สถานการณ์วันนี้ (14 ตุลาคม 2565) น้ำได้เอ่อท่วมตลิ่งของจังหวัดนนทบุรีแล้ว และหลายคนยังกังวลว่าต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร และสถานการณ์จะย่ำแย่แค่ไหน
The MATTER ได้รวบรวมข้อมูลเพื่ออธิบายเส้นทางน้ำเหนือ และจุดวัดระดับน้ำสำคัญเพื่ออธิบายให้เข้าใจว่าสถานการณ์น้ำในตอนนี้เป็นอย่างไร จะไปจุดไหนต่อ แล้วมันมีโอกาสรุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 ไหม
น้ำเหนือ
น้ำเหนือคือปริมาณน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือและเข้ามาเติมในภาคกลางเพื่อหาทางออกจากทะเล ซึ่งก็คืออ่าวไทย
ทำไมเราต้องสนใจน้ำเหนือ? เพราะตามหลักความเข้าใจทั่วไป น้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น น้ำที่ตกในแม่น้ำภาคเหนือ โดยเฉพาะในแม่น้ำปิง, วัง, ยม และน่านย่อมไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตัดผ่านเมืองเศรษฐกิจสำคัญในภาคกลางอย่าง นนทบุรี, ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ก่อนไหลออกทางจังหวัดสมุทรปราการเพื่อไหลลงสู่อ่าวไทย
หรือสรุปได้ว่า ปริมาณน้ำเหนือจะเข้ามาสมทบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง
เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำ 2565 กับ 2554
หลายคนยังกังวลว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะเทียบเท่ากับมหาอุทกภัยปี 2554 ไหม หรือถ้าไม่รุนแรงเท่า มันจะรุนแรงประมาณไหน The MATTER ได้หยิบข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค. 2565 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 หลายส่วนที่น่าสนใจมาเทียบให้ดูกัน
ลำดับแรก ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของภาคเหนือและภาคกลาง
- ปี 2554 (ข้อมูล 31 ต.ค. 2554)
- เขื่อนภูมิพล 100% (จ.ตาก/ แม่น้ำปิง)
- เขื่อนกิ่วลม 100% (จ.ลำปาง/ แม่น้ำวัง)
- เขื่อนสิริกิต์ 100% (จ.อุตรดิตถ์/ แม่น้ำน่าน)
- เขื่อนแควน้อย 100% (จ.พิษณุโลก/ แม่น้ำแควน้อย ไหลรวมกับแม่น้ำน่าน)
- เขื่อนทับเสลา 100% (อุทัยธานี/ แม่น้ำสะแกกรัง ไหลรวมที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา)
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 100% (ลพบุรี/ แม่น้ำป่าสัก ไหลรวมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดวัดน้ำบางไทร)
นอกจากนี้ ในปี 2554 ยังมีเขื่อนอื่นๆ อีกที่น้ำภายในอ่างเต็มล้นเกินระดับปกติ อาทิ เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่, เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา, เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา, เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี หรืออ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง
- ปี 2565
- เขื่อนภูมิพล 84% (จ.ตาก/ แม่น้ำปิง)
- เขื่อนกิ่วลม 92% (จ.ลำปาง/ แม่น้ำวัง)
- เขื่อนสิริกิต์ 70% (จ.อุตรดิตถ์/ แม่น้ำน่าน)
- เขื่อนแควน้อย 101% (จ.พิษณุโลก/ แม่น้ำแควน้อย ไหลรวมกับแม่น้ำน่าน)
- เขื่อนทับเสลา 106% (อุทัยธานี/ แม่น้ำสะแกกรัง ไหลรวมที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา)
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 111% (ลพบุรี/ แม่น้ำป่าสัก ไหลรวมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดวัดน้ำบางไทร)
ลำดับที่สอง ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจุดที่เราจะดูมี 3 จุด ซึ่งนับเป็นต้น-กลาง-และจุดที่มวลน้ำมากที่สุดและใกล้กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งก็คือ สถานี C.2 ค่ายจิรประวัติ อ.เมือง จ.นครสวรรค์) สถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา (อ.สรรพยา จ.ชัยนาท) และ สถานี C.29 อ.บางไทร จ.อยุธยา (จุดบรรจบ 3 แม่น้ำ แม่น้ำน้อย, แม่น้ำป่าสัก)
- ปี 2554
- สถานี C.2 ค่ายจิรประวัติ ปริมาณน้ำ 4,686 ลบ.ม./ วินาที (สูงสุดวันที่ 13 ต.ค.)
- สถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา (อ.สรรพยา จ.ชัยนาท) สูงสุดที่ 3,721 ลบ.ม/ (วันที่ 21 ก.ย. 2554)
- สถานี C.29 บางไทร ไม่มีข้อมูล
- ปี 2565 (13 ต.ค. 2565)
- สถานี C.2 ค่ายจิรประวัติ ปริมาณน้ำ 3,059 ลบ.ม./ วินาที
- สถานี C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา (อ.สรรพยา จ.ชัยนาท) 3,154 ลบ.ม./ วินาที
- สถานี C.29 บางไทร 3,223 ลบ.ม./ วินาที
ลำดับสาม พายุ ในปี 2554 ประเทศไทยเผชิญพายุทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ นกเต็น, ไหหม่า, ไหถ่าง, เนสาด, นาลแก โดยมีเพียงนกเต็นลูกเดียวที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่พายุลูกอื่นๆ ล้วนมีส่วนให้เกิดฝนตกตามพื้นที่ภาคต่างๆ ของไทย ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อระดับน้ำ
ในปี 2565 มีพายุ 3 ลูก ได้แก่ มู่หลาน, หมาอ๊อน, โนรู โดยทั้งหมดเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทย แต่มู่หลานและหมาอ๊อนอ่อนกำลังลงเมื่อมาถึง ผิดกับโนรูที่พัดเข้ามากระหน่ำประเทศไทยอย่างเต็มแรง จนทำให้เกิดฝนตกชุกแทบทั้งประเทศในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
ลำดับสี่ ฝนสะสม ประเด็นนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ฝนตกสะสมทั่วประเทศและฝนตกสะสมใน กทม. โดยในภาพรวม
- ฝนสะสมทั่วประเทศ
- ปี 2554 ฝนสะสมสูงสุดที่สิ้นปีอยู่ที่ 2,003.6 มม.
- ปี 2565 ฝนสะสมถึงวันที่ 12 ต.ค. อยู่ที่1,704.5 มม.
- ฝนสะสมใน กทม.
- ปี 2554 ฝนสะสมสูงสุดที่สิ้นปีอยู่ที่ 2,240.2 มม.
- ปี 2565 ฝนสะสมถึงวันที่ 12 ต.ค. อยู่ที่ 2,392.7 มม.
นอกจากทั้งสี่ปัจจัยที่ยกมาข้างต้น ยังมีเรื่องของน้ำทะเลหนุนสูงที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยล่าสุดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 ต.ค. แจ้งว่า วันที่ 5-13 ต.ค. 2565 เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ
และจากการตรวจวัดระดับน้ำสถานีกองบัญชาการกองทัพเรือ พบว่า วันที่ 13 ต.ค. 2565 ระดับน้ำขึ้นเต็มที่เวลา 19.35 น. โดยสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.12 เมตร
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ซึ่งเคยออกมาเตือนตั้งแต่ช่วงกลางปีว่าปีนี้มีโอกาสสูงที่น้ำจะท่วมรุนแรง
และเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา เขาได้โพสต์เฟซบุ๊กปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยากำลังบ่งบอกภาวะวิกฤตของสถานการณ์ อย่างไรก็ตามยังไม่เท่ากับปี 54 เพราะปริมาณน้ำเหนือยังมีน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ยกเว้นบางพื้นที่อย่าง อ.บางบาลที่ทำลายสถิติปี 54 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำจะยืดเยื้อไปอีกหลายสัปดาห์เพราะปริมาณน้ำเหนือยังคงไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น และหลายเขื่อนเริ่มมีน้ำล้นไม่สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุเข้ามาสมทบอีกในช่วงกลางเดือน
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เขาระบุว่าจะต้องจับตา 2 ช่วงคือ ช่วงกลางเดือนและปลายเดือนนี้ เนื่องจากน้ำเหนือจะเดินทางมาสองระลอก ช่วงแรกที่กลางเดือน และช่วงที่สองปลายเดือนซึ่งมากับพายุ อันเป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับอิทธิพลน้ำหนุน
และเขายืนยันไว้ในโพสต์นั้นว่า “ฝันร้ายปี 54 จะไม่กลับมา แต่วิกฤตจะยืดเยื้อ”
อ่านเส้นทางน้ำภาคอีสานต่อได้ที่: thematter.co
อ้างอิงจาก