เพลงบางเพลงเหมือนเป็นไทม์แมชชีน พาเราย้อนกลับไปสำรวจความทรงจำเก่าๆ ทุกครั้งที่เปิดฟัง บ้างก็เป็นความทรงจำที่เศร้า บ้างก็เป็นความทรงจำที่สุข แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงดังขึ้น ไม่มีครั้งไหนเลยที่ภาพจำนั้นไม่ปรากฏขึ้น
หลายคนจึงให้เพลงเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำของตัวเอง และมักจะเรียกคืนความทรงจำเหล่านั้นอยู่บ่อยๆ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว เชื่อว่าถึงตรงนี้ น่าจะมีเพลงหนึ่งที่ลอยเข้ามาในหัวของคุณ ตามมาด้วยภาพเหตุการณ์ ผู้คน และสถานที่ที่เพลงนั้นบันทึกเอาไว้
แต่ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงช่วงเวลาไหนของชีวิตกันนะ? มีผลการศึกษากล่าวว่า คนเรามักจะนึกถึงหรือคิดถึงช่วงเวลา ‘สมัยวัยรุ่น’ หรือวัยยี่สิบต้นๆ บ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น คุณเห็นด้วยหรือเปล่า? ถ้าเห็นด้วยแปลว่า คุณกำลังเจอกับ The Musical Reminiscence Bump หรือ ‘การปะทุของความทรงจำในอดีตผ่านการฟังเพลง’ เช่นเดียวกับอีกหลายคนเลย
วัยเยาว์ที่น่าจำจดทำให้เราหลงรักเพลงเก่า
แม้ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเพลงจะพัฒนาไปไกล หรือแนวเพลงใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมากมาย แต่เรายังคงได้ยินคุณพ่อคุณแม่เปิดฟังเพลง Queen Carpenters, The Beatles, The Eagles, Bee Gees, จอห์น เดนเวอร์, อัสนีย์-วสันต์, ดิอินโนเซนต์, หรือชาตรี อยู่บ่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่อยากเปิดใจกับเพลงใหม่ๆ เท่าไหร่นัก แต่อาจจะเพราะเพลงเหล่านั้นเก็บความทรงจำในช่วงวัยที่พวกเขา ‘จ๊าบ’ ที่สุดก็เป็นได้
แคเธอรีน เลิฟเดย์ (Catherine Loveday) นักประสาทวิทยาด้านความรู้ความเข้าใจจาก University of Westminster ได้ใช้เวลา 8 ปีในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับความทรงจำของผู้คน โดยเธอพบว่า มีจุดที่เชื่อถือได้ทั้งในความทรงจำกับความชอบของทางดนตรีที่ผู้คนฟังในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะคนในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมักจะฟังเพลงสมัยวัยรุ่นหรือในช่วงที่ตัวเองอายุ 10-30 ปี แม้จะเป็นผู้คนที่อายุ 80 ปีแล้วก็ตาม เธอก็ยังพบว่า ความทรงจำเกี่ยวกับดนตรีที่ชัดเจนที่สุดของพวกเขา คือเพลงในช่วงสมัยวัยรุ่นเช่นกัน ซึ่งไม่เกี่ยวว่าเพลงนั้นจะถูกปล่อยมาตอนไหน แต่เกี่ยวที่ว่าเพลงนั้นสำคัญต่อพวกเขายังไงมากกว่า
มีทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า เพราะจิตใจของเราผ่านช่วงการพัฒนาที่รวดเร็วและรุนแรง ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยยี่สิบต้นๆ ทำให้สมองและระบบความจำที่กำลังเติบโตในขณะนั้น พยายามซึมซับข้อมูลเกี่ยวกับโลกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอะไรที่เป็น ‘ครั้งแรก’ เช่น มีความรักครั้งแรก จูบครั้งแรก เที่ยวต่างประเทศครั้งแรก หรือคอนเสิร์ตครั้งแรก หรือเหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรำลึก เช่น การสำเร็จการศึกษา การแต่งงาน หรือการคลอดบุตร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แปลกใหม่ และเรามักจะจดจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
“ดนตรีก็เหมือนเป็นซาวด์แทร็กประกอบชีวิตเรานั่นแหละ มันสามารถกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างทรงพลัง ในขณะเดียวกันก็ทำให้หวนนึกถึงความทรงจำที่สดใสได้” แมตต์ กริฟฟิตส์ (Matt Griffiths) ซีอีโอของ Youth Music ผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการทำเพลงสำหรับเด็กอายุ 0-25 ปี อธิบาย
หรือทฤษฎีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ (Identity Theory) ก็สามารถอธิบายได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาทางสังคม ทางชีวภาพ และความรู้ความเข้าใจ โดยเราจะเริ่มสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นอิสระของเราเองในช่วงนั้น เช่น เราเป็นใคร อยากทำงานอะไร อยากอยู่กับคนแบบไหน หรือมีทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร ทำให้เพลงที่เหมือนเพื่อนร่วมทางในขณะนั้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราหรือใช้อธิบายตัวตนของเราได้เป็นอย่างดี
“เรามักจะกลับไปยังช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมันช่วยตอกย้ำว่าเราเป็นใคร” เลิฟเดย์กล่าว นอกจากนี้ การปะทุของความทรงจำไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการฟังเพลงเท่านั้น แต่หากเราอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือฟังบันทึกเสียงบางอย่าง ก็สามารถเกิดปรากฎการณ์นี้ได้เช่นเดียวกัน
ให้เพลงในความทรงจำที่ดี บรรเทาความทุกข์ที่มีในปัจจุบัน
เคยได้ยินหลายคนบอกว่า “เมื่อเราโหยหาอดีต นั่นแปลว่าปัจจุบันเรากำลังไม่มีความสุข” เมื่อก่อนไม่เคยรู้สึกว่าประโยคนี้จริงมาก่อน เพราะเราอาจจะคิดถึงช่วงเวลานั้น เพียงแค่เราอยากคิดถึงเฉยๆ ก็ได้ จนกระทั่งความสุขหรือความสนุกสนานในชีวิตค่อยๆ หายไปอย่างเห็นได้ชัด อย่างในช่วงโรคระบาดใหญ่ COVID-19 ที่พลิกผันอะไรหลายอย่างในชีวิตเรา ทั้งสุขภาพ เงิน การงาน กิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงการเข้าสังคม จึงได้รู้สึกว่าอดีตนั้นน่าถวิลหามากเป็นพิเศษ
แต่โชคดีที่อย่างน้อย ท่ามกลางความโดดเดี่ยวจากการกักตัว ยังพอมีเสียงเพลงช่วยทำลายความเงียบเหงาได้บ้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นความเพลิดเพลินที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดในชีวิต เพลงยังช่วยให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหากเราเลือกเพลงที่เหมาะสม มันจะช่วยให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์และสามารถโฟกัสกับงานตรงหน้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยอีกมากมายที่พบว่าเพลงช่วยลดความเจ็บปวด ความเครียด และอาการซึมเศร้าได้ ซึ่งเราพอจะรู้เรื่องนี้กันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ดนตรีและเพลงช่วยปรับปรุง ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ (life satisfaction) ของเราให้ดีขึ้นได้ด้วย
ยานอส คอลลาร์ (Janos Kollar) นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า โรคระบาดใหญ่ทำให้เราไม่สามารถเดินทางได้ แต่ในความเป็นจริงเราสามารถเดินทางได้ด้วยการออกสำรวจ ‘พื้นที่ภายใน’ แทนที่จะเป็นภายนอก เพราะดนตรีหรือเพลงเป็นเหมือน ‘พาหนะ’ ที่ทำให้เรามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับจิตวิญญาณของตัวเองอย่างลึกซึ้ง
“เป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะเริ่มต้นวันและจบวันด้วยดนตรีประเภทใด มีไม่กี่คนหรอกที่ตระหนักถึงสิ่งนี้ แต่ในความเป็นจริง เราสามารถตั้งโปรแกรมอารมณ์ของเราได้ด้วยดนตรี เพราะช่วยให้เราได้ติดต่อกับตัวตนข้างในโดยไม่ต้องใช้วาจา เพราะบางครั้งมันก็ยากที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูด ฉะนั้น ดนตรีจึงสามารถใช้ในการบำบัดได้”
“การใช้ดนตรีเพื่อสร้างความคิดเชิงบวกหรือความหวังในจิตใจ จะช่วยให้ผู้คนรับมือกับความโดดเดี่ยว ความคิดเชิงลบ และความรู้สึกสิ้นหวังในช่วงโรคระบาดใหญ่ได้ และพวกเขาจะสามารถแข็งแกร่งขึ้นเพื่อเอาชีวิตรอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” คอลลาร์เสริม
ในช่วงเวลาที่ความจริงตรงหน้าโหดร้ายเกินไป ไม่ผิดเลยที่เราจะหลบหนีสักพัก แล้วท่องไปยังช่วงเวลาที่มีความสุข ผ่านเพลงที่เปิดฟังตอนไปทะเลกับแฟน เพลย์ลิสต์ที่ชาวแก๊งช่วยกันจัดตอนไป road trip หรือเพลงที่ไม่ได้ชอบเท่าไหร่หรอก แต่ฟังแล้วคิดถึงช่วงเวลาที่ได้ใช้กับครอบครัว อย่างน้อยก็มันก็แทนที่ความเจ็บปวดในปัจจุบันได้สักระยะหนึ่ง
และยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากต่อการพบปะหรือติดต่อผู้คน เมื่อเกิดปัญหาบางอย่างขึ้น เราอาจจะรู้สึกว่ามันหนักหนามากเป็นพิเศษ เพราะเหมือนกับเราต้องผ่านมันไปเพียงลำพังคนเดียว หรือบ้างก็ไม่รู้จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดยังไงดี งั้นลองให้ดนตรีช่วยปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกมาบ้างก็ได้ เพราะมันสามารถเป็นเหมือน ‘เพื่อน’ ที่เข้าใจความรู้สึกเราได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ
เพลงบางเพลงอาจไม่ได้ดีเลิศไปกว่าเพลงอื่นๆ เท่าไหร่ แต่เพราะเรามีความทรงจำที่ดีซ่อนอยู่ข้างใน หรือฟังแล้วเกิดรอยยิ้มเล็กๆ บนใบหน้า แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มันเป็นเพลงที่วิเศษที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก