“มันเจ็บมากเลยนะ เปิดตู้เย็นเจอเค้กฝอยทองอย่างดี ถามแม่ว่ากินได้มั้ย? แม่ตอบไม่ได้! ของเฮงเฮง!” ซึ่งเฮงเฮงก็คือชื่อหมา “ก็น้อยใจเหมือนกันนะ ที่ทำไมเฮงเฮงต้องได้ทุกอย่างไป”
บางครั้ง การเรียก ‘ลูก’ มากินข้าวของพ่อแม่อาจจะไม่ได้หมายถึงเราที่เป็นลูกแท้ๆ แต่หมายถึงลูกที่เป็นหมา แมว หนูแฮมสเตอร์ หรือสัตว์อะไรก็ตามแต่ที่เลี้ยงเอาไว้ในบ้าน แม้ว่าตอนแรกพวกเขาจะเป็นฝ่ายเอ่ยปากออกมาเองว่า “เอามาทำไม! ไม่อยากเลี้ยง!”
แต่แล้วก็กลายเป็นว่า เมื่ออยู่ไปนานๆ ความสัมพันธ์กลับแน่นแฟ้น จนลูกอันดับหนึ่งอย่างเราตกมาอยู่อันดับรองแบบงงๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงหวานๆ ที่ใช้เรียกน้อง หรือถ้วยอาหารที่ถืออยู่ในมือ (แน่นอนว่าไม่ใช่ของเรา) ก็ทำให้รู้สึกว่าบัลลังก์ลูกรักค่อยๆ สั่นคลอนลงอย่างช้าๆ
ดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่าขบขันว่าคนเราจะอิจฉาสัตว์เลี้ยงไปทำไม แต่หากลองมองดีๆ มันก็มีมุมที่น่าเศร้าอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อพ่อแม่เบี่ยงเข็มความสนใจไปที่สัตว์เลี้ยงมากเกินไป ลูกแท้ๆ อย่างเราก็เลยต้องเสียสละของบางอย่างที่เคยได้ ทั้งขนมในตู้เย็น ทั้งเบาะข้างคนขับรถ ทั้งโซฟาตัวนุ่ม ซึ่งถ้ามากเกินไปก็อาจนำไปสู่ความไม่เข้าใจในครอบครัว จนถึงขั้นที่มีคนออกมาตั้งกระทู้ถามบ่อยๆ อย่าง “ทำยังไงดี รู้สึกว่าพ่อแม่รักหมามากกว่าเรา”
“ตอนนั้นสั่งพิซซ่ากับไก่มา แม่บอกว่า อย่ากินไก่เยอะ! เหลือไว้ให้น้องด้วย! เราก็ หึ ทำไมแกต้องได้กินของดีๆ ด้วย”
ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหลายๆ บ้านก็คงมีปัญหานี้ ด้วยความที่พ่อแม่เอ็นดูสัตว์เลี้ยงเหมือน ‘ลูกแท้ๆ’ เลยปฏิบัติราวกับว่าสัตว์เหล่านั้นคือเด็กคนหนึ่งที่ต้องดูแล ปกป้อง และทะนุถนอม บวกกับเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่เราเติบโตขึ้น ต้องออกไปทำงาน ใช้ชีวิตข้างนอก ไม่มีเวลาเจอหน้าพ่อแม่บ่อยๆ เหมือนที่เคย ไม่ค่อยอ้อนน่ารักๆ เหมือนตอนเด็กๆ เทียบกับเจ้าสี่ขาที่สั่นหางดุ๊กดิ๊กๆ แลบลิ้นตาแป๋ว ที่วิ่งซนอยู่ในบ้านตลอดทั้งวัน นี่ก็เลยเกิดเป็นช่องโหว่ที่สามารถทำให้พวกเขาค่อยๆ ปรองดองสมานฉันท์กันแบบเงียบๆ และวันหนึ่งก็ค้นพบว่าพ่อแม่และน้อง (หมา) อาจมีการสื่อสารกันทางโทรจิต (dog psychic) ได้ ประหนึ่งซี้กันมานาน เพราะความสนิทสนมจากการใช้เวลาอยู่ด้วยกันทั้งวันนั่นเอง
“ช่วงนั้นปั่นธีสิส ต้องหามุมเงียบๆ ในบ้านเพื่อทำงาน ก็เลยเดินไปนั่งตรงโซฟาตัวหนึ่ง แล้วแม่ก็เดินมาบอกว่า ลุกไปทำที่อื่น! อันนั้นมันที่ของหมา!”
และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเหมือนกันที่คนเราจะผูกพันกับสัตว์เลี้ยงได้ง่ายๆ เพราะมีฮอร์โมนหนึ่งที่หลั่งเมื่อเวลามีความรักแบบแม่ (maternal love) กับความรักแบบลุ่มหลง (passionate love) นั่นก็คือ ‘ออกซิโทซิน’ หรือ ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและหมา แม้สองสปีชีส์นี้จะไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการ ‘สบตา’ กันก็ตาม อ้างอิงจากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Science ซึ่ง ทาเคฟูมิ คิคุซุย (Takefumi Kikusui) ศาสตราจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาซาบุ ประเทศญี่ปุ่น เสริมว่า สิ่งนี้คือ ‘การวิวัฒนาการร่วมกันของมนุษย์กับหมา’
เรื่องราวประมาณนี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ในสังคมไทยเท่านั้น เพราะถ้าพูดถึงการคลั่งไคล้สัตว์เลี้ยงแล้วล่ะก็ คงไม่พ้นชาวอเมริกาที่กว่า 54 ล้านครัวเรือนมีการเลี้ยงหมารวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 77 ล้านตัว ซึ่งพวกเขาเลี้ยงหมาในลักษณะที่เหมือน ‘ลูก’ คนหนึ่ง เพราะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว ซื้อของเล่นให้ ซื้ออาหารหรือขนมให้
และที่น่าประหลาดใจอีกก็คือ จากผลสำรวจเจ้าของสัตว์เลี้ยงจำนวน 2,000 คน ซึ่งร้อยละ 72 เป็นผู้ปกครองเด็ก พบว่า ครึ่งหนึ่งของพวกเขาซื้อของขวัญให้สัตว์เลี้ยง ‘มากกว่า’ ลูกของตัวเอง
“พวกเขาไม่ได้มองว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่มองเป็นทารกขนปุกปุยคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกในครอบครัว” นักวิจัยกล่าว
แต่มันก็ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่พวกเขารักสัตว์เลี้ยงและปฏิบัติเหมือนกับสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน เพราะการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าชนิดไหนๆ ย่อมส่งผลดีต่อชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสุขภาพจิต 40% ของผู้ที่เข้าร่วมการทำแบบสอบถามบอกว่า สัตว์เลี้ยงช่วยให้หายเครียดจากงาน อีก 40% บอกว่า สัตว์เลี้ยงช่วยให้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ดีขึ้น และอีก 34% บอกว่า สัตว์เลี้ยงช่วยฟื้นฟูสุขภาพและจิตใจของพวกเขา
ที่จริงก็ดูจะเป็นเรื่องขำๆ ภายในบ้านซะมากกว่า แต่ถ้าหากเกิดอาการน้อยใจจนถึงขั้นกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์หรือความไม่เข้าใจในครอบครัว ก็ลองบอกพ่อแม่ออกไปตรงๆ ว่าคุณรู้สึกยังไง ดีไม่ดีพวกท่านอาจจะบอกความรู้สึกของตัวเองให้คุณฟังด้วยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก