ขณะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวายจากโรคติดต่อ วิกฤตการเมือง เหตุการณ์ความไม่สงบ ต้นตอของเสียงหัวเราะในชีวิตประจำวันก็เริ่มหายากขึ้นทุกที สำหรับบางคนที่ต้องคอยหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ใส่ตัว เพื่อไม่ให้ชีวิตต้องเครียดจนเป็นบ้าตายไปก่อน คลิปหมาแมว มุกตลกห้าบาทสิบบาท หรือไม่ก็มี ‘มีม’ ฮาๆ เกรียนๆ สักอัน ก็นับว่าเพียงพอแล้ว
ถ้าใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต คงไม่มีใครไม่รู้จักมีม (meme) สิ่งที่นำเสนอความคิด สัญลักษณ์ การปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ส่งจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีมมีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษคำว่า ‘ยีน’ (gene) ที่สืบต่อพันธุกรรม กับภาษากรีกคำว่า mɪmetɪsmos แปลว่า การเลียนแบบ แล้วมีมมีที่ไปที่มายังไง และทำไมถึงสำคัญกับสังคม มาหาคำตอบกับวิชามีม 101 กันได้เลย
มีมที่เราเห็นกันบนไทม์ไลน์หรือหน้าฟีด หลายคนอาจจะนึกถึงภาพฮาๆ ภาพหนึ่ง แต่จริงๆ มันสามารถเป็นได้ทั้งตัวอักษร วิดีโอ ไอเดีย ผู้คน โควท สัญลักษณ์ สัตว์ หรือตัวละครที่ไม่มีจริง หรือนับว่าสื่อทั้งหมดก็สามารถทำมาล้อเลียนเป็นมีมได้ทั้งนั้น แต่เพื่อให้มันสามารถสื่อสารได้ และทำให้ผู้คนเข้าใจแก่นแท้นั้นร่วมกัน มีมจะต้องฝังคอนเซ็ปต์บางอย่างลงไป แล้วกระจายจากคนๆ หนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งบนโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการส่งต่อ ‘แนวคิด’ ของสังคมหรือ ‘สัญลักษณ์’ ทางวัฒนธรรมในสื่อนั้นๆ ให้เป็นที่แพร่หลาย
ในปัจจุบัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตถูกส่งต่อโดยวัยรุ่นและคนรุ่นหลังจากนั้นเป็นต้นไป ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่มาอธิบายปรากฏการณ์นี้ก็คือ กลุ่มคนทั้งสองวัยที่กล่าวมามีนิสัย ‘ขี้เล่น’ และติดการส่งข้อความแบบ ‘รวดเร็ว’ เราจึงจะเห็นว่าบางครั้งผู้คนจะตอบโต้หรือคอมเมนต์กันด้วยรูปภาพหรือ .gif หนึ่งอันแทนตัวหนังสือ แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ ค่าเฉลี่ยอายุของคนที่ชอบส่งมีมมีอัตราที่เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยอายุ 30 หรือมากกว่านั้น เพราะขณะนี้พวกเขาเริ่มตระหนักถึงความขันของมีมและหัวเราะหึๆ ไปกับมัน
หลายคนคงจะสงสัยว่ามีมแต่ละอันมีที่มาจากอะไร แล้วใครเป็นคนเริ่มใช้จนวันหนึ่งมันกลายเป็นไวรัลไปทั่วหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทุกวันนี้ได้มีหลายเว็บไซต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อค้นหาประวัติของมีมแต่ละอันโดยเฉพาะ และอธิบายให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้นว่าควรจะนำไปใช้ในบริบทไหนได้บ้าง อย่าง happy rage face, know your meme และ cheezburger เป็นต้น
มีมกับหน้าที่ในการส่งต่อเมสเซจ
มีมไม่ใช่ภาพภาพหนึ่งที่เราแชร์กันเฉยๆ เพื่อให้คนมาดูแล้วกดไลค์หรือกดฮ่าๆ แต่มีมมีไว้เพื่อส่งต่อข้อความบางอย่าง ในระดับตัวบุคคล มีมถือว่าเป็นรูปแบบการแสดงอารมณ์ (self-expression) อย่างหนึ่งของผู้คน เราใช้มีมเพื่อบ่งบอกความรู้สึกหรือความคิด ณ ตอนนั้น โดยที่ฟอร์มของมันทำให้คนอื่นๆ เข้าใจตรงกันกับเรา ในบทความของ Time พบว่า วัยรุ่น (กลุ่มเป้าหมายหลักของวัฒนธรรมมีม) เป็นซึมเศร้ากันมากขึ้น และภาวะซึมเศร้าในโลกออนไลน์กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนกังวลกันน้อยลง แต่ต่อมา มีมยอดนิยมหลายมีมมีการเปลี่ยนแปลงไป ช่วยสะท้อนปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้หลังจากนั้นภาวะซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นมหาวิทยาลัยลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอารมณ์ขันหรือ ‘ตลกร้าย’ เหล่านี้ทำให้พวกเขาค้นพบวิธีการแสดงออกความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น
แต่ถ้าพูดถึงความสำคัญในระดับสังคม มีมมีฟังก์ชั่นในการกระจายข้อมูล นั่นเป็นเหตุผลที่มันดำรงอยู่ในสังคมได้เรื่อยๆ เพราะใช้เพียงแค่ปลายนิ้วในการกดแชร์รูปๆ หนึ่ง ก็สามารถกระจายไปสู่สายตาคนนับร้อยนับพันได้แล้ว ไม่ต้องนั่งพิมพ์อะไรยืดยาวเหมือนบทความหรือสเตตัส ผลการศึกษามหาวิทยาลัยอินดีแอนาค้นพบว่า ยิ่งมีมนั้นมีกลุ่มคนมองเห็นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลายเป็นไวรัลได้เร็วเท่านั้น อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการสร้าง sense of inter-community หรือการรับรู้ของผู้คนระหว่างชุมชนมากขึ้น ช่วยในการรวมผู้คนต่างกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยใช้อารมณ์ขันซึ่งเป็นรูปแบบที่ง่ายต่อการกระจายและการเข้าใจ
สำหรับบางคนอาจจะมองว่ามีมเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เพราะไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการส่งมีมหรือแชร์มีม แต่จะบอกว่ามีมเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง แล้วดูเหมือนจะเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ ในโลกเทคโนโลยี ที่จะเปลี่ยน ‘วิธีการดำเนินธุรกิจ’ ได้
ปัจจุบันดูเหมือนว่ามีมจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจ เพราะหลายที่ได้นำมีมมาใช้ในการโฆษณา จัดโปรโมชั่น หรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาด ยกตัวอย่างเช่น Tops Supermarket ที่ไม่ว่าจะมีกระแสสังคมอะไรก็ตาม พวกเขาจะนำภาพสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มาเชื่อมโยงกับประเด็นนั้นๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันเป็นวิธีที่ประหยัด ทันสมัย และไวรัลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายองค์กรก็เล็งเห็นประโยชน์ของมีมแล้วนำมาปรับเข้ากับองค์กร เพราะมันแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเข้าใจต่อสังคมขององค์กรนั้นๆ
“คำสแลงเปลี่ยนดัชนีการรับรู้ของผู้คน เพราะมันไม่ได้อิงตามทฤษฎี แต่อิงตามประสบการณ์อันฉับพลันของมนุษย์” มาร์แชล แม็คลูฮาน (Marshall McLuhan) นักวิชาการด้านการสื่อสารการตลาดชาวแคนาดากล่าว
การเข้ามาของมีมทำให้เราเปลี่ยนวิถีชีวิตหลายอย่าง และมีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาในยุคสมัยใหม่ รวมถึงสร้างบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากยุคก่อน เนื่องจากมีมมีความหลากหลายและมีจำนวนมาก ซึ่งแต่ละอันก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม อย่างเช่น nerd memes, science memes หรือ ok boomer memes
การเมืองเรื่องมีม
นอกจากจะเป็นข้อความที่เราใช้ส่งต่อเพื่อสื่อสาร ในมีมมีมหนึ่งยังแฝงไปด้วยประเด็นบางอย่างทางสังคม ทั้งที่กำลังเป็นกระแสและไม่เป็นกระแส แต่แน่ล่ะว่าภาพที่เป็นกระแสมักจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์และการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่
“ผู้คนต้องการผู้เล่าเรื่องที่ดี พวกเขาต้องการที่จะเข้าใจทุกอย่างในเรื่องๆ เดียว และเรื่องนั้นจะต้องถูกบรรจุอย่างดีเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่น่าเสียดายที่มันไม่ใช่โลกความจริงที่เราอาศัยอยู่ (ก็เลยมาอยู่ในรูปแบบของมีมนั่นเอง)” ซาร่าห์ โมจารัด (Sarah Mojarad) อาจารย์ด้านการแพทย์ของ USC กล่าวกับ Los Angeles Times
มีมนับว่าเป็นการสื่อสารรูปแบบใหม่ทางการเมือง หรือที่เรียกว่า มีมการเมือง (political meme) โดยมีฟังก์ชั่นในการทำให้การความรู้สึกตลกหรือเกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์บางอย่าง โดยเฉพาะถ้ามีมนั้นมีการแชร์อย่างกว้างขวางหรือเป็นไวรัล ก็จะสามารถปลูกฝังความรู้สึกและบรรทัดฐานบางอย่างเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองแก่สาธารณะได้
หนึ่งในผู้ชื่นชอบการแชร์มีมเป็นชีวิตจิตใจเล่าให้ฟังว่า มีเพจชื่อดังเกี่ยวกับมีมชื่อ American Memes ชอบทำมีมล้อฝั่งยุโรปกับอเมริกา แต่เริ่มแรกเพจนี้มีชื่อว่า American Oil Memes ซึ่งตอนนั้นจะลงแต่ประเด็นสหรัฐอเมริกากับน้ำมันโดยเฉพาะ นั่นทำให้เห็นว่า มีมไม่ใช่แค่เรื่องของการล้อเลียนเรื่องทั่วๆ ไปในสังคม แต่สามารถไปถึงประเด็นหรือปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ในสังคมได้
มีมสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ กลายเป็นวัฒนธรรมยอดนิยมได้จากการส่งต่อกันไปเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะสร้างขึ้นได้ง่าย ยังบริโภคและเผยแพร่ง่ายอีกด้วย ยิ่งถ้ามีผู้คนตอบสนองทางด้านอารมณ์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเกิดการกระจายมากขึ้นตามไปด้วย ทำไมบางมีมแม้จะไม่ใช่ประเด็นสังคมใหญ่ๆ แต่ก็กลายเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนได้ และยิ่งถ้าผู้สร้างมีมนั้นเข้าใจหลักในการเผยแพร่และธรรมชาติของดิจิทัล มีมนั้นก็จะยิ่งไวรัลได้เร็วขึ้นอีก
“มีมบางมีมทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ทางสังคมของประเทศอื่นๆ เช่น ปีนี้มีมแรกที่เล่นกันเยอะคือสงครามโลกครั้งที่ 3 จำได้ว่าเป็นมีมแรกของปีเลย หรือช่วงฮิตๆ ก็มีมีมไวรัสโคโรนา ซึ่งส่วนใหญ่มีมที่เราชอบเป็นมีมไม่ค่อย pc หรือสุ่มเสี่ยงน้อยเท่าไหร่ เราว่ามันตลกดี แต่คนอื่นอาจจะไม่ตลกด้วย แล้วเราจะไม่ค่อยตลกกับมีมที่ pc แล้ว ส่วนมีมอันไหนที่ไม่ pc มากๆ เราก็เซฟเก็บไว้ดูคนเดียว หรือแชร์เฉพาะในกลุ่มเพื่อนๆ ของเรา”
อย่างสถานการณ์ขณะนี้ที่มีเรื่อง ‘ไวรัสโคโรนา’ ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปยังหลายประเทศ สร้างความวิตกกังวลมากมายจนผู้คนไม่กล้าออกจากบ้านไปเสพความสุขที่ไหน ได้แต่นั่งไถมือถือเล่นอยู่ในบ้านคอยเช็คข่าวล่าสุดไปวันๆ แต่บางคนอาจจะเลื่อนไปเลื่อนมาจนเห็นภาพภาพหนึ่ง ที่ด้านซ้ายเป็นรูปรายการข่าวโทรทัศน์ ซึ่งกำลังรายงานข่าวว่า ‘แอลกอฮอล์ฆ่าไวรัสโคโรนาได้’ ส่วนรูปด้านขวาเป็นรูปคนดื่มเหล้าเบียร์อย่างเอาเป็นเอาตาย แน่นอนว่าในที่นี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าแอลกอฮอล์จะช่วยให้เราหายจากไวรัสโคโรนาได้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ มีมแอลกอฮอล์นี้ ก็ช่วยให้คนคลายเครียดจากความวิตกไปได้ขณะหนึ่ง ในขณะที่แอพพลิเคชั่น TikTok ก็มีเพลงที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘It’s corona time’ เพื่อเล่นมุกตลกเกี่ยวกับไวรัส COVID-19
ดังนั้นในสถานการณ์นี้ มึมจึงมีหน้าที่ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เช่นเดียวกับกรณีตึงเครียดอื่นๆ ที่ผู้คนเลือกออกมาตอบโต้โดยใช้รูปแบบของอารมณ์ขัน อย่างการเตือนการยิงขีปนาวุธในฮาวาย การลอบสังหารกาเซ็ม โซเลย์มานี (Qasem Soleimani) ผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพอิหร่าน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทย ที่แม้จะชวนหงุดหงิดใจแค่ไหน แต่ทุกคนก็พยายามฝืนยิ้มไปกับมีมตลกที่ได้จากสภาประชุมนั่นเอง
ในขณะที่มีมบางมีมเรียกเสียงฮาได้ บางมีมก็ทำให้ผู้คนเข้าใจข้อมูลง่ายมากขึ้น แต่ก็ต้องระวังการล้อเลียนบางประเด็นที่อ่อนไหวเกินไป ซึ่งอาจนำมาสู่ความแตกแยกและความดราม่าจนฮาไม่ออกก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก