อีกหนึ่งกิจการที่เปิดๆ ปิดๆ ในช่วงโรคระบาด ไม่ต่างจากร้านอาหาร ซาลอน บาร์ และฟิตเนส ก็คือกิจการที่มอบประสบการณ์สุข เศร้า เหงา และตื่นเต้นให้กับผู้ชม ผ่านจอยักษ์สี่เหลี่ยมอย่าง ‘โรงหนัง’
บางคนอาจมีโอกาสได้ไปดูหนังบ้าง ในช่วงคลายล็อกดาวน์ที่ผ่านมา แต่บางคนตั้งแต่เกิดโรคระบาดก็ไม่เคยได้ไปโรงหนังอีกเลย อาจด้วยความกังวล หรือหนังหลายเรื่องที่พวกเขาเฝ้ารอว่าจะฉายในปี ค.ศ.2020 กลับถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด จนกระทั่งโรงหนังถูกสั่งปิดให้บริการอีกครั้ง เนื่องจากเกิดโรคระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา และไม่มีทีท่าว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะทุเลาลง
อีกทั้ง การปิดให้บริการชั่วคราว ยังทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องชะงักไปทั่วโลก แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์ในบางประเทศแล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าการนั่งดูหนังจะกลับมาปกติอย่างเมื่อก่อน การจำกัดที่นั่ง การเว้นระยะห่าง ความกังวลต่อการได้รับเชื้อ ทำให้ผู้เข้าชมแต่ละรอบบางตาลงอย่างเห็นได้ชัด อาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นักที่จะเอาหนังที่มีทุนสร้างหลายล้านลงไปเสี่ยงในสถานการณ์แบบนี้
แต่เหตุผลที่ทำให้เราคิดถึงโรงหนัง ไม่ใช่แค่เพราะหนังที่อยากดูถูกเลื่อนฉายออกไปเท่านั้น แต่ด้วยรายละเอียดหรือลักษณะบางอย่างที่ดีวีดี บลูเรย์ หรือสตรีมมิ่งไม่สามารถทดแทนได้ จึงทำให้โรงหนังมีความพิเศษขึ้นมา ซึ่งเราอาจจะเพิ่งมาสังเกตเห็นหรือรู้สึกถึงมันในช่วงเวลานี้
ครั้งหนึ่งเราเคยคิดถึงโรงหนัง
ก่อนอื่นขอเล่าข้อมูลที่น่าสนใจนิดๆ หน่อยๆ เพราะไปรู้มาว่าจริงๆ สถานการณ์ที่ทำให้เรากลับมาคิดถึงโรงหนัง ‘เคยเกิดขึ้น’ มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้นก็คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างมาก นั่นก็คือช่วง ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ระบาด ปี ค.ศ.1918-1920 และอย่างที่รู้กันว่า ประวัติศาสตร์ของโรงหนังถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1905 และกลายเป็นที่นิยมของคนหมู่มาก
จนกระทั่ง 13 ปีต่อมา โรคระบาดเข้ามากระทบอุตสาหกรรมนี้ ไม่ต่างจากปัจจุบันที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่
“ปี ค.ศ.1918 ถึง 1920 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมนี้เริ่มจะมีความเคลื่อนไหวบางอย่าง เพื่อสร้างระบบการผลิตที่มีโครงสร้างมากขึ้น รวมไปถึงระบบจัดจำหน่ายหรือจัดนิทรรศการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่พอโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นระหว่างนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
“ภาพยนตร์ยังเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ในปี ค.ศ.1910 แต่ในปี ค.ศ.1918 พวกเขากลับสร้างรายได้มหาศาล และกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจขณะนั้นด้วย” วิลเลียม แมนน์ (William J. Mann) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Tinseltown: Murder, Morphine, and Madness at the Dawn of Hollywood กล่าว
โรคระบาดใหญ่สเปน ทำให้โรงหนังในอเมริกาถูกปิดให้บริการไปหลายสัปดาห์ ไม่ว่าจะทางชายฝั่งตะวันออกหรือตะวันตก และวันที่ 9 ตุลาคมในปีนั้น สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะหยุดส่งหนังเรื่องใหม่ ไปยังโรงหนัง 17,500 แห่งทั่วอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ไปจนถึง 9 พฤศจิกายน จนกว่าวิกฤตจะดีขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ก็ส่งผลกระทบต่อพนักงานที่เกี่ยวข้อกว่าหนึ่งล้านคน (รายงานจาก The New York American)
และประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่หน่วยงานอนามัยของชิคาโกสั่งปิดโรงหนัง ก็ได้มีบทบรรณาธิการของนิตยสาร Chicago Herald and Examiner พาดหัวว่า ‘We Miss Our Movies’ ซึ่งข้างในมีเนื้อความประมาณนี้
“เมื่อโรคระบาดทำให้หนังต้องหยุดฉาย ผู้คนจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ตาม ได้ตระหนักว่าภาพเหล่านั้นสำคัญกับการใช้ชีวิตของพวกเขามากแค่ไหน ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเฝ้าดูภาพเหล่านั้นได้กลายเป็นธรรมเนียมที่เติบโตมาพร้อมกับบุคคลที่มีจิตวิญญาณ ในระดับที่มากเกินกว่าที่จะตระหนักได้ จนกระทั่งภาพเหล่านั้นถูกกีดกันออกไป”
ทำให้เห็นว่าสมัยนั้น การปิดให้บริการของโรงหนังสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้แก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะการที่โรงหนังปิดแปลว่าพวกเขาไม่สามารถดูหนังได้จากที่อื่นอีกเลย เมื่อเทียบกับสมัยนี้ ที่เรายังสามารถรับชมความบันเทิงหลายรูปแบบได้ผ่านสตรีมมิ่งต่างๆ แม้แต่ในช่วงโรคระบาดที่ต้องกักตัวก็ตาม
เมื่อโรงหนังหายไป เราจึงสังเกตถึงความพิเศษบางอย่าง
เนื่องจากสตรีมมิ่งได้กลายเป็นที่นิยมมาสักระยะหนึ่ง และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน จึงเชื่อว่าหลายคนในที่นี้น่าจะอยู่ยุคที่ทั้งดูหนังโรงและหนังในสตรีมมิ่งมากเกือบจะเท่าๆ กันแล้ว และอาจเห็นความแตกต่างหรือลักษณะพิเศษบางอย่างของโรงหนังมากขึ้น จนเกิดอาการคิดถึงขึ้นมาในช่วงกักตัวนี้
ถ้าพูดถึงโรงหนัง สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นสถานที่แฮงเอาท์กับกลุ่มเพื่อน หรือเป็นสถานที่ที่เหมาะจะนัดเดต เพราะนอกจากจะสร้างความใกล้ชิดแล้ว ถ้าเลือกหนังถูกประเภทก็จะช่วยสร้างบรรยากาศได้ด้วย
แต่บางคนก็พบว่า การไปนั่งดูหนังคนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก เพราะเขาชอบที่จะมีประสบการณ์ร่วมกับคนแปลกหน้า แม้หลายครั้งจะน่ารำคาญไปนิดเวลาได้ยินเสียงคนลืมปิดมือถือ เสียงเด็กร้องไห้ หรือเจอคนข้างหลังเตะเบาะ (ไม่นิดละ) แต่บางครั้งมันก็สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ที่คาดไม่ถึงมาก่อน เช่น เมื่อถึงฉาก “Avengers… Assemble!” ในหนังเรื่องอเวนเจอร์ หลายคนก็ร้องเฮขึ้นมาโดยไม่ได้นัดหมาย ทำให้รู้สึกว่าถึงจะไปดูคนเดียว แต่เราก็ยังมีเพื่อนที่หัวเราะ ดีใจ และร้องไห้ไปด้วยกันอย่างน่าวิเศษ แม้ไม่รู้จักกันมาก่อนก็ตาม และเป็นประสบการณ์อาจหาไม่ได้ หากเรานั่งดูสตรีมมิ่งอยู่ที่บ้านคนเดียว
อีกทั้ง การซื้อตั๋วหนังยังถือว่า เรายินดีที่จะ ‘ยอมถูกควบคุม’ บางอย่าง เพื่อให้มีสมาธิกับการจดจ่อกับหนังมากขึ้น เพราะการซื้อตั๋วหนังและเข้าไปนั่งในโรง แปลว่าเราจะต้องปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น และโฟกัสกับเหตุการณ์ตรงหน้าให้มากที่สุด เพราะเราไม่สามารถย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับมันใหม่ได้ แถมยังมีเงินที่เสียไปเป็นเครื่องเดิมพันว่าเราจะพลาดฉากสำคัญๆ ไปไม่ได้นะ ในขณะที่ถ้าเราดูหนังอยู่ที่บ้าน เรามีอำนาจที่จะกดหยุดหรือปิดหนังเมื่อไหร่ก็ได้ จะหยิบมือถือขึ้นมาไถเล่นกี่ครั้งหรือลุกเดินไปไหนก็ได้ เพราะยังไงก็กดย้อนกลับไปดูได้เรื่อยๆ ซึ่งมันอาจทำให้ความต่อเนื่องของอรรถรสที่มีต่อหนังลดน้อยลง
นอกจากนี้ ตั๋วหนังยังให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังสร้างอีเวนต์หนึ่งขึ้นมาให้กับตัวเอง ไม่ใช่แค่ล้มตัวลงบนโซฟาและกดรีโมตเปิดทีวีเท่านั้น แต่เมื่อครั้งที่เราโทรชวนเพื่อน กดเลือกรอบหนัง และจ่ายเงินไปแล้ว ช่วงเวลานั้นจะถูกจับจองอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ และไม่ว่านัดไหนหรือกิจกรรมอะไรก็ต้องพักเอาไว้ก่อน เพราะเราจะต้องขับรถออกไปที่โรงหนัง ซื้อเครื่องดื่ม ซื้อป๊อปคอร์น ใช้เวลาเกือบ 1 ถึง 2 ชั่วโมงไปกับหนังเรื่องนั้นอย่างเต็มที่ เมื่อออกมาจากโรงแล้ว ก็อาจไปหาร้านข้าวนั่งทานหรือไปคาราโอเกะต่อกับเพื่อนๆ ก็ได้ นับว่าเป็นอีเวนต์ที่น่าโหยหาในช่วงวิกฤตนี้จริงๆ
และสุดท้าย เขาว่ากันว่าหนังดีๆ สักเรื่องจะเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อโลก แต่ที่จริงแล้วโรงหนังก็มีส่วนในการทำให้มุมมองนั้นชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน ด้วยจอภาพขนาดใหญ่ ระบบเสียงรอบทิศทาง ความมืด หรือระบบ 3D 4D ซึ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ของเราให้รู้สึกอินไปกับหนังมากกว่าการดูจอทีวีที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมี home theater หลายคนจึงต้องอาศัยบรรยากาศแบบนี้ในโรงหนังเท่านั้น และเมื่อหนังจบก็ค้นพบว่า เราที่เดินออกมาจากโรงนั้น อาจมีมุมมองบางอย่างที่ต่างไปจากเราคนก่อนที่จะเดินเข้าไปอย่างน่าประหลาดใจ
การเข้าโรงหนังจึงเหมือนเป็นวันหยุดสั้นๆ ที่ได้หลบความวุ่นวายจากโลกภายนอก เข้ามาพักผ่อนอยู่ในโลกอีกใบ ท่ามกลางคนแปลกหน้าที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ ‘เสน่ห์’ ของโรงหนัง ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมก่อนที่โรคระบาดจะเกิดขึ้น บางคนถึงใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันไปกับการเข้าโรงหนัง หรือถ้ามีอาชีพรับจ้างดูหนัง พวกเขาก็คงได้รางวัลพนักงานดีเด่นไปแล้ว
อา… พูดแล้วก็… อยากให้บรรยากาศการนั่งดูหนังในโรงแบบเมื่อก่อนกลับมาอีกครั้งจัง แล้วคุณล่ะ? คิดถึงอะไรในการไปโรงหนังบ้าง?
อ้างอิงข้อมูลจาก