‘จะรอความเชื่อเหลือจากรัฐทำไม ในเมื่อเราเริ่มด้วยตัวเองได้’ ประโยคที่หลายคนชอบใช้ และมองว่าเป็นในหน้าที่ประชาชน เราควรแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง
แต่กับบางปัญหา เริ่มต้นด้วยตัวเองแค่ไหน หมดเงินไป หมดแรงไป หาวิธีต่างๆ มากี่ทาง ก็ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด The MATTER จึงขอชวนดู 5 ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ รวมถึงต้องย้อนกลับไปถามด้วยว่า ทำไมต้องเริ่มที่ตัวเรา และเป็นหน้าที่ของรัฐหรือเปล่าที่ต้องจัดการ ?
ฝุ่น
มันกลับมาอีกแล้ว กับฝุ่น PM2.5 ที่แม้จะห่างหายไปบ้าง แต่มันก็ไม่เคยจะจากพวกเราไปได้จริงๆ จังๆ โดยที่ผ่านมาพวกเราก็ต้องหาทางดูแลตัวเองกันไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะหาหน้ากากใส่หลายๆ ชั้น ไปถึงอาจจะต้องพกเครื่องกรองอากาศไว้กับตัว หรือเราจะทำตามคำแนะนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเลือกขึ้นขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว
แต่สุดท้ายก็กลับมาคิดกันอีกว่า เอ๊ะ เราต้องออกกำลังกาย ใส่หน้ากาก ซื้อเครื่องกรองอากาศ ซื้อยาแก้แพ้ ด้วยเงินของเรา เยียวยาตัวเองแล้ว ต้องเริ่มด้วยตัวเองอีกแค่ไหน ฝุ่นถึงจะหายไป แล้วจริงๆ รัฐบาลเริ่มไปแค่ไหนแล้ว กับการตั้งเรื่องฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ
ถนนเป็นหลุมบ่อ
ไม่ต้องมีแผนไปดวงจันทร์ เราก็เหมือนมีพื้นถนนที่เหมือนดวงจันทร์แล้ว ไม่ว่าจะถนนที่พังเป็นหลุม เป็นบ่อ มีน้ำ มีโคลนนองมากมาย ซึ่งหลายแห่งแจ้งเจ้าหน้าที่ก็แล้ว บอกผู้มีอำนาจก็แล้ว แต่พื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อเหล่านี้ ก็ยังมีให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะยางแตก รถล้ม
หลายคนบอกให้แก้ปัญหาที่ตัวเอง เจอถนนแบบนี้เราอาจจะต้องพกปูน เตรียมพร้อมซ่อมผิวถนน หรือจะต้องพกยางล้อ เตรียมรอพร้อมเปลี่ยน หรือจะยอมไม่เสี่ยง อ้อม และหลีกเลี่ยงผ่านเส้นทางที่เป็นหลุมบ่อ หรือก็กลับมาที่คำถามสำคัญว่า เราต้องเริ่มที่ตัวเองจริงๆ หรอ หรือเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ?
เสาไฟฟ้า ป้าย สะพานลอยกินที่ทางเท้า
จะเดินยังไงดีคะคุณพี่ ทางเท้าสำหรับคนเดิน แต่ไม่มีทางเดิน เมื่อป้าย เสาไฟฟ้า หรือแม้แต่การสร้างสะพานลอยก็กินพื้นที่ไปหมด มาค่ะ ถ้ารอให้ใครมาแก้ปัญหาให้ อาจจะต้องรอแล้ว รออีก มาเริ่มที่ตัวเองกันก่อน ไม่ว่าจะสำรวจเส้นทางการเดินทาง ช่องการเดินให้ดี ทำการบ้านไว้ให้พร้อม หรือจะยอมเรียกรถ ไม่เดินแล้วก็ได้!!
แต่พอมาคิดแล้วก็สงสัยอีกว่า มันเป็นหน้าที่เราจริงๆ หรอ ที่ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา แม้ทางเท้าจะเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นเดียวกับถนน และเป็นสิทธิที่ทุกคนจะต้องเข้าถึง
COVID-19
เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้ว ที่เราอยู่กับการระบาดของ COVID-19 ซึ่งที่ผ่านมา เราก็มักจะได้ยินคำว่า “การ์ดอย่าตก” เพื่อที่ให้แต่ละคนดูแลป้องกันการระบาด จากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ ซึ่งแม้เราจะมีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวมไปถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาร่วมปี แต่เราก็ยังเห็นปัญหาความวุ่นวายหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องหน้ากากขาด การปล่อยให้มีพื้นที่แพร่ระบาด หรือคนติดเชื้อลักลอบเข้าเมือง
แต่ด้วยความหวาดกลัวสุดท้ายเราก็ต้องเริ่มที่ตัวเอง ซื้อหน้ากากกันเอง ซื้อเจลล้างมือเอง บางคนไปตรวจโควิดเองแล้ว ตอนนี้เริ่มมีวัคซีนขายก็ต้องมากังวลว่า ต้องเริ่มต้นด้วยตัวเองอีกแค่ไหน เราต้องซื้อวัคซีนเองด้วยไหม ? สรุปแล้วเป็นหน้าที่ของใครนะ ?
น้ำท่วม
ประเทศไทยจะกลายเป็นเมืองบาดาล อีกไม่นานหลายจังหวัดจะจมอยู่ใต้น้ำ ปัญหาน้ำท่วมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ ในวันที่ฝนตกหนักจนน้ำขัง แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจังหวัดต่างๆ ก็มักประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน แต่ปัญหานี้จะเริ่มต้นที่ตัวเองยังไงกัน?
อาจจะต้องขอฟ้าฝน เทวดา หรือต้องพกเครื่องสูบน้ำ เป็นอุปกรณ์ติดตัวในวันที่ฝนตก หรือจะต้องเตรียมขุดลอกลำน้ำรอบๆ บ้าน ป้องกันท่อตันตลอดเวลา หรือเราจะเอาไอเดียอุโมงค์ยักษ์ มาสร้างไว้ที่บ้านส่วนตัว เพื่อระบายน้ำโดยรอบกันแทน ไปถึงเริ่มต้นบริจาคเงิน อย่างที่หน่วยงานรัฐมักรับบริจาค เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว ก็กลับมาย้อนดูว่าปัญหาเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของเราในการรับมือ หรือหน้าที่รัฐบาลในการจัดการกัน