私のことを決して本気で愛さないで
อย่าได้รักฉันอย่างจริงจังเลย
恋なんてただのゲーム楽しめばそれでいいの
ความรักมันก็เป็นแค่เกม แค่ได้สนุกกับมันก็เพียงพอแล้วนะ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพลงญี่ปุ่นเพลงหนึ่งได้กลายมาเป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะตอนแรกเทพเจ้าที่ชื่ออัลกอริธึ่มของ YouTube ไม่รู้คิดอะไร จู่ๆ ก็แนะนำเพลงๆ นั้นขึ้นบนหน้า Home ของ Users หลายต่อหลายคนพร้อมกัน จนมียอดวิวกว่า 20 ล้านวิว ต่อมาเมื่อคลิปนั้นถูกทาง Youtube ลบไปเนื่องจากปัญหาลิขสิทธิ์ ก็มีผู้ใช้อีกรายหนึ่งอัพโหลดเพลงนี้ใหม่อีกครั้ง และยิ่งทำให้คนเข้าไปฟังเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระแสไวรัลนี้ยังส่งมาถึงบ้านเราอีกด้วย เรียกได้ว่าเพลงดังกล่าวกลายเป็นเพลงญี่ปุ่นที่ดังที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาก็ว่าได้
แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือเพลงนี้เป็นเพลงที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อปีค.ศ. 1985 หรือก็คือสามสิบกว่าปีมาแล้ว โดยศิลปินป๊อปหญิงชาวญี่ปุ่นชื่อว่า Takeuchi Mariya และเพลงที่ว่าก็คือ ‘Plastic Love’ ซึ่งกลายมาเป็นเพลงฮิตข้ามกาลเวลาในยุคของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
Takeuchi Mariya คือลูกสาวเจ้าของเรียวกังเก่าแก่ที่อยู่ไม่ห่างจากศาลเจ้าใหญ่อิซุโมะในจังหวัดชิมาเนะ เธอมีโอกาสได้สัมผัสกับดนตรีหลากหลายประเภท โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้ชม The Beatles และเมื่อเธอข้ามน้ำข้ามทะเลบินไปเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา ก็ยิ่งทำให้เธอได้เปิดหูเปิดตากับดนตรีใหม่ๆ รวมถึงวัฒนธรรมที่ต่างออกไป
เธอมีโอกาสได้แสดงฝีมือการร้องเพลงของสี่เต่าทองและเพลงโฟล์คญี่ปุ่นตอนทำกิจกรรมแสดงความสามารถให้เพื่อนชม เหตุผลเพียงเพราะเธอเล่นดนตรีดั้งเดิมของญี่ปุ่นไม่ได้นั่นเอง และเมื่อกลับมาญี่ปุ่นเธอก็เลือกเรียนต่อเอกภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัย Keio ในโตเกียว เป็นการเปิดโอกาสให้เธอได้เข้าสู่วงการเพลงในฐานะนักร้องเพลงป๊อปสาว
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในยุคนั้นมีนักร้องไอดอลสาวหน้าใสมาประดับวงการมากมาย เธอก็เป็นหนึ่งในนักร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ต่อมาเธอได้แต่งงานกับ Yamashita Tatsuro ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อ City Pop โดยก่อนหน้านั้นเธอเป็นแฟนเพลงของเขาอยู่แล้ว และมีโอกาสได้ร่วมงานกัน ซึ่งเขาได้มาทำหน้าที่เรียบเรียงเพลงให้ หลังจากแต่งงานและมีลูก เธอก็เลือกพักงานในวงการบันเทิงไป แต่การพักงานครั้งนี้กลายมาเป็นจุดกำเนิดของเพลง Plastic Love ในภายหลัง
ในช่วงที่พักงาน เธอได้แต่งเพลงของตัวเองไว้ และในตอนที่เธออยากจะกลับเข้าวงการอีกครั้ง สามีของเธอก็ได้กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่ายเพลงให้เธอ ในตอนแรกเขาคิดว่าจะดึงเอาศิลปินต่างๆ มาทำงานให้เธอ แต่ก็ต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อพบว่าคุณภาพของเพลงที่เธอแต่งไว้มันยอดเยี่ยมเอามากๆ จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอัลบั้ม Variety ในปี 1985 ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเธอว่าไม่ใช่เพียงนักร้องเพลงป๊อปใสๆ อีกแล้ว แต่เธอได้กลายมาเป็นศิลปินเต็มตัวด้วยฝีมือของเธอเอง
แต่ที่ชวนให้คิดคือ Plastic Love ไม่ได้เป็นซิงเกิลนำในอัลบั้มนั้น แต่เป็นเพียงซิงเกิลที่ 3 และถึงจะได้เป็นเพลงเปิดละครทีวี แต่ก็เป็นละครของช่องดาวเทียมเท่านั้น ในยุคนั้น เพลงนี้ติดชาร์ตสูงสุดแค่อันดับ 86 และอยู่บนชาร์ตเพียง 2 สัปดาห์ แต่กลายเป็นว่าสามสิบกว่าปีผ่านไป เพชรเม็ดงามชิ้นนี้กลับกลายมาเป็นไวรัลไปทั่วโลกอย่างไม่น่าเชื่อ
ใครจะคิดว่าดนตรีป๊อปญี่ปุ่นยุค 80 จะกลายมาเป็นเพลงฮิตอีกครั้งในยุคที่วอล์กแมนถูกแทนด้วยสมาร์ตโฟน หรือมิกซ์เทปที่อัดส่งให้กันหลังเลิกเรียนถูกแทนด้วยเพลย์ลิสต์ที่ส่งกันเป็นลิ้งก์
จริงๆ แล้ว เมื่ออุปนิสัยในการบริโภคเปลี่ยนไป YouTube ก็กลายมาเป็นร้านแผ่นเสียงยุคใหม่สำหรับนักฟังเพลงที่คอยวนเวียนหาเพลงใหม่ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดกลุ่มแฟนเพลงของแนวเพลงย่อยๆ ต่างๆ มากมาย Plastic Love และเพลงแนว City Pop ในช่วงรอยต่อยุค 70 ถึง 80 ของญี่ปุ่นก็กลายเป็นขุมทรัพย์สำหรับนักฟังเพลงกลุ่มย่อยในตะวันตกที่ชอบเสพเพลงแนว Vaporwave อยู่แล้ว แต่การที่มันโผล่ขึ้นมาเป็นคลิปแนะนำของหลายต่อหลายคนพร้อมๆ กันก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร
ทาง YouTube บอกแค่ว่าอาจจะเป็นเพราะมีคนไปฟังพร้อมกันเยอะเลยกลายเป็นคลิปแนะนำ แต่ไม่ว่าอย่างไร ความงามของ Plastic Love ก็ทำให้คนที่ได้ฟังหลงใหลแบบถอนตัวไม่ขึ้น บวกกับกระแสความไวรัลของ meme ดังกล่าวยิ่งทำให้คนหันมาฟังเพลงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และแพร่กระจายแบบหยุดไม่อยู่ ขนาดนักวิจารณ์เพลงบางคนยังยกให้เป็นเพลงป๊อปที่ดีที่สุดในโลกเลยทีเดียว สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือ Plastic Love มีเนื้อเพลงหลักเป็นภาษาญี่ปุ่นแท้ๆ และมีภาษาอังกฤษปนมาเพียงส่วนหนึ่ง แต่เพลงนี้กลับจับใจคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นได้
จะบอกว่าดนตรีมีพลังอำนาจไม่ต่างกับภาษาหนึ่งก็ได้ครับ เพราะเราเองก็คงเป็นเหมือนกัน ตอนเด็กๆ ที่เราอาจจะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง แต่เรากลับเข้าใจอารมณ์ที่ศิลปินต้องการสื่อคร่าวๆ ได้ และทำนองเพลงของ Plastic Love ก็สื่ออารมณ์นั้นออกมาได้ดีเลยทีเดียว เพราะเนื้อเพลงคือเรื่องราวของหญิงสาวที่ต้องร้างราจากชายที่เธอเชื่อว่าคือรักแท้ของเธอ
หลังจากนั้นเธอก็ใช้เวลาในแต่ละคืนไปกับการสนุกในดิสโก้จนเช้า อยู่กับชีวิตไร้แก่นสาร ปลอบใจตัวเองด้วยวัตถุรอบกาย และยั่วล้อกับชายหลายต่อหลายคนที่เข้ามาหาเธอ ตัวทำนองเพลงก็ทำหน้าที่ในการส่งสารนี้ได้อย่างดี เพราะมันคืออีกหนึ่งเพลงที่เป็นตัวแทนของ City Pop ที่เจิดจรัสในสังคมญี่ปุ่นยุคฟองสบู่
แม้ City Pop จะเป็นแนวเพลงอีกแขนงหนึ่ง แต่ก็มีหลายคนแย้งว่า มันไม่ใช่แนวเพลงหรอก มันเป็นแค่บรรยากาศของเพลง แต่ถ้ามองในแง่การเกิดขึ้นของมันแล้ว ก็น่าสนใจมากๆ เพราะว่า City Pop เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเบ่งบานเอามาก จนเรียกได้ว่าเป็นยุคฟองสบู่ ซึ่งทำให้สังคมญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมที่บริโภคอย่างบ้าคลั่ง (อ่านบทความเก่าเรื่องยุคฟองสบู่ของญี่ปุ่นได้ครับ ) และแม้กระทั่งดนตรี พวกเขาก็โอบรับเอาดนตรีแขนงต่างๆ เข้ามาราวกับไม่เคยได้เสพสิ่งเหล่านี้มาก่อน
จะว่าไป City Pop ก็คือเพลง Easy Listening ของญี่ปุ่นในยุคนั้น ที่หยิบเอาสิ่งละอันพันละน้อยจากแนวดนตรีต่างๆ ตั้งแต่ ดิสโก้ R&B แจ๊ซ ฟังค์ สมูธแจ๊ซ โซล มาผสมกันเป็นเพลงป๊อปในสไตล์ของพวกเขา แต่สิ่งสำคัญคือ บรรยากาศของเมืองใหญ่ที่อบอวลอยู่ในเพลง
คุณเอาเพลงแบบนี้ไปเปิดกลางป่ากลางเขาก็คงไม่ได้บรรยากาศ เพราะมันสร้างขึ้นมาภายใต้แสงนีออนของเมืองใหญ่ที่ทุกอย่างหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็วและฉาบฉวย เมื่อคุณฟังเพลงนี้แล้ว ภาพที่จะขึ้นมาในหัวคุณคือคลับที่ทันสมัยที่สุดในโตเกียว ค็อกเทลสีสันสดใส ควันจากบุหรี่ที่ขยี้ไม่หมด และหญิงสาวที่นั่งเหงาๆ คนหนึ่ง
Plastic Love เองก็อาศัยดนตรี City Pop เล่าเรื่องราวของหญิงสาวคนนั้นออกมาได้อย่างงดงามและเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน แม้จะเป็นเพลงป๊อปที่ฟังแล้วติดหู แต่เพลงนี้กลับมีน้ำเสียงของความเศร้าสร้อยอยู่ บางจังหวะเหมือนชวนเราออกไปเต้นรำกับมัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่วงเว้นจังหวะให้เราได้พักถอนหายใจกับรักที่ร้างราของเราอีกครั้ง
การเรียบเรียงจังหวะ การปล่อยเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นทำออกมาได้อย่างเฉียบคม ตั้งแต่อินโทรที่เปิดด้วยเสียงกลองและเปียโน ทำให้เราแอบคิดว่าจะได้ฟังเพลงป๊อปแบบ The Carpenters แต่เธอกลับเว้นจังหวะไว้ และตามมาด้วยเบสและกีตาร์ในสไตล์ฟังค์ ซึ่งเครื่องดนตรีทั้งหมดก็เล่นล้อสร้างบรรยากาศออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
และเมื่อดนตรีนั้นสื่อเนื้อหาของเพลงได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่แปลกใจว่าใครที่ได้ฟังก็จะติดอย่างโงหัวไม่ขึ้น เพราะว่าความรู้สึกย้อนแย้งในตัวเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกคนอยู่แล้วนั่นล่ะครับ ยิ่งถ้าใครตามไปดูคำแปลเนื้อเพลงคงจะยิ่งอิน หรือแม้จะไม่รู้คำแปล ก็คงจะพอสื่อได้จากเนื้อเพลงภาษาอังกฤษช่วงท้ายเพลง ทำนองเองมีอิทธิพลในการทำให้คนอินตามไปด้วย และยิ่งเพลงอาศัยบรรยากาศของเมืองใหญ่ ก็ไม่แปลกที่ปัจจุบันคนจะยิ่งอินได้มากขึ้น
เพราะทุกวันนี้ความเจริญที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วทำให้เมืองใหญ่ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนาไล่ตามญี่ปุ่นในยุครุ่งเรืองได้ คุณจะเปิดเพลงนี้ในกรุงเทพฯ ไทเป เซี่ยงไฮ้ หรือหัวเมืองใหญ่ไหน ก็สามารถอินกับบรรยากาศเหงาๆ คนเดียวท่ามกลางฝูงชนได้ (จะบอกว่าคล้ายกับบรรยากาศ “หว่องๆ” ก็ได้) เพราะเมื่อคุณอยู่ในเมืองใหญ่ ไม่แปลกเลยที่คุณจะรู้สึกแปลกแยกจากคนที่ไม่รู้จักรอบตัวคุณ
พื้นที่สังคมทำให้ความสัมพันธ์เชิงกายภาพลดลงจากเดิม เราเชื่อมต่อกันผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น คุณอาจจะนั่งเหงาฟังเพลงนี้อยู่คนเดียวในขณะที่ไถฟีดโซเชียลเพื่อส่องดูชีวิตของคนที่คุณไม่รู้จัก หรือกระทั่งอาจจะกำลังปัดทินเดอร์เพื่อหาคนที่จะมาเยียวยาคุณ
ไม่ใช่เพียงแค่ความเหงา แต่ยังมีเรื่องลัทธิบริโภคนิยมแฝงอยู่ในเนื้อเพลงที่อ้างอิงถึงวัตถุต่างๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ ทั้งชุดเดรสสวยงามและรองเท้าที่เธอซื้อมาเป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับหัวใจที่ปิดตายของเธอ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับเจเนอเรชั่นใหม่ที่ต้องการการยอมรับในโลกโซเชียล หรือต้องการมีตัวตนด้วยการเลือกซื้อสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นที่บอกว่า “ฉันคือใคร” ก่อนที่จะทิ้งมันไปเมื่อเทรนด์ใหม่เข้ามา
และเราก็ถูกสื่อโฆษณารอบตัวเร้าอารมณ์ให้ออกไปจับจ่ายใช้สอยเสมอ ลัทธิ Fast Fashion ในปัจจุบันก็ฟังดูใกล้เคียงกับลัทธิบริโภคนิยมของญี่ปุ่นในยุคฟองสบู่ไม่น้อย (แม้ราคาสินค้าจะต่างกันมากก็ตาม)
สังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นกับสังคมของเมืองใหญ่หลายแห่งในโลกยุคปัจจุบันก็มีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย รวมถึงการที่เราไม่มีภัยสงครามใกล้ตัวที่ทำให้เราต้องระแวงถึงอนาคต (ลองเทียบกับยุคหลัง 9/11 สิครับ) ทำให้เราสนุกไปกับแสงสีของความทันสมัยกันได้อย่างเต็มที่ และทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถอินไปกับเพลงป๊อปยุคนั้นได้ (ยังไม่นับว่าคนรุ่น X หรือ Y ในต่างประเทศ หลายคนก็โตมากับอนิเมะที่เพลงปิดหลายต่อหลายเพลงมีความเป็น City Pop อยู่ไม่น้อย ทำให้อินกับเพลงนี้ง่ายเข้าไปอีก) และยังรวมถึงความเป็นเมืองที่ยิ่งเหมาะกับบรรยากาศของเพลงด้วย
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่อินคงเป็นความย้อนแย้งในใจเรา ไม่ต่างกับหญิงสาวในเพลงที่โหยหาความรักแต่ก็กลัวเกินกว่าจะก้าวไปข้างหน้า จนต้องฆ่าเวลาด้วยการเต้นไปกับแสงสีและเสียงเพลงในแต่ละวัน
สำหรับนักฟังเพลงแล้ว City Pop ไม่เคยหายไปไหน มันยังคงแฝงตัวอยู่ในวงการดนตรีของญี่ปุ่นอยู่เสมอ เพียงแต่ได้รับการเล่าใหม่ผ่านศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่นำมายำผสมกับแนวดนตรีอื่นๆ เท่านั้น แต่ความยอดเยี่ยมของ Plastic Love นั้นก็ยังมีความดีงามข้ามกาลเวลาได้ จนน่าขำว่า คำว่า ‘Plastic Love’ ที่ Takeuchi ต้องการสื่อคงจะหมายถึงรักที่ไม่แน่นอน ไม่คงทน แต่เธอคงลืมไปว่า พลาสติกมันย่อยสลายได้ยากแค่ไหน และมันก็ยังอยู่อย่างคงทนให้คนรุ่นหลังได้หลงเสน่ห์ของเพลงๆ นี้อีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก