โดย อุเบกขา พาเพลิน
คนบางคนเกิดมาพร้อมไหวพริบและจังหวะ comedy ใครอยู่ใกล้เป็นต้องยิ้ม หัวเราะ อารมณ์ดี หลายคนอาจตกใจหากคนประเภทนี้เป็นโรคซึมเศร้า โรคแห่งยุคสมัยที่ถูกพูดถึงและถูกตั้งคำถามถึงเยอะมากในช่วงนี้
พ่อหมอแห่ง SpokeDark.TV เป็นคนหนึ่งที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ว่าเขามีภาวะซึมเศร้าจนต้องเข้ารับการรักษาและกินยา เขาผ่านเส้นทางยากลำบากเช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคนี้คนอื่นๆ แต่อาจแตกต่างในรายละเอียด จนคำว่า ‘เป็นซึมเศร้าแล้วเท่’ น่าจะอันตรธานไปจากความคิดผู้รับรู้เรื่องราว เขามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นๆ ในงานเสวนาหัวข้อ ‘เราต่างมีภาวะซึมเศร้าในตัวเอง’ ที่สถาบันวัชรสิทธา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา
“ผมว่ามันอยู่ที่บทบาทที่มีต่อสังคมมากกว่า…ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นพิธีกรที่มีคาแรกเตอร์แบบนั้น (ตลก เฮฮา) เป็นพื้นฐานที่เราเป็นแบบนั้นส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นแบบนั้นทั้งหมดตลอดเวลา
“ตอนที่เป็น (โรคซึมเศร้า) ก็ยังจัดรายการแล้วต้องตลก คุณคิดดูตอนที่ผมไปแต่งตัวในห้องแต่งตัว ต้องบิวด์มาก พูดแล้วขนลุก คือกูอยู่ในหลุมทรายแล้ว ไอ้เหี้ย มึงจะให้กูขำอีกเหรอ (หัวเราะ) แต่ก็ขำได้ มันเหมือนตัวเองยืนอยู่แล้วมีผมอีกคนอยู่ข้างในตัวเองแล้วโกยพลังจากฝ่าเท้าขึ้นมา มันหนักทุกครั้งที่ไปโชว์ แต่พอ 5 4 3 2 ใส่แว่นดำปุ๊บก็ไปได้”
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจนเกิดขึ้นเป็นผลมาจากการเสียชีวิตของคุณพ่อของเขา แต่เมื่อทบทวนตัวเองดีๆ เขาพบว่าตัวเองมีความคิดแบบนี้มานานแล้วเพราะเป็นเด็กที่กดดันตัวเองสูงมาก รู้สึกตัวเองไม่ดีพอและด้อยค่า เพียงแต่ครั้งนี้เป็นจุดที่ลงไปต่ำที่สุด จนถึงขั้นที่คิดว่าต้องทำการรักษาจริงจัง
“ตอนเด็ก คนแถวบ้านผมหลายคนชอบไปถามแม่ผมว่าลูกเป็นปัญญาอ่อนหรือเปล่า เพราะเวลาเดินแถวบ้านจะชอบเดินนิ่งๆ แล้วพึมพำๆ คนเดียว แต่พอเวลาเจอคนอื่นๆ ก็ “เฮ้ย เป็นไงบ้าง (เสียงสูง)” แล้วก็เล่นมุกกันไป เพื่อนบอกว่าผมมีจังหวะ comedy แต่พออยู่คนเดียวเป็นอีกแบบ คนอื่นสังเกตเห็น แต่ตัวเราไม่ได้สังเกตนะ แล้วก็ชอบมากกับการเหม่อลอย ทุกวันนี้ผมมีปัญหากับภรรยาเพราะเป็นคนที่อาบน้ำนานมาก ทั้งที่ไม่ใช่คนสะอาดอะไร แต่ว่าตอนอาบน้ำชอบยืนคิด กระทำความหว่องในห้องน้ำ ฟุ้ง คิดวนไปวนมา จนเริ่มเป็นปัญหาครอบครัวแล้ว หายเป็นซึมเศร้าก็ยังเป็น ดูเหมือนมันจะเป็นนิสัยไปแล้ว”
อาการหลักๆ ที่เป็นก็คือไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น อะไรที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ หาหมอก็ไม่ยอมหา แต่โชคที่ที่การยังรักใครสักคนมากๆ เป็นจุดยึดเหนี่ยวให้ลุกยืนขึ้นได้
“ในใจจะเรียกว่าว่างเปล่าก็ไม่เชิง แต่มันไม่อยากทำอะไร จะเรียกว่าอยากตายก็ได้ นอนมองฝ้าร้องไห้ไป อยากจะกล่อมตัวเองด้วยการเปิดเพลง เครื่องอยู่ใกล้ๆ ก็ยังไม่ลุกจากเตียงไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวผมไว้ได้คือ ความสงสารภรรยา เพราะภรรยาผมจะต้องออกไปทำงาน เช้าปลุกผมจากที่นอน “ป่าป๊า มี้ไปทำงานแล้วนะ” พอเขาไปปุ๊บ เราก็นั่งโซฟาแล้วก็มองเพดานไปเรื่อย แล้วซักพักก็ “ป่าป๊า มี้กลับมาแล้ว” มันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เวลาเดินเร็วมาก แล้วก็ไม่อาบน้ำ ไม่อยากกินอะไร…พอมันเป็นภาพนี้ซ้ำๆ ก็สงสารเขา จนเขาพูดมาคำนึงว่า “ป่าป๊า คนเราจะตายมันยากนะ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยแล้วนั่งเฉยๆ ไปจนกว่าเราจะตายมันนานมากนะ” ผมก็คิด เออ…จริงว่ะ ก็เริ่มกระตุกตัวเองกลับมาได้ ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าคุณพยายามไต่จากเตียงไปเปิดเพลงที่คุณชอบหน่อย ผมก็พยายาม แล้วพอได้ฟังเพลงที่ชอบมันก็ดีขึ้น”
จากนั้นเขาก็เริ่มกลับมาทำสิ่งที่ ‘เคยชอบ’ ได้ ฟังเพลงที่ชอบ ไปกินอาหารอร่อยที่ชอบมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับกินยาไปด้วยโดยไม่หยุดแม้อาการจะดีขึ้นแล้วเพราะมีผู้มีประสบการณ์ตักเตือนอยู่หลายคน ท้ายที่สุดผ่านไป 9 เดือน เขาก็สามารถหยุดยาและได้ ‘สภาวะปกติ’ กลับมา
พ่อหมอออกมาเปิดเผยเรื่องของเขาต่อสาธารณะทั้งๆ ที่ครอบครัวก็ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ (ยกเว้นภรรยา)
เขามองว่ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามว่าคนฮิตเป็นโรคนี้เพราะความเท่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร มันอาจเหมือนสถานการณ์ช่วงแรกๆ ที่คนกล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และเขายังเชื่อว่าโรคนี้สามารถเป็นได้ในทุกชนชั้น ไม่เฉพาะชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินเท่านั้น เพียงแต่ผู้คนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมัน
“เพียงแต่คนในวงการตรงนี้พูดกันเยอะ เรื่องราวมันจะดูเข้มข้นและแน่น แต่ออกจากวงเราไปอีกหน่อยไม่ไกล ชาวบ้านร้านตลาดก็ไม่ได้รู้เรื่องนี้และยังเป็นปัญหาสังคม อย่างโฆษณา จน เครียด กินเหล้า…มันน่าจะต้องคุยกันเยอะๆ ที่ผมจะบอกก็คือ ดีแล้วที่เป็นแบบนี้ แม้จะมีกระแสต่อต้านก็ช่างมัน พอมันออกจากกลุ่ม niche ไปเรื่อยๆ แล้วมัน mass ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม… สมัยก่อนเราอาจจะมองสุดว่า ไม่เป็นคือไม่เป็น กับ เป็นก็ไปศรีธัญญา มันไม่มีตรงกลาง แต่ก่อนอาจมีเพียงชนชั้นหรือคนระดับหนึ่งที่เป็นแล้วไปหานักจิตบำบัดแต่ตอนนี้ผมว่าพื้นที่ตรงกลางมันกว้างขึ้นเรื่อยๆ
“ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นซึมเศร้า การมีชีวิตของเราคือสภาวะการวิ่งหันหลังให้หลุมทรายดูด เราก็วิ่งหนีทรายดูดกันทุกคน คนแข็งแรงหน่อยก็วิ่งห่างไปจากหลุมทรายดูด คนที่เริ่มมีปัญหาก็ใกล้ๆ จะตกหลุมไป อยู่ที่ว่าใครรู้ตัว หาตัวช่วย ยาก็อาจจะเป็นทางหนึ่ง หรือหานักจิตบำบัด คนรอบข้างเห็นเราจะตกหลุมทรายเขาก็คอยบอก “เกร็งกล้ามเนื้อตรงนี้สิ” เราก็เดินหน้าไปได้หน่อย แล้วเขาก็ไป พอเราเริ่มขาอ่อนแรงก็เหมือนจะลงหลุมอีก
“หรือยาอาจเป็นนวัตกรรมที่เหมือนเฮลิคอปเตอร์หย่อนสายลงมากระตุกเราออกไปไกล พอเฮลิคอปเตอร์ไป เราเดินไปเรื่อยๆ ก็อาจอ่อนแรงแล้วย้อนกลับมาปากหลุม บางคนอาจรู้ว่าจะลงหลุมแล้วแต่เขาก็พยายามเดินอยู่นั่น จนขาเขาแข็งแกร่งแล้วยืนด้วยตัวเองได้ และอาจมองคนอื่นที่กำลังจะลงหลุมว่า ไม่เห็นต้องมีเฮลิคอปเตอร์หรือมีใครมาบอกเลย เดินด้วยตัวเองก็ได้ กล้ามเป็นมัดเลย มันก็มีแบบนั้น แต่เราต่างก็วิ่งอยู่บนขอบหลุมทรายดูดกันทุกคน (หัวเราะ) ก็วิ่งกันต่อไปครับ”