ปัญหาฝุ่น ควัน ไฟป่าภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เป็นสิ่งที่มักได้ยินอยู่เป็นประจำช่วงมีนาคม-เมษายนของทุกปี และดูเหมือนว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร และกลายเป็นว่ายิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
จากสถานการณ์ไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ในหลายๆ วันที่ผ่านมาก็น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว และยิ่งเพิ่มความน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีกเมื่อเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยได้เกิดเหตุไฟป่าปะทุหนัก รุนแรง และเป็นวงกว้างตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในเวลานี้แม้จะสามารถดับไฟได้ทุกจุดแล้ว แต่ก็สร้างความเสียหายไปกว่า 2,500 ไร่ ประกอบกับยังต้องเฝ้าระวังและทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าที่อาจเกิดซ้ำอีกระลอก
เหตุการณ์นี้ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่
แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆ ปี
พอนานวันเข้าปัญหาเหล่านี้ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและจิตใจ ยิ่งกับปีนี้ด้วยแล้วที่วิกฤตของ COVID-19 เข้ามาพร้อมๆ กับปัญหาสภาพอากาศช่วงนี้ของทุกปีที่ไม่เคยดีขึ้น
“มันมีอยู่วันนึง เราตื่นมาตอนเช้ารู้สึกว่าอากาศกำลังเย็นเลย พอมองออกไปข้างนอกเราเห็นว่ามีหมอกด้วย เลยเดินไปตรงหน้าต่างสูดอากาศเข้าไปเต็มปอด ก็คือแก๊นควัน (สำลักควัน)” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้ที่มีบ้านอยู่เชียงใหม่เล่าถึงปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่าที่เกิดขึ้นทุกปี ภายหลังจากที่ต้องอยู่บ้านเมื่อมหาวิทยาลัยได้ออกมาตรการงดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
เธอยังได้เล่าถึงผลกระทบจากสภาพอากาศในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อเครื่องกรองอากาศได้ หลายๆ ครอบครัวไม่ได้มีทุนทรัพย์มากพอที่จะนำมาใช้จ่ายในส่วนนี้ ประกอบกับปัญหาของหน้ากากอนามัยที่หาซื้อได้ยาก ทำให้คุณแม่ของเธอที่จำเป็นต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านทำได้เพียงใส่หน้ากากอนามัยผ้าชุบน้ำเพื่อกันฝุ่นละอองในอากาศ
“เราอยู่บ้านที่มีผู้สูงอายุถึง 2 คน แต่บ้านเราไม่มีเครื่องกรองอากาศเลยสักตัว มันแย่มากเลยนะ” นักศึกษาคนนั้นกล่าว
และยิ่งหนักขึ้นเมื่อชาวเชียงใหม่ไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เท่านั้น เพราะยังต้องเจอกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปพร้อมๆ กันด้วย “ทั้งเรื่องของฝุ่นควันและ COVID-19 ก็ต่างเป็นเรื่องของทางเดินหายใจ อาการอย่างพวกการไอ จาม หายใจลำบากก็มาพร้อมๆ กัน มันยิ่งแยกยากขึ้น อย่างผมเป็นหมอมันก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ยิ่งลำบากไปใหญ่เลย” ทันตแพทย์ของคลินิกทันตกรรมพิเศษ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พูด
และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
เมื่อปีนี้ไม่มีลมเข้ามาช่วยปัดเป่ากลุ่มควันที่อบอวล
อยู่ในแอ่งกระทะที่เรียกว่าจังหวัดเชียงใหม่
ปัญหาเดิมๆ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข
เพราะเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในทุกปี จนทำให้เกิดเป็นความเคยชิน (ที่คนเชียงใหม่ก็ไม่ได้อยากชิน) รู้อยู่แล้วว่าต้องเกิด แต่ก็ไม่มั่นใจถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง สิ่งที่ภาครัฐทำก็คือการแก้ปัญหาจากการห้ามเผาและการดับไฟที่เกิดขึ้นแทน
“พวกอบต. เขาติดป้ายประกาศว่าไม่ให้เผา หรือถ้าเผาจะปรับกันทุกปีนะ เวลาขับรถไปทำงานก็เห็นอยู่ทุกวัน แล้วปีนี้เริ่มติดกันตั้งแต่มกราด้วยซ้ำ แต่ไอพวกฝุ่นควันก็ยังมีอยู่ตลอด” พนักงานออฟฟิศผู้พักอยู่ใน ต.แม่เหียะ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดที่เกิดไฟป่า บอกถึงการรณรงค์ของภาครัฐที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงนี้
“คิดว่าควรจัดการอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ออกประกาศ แล้วไม่ชี้แจงอะไร ปล่อยให้ประชาชนโยงเรื่องเอง ผูกเรื่องเองไปเรื่อยว่าจริงๆ มันคือยังไง ภาครัฐแก้ได้หรือยัง เป็นคำถามที่ไม่ได้คำตอบ” สถาปนิกชาวเชียงใหม่เอ่ยถึงการทำงานของภาครัฐ หลังจากมีมาตรการประกาศจับและปรับผู้ที่เผาใบไม้ กิ่งไม้แห้ง ในจังหวัดเชียงใหม่
แม้จะมีประกาศออกมาเป็นกิจจะลักษณะในทุกๆ ปี
นั่นก็ไม่ได้ทำให้อากาศในช่วงนี้ของทุกปีดีขึ้นแม้แต่น้อย
กลับกลายเป็นทำให้เขามองว่า ภาครัฐมีแต่ประกาศห้ามการเผา และไม่ได้เข้าไปเทคแอ็กชั่นกับปัญหาเท่าที่ควร อาจเพราะกลัวไปกระทบกับช่องทางทำกินของคนชาวป่าชาวดอย อย่างการเผาเพื่อของป่า หรือการเผาที่เพื่อทำการเกษตร ทำให้สุดท้ายก็ต้องมาแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุมากกว่าเข้าไปจัดการกันที่ตัวต้นเหตุ
“เอาจริงๆ เราก็ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดนะ เพราะไฟป่ามันก็เกิดได้จากทั้งฝีมือคนแล้วก็ธรรมชาติ ไอ่ภัยธรรมชาติมันห้ามไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามันเกิดจากคน ก็ต้องแก้ปัญหาที่คน” นักศึกษามหาวิทยาลัยเชิงดอยสุเทพกล่าว
ความไม่เข้าใจ และแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุ
เราจะเคยได้ยินมาตลอดว่า ถ้าไม่นับเรื่องการเสียดสีของใบไม้แห้งในป่าแล้ว ต้นเหตุของไฟป่าในภาคเหนือหลักๆ เกิดจากหนึ่งคือ การเผาป่าเพื่อการทำการเกษตรเชิงเดียว และสองคือ การเผาเพื่อหาของป่า อย่างเห็ดถอบที่ต้องเผาหน้าดินก่อนแล้วถึงจะขุดไปขาย ด้วยความที่ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ขึ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจเหตุผลนะจุดนั้น และอีกหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยถึงการควบคุมการเกิดของปัญหาเหล่านี้ได้มากน้อยขนาดไหน
“ทั้งที่รัฐก็เห็นว่าการชิงเผาก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทุกครั้งที่มีไฟป่า คนพื้นที่ล่างกลับโทษชาวเขาเสมอ ส่วนรัฐก็ไม่เคยแม้แต่จะช่วยพยายามสื่อสารอะไร แรงกดดันแบบนี้จะทำให้วันนึงไม่มีชาวบ้านในพื้นที่อยากจะดูแลป่า” นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อธิบาย
‘การชิงเผา’ ที่เธอพูดถึงคือการเผาเพื่อไม่ให้ใบไม้แห้งที่กองสะสมอยู่บนผืนป่ามากไปกว่านี้จนถึงจุดที่ไม่อาจดับไฟได้ มักจะทำเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีความกดอากาศมากนัก เวลาเผาป่าลมจะพัดขึ้นข้างบน
ทำให้ฝุ่นควันก็ไม่หนาแน่น
และสามารถควบคุมได้
ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ทุกฝ่าย หน่วยงานรัฐต้องทำความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา ทั้งต้นตอปัญหา ความขัดแย้งคนในพื้นที่ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบ และชี้แจงถึงกระบวนการทำงาน หรือแผนในการรับมือ
เหนือสิ่งอื่นใดเธอคิดว่า การที่คนในพื้นที่ไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจในการจัดการปัญหา เพราะต้องรอ กอ.รมน. ที่มาจากส่วนกลางก่อน ซึ่งคนเหล่านั้นไม่ได้ใกล้ชิดปัญหา เขาอาจไม่เข้าใจปัญหา และแก้ปัญหาไม่ถูกจุด สุดท้ายก็มีแค่นโยบายแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการห้ามเผาทุกแบบเหมือนทุกๆ ปี
เพราะการแก้ปัญหาไฟป่าภาคเหนือไม่ใช่ปัญหาที่จะไปผลักภาระให้กับคนในพื้นที่เพียงอย่างเดียว เมื่อการเกิดไฟป่ามีจุดเริ่มต้นจากเรื่องของการทำการเกษตรหรือการทำมาหากิน ทางภาครัฐจึงจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการพูดคุยสื่อสาร และช่วยกันศึกษาหาวิธีการแก้ปัญหา หรือควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้น
ในทุกปัญหาการสื่อสารก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญอยู่เสมอ ทั้งการสื่อสารของในหน่วยงานราชการและประชาชนกันเอง หรือการสื่อสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ ก็ด้วย และยังรวมไปถึงการที่ภาครัฐต้องรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ให้การสนับสนุนต่อองค์กรอิสระ พลังภาคประชาชน ให้ความร่วมมือกับอาสาสมัคร เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เห็นถึงปัญหา เข้าใจปัญหา รู้วิธีการจัดการ และจัดการกับมันได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
อ้างอิงข้อมูลจาก