แก่แล้วไม่ต้องซึ้ง ไม่ต้องอยู่กับบ้านรอลูกหลานมาดูแล แก่แล้วยังมีความสุข มีความหมาย และใช้ชีวิตต่อไปได้ ทั้งหมดนี้อาจเป็นภาพอนาคตของการแก่ตัวไปแบบใหม่ๆ ที่สังคมเราเริ่มก้าวข้ามแนวคิดให้ลูกหลานดูแล ไปสู่การแก่ตัวไปแล้วดูแลตัวเองได้ แต่ก็อาจต้องอาศัยสาธารณูปโภคใหม่ๆ เข้ามาช่วย
ความพิเศษของกระแสความคิดจากหนังที่น่าจะเป็นสูตรสำเร็จ พอคนรุ่นใหม่ๆ หรือวัยรุ่นกลับไปสู่กิจกรรมดั้งเดิมอย่างการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากความโรแมนติกของเรื่องแล้ว เราจะเริ่มเห็นความคิดเห็นร่วมสมัย เช่น คนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถรับภาระการดูแลได้ แนวคิดเรื่องคนแต่ละรุ่นมีอิสระจากกัน เน้นการดูแลรับผิดชอบตัวเองมากกว่าการยึดโยงดูแลซึ่งกันและกัน
การเปลี่ยนแปลงทางความคิด และความอินกับการดูแลผู้สูงอายุ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนของสังคมอย่างสำคัญ นิยามครอบครัวสมัยใหม่ลดขนาดลงสู่การเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ผู้คนไม่นิยมมีลูก เน้นความเป็นอิสระ มีแนวคิดเรื่องความกตัญญูที่มาพร้อมกับการรับผิดชอบดูแลชีวิตตัวเอง หลายความเห็นเริ่มมองไปที่การตอบแทนของรัฐในมุมของสาธารณูปโภคและสวัสดิการ ไปจนถึงการลงทุนในระยะยาวสำหรับตัวเอง
ในคำตอบที่เคยเป็นสูตรสำเร็จว่า ตกลงแล้วคนแก่ต้องการอะไร? เราที่เป็นคนเตรียมตัวแก่ลงเพราะอยู่ตามลำพัง หรือคนแก่จริงๆ ที่เป็นรุ่นพ่อแม่เรา ณ ตอนนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นอาจไม่ใช่แค่เวลาจากลูกหลานที่อาจจะไม่มีแล้ว หรือการใช้เวลากับลูกหลานก็อาจไม่ใช่ความปรารถนาสูงสุด แต่การแก่ไปอย่างมีคุณภาพ มั่งคั่ง และดูแลตัวเองได้ต่างหากที่อาจเป็นภาพฝันของคนแก่ยุคใหม่
ทั้งหมดนอกเหนือจากความโรแมนติก ประเด็นการดูแลผู้สูงอายุท่ามกลางกระแสการก้าวสู่สังคมสูงอายุในดินแดนที่กำลังจะเต็มไปด้วยพลเมืองสูงวัย ความเข้าใจเรื่องสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากได้หรือจำเป็นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี อันที่จริงคำถามว่าผู้สูงอายุต้องการอะไรก็เป็นคำถามที่เมืองพยายามตอบ เพื่อรับมือกับชีวิตที่เปลี่ยนไปและสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง
ถ้าเราถามผู้สูงอายุ หรือกระทั่งตัวเราเองที่เตรียมตัวแก่ไป สิ่งที่เราน่าจะอยากได้อาจเป็นเวลาของเราเอง และการมีบ้านที่ดี ซึ่งบ้านที่ดีที่ว่าอาจมาในนามของ Senior Housing บ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ใช่บ้านพักคนชรา แต่เป็นบ้านที่สนับสนุนการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย บ้านที่มีสาธารณูปโภคที่เฉพาะเจาะจง เป็นบ้านที่พาผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตต่อไปแบบไม่ต้องนับถอยหลัง
บ้านสูงวัย ที่ไม่ใช่บ้านพักคนชรา
ทัศนคติหรือความคิดของสังคมเป็นตัวกำหนดพื้นที่กายภาพ หรือสาธารณูปโภคของเรา ประเด็นเรื่องการอยากได้อยากได้ลูกหลานมาดูแลหลังแก่ตัวลง ค่อนข้างเป็นความคิดแบบเอเชียที่เป็นครอบครัวขยาย สิ่งที่มาด้วยกันกับความคิดเรื่องการให้ลูกหลานมาดูแลยามแก่ คือการมีอยู่ของบ้านพักคนชรา โดยในความหมายเดิมมักมีนัยของการถูกทอดทิ้ง การไปอยู่บ้านพักคนชราจึงหมายถึงการไปใช้ชีวิตแบบนับถอยหลัง มีนัยของความเหงาเศร้าสร้อยอยู่บ้าง
ทว่าด้วยทั้งทัศนคติและเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวล้ำไป อายุขัยเรายาวนานขึ้น ผู้คนแข็งแรงและใช้ชีวิตต่อไปได้ การเกิดขึ้นของบ้านผู้สูงอายุ หรือ Senior Housing จึงเป็นสาธารณูปโภคคือบ้านพักอาศัยแบบใหม่ ซึ่งรวมเอาการออกแบบ และบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรง สะดวกสบาย ปลอดภัย ไปจนถึงการไม่รู้สึกเหงา และไม่ติดเตียง เป็นบ้านที่อำนวยให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง และดูแลสนับสนุนตัวเองผ่านพื้นที่ทางกายภาพ
ถ้าเราพูดเรื่องเวลา พื้นที่และการออกแบบเมืองเพื่อผู้สูงอายุในกระแสปัจจุบันนี้ ก็คือการอำนวยเวลา และการทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาได้อย่างมีคุณภาพบนสาธารณูปโภคที่เหมาะสม และสนับสนุนให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร กรณีสำคัญคือการลงทุนของสิงคโปร์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2017 และเริ่มขยายที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบ้านสูงอายุนี้แน่นอนว่าอาจเป็นความฝัน หรือการลงทุนที่คนปัจจุบันมอง บ้านที่ออกแบบเพื่อความปลอดภัย มีบริการทางการแพทย์ มีชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ที่สดชื่น สดใส ไม่แยกออกจากชุมชนและพื้นที่เมือง ซึ่งนอกจากสิงคโปร์แล้ว ในไทยเองก็เริ่มมีแล้วด้วย
Kampung Admiralty สถาปัตยกรรมเพื่อผู้อยู่อาศัยสูงวัย
บ้านสูงวัยที่เป็นโมเดลต้นแบบที่เราต้องพูดถึงคือโปรเจ็กต์ชื่อ Kampung Admiralty ของสิงคโปร์ ถ้าเรามองเรื่องสังคมสูงวัย หรือพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุที่จะใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ Kampung Admiralty ถือว่าเป็นโปรเจ็กต์ในบริบทเอเชียที่มาเร็ว เพราะสร้างเสร็จในปี 2017 และได้รางวัลทางสถาปัตยกรรมระดับโลกในฐานะที่ใช้งานออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม
คำว่า Kampung หมายถึงหมู่บ้าน ส่วน Admiralty เป็นชื่อย่านของสิงคโปร์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นโปรเจ็กต์การพัฒนาแบบผสมหรือมิกซ์ยูส คือในอาคารเดียวกันมีหลายฟังก์ชั่น โดยกรณีของ Kampung เป็นกลุ่มที่พักอาศัยแบบอพาร์ตเมนต์จำนวน 104 ยูนิต มีสวนลอยฟ้า มีลานส่วนกลาง และที่สำคัญคือด้วยความที่เป็นบ้านพักผู้สูงอายุ ในอาคารจึงรวมศูนย์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งคลินิกทั่วไป ศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉิน ไปจนถึงศูนย์ฟอกไต
ความเท่ของกลุ่มบ้านพักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุนี้จะเน้นการเชื่อมต่อ ทั้งการเชื่อมกันเองของผู้สูงอายุผ่านพื้นที่และกิจกรรม เช่น สวนส่วนกลางที่มีทั้งสวนครัว และสวนที่จะมีม้านั่งหรือพื้นที่ต่างๆ พื้นที่เกือบทั้งหมดของอาคารจะชวนให้ผู้สูงอายุออกจากห้องมาใช้เวลาในพื้นที่กลางแจ้งและพื้นที่ชุมชน
จุดเด่นสำคัญของโครงการคือ พื้นที่ส่วนกลางส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่บริการที่สัมพันธ์กับย่านรอบๆ ด้วย หนึ่งในพื้นที่สำคัญของโปรเจ็กต์นี้จะมีศูนย์อาหารริมทาง หรือ Hawker Center พื้นที่และวัฒนธรรมอาหารของสิงคโปร์ ศูนย์อาหารนี้แน่นอนว่าจะเป็นพื้นที่รับประทานอาหารที่ราคาเข้าถึงได้ และกระตุ้นให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารมากขึ้น การกินอาหารที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้นเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งการบริโภคน้อยลง ไม่สนใจการกินอาหารสุขภาพ และในมุมสำคัญแม้แต่บ้านเราเอง ศูนย์อาหารและห้างก็เป็นอีกพื้นที่สำคัญที่ผู้สูงอายุจะออกมาใช้เวลาในตอนกลางวัน
ตัวศูนย์อาหารของอาคารที่พักอาศัยสูงวัยจะเป็นพื้นที่ที่ชุมชนรอบๆ เข้ามาใช้บริการได้ รวมทั้งร้านค้า ลานส่วนกลาง ไปจนถึงสวนของอาคารก็ล้วนเปิด และนับเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเมืองรอบๆ ตรงนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะปกติเรามักคิดภาพชุมชนผู้สูงอายุที่แยกตัวออกจากชุมชน เป็นพื้นที่เอกเทศหรือโดดเดี่ยว การพัฒนานี้จึงเป็นการพัฒนาที่ยังพาผู้สูงอายุให้อยู่ในการเคลื่อนไหว และยังอยู่ในกิจกรรมของเมือง
โปรเจ็กต์ Kampung ยังได้รับรางวัลสำคัญอย่าง World Building of the Year จาก World Architecture Festival ในปี 2018 ทำให้ตัวโปรเจ็กต์กลายเป็นหมุดหมายการพัฒนา โดยมีการพัฒนาโปรเจ็กต์แบบเดียวกันคือ Vertical Kampung ที่เขต Yew Tee หรือล่าสุดคือการพัฒนาอาคารพักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุในย่าน Bedok จำนวน 200 ยูนิต ซึ่งแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2023 และมีแผนจะขยายไปอีก 3 พื้นที่ให้ครอบคลุมที่พักอาศัย 600 ยูนิต ทั้งหมดนี้คือการออกแบบในการสร้างที่พักอาศัย เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ด้วยการพึ่งพาตัวเองและเป็นอิสระ
การอยู่อาศัยของสิงคโปร์เป็นการเช่าซื้อระยะยาว และการพัฒนาที่อยู่อาศัยเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนของรัฐ อีกทั้งการอยู่อาศัยเกือบทั้งหมดยังเป็นการอยู่อาศัยในแนวตั้งและมีราคาเช่าระยะยาว กลุ่มบ้านผู้สูงอายุจึงมักเป็นการจองสิทธิ และสร้างตามความต้องการ (ทั้งรูปแบบ ขนาด หรือหน้าตาห้อง คือจองก่อนสร้างทีหลัง) ราคาอาจอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อการเช่า 15 ปี และ 65,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อการเช่า 35 ปี ข้อมูลจาก The Housing & Development Board (HDB) พบว่าจริงๆ แล้วคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1-2 ล้านบาท และอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประกอบ แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการในฝันที่เราอยากลงทุนรอทางหนึ่งเลย
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา อันที่จริงประเด็นบ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เศร้า และตอบสนองสนับสนุนชีวิตที่ดีก็มี แต่มักจะใน 2 รูปแบบคือ แพงมาก หรูหรามากจากการลงทุนของเอกชน กับบ้านแนวสงเคราะห์ โดยเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา โครงการการลงทุนกึ่งรัฐอย่างกรมธนารักษ์ก็มีโครงการรามาฯ-ธนารักษ์ ที่เป็น “ศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร” (Senior Complex)
ตัวโปรเจ็กต์ของธนารักษ์มีแนวคิดและสาธารณูปโภคใกล้เคียงกันคือ เป็นที่พักอาศัยที่มีศูนย์การแพทย์ รวมถึงบริการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิต เน้นให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างแอ็กทีฟ และส่งเสริมให้มีสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ซึ่งทีมออกแบบก็เป็นสถาปนิกชาวไทยที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบร่วมกับพื้นที่ธรรมชาติ
โครงการรามาฯ-ธนารักษ์มีเงื่อนไขคือต้องอายุเข้าวัยเกษียณ 59-60 ปีในวันเข้าอยู่ถึงจะสามารถจองได้ โดยมีค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์ และราคาของกรมธนารักษ์จะอยู่ที่ราวๆ 1 ล้านปลายๆ ถึง 2 ล้าน แต่มีความโดดเด่นในแง่การดูแลทางการแพทย์ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2026 และการครอบครองเป็นการจองสิทธิระยะยาว 30 ปี
สุดท้ายจากการพัฒนาเรื่องบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวลที่สุดในการอยู่อาศัย บ้านที่ปลอดภัย ใกล้สาธารณูปโภค เดินทางไปคลินิกง่าย มีพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่อาหารและไม่แยกเราออกจากโลกภายนอก มีราคาพอรับได้สำหรับการใช้ชีวิตโดยไม่เศร้าเหงาหงอย บ้านสูงอายุอันเป็นกระแสการออกแบบ การลงทุนและการพัฒนาเมือง จึงดูจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ ‘คนแก่เขา-หรือคนแก่แบบเราๆ’ ในอนาคตต้องการที่สุด พื้นที่ที่จะทำให้เราไม่ต้องการเวลาของใคร แต่เป็นเวลาของเราที่ใช้อย่างได้แข็งแรง อิสระ และไม่ต้องพึ่งพาใคร
อ้างอิงจาก