ผมขอชวนทุกท่านจินตนาการย้อนวัยกลับไปใส่ชุดนักเรียนกัน
ที่โรงเรียนแห่งนี้มีคณะกรรมการผู้ทรงอำนาจอยู่ 10 คน คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการเลือกตั้งมาจากเหล่านักเรียนชายหญิงที่มีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง คณะกรรมการนี้จะมีหน้าที่กำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งระเบียบทรงผมและเครื่องแต่งกาย การจัดการพื้นที่ส่วนกลางและสนามกีฬา การจัดกิจกรรมกีฬาสีและเข้าค่ายประจำปี บทลงโทษการบูลลี่และล่วงละเมิดทางเพศ เงื่อนไขในการลาป่วยและลาหยุด ไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณแก่ชมรมต่างๆ ภายในโรงเรียน
เมื่อคุณพลิกชื่อกรรมการขึ้นมา ปรากฏกว่า 8 จาก 10 คนเป็นผู้หญิง!
หากคุณเป็นผู้หญิงก็คงไม่รู้สึกอะไร อาจจะสบายใจด้วยซ้ำที่มีเพื่อนๆ ที่รู้ใจคอยดูแล แต่ถ้าคุณเป็นผู้ชายก็คงรู้สึกไม่ต่างกับผม เพราะคงไม่ค่อยสบายอกสบายใจนักเพราะเกรงว่ากิจกรรมและกฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกกลั่นกรองมาด้วยวิธีคิดแบบ ‘ผู้หญิงๆ’ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับผู้ชายที่กลายเป็นเสียงส่วนน้อยในคณะกรรมการ
จำความรู้สึกนั้นไว้นะครับ เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้หญิงเผชิญมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่มีครั้งไหนเลยที่เราจะมีผู้แทนหญิงนั่งในสภานิติบัญญัติมากกว่า 1 ใน 4 โดยล่าสุดมีสัดส่วนเพียง 15 จาก 100 คนเท่านั้น
ซึ่งภาพดังกล่าวสวนทางกับประชากรไทย
ที่มีสัดส่วนประชากรหญิงมากกว่าชายด้วยซ้ำไป!
คิดดูสิว่าสภาซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศในการกำหนดตัวบทกฎหมายที่ส่งผลต่อสิทธิและการดำเนินชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย บางอย่างเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น สิทธิการลาคลอด สิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิในการลดหย่อนภาษี การแบ่งสินสมรส นิยามบทลงโทษเรื่องการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ ต่างถูกกำหนดด้วยเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชาย ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นกฎหมายอย่างที่เราเห็นๆ กันนี่แหละ
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียงบทบัญญัติที่ระบุว่าพรรคการเมืองจะต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็สะท้อนให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อความที่กลวงเปล่า เพราะแม้แต่พรรคที่นำเสนอตัวเองว่าก้าวหน้าก็ยังมีสัดส่วนผู้หญิงที่น้อยมากๆ
ในห้วงยามที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ผมอยากจะชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักนโยบายกำหนดโควตาที่จะช่วยผลักดันให้ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำซึ่งมีการบังคับใช้ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
สร้างความเท่าเทียมทางเพศด้วย ‘โควตา’ นักการเมืองหญิง
แม้จะฟังดูเหมือนเป็นแนวคิดใหม่แกะกล่องตามกระแสสตรีนิยมหรือความเท่าเทียมทางเพศ แต่ความเป็นจริงแล้วกฎหมายกำหนดโควตาผู้หญิงในสภามีบังคับใช้มาเนิ่นนานกว่าสองทศวรรษโดยประเทศแรกที่มีกฎหมายลักษณะนี้คืออาร์เจนตินา ปัจจุบัน โควตาสำหรับผู้หญิงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรโดยมีบังคับใช้ในกว่า 134 ประเทศ
หลายคนคงแปลกใจเมื่อทราบว่าแม้แต่ประเทศจีนเองก็มีการกำหนดโควตาสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภาที่ 22 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้แทนหญิงคิดเป็นสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ
ระบบโควตาในแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน บางประเทศจะกำหนดสัดส่วนที่นั่งในสภาที่สงวนไว้สำหรับผู้แทนหญิงโดยเฉพาะ บางแห่งกำหนดสัดส่วนผู้ลงสมัครว่าจะต้องเป็นผู้หญิงอย่างน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น รายชื่อผู้สมัครจากทุกพรรคการเมืองจะต้องมีผู้หญิงไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
กฎหมายในบางประเทศลงรายละเอียดชัดเจนว่ารายชื่อผู้สมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์จะต้องสลับเพศชายหญิงเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองหัวหมอลักไก่กองรายชื่อผู้หญิงไว้ท้ายๆ เพียงเพื่อให้ครบโควตา บางประเทศเขียนกฎหมายเป็นกลางทางเพศ โดยระบุเพียงว่าผู้สมัครเพศใดเพศหนึ่งจะต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย และหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปจะใช้ระบบโควตาแบบสมัครใจของแต่ละพรรคการเมือง
ระบบโควตาไม่ได้จำกัดเฉพาะการเลือกตั้งในระดับชาติเท่านั้น บางประเทศ เช่น อินเดีย มีระบุอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งผู้แทนในระดับท้องถิ่นจะต้องมีผู้หญิงไม่น้อยกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายเลือกตั้งในบางรัฐของอินเดียก็ขยับสัดส่วนดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ นอกจากโควตาเรื่องเพศแล้ว อินเดียจะมีการกำหนดเงื่อนไขด้านวรรณะและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้มั่นใจว่าผู้แทนในระดับท้องถิ่นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ถึงรูปแบบจะแตกต่าง แต่ระบบโควตาก็มีเป้าหมายเดียวกันคือเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎรโดยมีสัดส่วนตั้งแต่ 20 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ความก้าวหน้าทางนโยบายอาจทำให้อีกไม่นานเกินรอสภาจะมีสัดส่วนด้านเพศสอดคล้องกับลักษณะทางประชากรเพื่อให้สภาดังกล่าวเป็น ‘ผู้แทนราษฎร’ อย่างแท้จริง
การศึกษาหลายชิ้นพบว่าระบบโควตาทำให้สัดส่วนผู้แทนหญิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยระบบโควตาที่มีประสิทธิผลมากที่สุดคือระบบสงวนที่นั่งในสภาสำหรับผู้แทนหญิง ขณะที่ระบบสัดส่วนผู้สมัครอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของนโยบายดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและบริบทของแต่ละประเทศจึงไม่มี ‘สูตรสำเร็จ’ ที่ดีที่สุดในการเพิ่มจำนวนผู้แทนหญิงในสภา
หลากข้อถกเถียงเรื่องระบบ ‘โควตา’
เมื่อมีระบบโควตาที่กำหนดสัดส่วนผู้หญิงในสภา แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการออกแบบนโยบายภาครัฐ มีการศึกษาหลายชิ้นพบว่ารัฐบาลภายหลังการบังคับใช้กฎหมายโควตาจะมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเน้นสนับสนุนด้านการสาธารณสุข สิทธิสตรี และการบรรเทาความยากจนพร้อมทั้งปรับลดงบประมาณในด้านการทหารและความมั่นคง
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากบทบาทและความต้องการของหญิงและชายนั้นแตกต่างกัน เช่น ในสังคมชนบทในอินเดียและแถบแอฟริกา ผู้หญิงในชุมชนจะมีหน้าที่ได้ตักน้ำดื่มใส่ถังกลับมาที่บ้าน เมื่อผู้หญิงมีบทบาทในการกำหนดนโยบายก็จะเน้นใช้งบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำสะอาดในชุมชน ขณะที่ผู้ชายต้องเดินทางไปทำงานบ่อยครั้งจึงมักจะให้ความสำคัญกับนโยบายเช่นการพัฒนาถนนมากกว่า
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่านโยบายของผู้หญิงหรือผู้ชายดีกว่ากัน เพียงต้องการให้เห็นว่าการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในภาคการเมืองสามารถ ‘สะท้อน’ ความต้องการของประชากรอีกครึ่งหนึ่งซึ่งที่ผ่านมาถูกมองข้ามเพราะชายเป็นใหญ่ในสภา
อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยก็มองว่าระบบโควตาขัดต่อหลักเสรีประชาธิปไตยและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ผู้หญิงมากกว่า บางคนอาจวิจารณ์ถึงขั้นว่าระบบดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากเสียงในมือประชาชนถูกลดทอนพลังด้วยระบบโควตา กลายเป็นว่าผู้แทนบางคนได้เข้าสภาเนื่องจากเพศสภาพไม่ใช่จากความสามารถหรือผลการลงคะแนน
แต่ผมอยากจะชวนผู้อ่านลองคิดอีกมุมหนึ่งด้วยการตอบคำถามง่ายๆ ว่า
ผู้หญิง ‘ด้อย’ กว่าผู้ชายหรือเปล่า?
ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยแน่ๆ กับคำปรามาสนี้ เพราะในชีวิตการทำงานที่ผ่านมาเจอกับผู้หญิงที่ทั้งเก่งและมีความเป็นผู้นำกว่าผู้ชายจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการที่สภาพสภาไทยมีสัดส่วนผู้หญิงเพียง 15 จาก 100 คนย่อมเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากอุปสรรคอะไรบางอย่าง เช่น อคติทางสังคม หรือการกีดกันในแวดวงการเมือง
ระบบโควตาจึงเปรียบเสมือนการทุบทำลายกำแพงดังกล่าว พร้อมกับหนุนเสริมให้ผู้หญิงเป็นมากกว่า ‘ไม้ประดับ’ และสามารถผลักดันนโยบายพร้อมทั้งเป็นปากเสียงให้กับประชาชนครึ่งหนึ่งของประเทศได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Global Impact of Quotas: On the Fast Track to Increased Female Legislative Representation
Why quotas work for gender equality