เป็นสัปดาห์ที่มนุษย์อย่างเราๆ รู้สึกสะท้านสะเทือนจากความเป็นไปสรรพสัตว์… ที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของมนุษย์
กอร์ริลล่าในสวนสัตว์ถูกยิงตายเพราะมีเด็กชายคนหนึ่งตกลงไป
ซากศพและชิ้นส่วนของเสือโคร่งจำนวนมากมายถูกพบ ‘ในวัด’
มนุษย์มีสิทธิอะไรในการจัดการและใช้งานสายพันธุ์อื่นๆ
ความตายของเจ้าฮาเรมเบ กอริลลาแห่งสวนสัตว์ Cincinnati ก่อให้เกิดคำถามและความเกรี้ยวกราดขึ้นมากมาย ความเกรี้ยวกราดของคน ที่อาจจะรุนแรงกว่าของเจ้ากอริลล่าหรือแม้แต่กระสุนปืนที่ทะลุร่างของมันไปด้วยซ้ำ แน่ล่ะ ปัญหาที่เด็กน้อยคนหนึ่งร่วงหล่นลงไปในกรงของสัตว์ขนาดยักษ์ย่อมเป็นความผิดพลาดที่ต้องสืบสาวและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบเดียวกันในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ปกครอง หรือ ความผิดพลาดในการออกแบบสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย ของสัตสวนสัตว์เอง
ปรากฏการณ์ที่น่ากลัวคือความเกรี้ยวกราดของฝูงชนต่อความตายของฮาเรมเบ ฝูงชนโดยเฉพาะในโลกออนไลน์เริ่มสร้าง ‘อารมณ์ร่วม’ ผ่าน ‘เรื่องราว’ ในจินตนาการที่เกี่ยวกับสายพันธุ์อื่นๆ เริ่มมีการใช้ภาพที่นุ่มนวลของลิงกอริลร่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของสวนสัตว์เป็นความทารุณที่ผิดพลาดและไร้ประโยชน์ ทั้งนี้ทางสวนสัตว์เองก็มีการออกแถลงการณ์ถึงความจำเป็นในการเข้าระงับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การไม่สามารถควบคุมเจ้าฮาเรมเบด้วยลูกดอกยาสลบ ซึ่งการใช้ลูกดอกอาจทำให้กอร์ริลล่ามีปฏิกิริยาที่รุนแรง (ต่อความเจ็บปวดหรือการคุกคาม) ก่อนที่ยาสลบจะออกฤทธิ์ได้ทัน
ผลของการกระตุ้นอารมณ์ อารมณ์ที่ถูกปลุกขึ้นมาไม่มีเพียง ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ เท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘ความเกรี้ยวกราด’ ที่พร้อมจะซัดลงไปที่พ่อแม่ของเด็กด้วย จริงอยู่ ว่าพ่อแม่ของเด็กอาจจะห่วยแตก แต่ข้อเรียกร้องที่ชาวเน็ตต้องการอาจไปไกลกว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหา และก้าวเข้าสู่ ‘ความสะใจ’ บางเสียงก็ต้องการให้เอาพ่อแม่เด็กเข้าคุก หรืออีกกระแสเห็นว่าพ่อแม่เด็กไม่มีคุณสมบัติในการเลี้ยงดู นัยของข้อเสนอต่อความผิดทำนองนี้ จากโศกนาฏกรรมหนึ่งอาจนำไปสู่อีกหายนะหนึ่งก็เป็นได้
สิ่งที่ถูกเรียกร้องกันอย่างหนาหูคือ ‘ความยุติธรรม’ ผู้คนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับความตายของเจ้าฮาเรมเบ
ท่ามกลางคำถามมากมาย แต่ยังมีบางคำถามที่ความเกรี้ยวกราดของฝูงชนยังไปไม่ถึง ไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบที่ไม่ปลอดภัย หรือการดูแลบุตรหลานที่ไม่เพียงพอในพื้นที่ที่เต็มไปด้วย ‘สัตว์ร้าย’ อย่างสวนสัตว์
เรามีสวนสัตว์ไว้ทำไม? เรา ‘ไปดูสัตว์’ เพื่ออะไร และ ‘สัตว์’ มีบทบาทอะไรต่อ ‘มนุษย์’
The MATTER จะพาไปสำรวจความสำคัญของสัตว์ / สวนสัตว์ ในวัฒนธรรมของมนุษย์กัน
สวนสัตว์…มาจากไหน
ใครๆ ก็คุ้นชื่อเขาดิน ตอนเด็กๆ อาจจะเคยไปซักหลายๆ ครั้ง ไปกับครอบครัวบ้าง โรงเรียนบ้าง เรามีและคุ้นเคยกับสวนสัตว์และสัตว์ในกรง จนไม่ทันคิดว่า เออ ทำไม เราถึงต้องเอาสัตว์มาขัง แล้วให้มนุษย์อย่างเราๆ ต้องเดินทางไปชมสัตว์ในกรง
สวนสัตว์ ในที่นี้หมายถึงสวนสัตว์สมัยใหม่ที่เปิดให้คนเข้าไปชมสัตว์ได้ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงราวศตวรรษที่ 18 นี้เอง แน่ละ ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โลกตะวันตกเริ่มก้าวเข้าสู่โลกวิทยาศาสตร์ แนวคิดและความสนใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ เริ่มก่อตัวขึ้นนับจากชาลส์ ดาร์วิน
ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้มนุษย์ (ตะวันตกผิวขาว) สามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกได้ ซึ่งแนวคิดเรื่องวิทยาศาสตร์และความเจริญ ก็เป็นดาบสองคม เพราะมนุษย์ตะวันตกผิวขาว รู้สึกว่าตนเองเป็นสายพันธุ์ที่อยู่เหนือสายพันธุ์อื่นๆ มีสติปัญญาสูงส่งกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จึงมีอำนาจในการจัดการ จัดเก็บ และจัดแสดง สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ
สัตว์/มนุษย์ : ความหมายเชิงวัฒนธรรม
John Berger เป็นนักวิชาการที่สนใจความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมระหว่างมนุษย์และสัตว์ กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของสวนสัตว์ไว้อย่างน่าเศร้าไว้ในงานเขียนสำคัญ Why We Look at Animals ว่าสวนสัตว์ในยุคแรกๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องแสดงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิจากการล่าอาณานิคมเท่านั้น พูดง่ายๆ คือสวนสัตว์เป็นที่จัดแสดงสัตว์หายากที่ได้จากการล่าอาณานิคม เป็นเครื่องแสดงบารมีของจักรวรรดิอย่างหนึ่ง ยิ่งมีสัตว์แปลกๆ มาก ยิ่งแสดงถึงแสนยานุภาพของจักรวรรดินั้นๆ
เบอร์เกอร์ชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การเกิดขึ้นของโลกอุตสาหกรรมและเขตเมือง และการเกิดขึ้นของสวนสัตว์ ทำให้เกิดการ ‘แยกสัตว์ออกจากคน’ เราอาจคิดว่าสำหรับมนุษย์แล้ว สัตว์เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ผลิตผลผลิตต่างๆ ให้มนุษย์ เช่น เขา หนัง หรือน้ำนม แต่แท้จริงแล้ว ก่อนที่เราจะเข้าสู่โลกอุตสาหกรรม การเลี้ยงสัตว์มีนัยอื่นๆ แอบแฝงอยู่ด้วยเสมอ เช่น มนุษย์เลี้ยงวัวเพื่อสื่อสารกับเทพเจ้า เป็นสื่อกลางสู่อำนาจที่ส่งกว่าทั้งในฐานะเครื่องบูชาและพาหะของคำพยากรณ์ และถ้าเราลองคิดดีๆ ‘ความหมาย’ อันเป็นคุณสมบัติต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ความกล้าหาญ ความปราดเปรียว ความเฉลียวฉลาด หรือความเจ้าเล่ห์เพทุบาย ต่างถูกนำไปฝากไว้ที่สรรพสัตว์ เช่น สิงโต กระต่าย นกฮูก หรือจิ้งจอก ก่อนที่มนุษย์จะนำเอาความหมายเหล่านั้น กลับมาเทียบเคียงและอธิบายคุณสมบัติของมนุษย์แต่ละคนเอง
จากการจัดแสดงมนุษย์เหลือการจัดแสดงสัตว์ คำถามของสายพันธุ์
จากสวนสัตว์แห่งแรกที่ถือกำเนิดขึ้นกลางกรุงปารีสในปี 1793 ไปจนถึงสวนสัตว์ขนาดมหึมากลางกรุงลอนดอน ในยุคแรกๆ จึงมีการจัดแสดง ‘มนุษย์’ สายพันธุ์อื่นๆ ร่วมกับสัตว์ต่างๆ ด้วย ด้วยสมัยก่อนยังไม่ถือว่าคนป่าทั้งหลายเป็นสายพันธุ์เดียวกับคนขาว คนป่าทั้งหลายจึงถูกจัดแสดงไว้ร่วมสายพันธุ์อื่นๆ นัยที่แฝงอยู่คือความเชื่อที่ว่า สายพันธุ์ของตนมีความเหนือกว่า จึงมีสิทธิ มีอำนาจ ในการจัดการ ศึกษาและจัดแสดงสายพันธุ์อื่นๆ ได้
ตอนนี้ เราอาจจะไม่ได้จัดแสดงมนุษย์แล้ว แต่เรายังคงจัดแสดงสัตว์สายพันธุ์อื่นอยู่ เมื่อสำรวจโดยสังเขปทั้งในบทบาทของสัตว์ในเชิงวัฒนธรรมและการเกิดขึ้นของสวนสัตว์ในประวัติศาสตร์มนุษย์ สิ่งที่เราอาจจะทบทวนจากความตายของฮาเรมเบ อาจนำไปสู่การทบทวนจากการจัดแสดงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ จากสวนสัตว์มนุษย์มาจนถึงสวนสัตว์ปัจจุบัน เราอาจได้ทบทวนตัวเราเองในฐานะมนุษย์ มนุษย์โฮโมซาเปียนที่เป็นเพียงสายพันธุ์หนึ่ง ที่เคยอยู่ร่วมกับสายพันธุ์อื่นๆ