ดูเหมือนว่าพวกเราหลายๆ คนจะรู้สึกว่าโลกกำลังเรียกร้องจากเรามากเกินไป
มองไปทางซ้ายก็การลงทุน มองไปอีกทางก็คลิปสั้นนักสอนการพัฒนาตัวเอง แต่มองไปที่หนังสือ bestseller ก็เป็นหนังสือประโลมใจว่าเราไม่ต้องรีบเติบโตก็ได้ ขณะเดียวกันข่าวสารสภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และสังคมต่างถาโถม สวัสดิภาพทางการงานของเราก็ไม่แน่นอนมาสักพักใหญ่ๆ รู้สึกหรือเปล่าว่าเราต้องการการปลดปล่อยความกเฬวรากในตัวของเราออกมาบ้าง? และความรู้สึกเหล่านั้นเองอาจผลักดันให้ ‘goblin mode’ โดนโหวตให้กลายเป็นคำแห่งปีจากพจนานุกรม Oxford แซงโค้งคำเช่น Metaverse และ #IStandWith ไปอย่างขาดลอย
คำคำนี้ไม่ใช่คำใหม่และแม้จะดูไม่ใช่ศัพท์ทั่วไป ทำไมมันถึงมาทัชใจคนจำนวนมากในเวลาสิบกว่าปีที่มันกำเนิดขึ้นมา?
ทำไมต้องก็อบลิน?
โดยเริ่มแรก ก็อบลินเป็นสิ่งมีชีวิตในนิทานพื้นบ้านจากหลากหลายวัฒนธรรมยุโรป อาจจะอังกฤษ ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ ดัชท์ ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยลักษณะของก็อบลินจะแตกต่างกันออกไประหว่างเรื่องราวแหล่งที่มาและวัฒนธรรมที่เขียนเรื่องราวเหล่านั้น อาจจะเป็นเทวดาเปลี่ยนร่างได้ในหนึ่งเรื่อง อาจเป็นปีศาจคอยให้ฝันร้ายในอีกหนึ่ง หรือในเรื่องแต่งเป็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างมนุษย์แต่อัปลักษณ์กว่า
แต่ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เหมือนกันของเหล่าก็อบลินในเรื่องเล่าต่างๆ นั้นคือ การเป็นเผ่าพันธุ์ที่เจ้าเล่ห์ หลอกลวง ชั่วร้าย เกเร และเป็นที่รังเกียจ โดยลักษณะดังกล่าวสะท้อนออกมาตั้งแต่ในชื่อของมัน โดยสันนิษฐานกันว่าคำว่าก็อบลินมาจากคำว่า κόβαλος ในภาษากรีก ที่แปลว่าคนหลอกลวงหรือปีศาจตัวเล็ก
ฟังดูไม่ใช่จุดเริ่มที่ดีนัก ทำไมเราต้องมาอยากเป็นสิ่งมีชีวิตแบบนั้นด้วย?
เพราะนอกจากลักษณะเหล่านั้นแล้ว อีกลักษณะสำคัญของการเป็นก็อบลินคือแม้ว่าโลกและสังคมจะมองว่าพวกเขาเลวร้ายขนาดไหน พวกเขาไม่สนใจต่อมุมมองเหล่านั้น และสนุกสนานในการสร้างความรำคาญใจให้ผู้คนอย่างทั่วกัน และเมื่อแปลความทั้งสองมุมมองของก็อบลินให้ออกมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตแล้ว goblin mode ก็จะหมายถึงการใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองโดยสุดโต่ง อาจขี้เกียจ เลอะเทอะ ละโมบ และปฏิเสธความต้องการและความคาดหวังจากสังคม
คำที่สามารถครอบคลุม (และต่อต้าน) ทุกเทรนด์
ลองนึกถึง ‘เทรนด์’ ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง คำเช่น growth mindset และ productivity นั้นอยู่ในทุกที่ของปี 2020 ส่วนปี 2021 อาจเป็นคำศัพท์เทคโนโลยี เช่น NFT ที่เป็นคำแห่งปีโดยพจนานุกรม Collins, blockchain หรือ crypto currency ไม่ว่าเราจะเป็นคนชิลมากขนาดไหน ความกดดันเล็กๆ น้อยๆ จากภายนอกทับถมเราเรื่อยๆ ด้วยการเชื่อมต่อจากโซเชียลมีเดียตลอดวัน ผสมกับการตัดขาดจากโลกภายนอก และความรู้สึกชีวิตติดหล่มใหญ่กันทั้งสังคม ความสำเร็จที่คนอื่นโชว์ช่างดูยิ่งใหญ่ ในขณะที่เรากำลังอยู่ที่เดิม
แน่นอนว่าการเติบโตเป็นเรื่องดีในตัวของมันเอง แต่การรู้สึกต้องเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นตลอดเวลา ในกรณีนี้ไม่ใช่แค่กับเราและคนรอบตัว แต่โซเชียลมีเดียทำให้เรายืนอยู่ในกรอบเดียวกันกับคนทั้งโลก ประโยคเช่นเขายังทำได้ แล้วเราทำอะไรอยู่? เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราต้องการ การเปรียบเทียบนั้นไม่ได้อยู่แค่ผิวเผิน เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมันอาจนำมาซึ่งความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้
และกี่ครั้งกันแล้วที่เราอยู่ในบ่วงกรรมของการ ‘ฉันไม่สำเร็จฉันเลยซึมเศร้า และเพราะฉันซึมเศร้า ฉันเลยไม่มีแรงจะสำเร็จ’?
แต่เมื่อเรามองเห็นเทรนด์ในช่วงที่ผ่านมาในปี 2022 เทรนด์เช่นการทำงานไม่เกินเงินเดือนใน quiet quitting, การให้ความสำคัญของ work-life-balance, การเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้วันหยุดพักร้อน หรือการเรียกร้องให้เกียรติวันหยุดของพนักงาน ฯลฯ ดูเหมือนว่าในปี 2022 จะมีเทรนด์เกี่ยวข้องกับ ‘ตัวเอง’ ในสปีดของตัวเองบ่อยขึ้น และ goblin mode ดูเป็นบทสรุปโดยธรรมชาติของเทรนด์ในปีนี้
นอกจากนั้น goblin mode ไม่ใช่เพียงความเป็นตัวของตัวเองในแง่การงาน การเงิน หรือจิตใจด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองในทุกด้าน เราอาจจะใจร้ายกับคนอื่นเพื่อสุขภาพจิตตัวเองมากขึ้น เราอาจจะเริ่มงานอดิเรกที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอย่างหนักโดยไม่สนว่าเราต้องได้อะไรคืนมานอกจากความสุข
หลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยิ่งใหญ่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าในปี 2022 พวกเราทุกคนจะเริ่มตั้งตัวได้ว่าความกดดันจำนวนมากนั้นเป็นปัจจัยภายนอก ที่แม้จะโยนทิ้งไม่ได้ เราก็ยังสามารถลดความสำคัญของมันลงได้ เพราะบ่อยครั้งการที่เราไม่สำเร็จอย่างใครบอกก็ไม่ใช่เพราะเราคนเดียว แต่เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ก็มีส่วนทั้งหมด และการที่เราอยากหยุดพยายามก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
สำหรับบางคนคงเรียกมันว่าข้ออ้าง แต่นั่นแหละ หลักการของ goblin mode นั้นคือเราจะเปิดโหมดไม่สนใจมุมมองเหล่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Proofreader: Paranee Srikham