‘นักการเมืองหญิง’ คือคำง่ายๆ ที่บ่งบอกอะไรบางอย่าง
คำข้างต้นเป็นคำที่ใช้เรียกเมื่อผู้หญิงประกอบอาชีพนักการเมือง ทว่าเมื่อเป็นผู้ชายเรามักเรียกพวกเขาว่า ‘นักการเมือง’ เช่นนั้นแล้ว ‘หญิง’ ในที่นี้จึงไม่ใช่เพียงคำบ่งบอกเพศ แต่เป็นคำบ่งบอกรูปการณ์ปัจจุบัน ว่าในขณะนี้ สังคมหมู่มากของเรามองภาพอาชีพดังกล่าวยังไงและผูกติดมันเข้ากับอะไร ในกรณีของนักการเมือง ผลที่ตามมาของมุมมองนั้นอาจส่งผลมากกว่าที่เราคิด
“ควรต้องมีผู้หญิงอยู่ในทุกๆ ตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ มันไม่ควรเลยที่ผู้หญิงจะเป็นข้อยกเว้น” คำพูดของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) อดีตตุลาการสมทบศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา คำพูดที่เธอพูดเอาไว้เมื่อราว 20 ปีก่อน ปัจจุบัน เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา มีจำนวน ส.ส. หญิงสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 28% ของที่นั่งทั้งหมด สถิตินี้ไต่ขึ้นอย่างช้าๆ ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก
หากแต่เทรนด์เหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกที่และทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในงานวิจัย Women’s political leadership in the ASEAN region โดย ดร. เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และ ดร. อามะลินดา สาวิรานี (Amalinda Savirani) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา ประเทศอินโดนีเซีย งานวิจัยนี้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่กีดขวางเส้นทางการเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม และเจาะกรณีศึกษาอย่างละเอียดเข้าไปยังสถานการณ์ของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย
ในภาพรวมของงานวิจัยพบว่า ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จำนวนผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำทางการเมืองมีจำนวนคงที่หรือถดถอยลง โดยปัจจัยที่เป็นข้อกีดขวางหลักๆ ของพวกเขามาจากทรัพยากรทางการเงิน ค่านิยมเหยียดเพศ และการกดทับจากภาครัฐ ผู้วิจัยกล่าวเสริมว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งกีดขวางที่คงทนที่สุดสำหรับนักการเมืองหญิง อย่างการนับถือศาสนา ยิ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเคร่งศาสนามาก พวกเขาก็มีโอกาสเลือกผู้หญิงน้อยลง รวมไปถึงระดับรายรับและโอกาสการเข้าถึงของผู้หญิงที่ต่ำกว่า
นอกจากนั้น งานวิจัยยังศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงบางคนถูกกีดขวางมากกว่าคนบางคน ซึ่งผลสรุปบอกว่า โดยมากแล้วผู้หญิงที่ไม่พบปัญหาการกีดกันทางการเมือง มักเป็นคนที่มาจากครอบครัวนักการเมือง มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอยู่แล้ว หรือต้องเป็นผู้บุกเบิกทางการเมือง (Political Trailblazer)
ในขณะที่นักการเมืองหญิงที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสถูกคุกคามทั้งทางกายภาพและทางออนไลน์ ทั้งจากผู้คนและภาครัฐมากกว่าคนอื่นๆ อยู่แล้ว คนที่ได้รับความรุนแรงรูปแบบดังกล่าวมากที่สุด คือนักการเมืองหญิงอายุน้อย โดยเป็นนักกิจกรรมและทำงานการเมืองในระดับรากหญ้า
หลังจากรู้สถานการณ์แบบภาพรวมกันไปแล้ว คำถามที่ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่ๆ คือทำไมควรเพิ่มพื้นที่ให้แก่นักการเมืองหญิง? ถ้าเราไม่โฟกัสที่เพศ แต่ไปโฟกัสที่แนวคิดได้ไหม? ไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นนักการเมืองชายที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศและนโยบายเพื่อผู้หญิงก็พอแล้วหรือเปล่า? เรื่องเพศเกี่ยวอะไรด้วย?
ร่มใหญ่ที่ครอบคำถามทั้งหมดนี้เอาไว้คือ ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’ (Identity Politics) ซึ่งหมายถึง มุมมองทางการเมืองที่มีฐานมาจากอัตลักษณ์ของกลุ่มคนสักกลุ่ม เช่น ชาติพันธุ์ เพศ ศาสนา ชนชั้น ฯลฯ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์มักถูกโยงเข้ากับการเรียกร้องของแนวคิดฝ่ายซ้าย และกลุ่มคนที่ถูกกดทับหรือถูกทำให้มองไม่เห็นจากโครงสร้างสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้วในระดับใดระดับหนึ่ง การเมืองทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับตัวตนทั้งสิ้น
แล้วประเด็นไหนในโซเชียลมีเดีย ที่เป็นเรื่องเดือดได้เดือดดีทุกครั้งเมื่อเราเห็นมันโผล่มาหน้าไทม์ไลน์ของเรา? ก็คงมีหลายคำตอบ แต่สำหรับตัวอย่างนี้ขอยกให้ประเด็น ‘ประจำเดือนและผ้าอนามัยฟรี’ ในขณะที่คนฝั่งหนึ่งตั้งคำถามว่า ‘แล้วทำไมถุงยางไม่ฟรี?’ ‘สำหรับคนที่ไม่ต้องใช้ ทำไมต้องเสียภาษีให้ด้วย?’ ‘แล้วเบ่งเมนส์ให้มันหมดๆ ไปไม่ได้เหรอ?’ แต่คำตอบสำหรับอีกฝั่งมันง่ายนิดเดียวคือ มันควรจะต้องเป็นสวัสดิการอยู่แล้ว
ความแตกต่างในข้อถกเถียงนั้น มาจากฐานว่าฝั่งหนึ่งไม่มีความเข้าใจและไม่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับประจำเดือน แต่ฝั่งที่เข้าใจมัน เกิดความเข้าใจขึ้นได้ยังไง? นั่นด้วยวิธีการแรกคือ การศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและมองปัญหาด้วยความเห็นอกเห็นใจ ส่วนอีกวิธีคือ การผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตในร่างกายที่มีประจำเดือน
หากลองมองภาพรวมไปถึงประเด็นอื่นๆ การบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรทางเพศ ปัญหาการคุกคามทางเพศ ทั้งทางกายภาพและออนไลน์ การระงับการตั้งครรภ์ ความไม่เท่าเทียมในแง่มุมต่างๆ สิทธิสตรีโดยรวม ฯลฯ ในศตวรรษนี้ สังคมโลกเรียกร้องความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และในขณะที่ความเข้าใจก็สามารถสร้างขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ความเข้าใจผ่านประสบการณ์และอัตลักษณ์นั้นไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและตรงจุดเรียกร้องความเข้าใจในระดับนั้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากผู้ที่อยู่ในตำแหน่งตัดสินใจระดับการออกกฎหมาย เป็นคนที่มีอัตลักษณ์เดิมๆ อยู่เรื่อยไป?
ที่สำคัญคือ คนคนหนึ่งสามารถเลือกที่จะเลิกเห็นอกเห็นใจและเปลี่ยนแนวคิดของเขาได้ แต่อัตลักษณ์นั้นถือเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์อยู่เสมอ
แล้วสถานการณ์ของผู้หญิงในการเมืองไทยเป็นยังไงบ้าง? ย้อนกลับไปที่งานวิจัย Women’s political leadership in the ASEAN region กับส่วนที่เจาะลึกไปที่กรณีศึกษาภายในประเทศไทย ผู้วิจัยเขียนว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้นำทางการเมืองหญิง ความรุนแรงและการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกนำไปใช้กับผู้นำทางการเมืองหญิง ทั้งกับระดับรากหญ้าและไม่ใช่รากหญ้า” และ “ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในงานวิจัยนี้ที่ผู้นำหญิงถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว พร้อมทั้งมีการตรวจตรา เฝ้ามอง และขู่เข็ญ ผ่านทั้งทางกายภาพและทางออนไลน์” ผู้วิจัยยังเสริมว่า บางรายงานพบว่าในกระบวนการดังกล่าวมี ‘การล่วงละเมิดทางเพศ’ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
มองย้อนไปยังเหตุการณ์และวาทกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งการโจมตีเธอและความน่าเชื่อถือของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรี สามารถสะท้อนภาพเดียวกันกับที่งานวิจัยชิ้นนี้วาดเอาไว้ “กลุ่มตัวอย่างนักการเมืองหญิงทั้งหมดถูกโจมตีจากช่องทางออนไลน์ด้วยวิธีการ Hate Speech การขู่ทำร้าย การปั่น (Trolling) และการปล่อยข่าวปลอม” นอกจากนั้น เราจะยังเห็นการกระทำที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่เป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน เช่น การเลือกใช้สรรพนามที่ไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่าผู้ชาย หรือการถือโอกาสแตะเนื้อต้องตัว ส.ส. หญิงโดยไม่ผ่านการยินยอมจากเจ้าตัวอยู่
หนึ่งในข้อสังเกตของภาพรวมบอกว่า ยิ่งประเทศเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน ความรุนแรงรูปแบบดังกล่าวก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเก็บสถิติว่าหนึ่งในตัวการหลักที่กีดขวางการพัฒนาต่อการเพิ่มผู้นำทางการเมืองหญิงเข้าไปของการเมืองไทย คือการรัฐประหาร “ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพ หรือเมื่อมีรัฐบาลทหาร จำนวนผู้หญิงในรัฐสภาจะดิ่งลงทันที ระหว่างการปกครองโดยเผด็จการทหารเมื่อปี 2557 – 2562 จำนวน ส.ส. หญิงลดลงจาก 16% เหลือเพียง 5% แล้วกลับไปที่ 16% อีกครั้งเมื่อเกิดการเลือกตั้งใหม่” ผู้วิจัยกล่าว
ฉะนั้นแล้ว ทำไมต้องเป็นนักการเมืองหญิง? ภาพที่งานวิจัยและข้อมูลให้มา ไม่ได้บอกเราว่านักการเมืองหญิงนั้นดีกว่านักการเมืองชาย แต่มันร่างภาพให้เห็นว่าประเทศของเราสามารถมีการเมืองที่หลากหลายและปลอดภัยได้มากกว่านี้ หากเราได้มาซึ่งประชาธิปไตยอันแท้จริง
การสร้างความหลากหลายเหล่านั้น สามารถเป็นก้าวแรกของการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อ้างอิงจาก