ใครว่าเผด็จการมีแค่ในระบบการเมือง บางทีเผด็จการก็อยู่ในความสัมพันธ์ของคู่รักด้วยเช่นกัน อย่าง MV ใหม่ล่าสุดของวง tattoo colour กับเพลง ‘เผด็จเกิร์ล’ ที่เพิ่งปล่อยออกมาให้เราได้เห็นกัน ก็สื่อให้เราได้เห็นความเป็นเผด็จการของผู้หญิงที่ใช้อารมณ์นำเหตุผลด้วย
ไม่ใช่แค่นั้น เนื้อหาใน MV เองยังได้หยิบสัญลักษณ์มากมายมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำ หรือกฎเหล็กความสัมพันธ์ 44 ข้อ ไหนจะวันสำคัญที่ 20 พฤษภาคมอีก ทำให้ชวนสงสัยกันว่าเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์บ้านเมืองเราไหมนะ
วันนี้ The MATTER จึงมาพูดคุยกับ เบนซ์ นิษฐกานต์ แก้วปิยสวัสดิ ผู้กำกับ MV ตัวนี้ว่าเธอมีที่มาที่ไปอย่างไร และต้องการสื่ออะไรให้เราเห็นกันผ่าน MV ตัวนี้
The MATTER : อยากให้เล่าถึงที่มาของ MV เพลงเผด็จเกิร์ล ทำไมถึงเลือกสื่อเอ็มวีออกมารูปแบบนี้
เบนซ์ : เริ่มแรกมันมาจากเนื้อเพลงของ tattoo colour มันในทางที่เกี่ยวกับความเป็นเผด็จการอยู่แล้ว แต่ว่ามันเล่าเรื่องเกี่ยวกับเผด็จการในความสัมพันธ์ของคนสอง ในความสัมพันธ์ผู้หญิงมักจะใช้อารมณ์เหนือเหตุผลหรือใช้ความเป็นใหญ่ในเนื้อเพลง และทางวงก็ตั้งชื่อเพลงว่า ‘เผด็จเกิร์ล’ มาอยู่แล้ว เราก็เลยเอาคำว่าเผด็จเกิร์ลมาล้อเลียนกับคำว่าเผด็จการ เอ็มวีเลยถูกถ่ายทอดออกมาแบบที่ทุกคนเห็นกัน
The MATTER : ภาพที่คิดไว้ในหัวตอนแรกกับ MV ที่ออกเหมือนกันไหม
เบนซ์ : เหมือนค่ะ อันนี้เหมือนกับดราฟท์แรกมาก เพราะจริงๆ แล้วกว่าจะเป็นดราฟท์นี้ เราทำมาสามดราฟแล้ว ตอนแรกเราก็คิดว่ามันจะเครียดไป เราก็ปรับมาจนสุดท้ายได้ดราฟที่สามก็ใกล้เคียงกับดราฟแรกมากที่สุดก็ถือว่าแบบมันตรงกับภาพที่คิดไว้ตอนแรกที่จะเล่าเรื่องออกมาเป็นอย่างนี้
The MATTER : ภาพรวมของ MV ต้องการสื่อออกมาถึงอะไร
เบนซ์ : เราต้องการสื่อถึงความรักของคนสองคนนี่แหละ จุดประสงค์ของ MV นี้คือเราต้องการให้คนดู ดูแล้วแชร์ให้แฟนว่าแบบอันนี้เหมือนเธอเลยอะไรแบบนี้ อยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนชีวิตฉันจริงๆ ซึ่งแบบเรื่องที่เอามาใส่ก็พยายามดึงอะไรที่คนเข้าใจว่ามันคือไร มันสื่อถึงอะไรเข้ามาใส่ ไม่ใช่แค่สำหรับทุกคนที่มีความรัก หรือมีแฟน แต่เพื่อให้คนอื่นๆ ดูแล้วเข้าใจว่ามันคืออะไรเหมือนกัน
The MATTER : เห็นใน MV มีฉากวันที่ 20 พฤษภา ถ้าไม่ใช่วันที่ 20 พฤษภา อยากจะใช้วันไหนแทน
เบนซ์ : ก็น่าจะเป็นวันที่ถ้าผู้ชายลืมแล้วผู้หญิงน่าจะโกรธ ก็คงอย่างวาเลนไทน์มั้งคะ
The MATTER : ใน MV มีตัวละครหลายตัวที่ใส่หน้ากากเหมือนตัวโคลนของพระเอก ตรงนี้อยากสื่อถึงอะไร
เบนซ์ : จริงๆ แล้วเราแทนพวกตัวโคลนของพระเอกเป็นเหมือนด้านหนึ่งในจิตใจของพระเอก ที่มันเป็นฝั่งที่ทำตามนางเองทุกอย่าง แต่ว่าตัวพระเอกจริงๆ มันเป็นในด้านที่แบบว่า เห้ยฉันจะไม่ยอมนะ อยากต่อต้าน แต่สุดท้ายแล้วก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี
The MATTER : Inspiration ของ MV นี้มาจากไหนบ้าง
เบนซ์ : อย่าง MV นี้ เราดึง Reference มาจากหลายอย่างเหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าใน visual เราก็จะดึงความเป็นแพทเทิร์นของเกาหลีเหนือหรือว่าการทำอะไรเหมือนๆ กันจากตรงนั้นมา เพราะว่าเรารู้สึกว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่เราเห็น visual ได้ชัดว่าเผด็จการคอมมิวนิสต์มันเป็นยังไงเราก็จะดึงตรงนั้น ส่วนแบบวิธีการด้านภาพเราก็จะมีช่างภาพที่เราชอบ เราก็ดึงตรงนั้นมาใช้เรื่อง composition เรามี Inspiration ในแต่ละด้านต่างๆ ที่ยิบย่อยออกไปไม่ได้เอามาจากแค่ที่เดียว
The MATTER : มี Inspiration ของ MV ต่างประเทศที่สื่อออกมาแนวเสียดสีแบบนี้เหมือนกันไหม
เบนซ์ : ตอนทำเราไม่ได้หาอะไรแบบนั้นเลย ไม่ได้คิดว่าต้องหา Reference ที่ตรงกับ MV เราหาเป็นเฉพาะด้านมากกว่า แบบในด้านไหน ด้านภาพหรือว่าการเล่าเรื่องอะไรแบบนี้ค่ะ
The MATTER : คิดว่าการทำ MV ที่สื่อออกมาในรูปแบบนี้ ได้สร้าง Impact ต่อสังคมได้แค่ไหน
เบนซ์ : เราว่ามันก็คงได้ประมาณหนึ่งแหละเพราะว่าอยู่ในช่วงที่ทุกคนอินกับสิ่งนี้ สถานการณ์แบบนี้ และการที่มันออกมาในรูปแบบนี้ ก็เหมือนเป็นอะไรที่พูดแทนพวกเขาได้เหมือนกันค่ะ
The MATTER : คิดว่าการหยิบสัญลักษณ์หรือการเสียดสีต่างๆ มาใช้ใน MV ทำให้งานมีพลังขึ้นไหม
เบนซ์ : เราไม่รู้ว่าทำให้มีพลังคือมีพลังยังไง แต่เราว่ามันทำให้งานเราดูมีมิติมากขึ้น จากงานที่ตอนแรกเราคิดไว้เท่านี้เอง พอคนมาดูแล้วมีฟีดแบคกลับมา เราได้เห็นคนตีความเยอะมากๆ แล้วมันทำให้เราเห็นงานเรามีมิติมากขึ้น มีอีกหลายอย่างที่คนคิดไปละเอียดเหมือนกันนะ อย่างเช่น คนที่เขาตีความว่าคอมพิวเตอร์แมคอินทอชรุ่นนี้มันจะเปิดตัวปี1984 ตีความเป็นอะไร หรืออีกหลายอย่างที่ตอนทำ เราไม่ได้คิดเยอะขนาดนั้น แต่พอคนดูใส่ความหมายเข้าไปในงานเรา เราเลยรู้สึกว่างานชิ้นนี้มันได้รับการเติมเต็มดีนะ กลายเป็นว่าแต่ละอย่างมันมีความหมายเข้ากับคอนเซ็ปของงานไปด้วย
The MATTER : เวลาทำงานในกองถ่าย เราเป็นผู้กำกับที่เป็นเผด็จการหรือเป็นสายประชาธิปไตย
เบนซ์ : ในการทำหนังเราไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้หรอก พูดจริงๆ เพราะว่าถ้าสมมติว่าเราประชาธิปไตยหนังมันจะเป็นยังไง คือคนนี้ชอบแบบนี้ คนนี้ชอบแบบนี้ มันก็ไม่มีใครไปในทิศทางเดียวกันเลย คือเราว่าต้องเป็นเผด็จการเพื่อให้หนังมันสามารถไปต่อได้ในทิศทางเดียวกัน เราอาจจะมีขอความคิดเห็นจากคนอื่นบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ต้องเป็นตัดสินใจอยู่ดีเพื่อให้ภาพรวมมันออกมาเป็นแบบที่ผู้กำกับคิด
The MATTER : คิดว่าในความสัมพันธ์แบบที่บังคับจิตใจกัน มันช่วยให้ได้ความจริงใจกลับมารึเปล่า
เบนซ์ : ความจริงใจ คือแบบว่าทำโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าแบบโดนบังคับใช่ไหม เรารู้สึกว่ามันแล้วแต่การตกลงกันของคนกับความสัมพันธ์นั้นๆ ถ้าเกิดว่าคู่รักคู่หนึ่งที่เขารู้สึกว่าเขาถูกบังคับแต่เขามันทำให้เพื่อให้แฟนเขาสบายใจหรือเขายอมทำตาม ยอมเป็นเบี้ยล่างด้วยความจริงใจ เขาก็อาจได้ความจริงใจจากกันแบบนั้นก็ได้
หรือว่าถ้าเป็นเราเอง เราคงรู้สึกไม่อยากถูกบังคับแหละ เพราะฉะนั้นถ้าจะได้ความจริงใจจากเราในความสัมพันธ์เราคิดว่ามันไม่ควรเป็นการบังคับ แต่มีอะไรก็ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองแล้วมาดูกันว่าอะไรที่มันดีหรือไม่ดีและปรับตัวจากตรงนั้น คงจะดีกว่า