ปีใหม่! คนใหม่! จะบ้าหรอ…
ปณิธานปีใหม่ ตั้งไว้ดิบดี สุดท้ายปลายปีก็ยังอ้วน ขี้เกียจ อ่านหนังสือน้อยเท่าเดิม
คงเป็นความเชื่อแบบโลกสมัยใหม่ ที่เราเชื่อในความก้าวหน้า เชื่อว่าวันพรุ่งนี้เราต้องดีกว่าเก่า ต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งปีใหม่มันคือหมุดหมาย คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าความก้าวหน้าจะไม่ได้เป็นเส้นตรง เป็นกราฟที่ยกสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ชีวิตเราอาจเป็นวงจร เรามักฮึกเหิมช่วงต้นปี กลางปี ปลายปีก็เริ่มนอนนิ่งๆ บอกกับตัวเองว่า เออ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไปก่อนแล้วกัน สุดท้ายเราก็พบว่า ‘ปีใหม่ คนใหม่’ มันเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ
เราไม่ได้เหลวไหลอยู่คนเดียว มีงานศึกษาพบว่าในชาวอเมริกันมีโอกาส 28% ที่จะเลิกทำตามคำสัญญาปีใหม่ ‘ก่อน’ วันที่ 9 มกราคม—9 วันหลังตั้งปณิธาน!—หนึ่งในสี่เชียวนะ ส่วนการศึกษาในออสเตรเลียพบว่าคน 80% จะเลิกทำตามคำสัญญาภายในสามเดือน เอิ่ม…เปิดเพลงเราจะทำตามสัญญาคลอแป๊บ
มนุษย์เราดูจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอเนอะ แต่การพัฒนาก็เป็นเรื่องดี มนุษย์เราเชื่อในการฝึกตน การขึ้นสู่ปีใหม่ก็ถือเป็นวาระที่ดีที่เราจะทำอะไรดีๆ ให้กับตัวเอง แต่ก็นั่นแหละ จิตใจของเราอ่อนแอเกินไป ถ้าเราสืบย้อนกลับไป นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งบอกว่า ปณิธานปีใหม่ถือเป็นผลพวงที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนา เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะใช้ผลักดันให้มนุษย์เอาชนะความอ่อนแอของตัวเองให้ได้ คือเราอาจจะไม่ได้เป็นคนใหม่อะไรขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น ก็ฟังดูเป็นหนทางสู่ปีใหม่ที่น่าลองฝึกตนให้ได้ตลอดรอดปีดู
ประวัติศาสตร์และอุบายของการเอาชนะความอ่อนแอ
มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ ทั้งร่างกายและจิตใจ มุมมองทางศาสนาจึงมักเน้นย้ำให้มนุษย์รู้จักที่จะเอาชนะและยกระดับตัวเองออกจากความเป็นมนุษย์สามัญ
4,000 ปีก่อนในสมัยบาบิโลน มีพิธีกรรมหนึ่งที่เรียกว่าอาจเป็นเค้าลางของการให้คำสัญญาปีใหม่ คือในทุกปีใหม่ (ช่วงกลางมีนาคม) เมื่อพืชชุดแรกลงผืนดินอันเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้น ชาวบาบิโลนจะให้สัญญากับเทพเจ้าว่าจะจ่ายหนี้และเอาของที่ยืมมาไปคืนทั้งหมด—ฮืม หวังใจให้วัฒนธรรมนี้ยังมีอยู่จัง—ถ้าใครที่รักษาสัญญานี้ได้พระเจ้าก็จะอวยพร ถ้าใครไม่ทำตามก็จะหลุดจากบัญชีเด็กดีของเหล่าทวยเทพ ในทำนองเดียวสมัยโรมันโบราณก็มีการให้คำสัญญากับเทพเจ้าสองพักตร์ว่า ปีหน้าผมจะเป็นคนดี
คำสัญญาว่าจะเป็นคนดีของยุคบาบิโลนก็เรียบง่ายและเข้าใจได้ดีเนอะ เอาของไปคืน จ่ายหนี้ เลิกแล้วต่อกัน
จากยุคโบราณเขยิบมาที่ประวัติศาสตร์อันใกล้ คือวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงทศวรรษที่ 19 แน่ล่ะว่า วัฒธรรมปณิธานปีใหม่มักมาจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก แล้วอะไรคือจุดร่วมของการมีและการใช้ปณิธานปีใหม่นี้ นักสังคมวิทยาชื่อ Isidor Thorner ก็สังเกตเห็นและทำการศึกษาพบว่า ไอ้เจ้าปณิธานปีใหม่ในยุคสมัยใหม่ ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับมิติทางศาสนา เป็นความคิดและอุปกรณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
คุณ Thorner เขียนถึงความเชื่อมโยงของศาสนาคริสต์กับการให้คำสัญญาปีใหม่ไว้ในปี 1951 ว่า เนี่ย ถ้าเราดูค่านิยมหลักของโปรเตสแตนต์—การควบคุมอารมณ์—ดังนั้นคริสต์ชนที่ดีคือคนที่รู้จักจัดการชีวิตอย่างเป็นระบบ รู้จักกำจัดหลีกเลี่ยงพวกสิ่งไร้สาระทั้งหลายออกไปจากชีวิต และแน่ล่ะว่า ชุดคำสัญญาปีใหม่มักเกี่ยวกับการที่เราสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ สามารถที่จะเอาชนะความอ่อนแอต่างๆ ของเรา แถมแกสำรวจแล้วบอกว่าในพื้นที่ที่เห็นว่าคำสัญญาปีใหม่เป็นประเพณี เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ ไปจนถึงแอฟริกาใต้ ต่างเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลแบบโปรเตสแตนต์ทั้งนั้น
Thorner บอกว่า ด้วยความเชื่อแบบที่ว่าเราต้องรู้จักระงับควบคุมตัวเองและนำไปสู่ตัวตนใหม่ๆ นี้ พี่แกเลยสรุปธีมสำคัญๆ จากคำสัญญาปีใหม่ของผู้คนว่าแบ่งได้สามประเด็นหลักๆ คือ 1) เป็นคนที่ดีขึ้น—คนดีในที่นี้คือการรู้จัดควบคุมความรู้สึกของตัวเอง เมื่อควบคุมอารมณ์ได้ดีแล้ว ชีวิตก็ย่อมดีขึ้น 2) ดูแลสุขภาพ เช่น เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนัก งดดื่ม และ 3) ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ เช่น เก็บเงิน ใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น ซึ่งตอนหลังนี้นับจากปี 1951 จากคำสัญญาที่ค่อนข้างทำไปเพื่อฝึกตนและนำไปสู่หนทางทางศาสนา การให้คำสัญญาปีใหม่ก็กลายเป็นประเพณีที่ค่อยๆ เป็นทางโลกย์มากขึ้น และแพร่กระจายมาสู่ประเทศอื่นๆ เช่นบ้านเรา
How to ฝึกตนให้ตลอดรอดฝั่ง
เรามันคนอ่อนแอ แล้วจะทำยังไงให้เราสามารถรักษาคำสัญญาต่อตนเองนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (The American Psychological Association) บอกว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนี้เป็นเรื่องที่ดีและสำคัญ ก่อนที่เราจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนและดำเนินตามเป้าหมายทีละนิด อย่าไปโฟกัสจุดที่ว่าเราเปลี่ยนได้มากแค่ไหน—ทำนองว่าอยากลดน้ำหนัก ไม่ใช่ว่าไปให้ความสำคัญอย่าง ลดไปได้สองกิโลในห้าวัน แต่อยู่ที่ความคิดว่าเราจะปรับไลฟ์สไตล์ของเราเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยืนยาวได้อย่างไร
ทางสมาคมเสนอแนวทางการรักษาคำสัญญาปีใหม่ไว้ 5 ขั้นตอน คือ
1) เริ่มก้าวเล็กๆ ตรงนี้ก็เหมือนการให้สัญญาทั่วๆ ไปเนอะ คือควรเริ่มจากคำสัญญาที่เราพอจะทำได้และอยู่บนพื้นฐานของความจริง เช่น อยากฟิตก็เริ่มที่การสัญญาว่าจะไปออกกำลังกายสามสี่ครั้งต่อสัปดาห์ อยากกินอย่างใส่ใจสุขภาพก็ปรับของหวานเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่การอดหรือวางแผนการกินแบบทรมานตัวเอง
2) ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปีใหม่คนใหม่ คิดว่าพรุ่งนี้จะกลายเป็นเจนี่-เทียนฯ ประสาทหรอ พฤติกรรมบูดๆ เราค่อยๆ หล่อหลอมมาเป็นปี จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ข้ามวัน…บ้าไปแล้ว ดังนั้นการปรับพฤติกรรมคือกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่หวังว่าจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แบบนั้นเลิกทำแน่นอน
3) พูดคุยถึงเป้าหมายบ่อยๆ คำแนะนำที่เวรี่จิตวิทยา คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า เอ้อ คำมั่นของเรา เป้าหมายของเราไปถึงไหนแล้ว ของเธอล่ะเป็นไง ไปออกกำลังได้เท่าไหร่ เลิกบุหรี่ได้ยัง ชุมชนคนไปสู่สุขภาพดีนี้เป็นยังไงบ้าง ตรงนี้ทำให้เส้นทางพัฒนาชีวิตของเราไม่เหงาจนเกินไป แถมบางทีอาจจะได้เคล็ดลับใหม่ๆ ได้เพื่อนใหม่เพิ่มเติมด้วย—เน้นว่าแลกเปลี่ยนนะ ไม่ใช่ไปพ่นใส่ชาวบ้านอย่างเดียว อันนั้นน่ารำคาญ
4) สบายๆ บ้างก็ได้ คือจริงจังได้ แต่อย่าไปอะไรกับมันมาก เป้าหมายมีไว้พุ่งชน แต่จะพุ่งท่าเดียวคงไม่ไหว คนเรามันผิดพลาดบ้างก็ได้ ขี้เกียจบ้าง หลุดบ้างก็ไม่มีปัญหาอะไร เราอาจจะโดดออกกำลังบ้าง กินฮันนี่โทสต์ไปบ้าง ก็ปล่อยมันผ่านไปแล้วค่อยกลับมาสู่เส้นทางของเราใหม่
5) ขอความช่วยเหลือ ในโลกนี้ยังมีคนห่วงเราอยู่เยอะแยะ ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ก็ไปงอแงกับเพื่อน แบ่งปันความเครียดบ้าง และคำแนะนำแบบจากผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าเรานอยมากๆ และเริ่มกระทบชีวิต ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญบ้างก็ไม่เสียหาย ว่า เออ เราอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตจากที่ไม่ดีต่อสุขภาพและอารมณ์ให้มันดีขึ้น แต่ดันเครียด ดันทำไม่ได้ซะนี่ ทำยังไงดี
การตั้งคำสัญญาปีใหม่ดูจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มนุษย์เราพยายามที่จะเอาชนะตัวเอง ชนะความอ่อนแอและมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขมากขึ้น วันปีใหม่จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มที่ดี ดังนั้นปีนี้ ลองตั้งเส้นทางแห่งการฝึกตนเล็กๆ กันดู แต่ ‘ปีใหม่ คนใหม่’ อะไรนั่นอาจจะไม่จริง แต่ถ้าเก่งขึ้นกว่าเดิมบ้าง อันนี้ก็จำเป็น
อ้างอิงข้อมูลจาก