“ฉันคือ CEO ของบริษัทนี้ไงล่ะ”
นี่สินะ ตอนจบที่ต้องการประธานบริษัทตัวจริงเปิดเผยตัวแล้ว ละครคุณธรรมจบอย่างสมบูรณ์แบบไปอีกหนึ่งเรื่อง
“ส่วนฉันคือ COO คุณโมโจที่ยืนด้านโน้นคือ CFO คุณโจโจ้คือ CFO และคนโน้นคนนี้บลาๆ”
เกือบจะจบดีแล้วเชียว ต้องเลี้ยวกลับมาเกาหัวอีกครั้งว่าตำแหน่งเหล่านี้คืออะไรกันนะ แน่นอนว่ามันออกเสียงละม้ายคล้าย CEO ก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นตำแหน่งใหญ่โตไม่แพ้กัน แต่ทำหน้าที่อะไรนั้นไม่รู้เลย และดูเหมือนตำแหน่งจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกนับสิบตัวอักษร แม้เราจะคุ้นเคยแค่ CEO ว่านี่แหละ คือบิ๊กบอสของจริง พอเปลี่ยนตัวอักษรเข้าหน่อยเลยอ๊องๆ ว่านี่คือตำแหน่งอะไรกัน มันเพิ่มมาตามยุคสมัยหรือแค่เป็นตำแหน่งที่เราไม่ค่อยได้เห็น
จริงๆ แล้วตำแหน่งเหล่านี้มีมาพร้อมๆ กับ CEO นั่นแหละ เราเรียกตำแหน่งในระดับนี้ว่า ‘C-Level’ หรือ ‘C-Suite’ เป็นตำแหน่งระดับสูงที่มีหน้าที่บริหาร ดูแลเชิงนโยบาย ให้เป็นไปตามกลยุทธขององค์กร ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการบริหารในภาพกว้าง ระยะยาว มากกว่าการกำกับดูแลงานในเชิงปฏิบัติการ
ชื่อตำแหน่งที่เราเห็นเปลี่ยนตัวอักษรไปมา มาจากคำว่า ‘Chief แผนก Officer’ หากมองหน้าตาแผนผังองค์กร จะมี CEO เป็นเหมือนเก้าอี้สูงสุดของฝั่งบริหาร มีตำแหน่ง C อื่นๆ อยู่รองลงมา คอยกำกับดูแลแผนกที่ตนรับผิดชอบ ในองค์กรหนึ่งจะมีตำแหน่งระดับสูงนี้เท่าไหร่ก็ได้ จะมีจนครบทุกแผนกหรือเลือกมีแค่บางแผนกก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและขนาดขององค์กรนั้นๆ
อย่างตำแหน่งที่พอจะคุ้นหูคุ้นตากันบ้างก็จะมี ดังนี้
- CEO – Chief Executive Officer ประธานฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่วางแผนเชิงนโยบาย กลยุทธ ทิศทางของบริษัท
- COO – Chief Operating Officer ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ทำหน้าที่ดูแลให้กระบวนการทำงานเป็นไปตามนโยบาย แก้ปัญหาที่ติดขัดในขั้นตอนการทำงานจริง
- CFO – Chief Financial Officer ผู้บริหารฝ่ายการเงิน ทำหน้าที่ดูแลบัญชี งบประมาณ ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับรายได้ อย่างการควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย
- CTO – Chief Technology Officer ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ทำหน้าที่ดูแลเครื่องมือทางเทคโนโลยี ให้ก้าวทันยุคสมัยและเหมาะกับองค์กร
- CMO – Chief Marketing Officer ผู้บริหารฝ่ายการตลาด ทำหน้าที่ดูแลวางแผนการตลาด โฆษณา เผยแพร่ผลิตภัณฑ์สู่กลุ่มลูกค้า
นอกจากนี้ยังมีฝ่ายบริหารอื่นๆ อีกหลายตำแหน่งที่ขึ้นแท่นเป็น C-Leve ได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างภายในองค์กร เช่น CHRO – Human Resources Executive ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือตำแหน่งที่ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมไปตามสถานการณ์ เช่น CAIO – Chief AI Officer ผู้บริหารฝ่ายเชี่ยวชาญด้าน AI หรือจะ CAO – Chief Analytics Officer ผู้บริหารฝ่ายจัดการข้อมูล
จะอีกกี่ C ก็ไม่ต้องเกาหัว จำง่ายๆ ว่าตำแหน่งเหล่านี้คือเก้าอี้สูงสุดของฝ่ายบริหาร จะบริหารแผนกไหนก็ว่ากันไป โดยมี CEO เป็นยอดสุดของพีระมิดนั่นเอง
อ้างอิงจาก