอา ทำสิ่งต่างๆ ต่อไปเหมือนเดิม อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะเป้าหมายของเขาคือต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม หากมัวแต่กลัวก็คงจะทำอะไรได้ไม่มาก
แต่โรมก็พยายามหาวิธีดูแลสวัสดิภาพของตัวเองเท่าที่กำลังของตนพอจะมี ทั้งจะไปไหน-มาไหน ก็แจ้งจุดหมายปลายทางให้มิตรสหายทราบไว้ก่อน พยายามหาเพื่อนร่วมทางไปด้วย เปลี่ยนเส้นทางการไปทำงานไม่ให้ซ้ำ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับชะตากรรมของบ้านเมืองนี้แล้วว่า กระทั่งผู้เป็น ส.ส. ผู้ใช้ชีวิตในสปอตไลต์ ยังจะถูกปองร้ายได้อยู่อีกหรือ หากเป็นเช่นนั้น บางทีหน่วยงานความมั่นคงหรือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็คงจะต้องสังคายนาตัวเองยกใหญ่
สำหรับการทำงานในฐานะผู้แทนราษฎร ทุกวันนี้ โรมยังคงแสดงบทบาทสำคัญบน 3 เวทีหลัก 1.) ในการตั้งกระทู้ถามหรืออภิปรายร่างกฎหมายสำคัญๆ ในสภา 2.) ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งครั้งล่าสุด เขาตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมูลนิธิป่ารอยต่อ และ 3.) ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
The MATTER ขอไปตามติดชีวิตของโรมหนึ่งวัน จากที่พัก ถึงที่ทำงาน-สัปปายะสภาสถาน เพื่อดูว่าชีวิตของนักกิจกรรมผู้เปลี่ยนสถานะเป็นนักการเมืองตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราถามเรื่อง #Saveโรม ไปสองสามครั้ง ทั้งถามไปแบบจริงๆ จังๆ และแอบถาม คำตอบที่เจ้าตัวให้กับเรา กลับเป็นความห่วงใยคนรอบข้างมากกว่า กลัวจะทำให้พรรค เพื่อน ส.ส. มิตรสหายใกล้ตัว ไปจนถึงครอบครัวเดือดร้อน “ชีวิตบนอยู่บนเส้นด้ายอยู่แล้วครับ ตอนนี้ก็อยู่บนเส้นด้ายไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไร”
และก่อนจะนั่งสัมภาษณ์กันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เจ้าตัวก็ยื่นกำกิกเผี่ยงมาให้ โดยเขาสารภาพว่าสิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดเมื่อมาเป็น ส.ส.แล้วก็คือ ต้องพูดให้ง่ายและสั้นลง และเมื่องานของเขาผูดติดกับการพูด ยาอมสมุนไพรที่ทำให้การชุ่มคอ จึงเป็นสิ่งที่เขาพกไว้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่อาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง – ซึ่งการกล้า ‘พูด’ การแสดงออก ทำให้งชายคนนี้ ได้รับทั้งคำชื่นชมและคำข่มขู่
“สังคมไทยมันมีเส้นแห่งความกลัวอะไรบางอย่าง ผมอยากพาทุกคนไปดูให้เห็นกับตา ว่ามีอะไรอยู่ตรงที่เส้นที่ว่านั้น ไม่เช่นนั้นคนไทยก็จะก้าวไม่พ้นความกลัวเสียที”
และนี่ก็คือ บทสนทนากับ ส.ส.หนุ่ม ‘นักต่อจิ๊กซอว์’ วัย 28 ปี ผู้หวังว่าประชาชนจะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อมกับเขา เพื่อพิสูจน์ว่าเส้นแห่งความกลัวนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ไม่ได้
เป็น ส.ส.มาปีกว่าแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ก็ไม่ค่อยต่างจากเดิมหรอก ถ้าเอาชีวิตนะ ภาระหน้าที่มันเปลี่ยน แต่เชิงแรงกดดันมันคล้ายเดิม ผมแยกย่อยแล้วกัน แรงกดดันสมัยก่อนชีวิตเราก็อยู่บนเส้นด้าย วันนี้ก็ยังอยู่บนเส้นด้ายอยู่ ในมุมนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยน เป็นสภาพที่เราต้องระมัดระวังตัวหลายๆ เรื่อง เราไปไหนมาไหนก็หลีกเลี่ยงใช้เส้นทางเดิม หรือจะไปไหนก็บอกกับเพื่อน บอกกับแฟนว่า จะไปที่นี่ๆ น้า เพื่อให้เขารู้ว่าเราจะอยู่ตรงไหน ดังนั้นชีวิตแบบนี้มันก็คล้ายเดิม
แต่สิ่งที่มันจะต่างจากเดิมคือเราถูกคาดหวังมากขึ้น เราเป็นนักการเมืองแล้วตอนที่เราเข้ามาแรกๆ คนก็ค่อนขอดว่า จะเป็นนักการเมืองได้เหรอ ชีวิตเป็น activist มาตลอด นึกภาพไม่ออกว่า รังสิมันต์ โรมจะมาพูดเรื่องปัญหาของชาวบ้านได้ ซึ่งผมก็พยายามพิสูจน์ตัวเอง ก็พยายามทำ และพอพยายามทำคนจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่าทำได้ดีพอสมควร เขาก็คาดหวัง ด้านหนึ่งก็มีแรงกดดัน เพราะถ้าเราไม่ทำ ก็นึกไม่ออกว่าจะมีใครทำแล้ว มันก็เป็นมุมที่ผมคิดว่า โอเค มันก็ถูกคาดหวัง ถ้าเทียบก็ต่างจากสมัยเป็น activist ที่ไม่มีใครหวังว่าเราจะมาช่วยชาวบ้าน ความคาดหวังสูงสุดก็คือ โอเคถ้าใครจับเพื่อนเรา เราก็จะเขียนป้าย free เพื่อนเรา แต่ถ้าเราเป็นกรรมาธิการ ก็ต้องไปเชิญทหาร ตำรวจ คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาซักถามว่า เห้ย เกิดอะไรขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นการปกป้องพื้นที่เสรีภาพ หรือถ้าเป็นงานชาวบ้าน เราก็อาจจะพูดเพื่อให้ภาครัฐมาช่วยแก้ปัญหา
ดังนั้นมันก็มิติที่ผมคิดว่า ก็สนุกดีนะ สนุก แตกต่างจากเดิม และแต่ละวันของผมก็ไม่ใช่วันที่น่าเบื่อ เอาง่ายๆ เลยนะ วันหนึ่ง ผมก็กำลังเตรียมข้อมูลเรื่องงบประมาณปี พ.ศ.2564 ปรากฎว่าตื่นมาอีกที ตู้ม เจอระเบิดลูกใหญ่ ผมก็ ตายแล้ว #Saveโรม
ดังนั้นแต่ละวันของผม มันจึงมีเรื่องที่น่าตื่นเต้นตลอดเวลา มีเรื่องทั้งที่ให้ดอกไม้และนิวเคลียร์ ไม่ใช่ก้อนอิฐ ก้อนอิฐบางทีเล็กไป มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ ก็เป็นชีวิตที่สนุกนะ มีสีสัน และผมไม่มีเวลา ไม่มีวันหยุด ก็เคยพยายามหยุดบ้าง แต่ตลอดหนึ่งปีก็ทำไม่สำเร็จเท่าไร
ตอนที่กระแส #Saveโรม มา มีสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านั้นไหม หรือรู้พร้อมทุกคน
มีนักข่าวต่างชาติที่โพสต์เรื่องนี้ ผมก็เห็นพร้อมกับทุกคน บางคนก็ถามว่า มีสัญญาณมาก่อนไหม ผมก็บอกว่าผมรู้พร้อมกับประชาชนอีกล้านคนทั่วประเทศ แล้วจะให้ผมทำอะไรล่ะ มันทำให้เรามานั่งนึกว่า เราก็ทำงาน กมธ.กฎหมาย เราก็ช่วยคนเยอะนะ พยายามแก้ปัญหาให้หลายคนมาก แต่พอตัวเองล่ะ จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการทำอะไรแหรอ มันก็พูดยาก ผมก็ได้แต่ โอเค เราเดินหน้าต่อ ทำงาน
มีบางคนบอกว่า เห้ย เราต้อง low profile หรือเปล่า ผมก็คิดเรื่องนี้ แล้วจะให้เรา low profile ยังไง ถ้า low profile หมายถึงเราต้องปฏิบัติหน้าที่น้อยลงหรือเปล่า ก็เลยไม่เอาดีกว่า ทำต่อไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มันก็เป็นสิ่งที่ก็ต้องเจอ
เพียงแต่ว่าผมโชคดี คือพอเกิดเหตุการณ์นั้น หลายๆ คนก็เป็นห่วง #Saveโรม หรือคณะกรรมาธิการบอกว่า มันต้องช่วยกันนะ ก่อนจะมีมติส่งเรื่องให้รัฐบาลช่วยคุ้มครองผม ผมว่ามันช่วยได้เยอะ ใครที่คิดจะทำอะไรอยู่ ก็ต้องคิดให้ดี ไม่ใช่ว่าเพราะผมมีอำนาจอะไรหรอก ผมไม่มี มันแค่แสดงให้เห็นว่าประชาชนกำลังสนับสนุนงานที่ผมทำ
เรื่องนี้ถือว่าหนักสุดไหมในชีวิตเรา
มีหนักกว่านี้เยอะ ติดคุกหนักกว่านี้ ตอนถูกเอาไปอยู่ในเรือนจำ ลองนึกสภาพ ผมจบนิติศาสตร์นะ คนนึกว่าจะไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ แต่ผมกลายเป็น น.ช. (นักโทษชาย) ผมก็เป็นชีวิตที่หนักที่สุดแล้ว
ก่อนหน้านี้ เราจินตนาการเรือนจำว่าอะไร คิดว่าเป็นพื้นที่ที่น่ากลัว ผมก็เป็นห่วงว่าจะโดนอะไรในคุกหรือเปล่า มันก็คิดไปต่างๆ นานา เพราะเราไม่รู้จักมัน จินตนาการแต่เรื่องร้ายๆ มีแต่ความกลัว พอไปอยู่ในเรือนจำ แรกๆ ผมก็ปรับตัวได้ และไม่คิดว่าเป็นที่ๆ น่ากลัวขนาดนั้น ดังนั้นพอไปอยู่รอบที่สอง ที่สาม ก็เริ่มชิลแล้ว แต่รอบแรก ช่วง 3 วันแรกเป็นช่วงที่เราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ระบบ ไม่รู้จักใคร ไม่รู้ว่าคนที่เข้ามาคุยกับเรามีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือเปล่า แต่พอเราปรับตัวได้ ผมก็เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับเพื่อนๆ นักโทษ ซึ่งเขาก็ไม่เชื่อผมหรอก ผมจะบอกว่า คุณก็ไปหาทนาย คดีนี้มันน่าจะสู้ได้นะ แค่หาทนาย แล้วคุณก็จะได้รับความยุติธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่มีใครเชื่อผมเลย ไม่เอาทนาย อยากให้คดีจบๆ ไป จบแล้วไม่อุทธรณ์ด้วยนะ เพราะอุทธรณ์ ฎีกา เดี๋ยวยาวอีก ก็รับสารภาพซะ บางคนบอกว่าเขาไม่ได้ทำ เขาถูกใส่ร้าย เขาเป็นแพะ แต่สุดท้ายเขากลับเดินมาบอกผมว่า โอเค เขาขอรับสารภาพ เพราะถ้าไม่รับสารภาพ หนักแน่
100% ที่คุยกับผมออกทางนี้หมด มันเลยกลายเป็นคำพูดว่า “สู้ ติดแน่ แพ้ ติดนาน สารภาพ ติดพอประมาณ” อันนี้คือคำพูดที่เขาพูดกันในเรือนจำ มันก็เลยทำให้ผมได้อีกประสบการณ์ชีวิตว่า กระบวนการยุติธรรม ถ้าคุณไม่ทำให้คนได้โอกาสออกมาสู้คดีข้างนอก เขาจะออกด้วยประโยคเมื่อกี้ คือสารภาพผิดพอประมาณ แล้วก็ไปโทษว่าเป็นบาปในชาติที่แล้ว ทำให้ต้องมาชดใช้ในชาตินี้ แต่มันทำให้ผมคิดว่า บาปที่แท้จริง คือเรายังออกแบบกระบวนการยุติธรรมยังไม่ดีพอ มันทำให้สุดท้ายต้องมีคนตกอยู่ในชะตากรรมแบบนี้
ในฐานะเรียนกฎหมายมา พอเจอสภาพข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ เรารู้สึกแย่ไหม
ผมเฟลก่อนจะไปอยู่ในเรือนจำซะอีก คือมันจะไม่เฟลได้ยังไง ผมเรียนกฎหมายนะ ที่ที่สอนว่า คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ คำสั่งหัวหน้า คสช. จะต้องไม่ใช่กฎหมาย เพราะประเทศเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย มันจำเป็นจะต้องมีกลไกที่ทำให้ประชาชนยอมรับว่า นี่คือกฎหมาย คือผ่านกลไกสภาที่มาจากผู้แทนราษฎร
แต่ข้อเท็จจริงคือ รัฐประหารปุ๊บ คำสั่งทั้งหมดถูกยอมรับในวงการผู้พิพากษา ในวงการอัยการ ทุกคนยอมรับหมด กระทั่งอาจารย์-นักวิชาการหลายคน ก็ไม่ออกมาขับเคลื่อน หรือพูดให้สังคมเห็นว่า เรายอมรับกลไกแบบนี้ไม่ได้ ผมผิดหวังตั้งแต่ตอนนั้น เพียงแต่ผมก็เข้าใจ
คือถึงที่สุด ในการเรียนหนังสือ มันก็เป็นพรมแดนที่ค่อนข้างปลอดภัย และทำให้หลายคนได้พูดในสิ่งที่เขาฝัน สิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาคิด แต่ถ้าเมื่อไรเขาต้องพูดข้างนอก แล้วมันมีความอันตรายบางอย่าง เขาก็อาจจะไม่พูด ซึ่งเราก็โทษเขาไม่ได้หรอก เพราะเขาก็คงอยากมีชีวิตที่ไม่มีตำรวจทหารมารออยู๋หน้าบ้าน
โอเค ผมผิดหวัง แต่ก็ move on มันต้องมีใครสักคนทำหน้าที่ที่นักวิชาการไม่กล้าพูด บทบาทของผม นอกจากการเป็น activist ที่ขับเคลื่อนการเมือง ผมก็พยายามที่จะสอดแทรกเนื้อหาการพูดว่าทำไมเราถึงไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่เราชี้หน้าเขาว่าเป็นเผด็จการ แต่เป็นว่า ถ้าสังคมไทยปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นต่อไป มันไม่นำไปสู่อะไรเลย มันเป็นการทำลายระบบกฎหมาย ระบบยุติธรรม
ตัวตนโรมเป็นคนจริงจังตลอดเวลาไหม
จริงจังไหม พี่แมน (ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมที่ตอนนี้มาช่วยงานโรมในสภา – แมนตอบ มาก) อันนี้อาจจะต้องถามคนอื่น
โรมคิดเรื่องงานตลอดเวลา หรือเราแบ่งเวลา ช่วงนี้ทำงาน ช่วงนี้หยุด
ผมไม่แน่ใจว่าผมคิดเรื่องงานตลอดเวลาไหม หรือแบ่งพรมแดนงานกับการผ่อนคลายยังไง บางทีงานคือความผ่อนคลายอย่างหนึ่ง นี่คือ workaholic หรือเปล่า เ คือผมสนุกกับงาน ผมรักในงานที่ผมทำ ผมรู้สึกว่างานที่ผมทำเป็นงานที่มีเป้าหมาย และเป้าหมายใหญ่ที่ผมคิดอยู่ตลอดเวลา ผมเคยให้สัมภาษณ์ในวันแรกที่ผมไปรับหนังสือรับรองการเป็น ส.ส. จาก กกต. ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้รัฐประหารมันเกิด มันก็เกิดจากการที่เรารู้สึกไม่เชื่อมั่นในระบบที่มีอยู่ หนึ่งในนั้นคือสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นผมอยากจะให้ประชาชนเขากลับมาเชื่อมั่นในคนกลุ่มนี้อีกครั้ง
เราอยู่ในงานที่เราสนุกกับงาน มันก็ทำให้เรา โอเค ไม่ได้เครียดขนาดนั้น อาจจะเครียดก็ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อ อันนั้นอ่ะเครียด เพราะเตรียมข้อมูลเยอะ และเวลาที่เราเริ่มทำ 3 เดือน มันไม่ได้เยอะเลย มันเลยทำให้เรากดดันตัวเอง
แน่นอนผมก็มีเพื่อน คือทีมงานผม เรารู้จักกันมานานตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา บทสนทนาที่เราคุย ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง แต่มีเรื่องหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องฟุตบอล ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เวลาการทำงานมันก็เหลื่อมกันนิดๆ แล้วแต่ใครจะชิงหลับก่อน เมื่อก่อนผมเป็นคนนอนดึก ตี 2-3 แต่ทุกวันนี้ไม่เกี่ยงเที่ยงคืนครึ่ง แต่ส่วนใหญ่ห้าทุ่มครึ่งก็สลบแล้ว ก่อนจะตื่นสัก 7-8 โมง ขับรถไปสภา ในแต่ละวันกว่าจะเสร็จงานก็ประมาณสี่ทุ่ม
ดูๆ แล้วไม่น่าเป็นวิถีชีวิตแบบ activist สมัยก่อนเลย
สมัยก่อน 4 ทุ่มก็อยู่ร้านเหล้า คือ activist มันจะเป็นชีวิตแบบ เราเน้นเพื่อนฝูง ความสุขของเราคือการได้สนทนาปรัชญาการเมือง ผมยังจำได้วันที่คุยกับเพื่อนๆ สมัยเป็นนักศึกษา สมัยนั้นเราจะคุยเรื่องโสเครตีส คานต์ แล้วโยงกลับมาถึงการทำกิจกรรมนักศึกษา มันมีอะไรที่สนุกดี แต่พอเป็นนักการเมืองเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ทุกวันนี้ใครจะนัดอะไร โดยเฉพาะกลางคืน ผมจะบอกว่า โอ้ย ตายแล้ว ผมไปไม่ได้ พรุ่งนี้ทำงานเช้า นัดได้กลางคืนก็เย็นวันศุกร์ คือเสาร์-อาทิตย์ นักการเมืองจะไม่มีอะไรให้ทำมา ดังนั้น ใครจะนัดอะไร ก็วันศุกร์นะครับ (หัวเราะ)
การเปลี่ยนจาก activist มาเป็นนักการเมือง อะไรคือสิ่งที่ขัดใจหรือต้องปรับตัวเยอะที่สุด
จริงๆ ผมไม่รู้สึกว่าต้องปรับตัวอะไรขนาดนั้น คือเวลามันผ่านไป เราก็จะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ถ้าจะมีอันไหนที่ต้องปรับตัวให้มากที่สุด คือเวลาจะพูดอะไร เราอาจจะต้องพูดให้สั้นลง กระชับมากขึ้น ให้เข้าใจมากขึ้น อาจจะมีอันนี้แหละที่ต้องปรับมากที่สุด เพราะเวลาเราอภิปรายในสภา โจทย์คือเราจะพูดยังไงให้ประชาชนเข้าใจ คือหลายเรื่องมันเข้าใจยาก
อีกอันหนึ่งที่ต้องปรับตัว คือการเท่าทันในทางการเมือง เพราะสมมุติ เราประชุมวิปฝ่ายค้าน มันก็จะมีมุมการเมืองที่ฝั่งรัฐบาลเสนออะไรสักอย่างมา เราก็ต้องคิดแล้วว่าที่เขาเสนอมาแบบนี้ เขาต้องการอะไร หรือบางเรื่องเรายื่นญัตติไป รัฐบาลเตะถ่วง เราก็จะมีกลไกเจรจาผ่านวิป ซึ่งถ้าเราเจรจาอย่างไม่ฉลาด สุดท้ายเราก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนงานในสภาได้เลย โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว อย่างกองทัพ สิทธิมนุษยชน
ดังนั้นมันก็เป็นการชิงไหวชิงพริบกัน เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนที่เลือกเรามา
สมัยเป็นนักกิจกรรม เราจะโจมตีคนในสภา คนในรัฐบาล พอเรามาเป็นนักการเมืองเสียเอง มันทำให้ราเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น หรือทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้นไหม
เราเข้าใจมากขึ้นนะ คือตอนที่เป็น activist เวลาเรามองนักการเมืองหลายคนในสภา เราจะมองเขาเลวร้ายมาก เป็นมาเฟีย เป็นเจ้าพ่อ อาจจะเคยฆ่าคน ซึ่งก็จินตนาการไม่ออกว่าถ้าต้องไปคุยกับคนเหล่านี้ เขาอาจจะข่มขู่เรา แต่พอเจอกันจริงๆ กลายเป็นว่า ผมเห็นด้วยกับคุณนะ ผมสนับสนุนกับสิ่งที่คนทำ แต่พออยู่ตรงนี้ก็ทำอะไรได้ไม่มากนะ แต่โอเค ถ้าต้องโหวตอะไรสวนกับรัฐบาล จะไปเข้าห้องน้ำให้ (หัวเราะ) มันมีแบบนี้เข้ามา ก็ทำให้ดูเหมือนเขามีชีวิตจิตใจมากขึ้น โอเคตัวตนจริงๆ เขาอาจจะเลวร้ายมากก็ได้ แต่เขาก็มีชีวิตจิตใจ และเริ่มเห็นแล้วว่าประเทศมันแย่จริงๆ
หลายคนที่เราอาจจะเคยตราหน้าว่าไม่ควรจะเป็นนักการเมืองต่อไป แต่เขาก็เดินมาบอกว่า เสียดายที่คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) อาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) ไม่ได้เข้าสภา คือมันมีมุมแบบนี้ ที่เขาก็รู้ว่าอะไรก็เป็นอะไร แต่เราก็ต้องยอมรับว่า พอบ้านเมืองของเรากลไกเป็นแบบนี้ สภาพสังคมเป็นแบบนี้ คุณก็มีแค่ 2 ทาง คุณอยู่ให้นาน แต่ประเทศไม่เปลี่ยน หรือคุณอยู่นานหรือเปล่าไม่รู้ แต่ประเทศอาจจะเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเลือกแบบแรก แต่ผมเลือกแบบหลัง
ผมไม่รู้หรอกว่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้อีกนานไหม แต่วันนี้ก็ขอทำให้ดีที่สุด ทำให้คนเสียดาย ดีกว่าทำให้คนเห็นเราทุกวัน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่า เรามีความหมายอะไร
จากเคลื่อนทำกิจกรรม ใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ แต่ต้องมาใส่สูทผูกเนคไท เดิมเคยคิดว่าต้องทำงานที่ใส่ชุดแบบนี้ไหม
เคยคิดครับ เพราะเมื่อก่อนผมคิดว่าอยากเป็นอาจารย์กฎหมายซึ่งก็แต่งตัวประมาณเนี้ย ผมก็มีความฝันว่าอยากใส่สูทผูกเนคไท แต่คิดว่าจะเป็นอาจารย์ ไม่ได้ป็น ส.ส. หรือว่าไปเป็นทนายความ คือตอนเรียนปี 4 ก็คิดว่าอยากจะวางมือ activist ไปทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แล้วก็สอบเป็นอาจารย์ แต่ปรากฎว่า ความฝันก็พังทลายเพราะถูกจับกุมและดำเนินคดี (คดีต่อต้าน คสช. ในวาระรัฐประหารครบรอบ 1 ปี เมื่อปี พ.ศ.2558) ซึ่งมันก็ทำให้เรา ต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด จนท้ายที่สุด ผ่านไปนาน จนเราก็ไม่คิดว่ามันจะนานขนาดนั้นนะ เราก็โอเค งั้นทำต่อ
สำหรับผมการมาเป็นนักการเมือง มันเป็นเอพิโซด 2 ไม่สิ เอพิโซด เล็กไป เป็นซีซั่น 2 สำหรับการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งซีซั่นแรก คุณก็เจอกับรังสิมันต์ โรม ที่เป็นนักกิจกรรม ซีซั่น 2 มาเป็น ส.ส. ซีซั่น 3 ก็อาจจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหม (หัวเราะ) อันนี้ล้อเล่นนะ มีคนถามผมเยอะ อยากเป็นอะไรถ้าเป็นรัฐมนตรี ผมบอกว่า ขอเป็นกลาโหมละกัน ผมอยากทำให้งานของผมสำเร็จ เพียงแต่อายุผมยังไม่ถึง ตอนนี้ 28 ปี จะเป็นรัฐมนตรีได้ต้อง 35 ปีขึ้นไป ..ปรากฎว่าซีซั่น 3 อยู่ในเรือนจำ (หัวเราะยาว)
ประเมินตัวเองในฐานะ ส.ส. ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่าผมคาดหวังกับตัวเองเยอะ ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส.ที่มี กับเกมการเมืองที่มีอยู่ มันก็ไม่ง่ายที่เราจะขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรแบบที่เราคาดหวังได้
ดังนั้นส่วนตัวก็ให้คะแนนตัวเองกลางๆ ไม่ได้ดีมาก แต่ผมคิดว่า เราก็เป็นหลักประกันอันหนึ่งให้กับคนที่อยากจะทำเรื่อง human right หรือคนที่พยายามพูด สร้างความรู้สึกให้กับประชาชนว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงได้ ผมก็พยายามรักษาพื้นที่ตรงนั้น แล้วก็คิดว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผมก็ทำสำเร็จระดับหนึ่ง อย่างน้อยๆ เราก็ทำให้ฝั่งเจ้าหน้าที่รู้สึกว่าถ้าคุณไปละเมิดนักกิจกรรม ไปละเมิดประชาชนที่พูดความจริง คุณก็จะต้องเจอกับรังสิมันต์ โรม มันก็ทำให้เจ้าหน้าที่เขาไม่ค่อยกล้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง แต่มันก็ทำให้ฝ่ายรัฐรู้ว่าตัวเองอาจจะถูกกดดัน หรือเป็นต้นเหตุที่ทำให้เจ้านายของตัวเองถูกตำหนิได้ ผมว่าภาพแบบนี้ เมื่อเทียบกับสมัย คสช. อาจจะดูดีกว่า แต่ถ้าถามว่าสอบผ่านไหม ผมคิดว่าในเมื่อสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็อาจจะยังพูดว่าสอบผ่านลำบาก
มีคนเคยทักไหมว่า โรมชอบเล่นเกมเสี่ยง ตั้งแต่สมัยเป็นนักกิจกรรมมาจนถึงเป็น ส.ส. ที่พูดเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อ ไปจนถึงวันเฉลิม สมมุติมีคนพูดแบบนี้ จะอธิบายกับเขายังไง
(ถอนหายใจ) คือตอนนี้ต้องเข้าใจว่า ในสังคมไทย มันเหมือน ถ้าพูดแบบในอดีตนะ โลกมันแบน แล้วมันมีสุดขอบโลกอยู่ ถ้าไปถึงตรงนั้นมันจะตก สังคมไทยมันมีแบบนั้น แน่นอนมันไม่ใช่ในลักษณะกายภาพ แต่มันเป็นเส้นของความกลัว ที่เราคิดว่า คนที่ไปแตะตรงนั้นอาจจะตก แล้วก็อาจจะหายไปเลย ผมก็เองก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามไปแตะตรงนั้น เราต้องเข้าใจว่าเส้นตรงนั้น เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราไม่รู้ว่าถ้าไปแตะแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เรากลัว แล้วก็จินตนาการว่า คงเป็นเส้นที่ไม่ควรจะไป เพราะถ้าไปแล้วมันคงจะเสี่ยงมาก
ในวันที่ผมพยายามแตะเส้นนี้ ก็จะมีคนทักมาหาผมว่า พูดดีจังเลย เก่งจังเลย กล้าหาญจังเลย แต่อีกข้อความหนึ่งก็บอกว่า ดูแลตัวเองด้วยนะ หาบอดี้การ์ดมาหรือยัง ซื้อรถหุ้มเกราะหรือยัง ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมันกลัวจริงๆ
ผมคิดว่าเราอยู่ในสภาวะแบบนี้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องไปดูให้เห็นกับตาว่า จริงๆ แล้ว สุดขอบโลกที่เราพูดกัน จริงๆ มันอาจจะไม่มีอะไรก็ได้ เพียงแต่ถ้ามันไม่มีใครไปดูให้เห็น เราก็จะอยู่ในความกลัวนี้ตลอดไป
แล้วหลายเรื่อง หลายปัญหา พอมันเกิดขึ้นเราก็ซุกไว้ตรงนั้น มีใครสักคนหายไป เราก็บอกว่า เห้ย คนที่ทำเขาหนีไปอยู่สุดขอบโลกแล้วนะ เราอย่าไปตาม เดี๋ยวเราจะอยู่ในอันตราย เราจะอยู่แบบนี้อีกนานแค่ไหน ผมขออาสา ผมขออาสาจากพี่น้องประชาชนว่าจะไปดูสุดขอบโลกนั้น ผมจะไปดูให้เห็นว่าตรงนั้นไม่มีอะไร หรือถ้าผู้ร้ายอยู่ตรงนั้นจะลากตัวมา แล้วเอามาให้เห็นว่าคนๆ นี้แหละ คือคนที่อุ้มคนในสังคมของเรา แต่แน่นอน เมื่อผมไปตรงนั้น บางทีตาของผมอาจพร่าเลือนนะ บางทีผมมีบาดแผลกลับมานะ ยังไงก็ช่วยกันประคอง ช่วยกันจับมือหน่อย แต่ผมขออาสา ที่จะไปดูสุดขอบโลกให้เห็นกับตาว่ามันมีอะไรหรือเปล่า
บางคนอาจจะบอกว่า โรมเป็น ส.ส.มาหนึ่งปี ทำไมไม่ทำทุกอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำไมต้องรีบร้อนทำทุกอย่างในเวลารวดเร็ว
จริงๆ ผมก็ไม่ได้ทำอะไรนะ ผมก็อยู่เฉยๆ แล้วจู่ๆ คุณวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ลี้ภัยอยู่ที่กัมพูชา) ก็ถูกพาตัวไป ผมไม่ได้ทำให้คุณวันเฉลิมหาย คนที่ทำให้หายคือคนอื่น ซึ่งบางคนบอกว่า อาจจะเกี่ยวพันกับรัฐ ผมก็แค่ทำหน้าที่ของผม เป็นคนที่อยู่แนวหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าผมไม่ทำอะไรเลย อะไรคือความยุติธรรมสำหรับครอบครัวคุณวันเฉลิม แล้วถ้าผมทำช้า มันก็อาจจะหมายถึงชีวิตของคนๆ นั้นหรือเปล่า ผมไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะมีทางเลือกขนาดนั้น
งานที่ผมทำ มันเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานาน ก่อนคุณวันเฉลิมก็มีอีกคน มีอีกหลายคนที่ถูกพาตัวไป ซึ่งเราไม่ได้พูด เราไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มันก็เลยเป็นคิวของคุณวันเฉลิม แล้วถ้าเรายังปล่อยไปอีก มันก็จะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ อีกเรื่อยๆ
ผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ กว่าประเทศอื่นๆ เขาจะได้มาซึ่งเสรีภาพ มันก็ผ่านประสบการณ์ที่แลกมาด้วยน้ำตาและความสูญเสียมากมาย ซึ่งผมก็ไม่อยากให้เกิดแบบนี้กับเราหรอก แต่ในเมื่อผู้มีอำนาจเขาไม่ยอม แล้วจะให้เราทำอะไร ส่วนตัวผมอยากจะทำในสิ่งที่ ผมไม่รู้หรอกว่า ผมจะเป็น ส.ส.นานแค่ไหน ผมไม่คิดหรอกว่าเป็น ส.ส.แล้วจะต้องอยู่สิบปี ยี่สิบปี เป็น ส.ส.หลายสมัย เพื่อจะได้เป็นปูชนียบุคคล ผมไม่ได้มีความฝันแบบนั้น ผมคิดว่าการเข้ามาเป็น ส.ส. เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคม ผมจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด แม้ว่ามันอาจจะเสี่ยงบ้างก็ตาม
อย่างเรื่อง ‘มูลนิธิป่ารอยต่อ’ หลายคนก็รู้สึกว่า คุณประวิตร (วงษ์สุวรรณ) เป็นคนที่กว้างขวาง ทำไมโรมถึงไปจับเรื่องนี้
เอาจริงๆ นะ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว ไปดูข่าวหนังสือพิมพ์ก็จะเห็นการพาดหัวข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าคุณประวิตรเป็นคนกว้างขวาง ผมก็แค่พยายามต่อจิ๊กซอว์ให้เห็น ซึ่งความน่าสะพรึงมันอยู่ตรงนั้นแหละว่า มันทำให้เห็นภาพว่า กลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดอยู่เขาเป็นพวกเดียวกันหมดเลย ก็ทำให้น่าตั้งคำถามต่อไปว่า เขากำลังกินรวบประเทศอยู่หรือเปล่า แล้วลูกหลานของเราในอนาคตจะอยู่ยังไง ถ้าทรัพยากรและโอกาสต่างๆ ไปอยู่กับคนแค่หยิบมือเดียว
อย่างผมเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างหน่อย ความฝันก็คือทำงาน มีเงินเดือน ถ้ามีลูก ก็คิดว่าลูกจะไม่ลำบากแบบเรา จะได้เลื่อนฐานะ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ถ้าสังคมมันโดนผูกขาดให้เป็นของคนไม่กี่กลุ่ม พวกเราไม่มีโอกาสจะฝันด้วยซ้ำไป นี่ไม่ใช่สังคมแบบที่มันน่าอยู่
พอผมต่อจิ๊กซอว์เสร็จ รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง ใครเป็นเจ้าของคลับ ก็มีคนมาเตือนว่า ผมอาจจะโดนอุ้ม คือตั้งแต่ผมเป็นนักการเมืองก็มีคนบอกว่าจะถูกอุ้ม 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกครั้งก็ต้องตั้งกระทู้ถามเรื่องวันเฉลิม
เหตุผลต้นทุนของการเป็น ‘นักต่อจิ๊กซอว์’ ในสังคมไทย มันถึงได้สูงถึงขนาดมีคำเตือนว่าจะถูกอุ้ม หรือมีคดีความตามมา
เพราะภาพที่ผมฉายให้เห็นมันไม่เคยถูกทำลาย คนที่อุ้มคนอื่น ก็ไม่เคยถูกจับกุมสักที คนที่ใช้โอกาสจากการเป็นนักการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีสักที
เราอยู่ในสภาวะที่การเมืองมันไม่ปกติเลย มันจึงไม่เปลกที่ต้นทุนของการพูดความจริงมันจะสูงขนาดนี้ เพราะอีกฝ่าย เขาไม่ได้จ้องมองเราในวิธีคิดแบบปกติ เขาก็อยากจะทำลายเรา อยากจะทำให้เราสูญพันธุ์ไป ซึ่งเขาก็ทำทุกหนทาง ทั้งใช้ IO มาโจมตีผ่านโซเชียลมีเดีย ใช้วิธีข่มขู่คุกคาม ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย หรือเอาเงินมาล่อ เขาทำทุกทางให้เราไม่มีที่ยืนในสังคมไทย
พูดถึงเรื่องคดีความ โรมลงประวัติตัวเองไว้ในเว็บไซต์สภา เรื่องคดีความที่ต่างๆ สำหรับตัวโรมเอง คดีที่มีถือเป็นบาดแผลหรือเหรียญตราเกียรติยศ
ปกติคนก็จะลงว่า เขาได้เครื่องราชย์อะไร ได้ประกาศนียบัตรอะไร ซึ่งมันก็คงเป็นเรื่องที่บอกถึงประสบการณ์เขา สำหรับผมการมีคดีความ มันก็บ่งบอกถึงประสบการณ์ของผมว่าเคยผ่านอะไรมา สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ ผมไม่ใช่คนที่เป็นนักการเมือง ‘หน้าใหม่’ ขนาดนั้น ผมเป็น ‘หน้าเดิม’ นั่นแหล่ะ เพียงแต่ทำอีกแบบ ผมเล่นการเมืองตั้งแต่อายุ 18 เพื่อต่อต้าน SOTUS ในมหาวิทยาลัย แล้วผมก็ทำมาเรื่อยๆๆๆ จนวันนี้ผมเป็น ส.ส. ผมมีประสบการณ์ ผ่านการถูกกลั่นแกล้งมาเยอะแยะมากมาย แล้วผมก็ ผมภาคภูมิใจกับมัน เพราะผมสามารถที่จะพูดได้ว่า การที่ผมโดนดำเนินคดี เพราะผมได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วในสังคม
เราเห็นคนใหญ่คนโตในประเทศพูดกันเยอะว่า นักศึกษาอย่างไปเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย เดี๋ยวจะ ‘เสียประวัติ’ แต่สำหรับผมนี่ไม่ใช่การเสียประวัติ นี่คือการได้ประวัติ เป็นเหรียญเชิดชูเกียรติ การถูกดำเนินคดีในยุคเผด็จการ ไม่ใช่ความน่าละอาย คนที่ดำเนินคดีกับเราต่างหากที่น่าละอาย ดังนั้นการมีคดีอยู่สำหรับผมมันแสดงให้เห็นถึงความน่าละอายของผู้มีอำนาจที่ดำเนินคดีกับผมต่างหาก
เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ครอบครัวเป็นห่วงตลอดเวลา ที่การออกมาทำกิจกรรม หรือกระทั่งเป็น ส.ส.ก็ตาม ตอนนี้สถานการณ์ที่บ้านเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ผมกับที่บ้านมีความเห็นไม่ค่อยตรงกันตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งผมก็สามารถทำการให้ที่บ้านเชื่อแบบนี้ได้แล้ว ผมสำเร็จแล้ว ทั้งแม่ ทั้งยาย ทุกวันนี้ผม ‘จัดตั้ง’ พวกเขาเรียบร้อยแล้ว เมื่อที่บ้านไม่ได้ยืนอยู่ตรงข้ามกับเรา หลายเรื่องมันดีขึ้นนะ เอาล่ะ เขาอาจจะยังเป็นห่วงอยู่ แต่ก็ทำให้เขาเข้าใจแล้วว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้
ซึ่งถ้าเอาช่วงเวลาที่เขาเป็นห่วงเรามากที่สุด คือกรณีคุณวันเฉลิม เขาก็พูดกับเราตรงๆ ว่า นอนไม่หลับ เครียดที่ผมไปตั้งคำถามแบบนั้น ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นด้วย แค่เป็นห่วงว่าที่ผมทำอาจจะเดือดร้อน
แต่วันที่ผมเป็นนักกิจกรรมมันต่างออกไป เขาเครียด คิดว่าเราสู้เพื่อใครบางคนหรือเปล่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ท้ายที่สุด เขาเริ่มเห็นว่าที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพื่อใคร ไม่ได้มีเงินอยู่ที่บ้านมากมายมหาศาล เราไม่ได้ทำการเมืองจนนำไปสู่การได้ประโยชน์ของใครบางคน เขาก็เริ่มเปิดใจรับฟังเรา จนวันหนึ่งผมก็เห็นยายผมอายุเกือบ 80 ปี นอนเอกเขนกดูคุณธนาธรให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า เห้ย โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่าน้อยๆ โลกของผมมันเปลี่ยนไปแล้ว แล้วจากวันนั้น ผมก็เริ่มเห็นเพื่อนที่ครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้สนใจการเมือง หันมาสนใจการเมือง เห็นคนรุ่นใหม่เขาคุยเรื่องการเมืองในทวิตเตอร์
คือผมรู้สึกว่า ผมเห็นโลกเปลี่ยนที่แม้กระทั่งผมอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ และการเปลี่ยนแปลงนี้ด้านหนึ่งทำให้เรารู้ตัวว่า เรามาถูกทาง แม้จะเจอเสียงวิจารณ์ เจอการค่อนขอด แต่เรากำลังสร้างโลกใบใหม่ให้ทุกๆ คนมีโอกาส ให้เห็นสังคมประชาธิปไตย ให้ทุกๆ คนมีสิทธิ์ฝันได้
Photo by Watcharapol Saisongkhroh & Asadawut Boonlitsak
Illustration by Waragorn Keeranan