[youtube https://www.youtube.com/watch?v=OmKDms3n46Y&w=560&h=315]
กลายเป็นภาพที่ทรงพลัง เมื่อผู้ประท้วงกรณีการสังหารชายผิวดำพาเกิดก่อตัวและประท้วงอย่างสันติ ด้วยการด้วยการรวมตัวและร่วมร้องเพลง ‘We Shall Over Come’ ณ ลานหน้ารัฐสภา วอร์ชินตัน ดีซี เมืองหลวง โดยที่เพลง We Shall Overcome นี้เคยกึกก้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้เมื่อ 53 ปีก่อน ในการประท้วงของเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ
We Shall Overcome เป็นเพลงเดียวกัน ถูกร้องบนถนนสายเดียวกัน ในประเด็นเรียกร้องเดียวกัน
เป็นการฉายซ้ำภาพในประวัติศาสตร์ ที่ทั้งน่าเศร้าแต่ก็ทรงพลังไปพร้อมๆ กัน
การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ : จากคิง ถึงบียอนเซ
เราอาจรู้สึกว่าโลกนั้นมาไกลเกินกว่าจะพูดถึงประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิว เพศ และชาติพันธุ์ มันควรจะสิ้นสุดลงได้แล้ว แต่จากกรณีไม่นานนี้อย่างการกราดยิงในผับอย่างออร์แลนโด มาจนถึงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่สังหารชายผิวดำสองรายในสองรัฐ จนทำให้เกิดกระแส Black Lives Matter และเกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชนทั่วทั้งอเมริกา ต่อความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางชาติพันธุ์
กระแส Black Lives Matter คือกระแสที่ต่อต้านความรุนแรงอันเกิดจากอคติทางชาติพันธุ์ของคนผิวดำ คือเหมือนเวลาเราดูหนัง คนผิวดำรวมไปถึงย่านของคนผิวดำมักถูกโยงกับการกระทำความผิด หรือการก่ออาชญกรรม แน่ล่ะว่ามันไม่ใช่คนผิวดำทั้งหมดจะเป็นอาชญกร หรือว่าไม่ใช่ว่าจะไม่มีคนผิวดำที่เป็นอาชญากรเลย แต่ภาพเหล่านั้นทำให้เกิดอคติบางอย่างที่เรามีต่อคนผิวดำ
ความน่าเศร้าก็คือ อคติเหล่านั้น ซึ่งจริงหรือไม่จริงไม่รู้ มันดันส่งผลให้เกิดการลงมือปฏิบัติการจริงๆ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำจนกระทั่งถึงแก่ชีวิต ซึ่งความรุนแรงพวกนี้มีความคุกรุ่นมาได้สักพัก กรณีคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงนาย Alton Sterling และนาย Philando Castile จึงเป็นเหมือนชนวนที่ทำให้คนเห็นว่า ความอยุติธรรมที่คนดำถูกกระทำจนถึงชีวิตโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
หากเรามองย้อนกลับไป จากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและความยุติธรรมสมัยมาร์ติน ลูเธอร์ คิงจูเนียร์ มาจนถึงปัจจุบัน มันก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม คือความยุติธรรม ที่คนต่างสีผิวจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและเสมอภาคกัน โดยเฉพาะการได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน
จากการสังหารชายผิวดำทั้งสอง และกระแสต่อต้านความรุนแรงและอคติ นักร้องผิวสีระดับ Diva บียอนเซ่ ถึงขนาดอุทิศช่วงหนึ่งในการแสดงคอนเสิร์ตที่ Glasgow ประเทศ Scotland และใช้คำขวัญที่รุนแรงว่า ‘หยุดฆ่าพวกเราซักที (Stop Killing Us)’ พร้อมทั้งขึ้นรายชื่อจำนวนจำนวนมาก คือพี่น้องผิวสีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหาร
เราจะได้ชัยชนะ…สักวันหนึ่ง
ในเดือนสิงหาคม ปี 1963 Joan Baez ร้องเพลง ‘We Shall Overcome’ และนำมวลชน 300,000 คน ในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนผิวสี วลี We Shall Overcome ได้กลายเป็นวลีหลักในการเรียกร้องสิทธิในครั้งนั้น เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เอาไปเป็นส่วนหนึ่งของบทเทศน์เพื่อรวมพลังของคนผิวดำที่เมมฟิส สุดท้ายเพลงดังกล่าวก็กลายเป็นสัญลักษณ์และเป็นเพลงปลุกใจหลักในการรณรงค์เรียกร้องจนสำเร็จ
พอดูรูปประโยค เราจะได้ชัยชนะ ฟังดูเป็นดูเป็นเพลงปลุกใจแบบก้าวร้าวนิดๆ แต่จริงๆ แล้ว ที่มามีนัยของคริสศาสนา คือเป็นวลีจากพระคัมภีร์ และในหลายๆ ท่อนบอกว่า เราจะได้ชัยชนะ และเราจะได้อยู่กันอย่างสันติ คือการที่ไม่ว่าใครก็ตาม ภายใต้ความรักของพระเจ้า ความยุติธรรมที่ทั่วฟ้า ย่อมนำพามาด้วยความสุขสงบและสันติภาพ
นัยและน้ำเสียงการร้อง จึงเต็มไปด้วยอารมณ์ที่คละเคล้ากัน ทั้งหม่นเศร้า แต่ก็ยังเปี่ยมด้วยความหวังและศรัทธา
ศรัทธาที่ว่าวันหนึ่ง มนุษย์อย่างเราๆ จะสามารถเอาชนะ และก้าวพ้นอคติและความเกลียดชัง
แม้ว่ามันจะฟังดูเป็นอุดมคติที่แสนห่างไกล
แต่เราก็ยังคงต้องเชื่อมั่น
วันหนึ่งเราชนะ…และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
[youtube https://www.youtube.com/watch?v=RkNsEH1GD7Q&w=420&h=315]
We shall overcome, we shall overcome,
We shall overcome someday;
Oh, deep in my heart, I do believe,
We shall overcome someday.