การหาที่ทางยืนของตัวเองในเทศกาลลอยกระทงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน
ประเพณีลอยกระทง คือหนึ่งในประเพณีที่ถือกำเนิดและวิวัฒนาการในสังคมไทยมายาวนาน แต่โลกยุคปัจจุบันของสังคมไทยยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความยั่งยืน ความปลอดภัย และแง่มุมอื่นๆ ของประเพณีดังกล่าวอยู่ นั่นทำให้บ่อยครั้งเราหลายๆ คนก็เลือกไม่ถูกเหมือนกันว่า เราควรจะยืนอยู่ที่ใดในเทศกาลนี้?
The MATTER เลยขอพาทุกคนไปดูแง่มุมต่างๆ ของประเพณีผ่านตัวละครบทบาทต่างๆ ที่เราอาจเป็นได้ในเทศกาลลอยกระทงนี้กัน
แชมป์ลอยกระทง
ตัวละครแรกที่เราจะพูดถึงคือ กลุ่มคนที่มาร่วมกันลอยกระทงตามขนบ กลุ่มคนผู้ซื้อ หรือทำกระทงจากวัสดุต่างๆ แล้วนำไปลอยลงแม่น้ำเพื่อขอขมาพระแม่คงคา โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมสันนิษฐานว่า การลอยกระทงในบริบทนี้อาจเป็นอิทธิพลที่คนไทยได้รับมาจากวัฒนธรรมอินเดีย เนื่องจากทางอินเดียใต้มีประเพณีที่คล้ายคลึงกันชื่อว่า ‘ทีปะวารี’ (หรือดีปาวลี) อย่างไรก็ดี รูปแบบของเทศกาลลอยกระทงที่เราคุ้นตานั้นก็มีอัตลักษณ์เป็นของมันเองไปแล้ว
แล้วการลอยกระทงเข้ามาสู่สังคมไทยเมื่อไร? บทความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว โดยพัชรเวช สุขทอง บนเว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าว่าไม่มีเอกสารแน่ชัดว่าประเพณีลอยกระทงมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ใด แต่มีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันโผล่มาให้เราเห็นตั้งแต่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่าการเผาเทียนเล่นไฟ ไปจนคำอธิบายในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ที่อธิบายลักษณะของกิจกรรมที่หน้าตาเหมือนการลอยกระทงในสมัยอยุธยา เอกสารในยุคเดียวๆ กันแทนชื่อด้วยคำว่า การชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม
พ่อค้าแม่ขาย
แม้ว่าเทศกาลลอยกระทงจะเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์ และมีการถกเถียงในหลากหลายแง่มุม แต่หนึ่งสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เมื่อวันลอยกระทงมาถึง การค้าขายและการใช้จ่ายได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถิติจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,254 คนทั่วประเทศไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำขึ้นในช่วงวันที่ 26-31 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเตรียมตัวก่อนถึงวันลอยกระทง คาดการณ์ว่าในปีดังกล่าวมีเงินสะพัดในวันลอยกระทงอยู่ราว 9,700 ล้านบาท และนั่นเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี แม้ว่าจะตรงกับวันกลางสัปดาห์ก็ตาม
สถิติที่น่าสนใจจากการสำรวจเดียวกัน มาจากหัวข้อการวางแผนการใช้จ่ายในวันลอยกระทง ซึ่งเผยให้เห็นว่าในหมวดการไปช้อปปิ้ง สิ่งที่คนวางแผนใช้เงินจ่ายน้อยที่สุดคือ กระทง แต่การใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรกกลับเป็นการซื้อชุดไปลอยกระทง สุรา และของรับประทานตามลำดับ
คอนเทนต์ครีเอเตอร์มือทอง
งานลอยกระทงเองก็ไม่ได้มีเพียงการลอยกระทงเท่านั้น เราหลายๆ คนเลือกจะออกจากบ้านไปดื่มด่ำบรรยากาศ และทำคอนเทนต์โดยไม่ได้เดินเข้าไปใกล้แม่น้ำเสียด้วยซ้ำ เราอาจจะไปเดินหาของกินสตรีทฟู้ดรอบๆ งาน หรือว่าในบางพื้นที่อาจมีกิจกรรมเกมในงานวัดต่างๆ ให้เราเข้าร่วมด้วยก็ได้
ในสถิติการวางแผนลอยกระทงปี 2565 จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดังกล่าวยังพบว่า หากแบ่งตามภูมิภาคแล้ว ภาคที่มีร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ในวันลอยกระทง โดยที่ไม่ลอยกระทงมากที่สุดคือ ภาคกลาง เป็นจำนวน 25.4% แต่หากแบ่งตามรุ่นแล้วพบว่า คนเจน X มีโอกาสร่วมกิจกรรมในวันลอยกระทง แต่ไม่ลอยกระทงมากที่สุด รองลงมาเป็นคนเจน Y, Z และ Baby Boomer ตามลำดับ
ชาวเน็ตสายส่อง
แม้ว่าลอยกระทงจะเป็นเทศกาลที่มีคนออกมาร่วมมากมาย ทว่าเราหลายๆ คนก็เลือกจะอยู่บ้านในวันลอยกระทงด้วยหลากหลายเหตุผล บ้างอาจเพราะว่าคนเยอะนั่นแหละเลยไม่อยากออกไปต่อสู้แย่งพื้นที่กับใคร บ้างก็เพราะว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือบางคนก็ไม่มีคนให้ออกไปด้วยกัน แต่โลกและเทคโนโลยีปัจจุบัน ก็ทำให้เราสามารถร่วมกิจกรรมนี้ได้แม้แต่ในห้องนอนของตัวเอง
การลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ นั้น เป็นกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเราสำหรับคนที่ไม่ได้อยากออกไปเจอผู้คน แต่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมวันนี้ มากไปกว่านั้นในอดีตเกมออนไลน์ในตำนานอย่าง Tales Runner ก็มีกิจกรรมวันลอยกระทงภายในเกมให้ผู้เล่นได้ร่วมสนุก แม้จะไม่ได้เจอกันในโลกจริง ทว่ามันก็เป็นวิธีหนึ่งในการสานสัมพันธ์ชุมชนของเราอีกแบบด้วย
คนเจ็บ คนปวด คนป่วย
น้ำ พลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ หลากหลายปัจจัยในงานวันลอยกระทงมีโอกาสทำให้เรากลายเป็นคนเจ็บได้ ตามสถิติจากข้อมูลมรณบัตรโดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2560-2564 พบว่าในวันลอยกระทงเพียงวันเดียว มีคนจมน้ำเฉลี่ยปีละ 12 คน และหลังจากวันลอยกระทง มักมีคนจมน้ำสูงกว่าในวันลอยกระทงราว 1-2 เท่า
นอกจากนั้น สถิติเกี่ยวกับพลุและดอกไม้ไฟเองก็มีปัญหา จากสถิติโดยกรมควบคุมโรคปี 2564 พบว่าใน 1 ปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ จำนวน 594 ราย และพบมากที่สุดในเดือนมกราคม ธันวาคม ตุลาคม พฤศจิกายนตามลำดับ ซึ่งตรงกับเดือนที่มีเทศกาลใหญ่ เช่น ปีใหม่และวันลอยกระทงอย่างมีนัยสำคัญ
ทีมนักเก็บ(กระทง)
งานลอยกระทงก็เหมือนกับการกินข้าวที่บ้านเพื่อน พอเช้าวันถัดไปมาถึงใครจะเป็นคนล้างจานให้เรา? ในกรณีนี้เมื่อเราขอขมาพระแม่คงคา หรือลอยสิ่งแย่ๆ ของเราออกไปกับกระทงแล้ว กระทงเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม กลายเป็นขยะที่สร้างมลภาวะทางน้ำหลากหลายรูปแบบกันไป และแนวโน้มปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากประเพณีนี้ ก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อโลกกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
สถิติจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 พบว่าในปี 2565 มีขยะซึ่งเดิมเป็นกระทงจำนวน 572,602 ใบ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าปี 2564 ถึง 42% และแม้ว่าจะไม่สูงเท่าปี 2561 แต่กระทงปริมาณเกือบ 600,000 ใบนี้ ก็เป็นจำนวนที่น่าตั้งคำถามว่าในโลกปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่วิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกวันนี้ เราจะหาตรงกลางระหว่างประเพณีลอยกระทงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยแค่ไหน?
อ้างอิงจาก