กระแสวันลอยกระทงในปีนี้ดูจะแตกต่างจากปีก่อนๆ ไปไกลพอสมควร
แง่มุมที่ถูกหยิบมาพูดถึง-ถกเถียงกันมากมาย คือ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งตัววัสดุ การจัดเก็บขยะ รวมถึงผลกระทบกับแหล่งน้ำ และระบบนิเวศโดยตรง
ที่น่าสนใจคือ ปีก่อนๆ ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนมักจะรณรงค์งดใช้กระทงจากโฟม เหตุผล คือ ระยะเวลาในการย่อยสลายที่มากมายหลายปี แต่ในปีนี้กระแสลอยกระทงไปไกลกว่านั้น กระทงใบตอง และกระทงขนมปังที่ดูน่าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด กลับถูกตั้งคำถามทำนองว่า จริงๆ แล้วกระทงขนมปังนี่แหละเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด! (อ้าว ยังไง)
ในวาระเทศกาลลอยกระทงปีนี้ The MATTER เลยอยากจะพาทุกคนไปหาคำตอบด้วยกันว่า สรุปแล้วกระทงขนมปังทำลายสิ่งแวดล้อมจริงไหม ลอยแบบไหนรักษ์โลกมากที่สุด แล้วปลาในแม่น้ำชอบกินขนมปังอย่างที่เราคิดกันจริงรึเปล่านะ
ลอยแบบไหนก็ทำลายสิ่งแวดล้อม?
แม้จะมีความพยายามพลิกแพลงดัดแปลงวัสดุการทำกระทงที่ย่อยสลายได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ว่าจะทางไหนก็เป็นการทิ้งขยะลงสู่แหล่งน้ำทั้งนั้น
อ.ธนัสพงษ์ โภควนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายให้เราฟังว่า อันดับแรกต้องกลับไปดูลักษณะของแหล่งน้ำ ซึ่งมีทั้งแหล่งน้ำขัง แหล่งน้ำไหล และแหล่งน้ำรอการระบาย แต่ละแบบมีลิมิตการรับของเสียได้แตกต่างกัน สำหรับแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน พวกนี้มีการไหลเวียนที่ค่อนข้างเร็ว กระแสน้ำที่เร็วในระดับนี้ทำให้การจัดเก็บกระทงค่อนข้างยาก
สิ่งที่อันตรายที่สุดและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีคือ กระทงถูกพัดไปติดตามชายฝั่งทะเล และหากจัดเก็บได้ไม่ครบถ้วนร้อยเปอร์เซนต์ กระทงทั้งหมดก็จะกลายเป็นขยะพิษต่อปลาทะเลในที่สุด
อาจารย์บอกถึงเรื่องกระทงขนมปังว่า ยากต่อการจัดเก็บมากที่สุด เพราะเมื่อลอยน้ำไปสักพักขนมปังเหล่านั้นจะยุ่ย และจมน้ำ แม้ว่าในแง่หนึ่งขนมปังเป็นอาหารปลาได้ ทว่า หากขนมปังปริมาณหลายร้อยหลายพันชิ้นลอยลงสู่แม่น้ำในเวลาเดียวกัน ขนมปังเหล่านั้นก็ไม่ต่างอะไรกับขยะที่มีแต่จะทำให้ปลาตาย และระบบนิเวศเสียหาย
‘hypoxia’ คือ ชื่อเรียกปรากฏการณ์ออกซิเจนลดต่ำกว่าปริมาณปกติ ภาวะ hypoxia จะเกิดขึ้นในเทศกาลวันลอยกระทง เมื่อมีการลอยด้วยกระทงขนมปังพร้อมกันจำนวนมาก พอขนมปังยุ่ยน้ำ จมลง และเกินกว่าปริมาณที่ปลาในแม่น้ำจะกินได้
ขนมปังพวกนี้จะค่อยๆ เน่าเสีย ทำให้ปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำลดต่ำลงจนไปถึงภาวะออกซิเจนในแม่น้ำต่ำ นอกจากปลาที่จะได้รับผลกระทบแล้ว สัตว์น้ำจำพวกอื่นอย่างกุ้ง หอย หรือปู ที่ไม่มีความสามารถในการว่ายขึ้นมาหายใจเอาตัวรอดแบบปลาก็ยิ่งได้รับผลกระทบหนัก และท้ายที่สุดอาจทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำล่มสลาย
ปริมาณเป็นปัญหามากกว่า ‘วัสดุ’
ขนมปังสร้างปัญหาจากการยุ่ยน้ำก็จริง แต่พูดถึงที่สุดแล้วนี่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะประเด็นที่ควรตระหนักมากไปกว่านั้น คือ จำนวนกระทงขนมปังที่มากเกินกว่าปลาและแม่น้ำจะรับได้
เราสอบถามเรื่องนี้จาก อ.มาศอุบล ทองงาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาจารย์อธิบายให้เราเห็นภาพด้วยการให้จินตนาการถึงเวลาให้อาหารปลาในตู้ปลา เมื่อเราให้อาหารมากเกินไปจะทำให้น้ำในตู้ปลาเน่าเสียได้ อีกประเด็น คือ ปลาอาจจะไม่ได้อยู่ทุกจุดในแม่น้ำที่กระทงลอยไป ตามปกติแล้วเราจะคุ้นชินกับการไปให้อาหารปลาตามท่าน้ำวัด เราอาจจะเข้าใจไปเองว่า กระทงขนมปังก็คงจะตอบโจทย์กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้วปลาไม่ได้อยู่ทุกที่ที่กระทงลอยไป วิธีการที่เหมาะสมจึงอาจจะเป็นการกะเกณฑ์ปริมาณกระทงขนมปัง โดยชั่งตวงวัดกับความต้องการของปลาในบริเวณนั้นๆ
เมื่อถามว่า ในแง่สารอินทรีย์ของขนมปังเป็นปัญหากับปลาโดยตรงไหม อาจารย์บอกว่า ถ้าพิจารณาจากสูตรการทำขนมปังแต่ละที่แล้วจะคล้ายๆ กันหมด คือ มีการทำให้แข็งและกลวงข้างในเพื่อการลอยน้ำ ส่วนข้อกังวลเรื่องสารกันบูดหรือเชื้อราที่ตกค้างจากขนมปัง อาจารย์บอกว่า ไม่เป็นปัญหา และไม่ส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำ หรือสัตว์น้ำ กระทั่งเรื่องของสีที่ใช้ในการตกแต่งกระทงขนมปังเพื่อความสวยงามก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่ต้องกังวล เพราะตัวขนมปังก็ถูกผลิตจากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ จึงไม่ก่อให้เกิดสารพิษในแหล่งน้ำแน่นอน
ปลาชอบกินขนมปังจริงไหม?
อ.ธนัสพงษ์ ฉายภาพกว้างๆ ของพันธุ์ปลาให้ฟัง 3 ประเภท คือ ปลากินเนื้อสัตว์ ปลากินพืช และปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ ปลาที่ชอบกินขนมปัง คือ ปลากินพืช ฉะนั้นไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่ชอบกินขนมปัง และไม่ใช่ทุกแม่น้ำที่จะมีปลากินพืช นั่นหมายความว่า ในหลายๆ แหล่งน้ำที่เราไปลอยกระทงขนมปังกันก็อาจจะไม่มีปลาสักตัวที่ชอบกินมันก็ได้ โดยเฉพาะปลาดุก ปลากระพง ปลาช่อน ที่เป็นจำนวนปลาส่วนมากในแม่น้ำ
ส่วนล่าสุดกับกระทงจากเปลือกข้าวโพดที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอินทรีย์หลักๆ สามารถย่อยสลายได้ แต่อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย ซึ่งข้อควรกังวลของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตถ้าพูดกันในทางวิทยาศาสตร์แล้วสุดท้ายก็ไม่เกิดผลดีกับตัวปลาและแม่น้ำอยู่ดี
อาจารย์ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ จากกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลทรายคว่ำ ซึ่งอันนั้นเป็นเป็นสารอินทรีย์ตัวเดียวกัน แต่มาในรูปแบบที่ย่อยสลายได้เร็วกว่า เมื่อลงไปในน้ำจึงทำให้ปลาตายทันที พูดแบบสรุปแล้ว กระทงที่ทำจากเปลือกข้าวโพดก็ยังไม่ตอบโจทย์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดีขนาดนั้น
ไม่ว่าจะลอยด้วยวัสดุแบบไหน ลอยอย่างไร ก็คล้ายกับเรากำลังโยนขยะลงสู่แม่น้ำ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการขอขมาอยู่ดี คงต้องมานั่งชั่งน้ำหนักกันดูว่า