กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ และเตรียมตัวรับตัวพ่อแซดบอยคือ โจจิ (Joji) ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าโจจิกลายเป็นกระแสความนิยมรวมถึงคนรักดนตรีในบ้านเรา นับตั้งแต่โคเชลล่าที่มีแฟนๆ ชาวไทยไปร้องเรียกหาโจจิในไลฟ์ และเมื่อได้เห็นโจจิกลับมา ก็รู้สึกใจฟูอย่างบอกไม่ถูก
แถมช่วงนี้ เรายังมีเพลงที่ร้องท่อนฮุกว่า ‘ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย’ ก็เลยเป็นประเด็นว่า ทำไมเราถึงหลงรักพ่อหนุ่มแสนเศร้า ศิลปินเช่นโจจิคือเศร้ามา ดิ่งมาก ร้าวรานมาก แต่ก็เท่มากเช่นกัน ในทางกลับกัน ความเศร้าของโจจิก็พอจะนิยามได้ว่าเป็นแก๊งเด็กแสบ(ที่ตอนนี้เป็นหนุ่มแล้ว) แล้วพวคนร้ายๆ เหล่านี้ ดูทรงแล้วกลับเป็นพวกที่แสนจะเศร้าบ่อย แถมพอเศร้าแล้ว ทั้งแบดทั้งแซด ทำไมถึงได้น่ารักนัก
อันที่จริงคำว่าแซดบอยเป็นกระแสมาพักหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการมาของโจจิด้วยนี่แหละ โดยทั่วไปเราเรียกกระแสการเป็นคนเศร้าที่แบด การเป็นผู้ชายทรงแสบๆ แต่ยินดีแบกรับบาดแผลบางอย่างไว้ว่าเป็นกระแสวัฒนธรรม Sad boi ทำไมผู้ชายถึงแซด และด้านหนึ่งความเศร้าโศกกลายเป็นสเน่ห์ที่เชื่อว่าหลายคนนอกจากจะรักศิลปินหม่นเศร้าแล้ว เราเองยังอาจจะตกหลุมรักเหล่าคนเศร้าผู้แบกรับและส่งความรู้สึกหม่นหมองออกมา ว่าแหม่ คนเศร้าๆ บางทีมันช่างเซ็กซี่เหลือเกิน
แซด แบด และเซ็กซี่
อันที่จริงประเด็นแซดบอยมีความซับซ้อนในตัวเอง บางส่วนซึ่งบทความนี้จะไม่ครอบคลุมคือ หลายครั้งคำว่า sad ที่ว่าอาจจะกินความไกลไปถึงภาวะซึมเศร้าหรือ depression ซึ่งบางส่วนของวัฒนธรรมความเศร้านี้ เชื่อมโยงความกดดันทางสังคมและภาวะร่วมสมัยเข้ากับตัวตนของผู้คน ซึ่งการเสพติดความเศร้าไปจนถึงความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตเป็นประเด็นเปราะบางและอาจจะควรเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
ในระดับทั่วไป รวมถึงระดับวัฒนธรรม ‘แซดบอย’ (ซึ่งอาจจะรวมถึงผู้หญิงด้วย) คือเบื้องต้นที่สุด ทั้งคำว่าแบ๊ดและแซ๊ดที่ฟังดูเป็นคุณสมบัติเชิงลบนั้น ในความลบนั้นทั้งคู่กลับเป็นคำดึงดูดในมิติด้านความสัมพันธ์ทั้งคุณสมบัติ เรามักตกหลุมรักคนร้ายๆ เพราะคนร้ายๆ มันเป็นพวกดื้อ พวกขบถ พวกตั้งคำถาม บางครั้งเป็นพวกที่ ‘มีอะไร’ ให้ค้นหา พวกแบดบอยนั้นมักมาพร้อมกับความมั่นใจ ความหวือหวา อย่างไรก็ตามแบดบอยตัวจริงบางครั้งก็อาจจะพาเราไปสู่ความสัมพันธ์น่าปวดหัวได้
ทีนี้ แบดบอยที่แซดก็อาจจะเป็นส่วนผสมคูณสองที่อาจจะลงตัวในแง่ของความรู้สึกน่าค้นหา ความแบดและแซดอาจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คนคนหนึ่งกลายเป็นร้ายๆ อาจจะเพราะอดีตบางอย่าง และผลของรอยแผลในอดีตนั้นก็ทำให้คนคนนั้นดูร้าวรานและอมทุกข์อยู่บ้าง ในเงื่อนไขของความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางอาจจะรู้สึกถูกดึงดูดไปสู่ความลึกลับและการร่วมเยียวยาบาดแผล ความเศร้าบางครั้งก็เป็นหลุมที่เราเองยินดีที่จะโดดลงไป ถ้าเป็นระดับของการเศร้าทั่วไป เราอาจจะเข้าๆ ออกความเศร้าผ่านการฟังเพลงและกลับสู่โลกแห่งความจริง แต่ในมุมของความสัมพันธ์ ความแบดและความแซ๊ดก็จะเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เตือนให้เราระวัง
วัฒนธรรมแซดบอย ว่าด้วยอารมณ์ ความเป็นชาย และอันตรายในโลกจริง
คำว่าแซดบอย มีนัยหลายระดับ ความน่าสนใจคือการนิยามว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมเพลงป๊อป ซึ่งโดยรวมแล้ว เป็นการเชื่อมโยงผู้ชายเข้ากับการแสดงออกทางอารมณ์ แต่เดิมมิติทางวัฒนธรรมค่อนข้างคาดหวังให้ผู้ชายปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก แต่ด้วยกระแสเพลงและความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
ความหมายหนึ่งของกระแสแซดบอยคือการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชาย เราได้เห็นภาพของชายหนุ่มร้าวราน (แบบเท่ๆ) เหล่าผู้ชายที่ดูร้ายๆ เต็มไปด้วยบาดแผล ใช้ชีวิตโลดโผนกลับมีมุมที่เต็มไปด้วยความรู้สึก เต็มไปด้วยความร้าวราน ชีวิตที่สะบักสะบอมไปด้วยเลือดและน้ำตา ภาพของแซดบอยในสื่อกระแสหลักโดยเฉพาะจากโลกตะวันตกส่วนใหญ่มาจากกระแสด้านดนตรีที่สัมพันธ์ทั้งกับเพลงร็อคและเพลงอินดี้ บางบทความเชื่อมโยงการขึ้นชาร์จของโจจิ หลังจากเปลี่ยนโฉมจาก Pink Guy สู่เจ้าพ่อแห่งความโศกซึมจากอัลบั้ม Ballard 1 ที่นำ Slow Dancing in the Dark ติดชาร์จในปี 2018
ประเด็นเรื่องอารมณ์และการกดทับความเป็นชายเป็นประเด็น และบางส่วนเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเชื่อมโยงเข้ากับมิติทางวัฒนธรรม มีรายงานในปี 2015 ว่าในอัตราการฆ่าตัวตายที่สหรัฐผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง และในทำนองเดียวกัน การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายสูงสุดของผู้ชายในช่วงอายุต่ำว่า 45 ปี ในการฆ่าตัวตาย 3 ใน 4 ครั้ง เป็นผู้ชาย ด้วยมิติทางวัฒนธรรมที่คาดหวังให้ผู้ชายเข้มแข็งและมองข้ามปัญหาสุขภาพจิตไปอาจทำให้การเข้าถึงการรักษาหรือการเปิดเผยความรู้สึกภายในของผู้ชายน้อยลงและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและการฆ่าตัวตายต่อไป
ตรงนี้เองที่แซดบอยอาจจะสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางสังคม กระแสเพลงเศร้าและตัวตนของชายหนุ่มที่หม่นเศร้า ด้านหนึ่งเพลงและความนิยมเหล่านี้กำลังให้ภาพชายหนุ่มโดยยึดโยงเข้ากับความรู้สึกที่ค่อนข้างรุนแรง รวมถึงการให้ภาพนั้นค่อนข้างเป็นไปในทางบวก คือเป็นการให้ภาพว่าในคราบความเป็นชายนั้น ชายหนุ่มเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจ บางส่วนยังคงแบกรับบาดแผลและความทรงจำเอาไว้ ความเศร้า ในบทเพลงและเอ็มวีกลายเป็นสุนทรียศาสตร์ของความเท่และความเป็นชายอย่างหนึ่ง
ข้อดีของกระแสนี้คือ เมื่อสังคมรับรู้ว่าผู้ชายก็เศร้าได้ ผู้ชายเองก็มีช่องทางในการปลดปล่อยอารมณ์ และอาจนำไปสู่การสื่อสารความรู้สึกของตัวเองได้มากขึ้นจากอคติทางเพศที่ลดลง
ความยอกย้อนและปัญหาของความแซด
ในมิตินี้แซดบอยก็เลยเป็นกระแสที่มีความยอกย้อนในตัวเอง เบื้องต้นเราอาจมองว่าแซดบอยเป็นกระแสของการนำเสนอภาพความเป็นชายใหม่ผ่านวัฒนธรรมดนตรี เนื้อเพลงเศร้าๆ ความจมๆ เท่ๆ ความรู้สึกที่ตัดไม่ขาด ความโหยหาอาลัย ดนตรีแบบแซดบอยจะมีความดิ่งๆ เท่ๆ ถ้าเป็นโจจิก็มีความโอเปร่า เอาซาวน์กระทั่งภาพแปลกๆ มาทำให้เรารู้สึกดิ่งลงไปกับความรู้สึกเหล่านั้น
อีกด้านหนึ่ง การทำความเศร้าให้สวยงามก็อาจจะทำให้กลายเป็นปัญหา โดยทั่วไปกระแสแซดบอยอาจจะเป็นแค่กระแส เป็นรสนิยมทางดนตรี บางทีก็ไปสัมพันธ์แฟชั่นการแต่งกาย แต่บางสื่อมองว่าวัฒนธรรมการเสพติดความเศร้าอาจจะนำไปสู่การสร้างตัวตนแบบแซดบอย ซึ่งบางครั้งด้วยความแซดที่นับเป็นคุณสมบัติที่น่าหลงใหล ก็อาจจะถูกนำมาใช้บงการความสัมพันธ์ได้ บางทีการคิดว่าตัวเองเป็นพระเอกเอ็มวี เป็นตัวเองที่มีแสงส่องมาก็นำไปสู่ปัญหาของตัวตนและความสัมพันธ์
นอกจากนี้ กระแสจมกับความเศร้าก็อาจจะกลายเป็นตัวซ้ำเติม เพราะตัวมันเองกลายเป็นสุนทรียศาสตร์ กลายเป็นความเท่ และความเท่และวัฒนธรรมหนุ่มเศร้าหมองนี้ บางครั้งก็อาจจะกลายเป็นตัวปกปิดปัญหาด้านสุขภาพของผู้ชาย ยิ่งในบริบทของโลกปัจจุบันที่ผู้ชายทั้งวัยรุ่นและวัยทำงานที่ถูกกดดันจากสังคมและสภาวะร่วมสมัยเช่นโรคระบาด การเป็นแซดบอยอาจจะไม่ใช่สุนทรียะที่พาเราเข้าและออกได้ คือในชีวิตจริงไม่ได้แซ๊ดแล้วเท่ แต่แซ๊ดจริงๆ ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ อยู่
แซด แบดบอยเป็นอีกหนึ่งกระแสที่สัมพันธ์กับหลายมิติ บางมิติอาจเกี่ยวข้องกับมิติทางสุขภาพที่รุนแรงจริงจัง บางส่วนเป็นความยอกย้อนของสื่อและความสำคัญของสื่อบันเทิง ทั้งการเป็นกระบวนการการแสดงตัวตนที่สัมพันธ์มิติทางเพศสถานะ ความเป็นชายที่ถูกโยงกลับเข้าสู่อารมณ์ความรู้สึก อีกด้านก็สัมพันธ์กับการแสดงอารมณ์ของเราต่อสื่อบันเทิง ต่อดนตรี บางครั้งเราเองก็ปลอดปล่อยความรู้สึกผ่านการพาตัวเองเข้าสู่ความเศร้าและความร้าวราน
ดังนั้นความเศร้า ความร้านราน และความร้าย คุณสมบัติที่เรานิยามมันในเชิงลบ สุดท้ายกลับดึงดูดเรา โดยทั่วไปเราอาจใช้ความรู้สึกเหล่านี้ในการปลอดปล่อยตัวเอง แต่ในบางมิติ ถ้าความเศร้าและความร้ายหรือความแบดนั้น ตัวมันเองก็อาจจะเป็นเหมือนไฟ เหมือนหลุมลึกที่เราเองต้องสัมผัสและเข้าหาอย่างระมัดระวัง ทั้งในระดับความสัมพันธ์ที่เราอาจจะถูกดึงดูดเข้าหาเศร้าแบดแซดบอย หรือการจมลงสู่ความรู้สึกของเราเอง เมื่อความเศร้าและความร้ายกลายเป็นเรื่องโรแมนติก
อ้างอิงข้อมูลจาก