การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย มีความเหนื่อย ความลำบากของพ่อแม่มากมาย กว่าลูกคนหนึ่งจะเติบโต
และในตอนนี้ ก็มีเพจ และช่องยูทูบเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมากมายเต็มไปหมด หนึ่งในนั้น คือช่องยอดฮิตอย่าง ‘Little Monster Family’ ที่ทำคลิป และคอนเทนต์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก และการใช้ชีวิตประจำวันในครอบครัวของพ่อเหว่ง แม่ตุ๊ก น้องจิน และน้องเรนนี่ ที่มีผู้ติดตาม และแฟนคลับจำนวนมาก จนความน่ารักและความตลกของน้องๆ กลายเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียล
‘พ่อเหว่ง ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์’ แห่งครอบครัว Little Monster ได้คุยกับ The MATTER ถึงการเลี้ยงลูกและทำคอนเทนต์ในทุกวันนี้ว่า เขาสนุกที่ได้ใช้เวลากับลูกๆ และพยายามใช้เวลากับการพูดคุย และอธิบายกับลูกให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลูกๆ เองเชื่อใจกับพ่อแม่ด้วย
Little Monster กับการทำคอนเทนต์
ช่องทางของ Little Monster มีคนติดตามเป็นจำนวนมาก ทั้งทางเพจเฟซบุ๊กที่ตอนนี้มียอดไลก์ 2.6 ล้าน และยอดติดตามในยูทูบอีกกว่า 5 แสน ทั้งเรายังเห็นคอนเทนต์ที่อัพเดท และรายการใหม่ๆ ขึ้นทุกวัน เราจึงเริ่มถามพี่เหว่งถึงเรื่องการทำคอนเทนต์กับลูกๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีวิธีการทำงานอย่างไร และลูกๆ รู้ไหมว่ากำลังทำอะไรกันอยู่
“มีสนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง มันจะสนุกตรงเวลาที่เขาอารมณ์ดี เขาเล่นกับเรา แต่ถ้าเกิดเราต้องทำคอนเทนต์ในวันที่เขาอารมณ์ไม่ดี ก็จะไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะเราต้องใช้วิธีเยอะมาก ในการที่จะหลอกล่อ และใจเย็นมากๆ ในการที่ต้องทำให้มันผ่านไปได้ มันก็เลยมีทั้งสนุก และไม่สนุก แต่โดยรวมก็คือสนุกดี”
“จิน 7 ขวบแล้ว ก็จะเริ่มรู้ว่านี่คืองานของพ่อ เริ่มรู้เกือบทุกอย่าง แต่ว่าบางอย่างก็อาจจะไม่รู้ ก่อนหน้านี้ตอนจินอายุ 5-6 ขวบ เราก็ยังเริ่มใหม่กับการทำคอนเทนต์ ตอนนั้นเขาก็ยังไม่รู้เลยว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ แต่ตอนนี้เขารู้ สมมติถ้าทำสปอนเซอร์สินค้า เขาก็จะคิดว่า เขาอยู่ในช่วงอยากช่วยเราขายไหม ถ้าอยู่ในอารมณ์นั้นเขาจะช่วยพูด
ส่วนเรนนี่ยังรู้บ้างไม่รู้บ้าง มีบางอันที่รู้จริงๆ เช่นถ้าเรากำลังรีวิวบางอย่าง เขาจะมาช่วยพูดเลยก็มี มันแล้วแต่ แต่โดยส่วนใหญ่ก็คือจินรู้เกือบจะ 100%แต่เรนนี่ยังไม่รู้เกือบ 100%”
พี่เหว่งเล่าให้เราฟังว่า คลิปอื่นๆ ที่ถ่ายกันในครอบครัว ส่วนใหญ่ไม่มีการบรีฟ ไม่มีการเตี๊ยม และก็ยังเป็นตัวน้องๆ เองเลยด้วย ซึ่งบางรายการนอกจากจะเป็นตัวเองแล้ว ยังทำเพื่อฝึกน้องๆ ในบางอย่างด้วย
“คลิปที่ไม่ใช่โฆษณาที่เราอัดทำกิจกรรมในครอบครัวต่างๆเรามีการบรีฟจิน ไม่บรีฟเรนนี่ อย่างรายการชื่อ ‘Rainnie Can do’ เราทำเพื่อเทรนด์เรนนี่ไปสู่ภารกิจบางอย่าง อาจจะเกี่ยวกับความอดทน หรือวินัยของเขา มันต้องมีโจทย์บางอย่างที่ทำให้เขาถูกฝึก อันนี้เรนนี่ต้องไม่รู้ เป็นการแอบถ่ายบ้าง หรือบางครั้งก็ถ่ายแบบตั้งใจถ่าย แต่จะต้องมีคนเทรนด์ เช่นเราบอกจินว่า เราจะต้องถ่ายกันแบบนี้ เตี๊ยมกันแบบนี้ ไม่ให้น้องกินอันนั้น อันนี้นะ เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เพื่อสอนเขา
เพราะถ้าเขารู้ว่าถ่ายคลิป บางทีเขาก็จะงงว่ามันจริง หรือไม่จริง เด็กๆ เขาก็จะงงได้ เพราะเราทำคลิปที่มันเรียล ไม่ใช่การแสดง โดยส่วนใหญ่ Little Monster ไม่ค่อยแสดง เรียลเกือบ 100% เลย”
แต่ถ้าเป็นคลิปอีกประเภทนึง ที่เราเจอเขาทำอะไรตลกๆ เราก็หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย แล้วเราก็คุยกับเขา เล่นบ้าง เอามาตัด เป็นคอนเทนต์ตลกๆ อันนี้ไม่มีรูปแบบ บางทีมาคุยกับเล่นกับเรา อยากกินอะไร ก็กลายเป็นคลิปได้ บางทีเราเล่นกีต้าร์ ร้องเพลงกับลูกเราก็ตั้งกล้องได้ แต่บางทีเราก็ไม่มีอารมณ์อยากจะอัดทุกอย่างอยู่แล้ว เราก็ช่างมัน เราไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็ตั้งกล้องหมด เด็กๆ เองถ้าอยากถ่ายเขาก็ถ่าย ถ้าไม่อยากถ่ายเขาก็จะเล่น วิ่งไปวิ่งมา เราบังคับเขาไม่ได้ ให้เขาแอคติ้งไม่ได้
“จริงๆ ในคลิปก็เป็นตัวครอบครัวเราเองจริงๆ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เราอาจจะมีด้านอื่นบ้าง เด็กๆ อาจจะแย่งของเล่นกันมากกว่านี้ หรืออาจจะตีกันมากกว่านี้ เราไม่ได้เอาลงทั้งหมด”
จากการทำคลิปใน Little Monster เราเห็นคนรู้จักจิน กับเรนนี่เยอะมาก เป็นแฟนคลับน้องๆ กัน แต่พี่เหว่งก็เล่าให้เราฟังว่า น้องๆ เองก็พอจะรู้ว่ามีคนติดตามเขา แต่ด้วยความที่เป็นเด็กก็ยังไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง
“เรนนี่ไม่รู้ว่ามีคนติดตามเยอะ แต่เขารู้ว่ามีตัวเขาอยู่บนสมาร์ททีวี เวลาเราเปิดดูยูทูบตัวเองบ้าง เพราะจินชอบดู ส่วนจินจะรู้ เพราะที่โรงเรียนมีหลายคนมาทักเขา รู้ว่านี่คือ Little Monster คุณครูก็ดูเขา ถึงเขาจะเป็นคนที่ขี้อาย ปรับตัวกับคนอื่นยาก แต่เขาชอบ เขาภูมิใจที่มีคนดูเขา แต่เขาก็ไม่ได้ทำตัวพิเศษ เวลาอยู่ที่โรงเรียน เคยถามเพื่อนๆ เขา เพื่อนๆ ก็บอกว่าจินไม่เหมือนในคลิปเลย ในคลิปดูเป็นคนตลก แต่ตัวจริงเขาขี้อาย
ส่วนเรนนี่ มีคนมาทักเขาเยอะมาก แต่พี่ว่าเขาไม่รู้ว่าปริมาณคนที่รู้จักเขามีเยอะแค่ไหน แต่รู้ว่ามีคนชอบมาทัก ชอบมาขอถ่ายรูป แต่เขาไม่ค่อยอยากถ่าย เขาบอกว่า เขาไม่ค่อยสนิทกับคนพวกนี้ มาถ่ายเขาทำไม เขาก็เป็นเด็ก ก็ไม่อยากถ่าย”
การเลี้ยงลูก ในสไตล์พ่อเหว่ง
จากในคลิปของ Little Monster เราเห็นเด็กๆ ทั้งคู่ค่อนข้างเป็นตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราถามพี่เหว่งถึงสไตล์การเลี้ยงลูกของเขาว่า เขามีกรอบในการเลี้ยงลูกแค่ไหน คิดว่าตัวเองสปอยลูกไหม ซึ่งพี่เหว่งเองก็บอกเราว่า เขาและพี่ตุ๊ก (ภรรยา) ค่อนข้างจะมีกรอบอยู่ แต่กรอบนั้นจะไม่แน่นจนเกินไป
“จริงๆ เราเลี้ยงลูกเหมือนๆ กันนะ แต่ลูกเรา 2 คนไม่เหมือนกันเลย จินเขาจะไม่ค่อยทำอะไรเอง ยกเว้นการวาดรูป แต่เรนนี่ชอบทำเอง เราก็จะปล่อยๆ เขา ถ้าเขาอยากทำอะไร เราก็ให้ทำ เขาอยากเรียน ถ้าเราคิดว่าเราสนับสนุนเขาได้ เราก็จะพาไป สมมติเขาอยากเรียนศิลปะ เราก็พาไป อยากเรียนเปียโน ก็พาไป เพราะฉะนั้นเราก็สนับสนุนตรงนี้มากกว่า
แต่ถ้าอิสระในการให้ทำอะไรก็ทำ เล่นอะไรก็เล่น ตรงนี้ไม่เสมอไป เราก็ดูความเหมาะสมนั้นว่า สิ่งที่เขาเล่น เหมาะสมกับวัยเขาไหม สิ่งที่เขาดู การ์ตูนในทีวี หรือว่าออนไลน์เหมาะสมกับเขาหรือเปล่า สมมติฉากจูบกัน ถ้ามีเราก็จะบอกว่า อย่าเพิ่งดูนะ ทุกครั้งที่ตัวละครเริ่มเอาหน้าใกล้กัน เขาก็จะเอาหมอนปิดตากัน 2 คน เขารู้ว่ามันจะทำอะไร แต่เขาก็จะปิด คือเราค่อนข้างจะมีกรอบ แต่กรอบเราจะไม่แน่น คือปล่อยตามตัวเรา ไม่แน่นเกินไป”
พี่เหว่งยังเสริมกับเราว่า ถึงแม้จะมีกรอบ มีการห้ามเขาตามความเหมาะสม แต่ในครอบครัว ก็มีการบอก การอธิบายกับลูกๆ ทุกครั้งว่า ทำไมถึงยังไม่ให้ดู และเหตุผลคืออะไร
“ถึงแม้เขาจะไม่ถามแต่เราก็ต้องรีบอธิบายให้เขาเลย เช่น ฉากที่เป็นเลือด เป็นมีด หรือข่าวข่มขืน ฆาตกรรม บางทีก็มีหลุดออกมาให้เขาเห็น เราก็บอกเขามันคือสิ่งไม่ดี ผู้ชายเป็นคนไม่ดี เขาทำผู้หญิงให้ตาย ไม่อยู่ในโลกนี้เลย เราอธิบายให้เขาฟังในแบบของเรา เพราะเรื่องพวกนี้เขามีโอกาสที่จะรับรู้และเจอตลอด
เรนนี่ก็ยังเด็ก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคอยป้องกันตรงนี้ การ์ตูนที่มีความรุนแรงก็ต้องเอาให้ไกลจากเขา แต่ก็ต้องบอกเขา สอนเขา เพราะเขาก็จะมีเหตุผล และถาม เด็กก็มีเหตุผลแล้ว เราห้ามเขาอย่างเดียวไม่ได้”
“เราเป็นครอบครัวคนจีน พี่โตมากับการถูกห้ามหลายๆ ครั้ง ถูกห้ามว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ หรืออาจจะมีการขู่ว่า ตำรวจจะมาจับนะ จริงๆ เราไม่ได้โทษ หรือว่าแม่เรานะ เรายกตัวอย่าง แต่พอเราโตมาด้วยการถูกห้ามอยู่บ่อยๆ เราก็มีความเกรงกลัวบางอย่างเยอะติดเป็นนิสัย ทำให้ในวัยเด็กๆ ของพี่ขี้กลัว ดังนั้นการห้ามมันก็ต้องอธิบายจากเหตุผลด้วยว่า เราห้ามเขาเพราะสิ่งที่ตามมาคืออะไร เขาจะฟังไม่ฟังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย”
บางเรื่องเราก็ไม่ให้เขารู้นะ ตามวัยแล้วเขายังไม่ต้องรู้ แต่โลกทุกวันนี้มันไปเร็ว อย่างเรื่องเพศ เราคงต้องสอน อย่างข่าวการล่วงละเมิด การมาถึงเนื้อถึงตัว วันนี้เราต้องสอนเพื่อกันไว้ก่อน เราก็จะบอกใหเขาป้องกันตัวเอง ถอยห่าง ไม่ให้ใครมาโดนของเรานะ เราจะห่วงเรื่องนี้ เพราะลูกเราโตขึ้นมา ก็คงจะมีผู้ชายเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็ไม่อยากให้ลูกเราซื่อบื้อไปโดนใครหลอก ใครจะเข้ามาก็ต้องผ่านพ่อไปก่อน”
เราคุยกับพี่เหว่งต่อว่า ทุกวันนี้ เขามีการวางแผนในการเลี้ยงลูกไหม วางไว้ยังไง ซึ่งพี่เหว่งก็บอกเราว่า เขาอยากเลี้ยงลูกให้มีความเชื่อใจกัน ใส่ใจกัน และคุยกันในครอบครัวเยอะๆ และไม่มีความลับต่อกัน
“จริงๆ การเลี้ยงลูก มันก็ปรับขึ้นทุกวันนะ พี่ไม่ได้วางแผนไกล วันนี้พี่อาจจะบอกว่า อยากไปเดินกับแฟนเขาด้วย แต่ถึงเวลาจริงๆ เราก็ไม่รู้ว่ายังไง โลกมันเปลี่ยนเร็ว เราต้องดูแลเขาใกล้ชิดมากกว่า ตุ๊กพยายามจะถามเขาบ่อยๆ ว่าวันนี้เขาไปโรงเรียนเจออะไรมาบ้าง เล่าให้เราฟังไหม
เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ใจกับเขา คุยกับเขาในทุกๆ เรื่องได้ เราแชร์ให้เขาฟัง เขาแชร์ให้เราฟังเรื่อยๆ ในเรื่องที่ไม่ใช่ความลับ ไม่มีความลับต่อกัน มันก็น่าจะเป็นการเลี้ยงลูกที่สบายใจขึ้นในระดับนึง
แปลว่าถ้ามีผู้ชายเข้ามา เขาก็จะบอกเรา แต่ถ้าเราปิดกั้นทุกเรื่อง เรื่องนี้ไม่บอก เรื่องเพศไม่พูด ถ้าถึงวัยที่เขาต้องรู้ เขาก็จะรู้ แต่ถ้าเราไปบล็อกไว้ เขาก็จะแอบไปรู้จากเพื่อน ซึ่งก็อาจจะรู้ผิดก็ได้ เรามีประสบการณ์มากกว่าเราต้องเป็นคนบอก เพราะฉะนั้นพี่มองว่าคุยกันเยอะๆ น่าจะดี”
“และอะไรก็ตามที่เราทำผิด หรือเราพลาดแล้วเราต้องบอกเขาว่าสิ่งที่ถูกคืออะไร เราต้องอธิบายให้เขาฟังด้วย ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้วเราปากหนัก เราต้องกล้าพูด กล้าขอโทษ และกล้าที่จะบอก อธิบายกับเขา เพราะถ้าเราขอโทษเขาเป็น ลูกเขาก็จะขอโทษเราเป็น และอธิบายกับเราเป็น ถ้าเราทำก่อน”
การส่งความรักให้ลูกทั้ง 2 และการไม่เปรียบเทียบเด็กๆ
เรนนี่เพิ่งเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลไป การเดินทางไปส่งลูกๆ จากส่งจินแค่คนเดียว ก็ต้องไปกันทั้งครอบครัวแล้ว พี่เหว่งก็เล่าให้เราฟังว่า ตอนนี้ก็ต่างจากเดิมเยอะ เหนื่อยมากขึ้นเยอะ แต่ก็เป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
“ยกตัวอย่างแค่ไปโรงเรียน สมัยก่อน ตอนที่จินตื่นไปโรงเรียน เรนนี่ก็ยังนอนอยู่กับตุ๊ก พี่ก็ไปส่งคนเดียว ตอนนี้ก็ต้องแห่กันไป ถ้าเรนนี่ร้องไห้ก็ต้องมีคนไปประกบ แค่นี้ก็ต้องตื่นเช้ากว่าเดิมทั้งบ้าน ทุกอย่างมากกว่าเดิมคูณ 2 เพราะว่าคูณ 2 เดิมคือถ้ากิน ก็กิน 2 จาน แต่งตัวก็ 2 ชุด แต่มันมากกว่านั้น คือมีบวกๆ อีก ถ้า 2 คนนี้เขาสู้กัน อันนี้ก็จะฟ้อง คนนี้ก็จะเอา จากเรื่องไม่มีอะไรก็จะฟ้อง เพราะฉะนั้นมันก็วุ่นวายขึ้นเยอะ แต่ก็เป็นปกติ
“เวลาเขาทะเลาะกัน สมัยก่อนเราก็จะห้ามเลย ห้ามโดยที่ไม่ได้บอกสาเหตุ ซึ่งผิดเพราะเราห้าม โดยที่ไม่ได้ไปสืบสาเหตุก่อนว่า จริงๆ มันเกิดจากอะไร บางทีคนน้อง หรือพี่อาจจะผิดก็ได้ จริงๆ เราควรจะให้สิทธิ ว่าเรื่องนี้ใครผิด ใครถูกยังไง หรือประณีประนอมยังไง ทะเลาะกันแค่ไหน
การทะเลาะของเด็กทุกครั้งไม่ได้แปลว่าพี่จะต้องยอมเสมอ ไม่ได้แปลว่าคนน้องจะต้องถูก มันควรจะมีการเข้าใจถึงเขา การเลี้ยงลูก 7 ขวบ และ 3 ขวบ เราจะเลี้ยงเหมือนกันไม่ได้ ถ้าลูกวัยต่างกัน ไม่ได้แปลว่าต้องเลี้ยงเหมือนกัน”
การมีลูก 2 คน หลายครั้งก็จะมีประเด็น ปัญหาเรื่อง การลำเอียงรักลูกคนไหนมากกว่า หรือทำยังไงให้รักลูกเท่ากัน ซึ่งพี่เหว่งกลับบอกเราว่า เขาไม่เชื่อในเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่เขาทำคือแค่ส่งความรักไปให้เขาทั้งคู่อย่างเต็มที่
“พี่ไม่เชื่อเรื่องการรักลูกเท่ากันสักเท่าไหร่ ในเมื่อความรักมันเป็นสิ่งที่ชั่งตวงไม่ได้ขนาดนั้น คำว่าเท่ามันอาจจะไม่เท่าก็ได้ พี่ว่าอยู่ที่สถานการณ์มากกว่า เรื่องนี้ถ้าคนนี้ผิด แล้วเราไปบอกว่าถูกก็ไม่ได้ อย่างงั้นคือรักลูกไม่เป็นประเด็นคือว่าเราส่งความรักให้เขาเต็มแค่ไหนมากกว่า เราส่งไปถึงลูกของเราสองคนแค่ไหน ไม่ใช่เทไปทางคนนี้ตลอด และเราก็จะรักตามวัยของเขา ให้เหตุผลตามวัยของเขา
เพราะฉะนั้นการบอกว่ารักลูกเท่ากัน พี่ลืมไปเลย พี่ไม่ได้สนใจคำนี้ สำหรับพี่จริง หรือไม่จริงไม่ใช่เรื่องต้องพิสูจน์ เรารักลูกเรา และเราจะให้อะไรลูกเราที่ดีที่สุด เท่าที่เราจะมีปัญญาทำให้เขา แต่ก็ไม่ได้ทำทุ่มจะเป็นจะตาย ต้องบาลานซ์ดีๆ ชีวิตจะได้มีความสุข”
นอกจากการรักลูกแล้ว ยังมีเรื่องของการเปรียบเทียบลูกๆ ทั้งในการเปรียบเทียบกันเองในพี่น้อง และเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น ที่บางครอบครัวอาจจะมองว่าเป็นวิธีที่ดีในการผลักดันลูกๆ แต่กลับบ้านพี่เหว่ง เขามองว่าไม่ควรจะมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น
“จินจะไม่เข้าใจบางอย่าง เขาจะเปรียบเทียบตัวเองกับน้อง เช่น ทำไมเรนนี่ได้ข้าวน้อยกว่า เพราะสำหรับเราเรนนี่เขาตัวเล็กกว่า แต่จินเขามองว่าข้าวน้อยกว่าคือเรื่องที่ดี เขาอยากได้บ้าง เราก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ การเปรียบเทียบมีอยู่ตลอดเวลา และทุกวันอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราอธิบายให้เขาเข้าใจหรือเปล่า
จริงๆ การเปรียบเทียบไม่ได้แปลว่า เขาสงสัยว่าเรารักใครน้อยกว่า มากกว่า บางอย่างเขาแค่ต้องการอยากรู้ว่าทำไมเขาไม่ได้สิ่งนี้ แต่น้องอยากได้สิ่งนี้ ซึ่งถ้าเราอธิบายให้เขาเข้าใจ เขาก็เข้าใจ”
“พี่ไม่ชอบการเปรียบเทียบ สมัยตอนพี่เด็กๆ อากงจะชอบเปรียบเทียบ ด้วยความที่เป็นคนจีนรุ่นโบราณ เขาจะชอบคนที่เรียนดี สมมุติพี่ถูกชมว่าประพฤติดีเกินกว่าพี่น้อง เราไม่ได้รู้สึกดีนะ เรารู้สึกว่า อย่ามาลำเอียงกับเรา เราไม่ชอบ ดังนั้นการที่เรายิ่งไปเปรียบเทียบลูกเรากับลูกคนอื่น ยิ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เราจะเปรียบกับคนที่ด้อยกว่า หรือสูงกว่ามันก็ไม่ได้ดีกับลูกเรา
สำหรับพี่ พี่เลี้ยงลูกแบบว่า ให้เขาทำสิ่งที่อยากทำ ตัวเขาตั้งใจจะทำอะไร มีความสุขแบบไหน ให้เขามีวินัยในสิ่งที่เขาควรทำดีกว่า การเปรียบเทียบบางทีมันก็ไปบั่นทอนจิตใจเขา ถ้าบอกว่าอันนั้นสวยกว่าเขา เพื่อจะกดดันเขาให้ไปเก่งเท่านั้น เขาก็รู้สึกไม่ดี หรือถ้าเขาทำอะไรได้ปานกลาง แต่เราไปบอกว่าดีกว่าคนนั้นตั้งเยอะ ก็กลายเป็นว่าให้เขาอยู่แบบธรรมดาไป ไม่ต้องมองอะไรให้พัฒนาอีก ก็ไม่ใช่
แปลว่าเรามองโลกเป็นแบบกลางๆ ดีกว่า เรารู้ว่าเขาควรจะเป็นแบบไหน ถ้าเขาวาดรูปแบบมีพัฒนาการ เราก็ชื่นชมเขาเพราะเขามีพัฒนาการที่ดี ไม่ใช่หลับหูหลับตา ทำอะไรก็ชมสวย ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบสำหรับพี่ ไม่ใช่ทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าจะไม่เปรียบเลย บางครั้งเปรียบเปรยมันก็ทำให้เขาเห็น แต่เทียบลูกเรากับลูกคนอื่น พื้นฐานไม่เหมือนกัน พี่ว่าไม่ควร”
ความคาดหวังต่อลูก และหน้าที่ของพ่อแม่
ยุคสมัยเปลี่ยนไป สมัยนี้ดูมี how to ในการเลี้ยงลูกมากมาย มีช่องทางการแนะนำเต็มไปหมด เราถามพี่เหว่งว่า เขามองว่าการเป็นพ่อแม่สมัยนี้ ต่างจากในตอนที่เราถูกเลี้ยงมาไหม พี่เหว่งก็มองว่า ค่อนข้างต่างกันมาก และสมัยนี้ก็มีความกังวลมากด้วย
“พี่จะบอกว่าคนเลี้ยงลูกสมัยนี้ก็ต้องรับความทุกข์ให้ได้นะ มีความสุขจริง ใช่ แต่รับความทุกข์ให้ได้ เพราะลูกเราเราก็จะมีความทุกข์เสมอ เมื่อเขาเจ็บ เครียด หรือร้องไห้
“ตอนพี่ถูกพ่อแม่เลี้ยง เราถูกเลี้ยงมาอย่างมีความคาดหวังสำหรับหลานคนจีน หรือลูกคนจีน เผอิญเราเรียนโอเค ค่อนไปทางดี ก็มีความคาดหวังจากทั้งพี่น้อง พ่อแม่ อากง ที่อยากให้เราได้คะแนนดีๆ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของพ่อแม่ มันทำให้เป็นภาวะกดดัน ทำให้เราเครียดในการเรียน เราอยากเรียนดี อยากได้คะแนนดีๆ ดังนั้นเรื่องของการกดดันคาดหวังก็จะมี
ส่วนตัวเรา เวลาเราเลี้ยงลูก เราเปลี่ยน เราไม่ได้เอาความกลัวไปขู่เขา แต่เราสอนด้วยเหตุผลมากกว่า เพราะเรารู้ว่าสอนแบบนั้น บางมุมมันเป็นลบ เราก็จะไม่ทำ หรือบางอย่าง เช่นการเข้มงวดมากๆ เราก็ไม่ทำ”
“เรารู้สึกว่าเราเลี้ยงลูกแบบแฮปปี้มากกว่า เลี้ยงประมาณนี้แหละ พี่ถึงพยายามบอกในเพจ หรือใน Little Monster ว่า ตัวเราไม่ได้อยากเป็นตัวอย่างขนาดนั้น เราอยากเป็นแค่ครอบครัวที่คนอื่นมองว่า เราเลี้ยงลูกในแบบของเรา เท่าที่เราพยายามเลี้ยง และเราแฮปปี้กับเวลาที่เรามี ที่เลี้ยงเขา ไม่ได้คาดหวังแบบสูงมาก หรือต่ำมาก เราอยู่ให้มีความสุขดีกว่า
“พี่ไม่ได้อยากให้ลูกพี่เรียนเก่งที่สุด พี่อยากให้ลูกพี่มีความสุขที่สุดในสิ่งที่เขาชอบ พี่ไม่ได้อยากให้ลูกไปเก่ง หรือไปอะไรเร็วๆ อยากให้เขาโตตามสิ่งที่เขาเป็นบางอย่างคนก็อาจจะบอกว่าทำไมไม่พาลูกไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา และเราก็คิดว่าลูกเราก็เหมือนเราประมาณนึงนะ
พี่เหมือนจิน และตอนพี่เด็กๆ จินเหมือนพี่เลย แล้วพี่ก็โตมาเป็นอีกแบบนึงเลย และพี่ก็เดาว่าจินเขาก็จะต้องเจอปมอะไรบางอย่างในชีวิตเขาเหมือนกัน เป็นเด็กที่พัฒนาเข้ากับคนอื่นยากเหมือนกัน เรนนี่ก็เป็นอย่างนั้น เรนนี่กับจินเจอคนข้างนอก เขาไม่ได้อยากจะคุยด้วยแบบนั้น มันไม่เหมือนในคลิป เพราะฉะนั้นพี่มองว่าเราเป็นแบบนี้แหละ เราไม่ต้องไปทันโลกใน เราไม่ต้องไปเร็วเว่อ
เราคาดหวังแค่ว่าจะเจอชีวิตที่มีความสุข คาดหวังว่าจะเจอคนดีๆ เข้ามาอยู่ในชีวิตเขา เพราะเราเชื่อว่าลูกเราก็น่าจะเป็นคนที่ดีประมาณนึงอาจจะมีนิสัยบางอย่างที่ไม่ดี แต่เราเชื่อว่าเขาจะเป็นคนดี เราไม่ได้คาดหวังอะไรเยอะ ไม่ได้คาดหวังให้เขามาดูแลเราด้วย เพราะเราแก่ไปไม่มีใครดู เราก็จ้างพยาบาลได้ เราว่าอยู่กันไป มีความสุขแบบนี้ เขาเติบโต เราก็อยู่ดูเขาโต อยู่ดูเขาเรียนรู้ชีวิต อยู่กับตุ๊กและครอบครัวก็พอแล้ว”
พี่เหว่งบอกเราว่า แม้ในครอบครัวจะไม่มีความคาดหวัง แต่บางครั้งครอบครัวเขาก็ถูกตั้งความคาดหวัง และมีความกดดัน เมื่อถูกมองว่าเป็นครอบครัวที่ดี พิเศษ เพราะเขามองว่า ครอบครัวเขาคือครอบครัวธรรมดาๆ ที่มีทั้งมุมที่ดี และไม่ดี ทั้งยังไม่ได้เป็นกูรู ที่เชี่ยวชาญและรู้ทุกอย่างในการเลี้ยงลูก
“ถ้ามีคนบอกว่าครอบครัวนี้เป็นไอดอล ไม่ทะเลาะกันเลย เราบอกได้เลยว่าไม่จริง เราทะเลาะกัน และเราก็ไม่ใช่ครอบครัวที่ลูกเราไม่ตีกัน หรือเรากับตุ๊กไม่ทะเลาะกันเลย เราก็มีปัญหาในแบบของเรา เราก็มีปัญหาความเครียดในระดับที่สูงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจะกดดันถ้าคนมองเราบวกเกินไป มองว่าเราเป็นครอบครัวที่วิเศษเกินใคร เราเป็นครอบครัวที่ธรรมดา ที่อาจจะนำเสนอมุมมองว่าเรามีความสุข มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เราไม่ได้เฟคนะ แค่เราอาจจะไม่ได้นำเสนอด้านลบแบบหนักๆ ให้เห็น ซึ่งเราก็มี”
“เราไม่ใช่สุดยอดกูรูเรื่องการเลี้ยงลูก ตอนเราตั้งเพจเราก็เป็นพ่อแม่มือใหม่ วันนี้เราก็ยังเป็นพ่อแม่มือใหม่ที่เลี้ยงลูก 7 ขวบ และ 3 ขวบ คนที่เคยเลี้ยงลูก 7 ขวบมาก่อนเราก็มีเยอะแยะ เราไม่ได้พิเศษขนาดนั้น จริงๆ เราก็เป็นเหมือนพ่อแม่มือใหม่ตลอดเวลานะ เพราะตอนนี้จิน 7 ขวบ ส่วนเรนนี่ 3 ขวบครึ่ง เราก็เคยเลี้ยงจินในวัยนั้นมาแล้ว มีพื้นฐานมาแล้ว แต่ตอนที่จินเป็นวัยรุ่นต่อไป เราก็ยังไม่เคยเลี้ยง เราก็ยังไม่เคยเจอ
เพราะฉะนั้นพี่มองว่าเราไม่ใช่กูรูขนาดนั้น ถ้าถามว่าลูกเขาเป็นแบบนั้น แล้วมาถามเราได้ไหม ถามเราได้ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะตอบตรงไหม เพราะเด็กแต่ละคนพื้นฐานไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน พื้นฐานนิสัยไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า เห็นเรนนี่เป็นเด็กชอบกิน อยากเลี้ยงให้เป็นแบบนี้บ้าง มันไม่ใช่นะ ทุกคนต้องเข้าใจก่อน”
สุดท้ายแล้ว เราถามพี่เหว่งถึงเรื่องการทำคอนเทนต์ใน Little Monster ในอนาคตต ว่ามีการวางแผนยังไงต่อ จะทำรายการแบบไหนถ้าลูกๆ เริ่มโตขึ้น ซึ่งพี่เหว่งก็ตั้งใจว่าจะทำคอนเทนต์ต่อไป และต้องเป็นคอนเทนต์ที่ให้ประโยชน์อะไรกับคนดูด้วย
“เราคงทำไปเรื่อยๆ ตอนแรกมันคือเพจที่ตุ๊กอยากบ่นเรื่องการเลี้ยงลูก การเป็นพ่อแม่มือใหม่ ก็เป็นคาแรคเตอร์การ์ตูน เป็นคอนเทนต์ว่าแม่เลี้ยงลูก เจอปัญหาอะไร แล้วอยู่ๆ ก็กลายเป็นคน เป็นครอบครัวขึ้นมา ซึ่งวันนึงถ้าจินและเรนนี่โตขึ้น เราก็เชื่อว่าคนที่ชอบดูเด็กๆ ก็อาจจะไม่ดูเขาแล้ว และถ้าเขาโตไปมีชีวิตของเขาแล้ว เขาอยากจะทำคอนเทนต์ หรือไม่อยากทำคอนเทนต์ก็เป็นเรื่องของเขาเช่นกัน เราก็คงจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนคอนเทนต์มาอยู่ที่แม่ และเด็ก ที่ให้ความรู้และความบันเทิงอีกแบบนึง อาจจะเป็นการ์ตูนเหมือนเดิม หรืออาจจะเป็นแนวใหม่ๆ เป็นรายการตลกก็ได้
จิน หรือเรนนี่อาจจะอยากทำรายการต่อ แต่ประเด็นสำคัญคือ เขาอยากจะทำต่อไหม และยังมีคนดู หรืออยากจะดูเขาอยู่หรือเปล่า สมมุติไม่มีคนดู เขาอาจจะเลิกทำก็ได้ ประเด็นคือต้องทำแล้วสนุก มีความสุข และต้องให้อะไรบางอย่าง
Little Monster ให้อะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ให้เสียงหัวเราะ ให้สิ่งที่น่ารัก น่าเอ็นดู หรือให้สาระกับพ่อแม่บ้าง พี่มองว่าทำคอนเทนต์อย่างน้อยก็ต้องมีประโยชน์”