ไม่รู้ว่า ‘ความสุข’ จะเป็นสิ่งที่ถูกพรากไป หรือถูกนำมาคืนได้จริงหรือไม่ แต่ช่วงเวลาแห่งการคืนความสุขหลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ครบรอบ 2 ปีไปเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่าตกลง “นี่ฉันมีความสุขจนล้นเอ่อจริงหรือเปล่า” The Matter อาสาพาไปดูผลการสรุปนโยบายสุดยิ่งใหญ่เนื่องในโอกาสครบ 2 ปี คสช.
ไม่มีรัฐสภาก็ไม่เป็นไร กฎหมายและยุติธรรมฉับไว เวลาน้อยแต่ร่างกฎหมายได้มาก
การจากไปของรัฐสภาอาจทำให้หลายๆ คนวิตกกังวลว่าใครจะทำหน้าที่ร่างกฎหมายกันล่ะ? คสช.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะมานั่งเลือกตั้งโดยประชาชนก็ไม่ทันใจ คสช. จึงแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติมาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายแทน ส.ส. และ ส.ว.
นับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2557 เป็นต้นมา 51 ฉบับคือจำนวนร่างพระราชบัญญัติ สำคัญๆ ที่สนช.ผลักดันให้ส่วนราชการเสนอเป็นกฎหมาย และ 166 ฉบับคือจำนวนร่างพระราชบัญญัติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างขึ้น และได้รับการเห็นชอบออกมาเป็นกฎหมาย เห็นไหมว่ามีกฎหมายผ่าน สนช.อย่างรวดเร็วจนประชาชนอย่างเราๆ ตามไม่ทันเลย
ฟื้นความปรองดองสมานฉันท์ ใครคิดไม่เหมือนกันก็จับสิ
เป็นสุดยอดผลงานทางด้านสังคม เพราะจากเดิมที่ประชาชนเคยมีสิทธิชุมนุมโดยสงบ มีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา คสช.ได้สร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง ไม่มีความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่อง
ผลงานปรองดองชิ้นโบว์แดงนี้จึงส่งผลให้มีประชาชนโดนจับกุมเนื่องจากการออกมาชุมนุมรวมทั้งสิ้น 225 กรณี โดนจับข้อหายุยงปลุกปั่นไปแล้ว 47 คน กิจกรรมเสวนาทางวิชาการก็ไม่คลาดสายตาแห่งความปรองดองสมานฉันท์ไปได้ และเพื่อความสงบจึงถูกแทรกแซงไปแล้ว 130 ครั้ง สงบเงียบสมานฉันท์น่าดูเลย เห็นไหม?
ไม่ละเมิดสิทธิประชาชน แค่บางหนต้องกักตัวไว้ซักถาม
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. พูดอย่างหนักแน่นว่า คสช.ให้ความสำคัญเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ที่ผ่านมาจะมีประชาชน 303 คนถูกคุมขังไว้ 7 วันโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา และไม่บอกว่าถูกคุมขังไว้ที่ไหน มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 992 คน พ.อ.วินธัยก็ยังยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเพียงความกังวลของบางองค์กร ซึ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะลดความน่าเชื่อถือของคสช.
คิดอะไรไม่ออกบอกมาตรา 44
ความยุ่งยากในการจัดการต้องหมดไป เมื่อแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดย คสช.ได้ใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาทางด้านกฎหมาย รวมถึงปัญหาเร่งด่วนของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม (ถ้ายังเห็นภาพความสงบไม่ชัดเจน ย้อนกลับไปอ่านผลงานแรกใหม่)
มาตรา 44 จึงกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างทันใจ เพราะคำสั่งหรือประกาศจาก คสช. มีสถานะไม่ต่างอะไรกับกฎหมายซึ่งโดยปกติใช้เวลาในการพิจารณานานและถี่ถ้วนมาก แต่ก็ด้วยมาตรา 44 นี่เองที่ทำอะไรให้อยู่ภายใต้เงื้อมมือคสช.ไปหมด
เศรษฐกิจตกต่ำขอให้เข้าใจ มันเป็นปัญหาค้างมานานแล้ว
แม้การผ่านร่างกฎหมายจะทันใจ การเรียกคนมาปรับทัศนคติจะฉับไว แต่เรื่องเศรษฐกิจมันค้างคามาก่อนที่ คสช.จะเข้ามาแล้วก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป โดยในการสรุปผลงานครั้งนี้ก็เสียสละเจียดเวลามาชี้แจงถึงเหตุผล 4 ข้อที่ฉุดเศรษฐกิจให้ต่ำลงๆ
อย่างแรกคงจะหนีไม่พ้นความไม่สงบทางการเมือง ที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประชาชนลดต่ำลงที่สุดในรอบสิบกว่าปี (เห็นไหม คสช. ถึงต้องเข้ามาสร้างความปรองดองไง) ไหนจะปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไหนจะนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และสุดท้ายเกิดความล่าช้าในโครงการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 6 แสนล้านบาท เห็นไหมว่าไม่เกี่ยวกับ คสช.เลย
นี่อาจนับเป็นการแถลงผลงานครั้งที่ Less is more มากที่สุดครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามโฆษก คสช. ก็ยืนยันว่า คสช.จะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นานจะได้เลือกตั้งปี 2560 แน่นอน ส่วนใครที่รู้สึกว่าการแถลงผลงานครั้งนี้ดู Minimal มากไป The matter ขอแนะนำให้ดูสรุปผลงาน คสช. ฉบับน่ารัก ละเอียดยิบ แต่อ่านง่ายได้ที่ facebook fanpage: iLaw
อ้างอิงข้อมูลจาก
กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
tnamcot.com
prachachat.net
facebook fanpage: iLaw