กาแฟหนึ่งแก้ว สมุดจด และโน้ตบุ๊ก องค์ประกอบที่ชินตาบนโต๊ะในร้านกาแฟ สถานที่ยอดฮิตที่ผู้คนมักจะมาพบปะ พูดคุย นัดเดต อนึ่งก็เปรียบเสมือนที่ทำงาน ที่อ่านหนังสือของนักเรียน นักศึกษา และออฟฟิศนอกสถานที่ของมนุษย์วัยทำงานหลายคน
ไม่ใช่เพียงเพราะความชิค หรือเพราะในร้านกาแฟให้ใช้ wifi ฟรี แต่เพราะมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้พวกเขาคิดงานได้ไหลลื่นมากยิ่งขึ้นต่างหาก
เมื่อการนั่งทำงานที่ร้านกาแฟกลายเป็นเทรนด์
การนั่งทำงานหรือติวหนังสือในร้านกาแฟ เป็นเทรนด์ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ก่อนจะกลายเป็นกระแสทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเทรนด์ดังกล่าว ก็มาจากการที่องค์กรยุคใหม่เริ่มปรับวัฒนธรรมองค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยให้พนักงานในบริษัทเป็นอิสระจากข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ซึ่งการปรับตัวที่ว่านี้ก็ชี้ให้เห็นชัดว่าเป็นการช่วยเพิ่มผลิตผลได้จริง
และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการบูมของ gig ecomomy หรือรูปแบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยการจ้างงานแบบครั้งคราว จึงทำให้ตลาดแรงงานที่เรียกว่าฟรีแลนซ์ (freelance/gig worker) ซึ่งถือเป็นอาชีพที่กำลังเป็นนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความยืดหยุ่นสูง อยากทำงานเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ จึงเป็นที่มาของการปรับตัวของธุรกิจร้านกาแฟหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ทำงาน (co-working space) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น wifi ปลั๊กไฟ โคมไฟ ห้องประชุม กระดาน หรือการปรับเป็นธุรกิจ 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าได้แวะเวียนเข้ามานั่งทำงานได้ตลอดเวลา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เมื่อทุกคนไม่ได้ใช้ชีวิตแค่กลางวัน ว่าด้วยธุรกิจ 24 ชั่วโมงที่มาตอบโจทย์มนุษย์กลางคืน)
นอกจากการเอื้ออำนวยความสะดวกดังกล่าว ร้านกาแฟยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (creativity) หรือการคิดนอกกรอบได้ แม้หลายคนจะมองว่าเป็นสถานที่ที่มีสิ่งรบเร้าอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีหลายคนที่มักจะชอบมานั่งคิดงานในร้านกาแฟอยู่เสมอ งั้นเรามาดูเหตุผลที่อธิบายเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน
ความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกกระตุ้นด้วยเสียงรบกวน
บางคนอาจรักในการเสียบหูฟังนั่งทำงานเงียบๆ เพราะมันทำให้เราไม่ถูกรบกวนด้วยเสียงภายนอก แต่เนิ่นนานมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ค้บพบว่า เสียงบรรยากาศโดยรอบ (ambient) ในระดับปานกลาง หรือประมาณ 70 เดซิเบล สามารถทำให้เราคิดอะไรที่ abstract และสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น โดยระดับเสียงบรรยากาศที่ว่านี้ มักจะถูกพบในสถานที่ที่มีคนแวะเวียนเข้ามาอยู่ตลอดเวลา อย่างร้านกาแฟและโรงอาหาร
โดยการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ใน Journal of Consumer Research ปี ค.ศ.2012 ได้อธิบายไว้ว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเสียงบรรยากาศระดับต่ำถึงปานกลาง ช่วยให้เราหลุดออกจากอาการฟุ้งซ่านต่องานตรงหน้าได้ บางทีการอยู่กับความเงียบ ทำให้เราติดอยู่กับไอเดียซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งการได้ยินอะไรแปลกๆ ลอยเข้ามาในหูบ้าง จะช่วยดึงเราออกจากภวังค์นั้น และทำให้เราคิดอะไรได้นอกกรอบที่ตีเอาไว้
แม้ความเงียบจะทำให้เราโฟกัสได้ดี
แต่เสียงรบกวนบางอย่าง ช่วยให้เราคิดอะไรที่แตกต่างได้มากขึ้น
ความเงียบอาจเหมาะกับงานที่ต้องใช้สมาธิในการแก้ไขโจทย์ยากๆ หรืองานที่ต้องคำนึงถึงรายละเอียดที่แม่นยำก็จริง แต่ถ้าทำงานที่ต้องอาศัยไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ การได้ยินเสียงรบกวนในระดับที่พอดีจะช่วยจุดประกายอะไรแปลกๆ ได้ดียิ่งขึ้น
มีคำอธิบายทางจิตวิทยาอีกอย่างก็คือ เวลาเข้าไปในร้านกาแฟ เรามักจะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่ทำอะไรคล้ายๆ กับเรา ซึ่งถือเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ทางอ้อมอย่างหนึ่ง โดยการศึกษาในปี ค.ศ.2016 ก็ได้พิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ โดยการให้ผู้เข้าร่วมทดสอบหลายคนนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ใกล้ๆ กัน และเปิดหน้าโปรแกรมเดียวกันขึ้นมา ซึ่งผลการทำแบบทดสอบก็แสดงให้เห็นว่า การที่เราทำสิ่งหนึ่งใกล้กับคนที่ทำในสิ่งเดียวกัน แล้วเขาดูมีความตั้งใจในการทำสิ่งนั้นมากๆ มันจะทำให้เราทำสิ่งนั้นมากขึ้นตามไปด้วยแบบไม่รู้ตัว คล้ายๆ กับการไปฟิตเนสหรือยิมเพื่อออกกำลังกายนั่นแหละ เวลาเห็นลู่ข้างๆ มุ่งมั่นตั้งใจวิ่ง เราก็จะรู้สึกมีแรงกระตุ้นอยากที่จะมุ่งมั่นอย่างนั้นบ้าง
แต่ในช่วง COVID-19 ทำให้เราอดเข้าออกร้านกาแฟกันตามปกติที่เคยเป็น คนที่ชอบไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟบ่อยๆ จึงถึงกับต้องเปิดคลิปเสียง coffee house หรือบรรยากาศร้านกาแฟใน YouTube คลอไปด้วยขณะทำงาน โดยในคลิปเสียงนั้นก็มีทั้งเสียงวางแก้ว เสียงลากโต๊ะ เสียงคนคุยกันอยู่ไกลๆ บทสนทนาเบาๆ เสียงบาริสตาทุบกากกาแฟ หรือเสียงเครื่องสตรีมฟองนมบ้างบางที และมีผู้คิดค้นแอปพลิเคชันชื่อ Coffivitity ขึ้นมา เป็นแอปฯ ที่ให้บริการเสียงบรรยากาศร้านกาแฟแบบวนลูปไม่มีสิ้นสุด ซึ่งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้หลายคนหายฟุ้งซ่านจากการ work from home ได้บ้าง
การได้เห็นความหลากหลายก็ช่วยทำให้คิดอะไรออก
โต๊ะทำงานที่มีคอกกั้น (cubical) นับว่าเป็นฝันร้ายสำหรับมนุษย์วัยทำงานหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องทำงานที่ใช้ไอเดียตลอดเวลา เพราะคอกเหล่านั้นก็เหมือนคอกที่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ไม่ให้โลดแล่นออกไปไหน ไม่แพ้ผนังขาวของบ้านในช่วง work from home
“การตกแต่งออฟฟิศมีผลต่อกระบวนการคิดสร้างสรรค์ของผู้คน เพราะมันคือการกระตุ้นด้วยภาพ ซึ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แบบผสมผสาน” ซุนกี ลี (Sunkee Lee) ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านทฤษฎีและกลยุทธ์องค์กรที่ Carnegie Mellon University กล่าว ซึ่งในการวิจัยของเขาพบว่า ความหลากหลายของภาพที่เรามองเห็น ช่วยให้เราแก้ไขปัญหาตรงหน้าได้ดี แต่เราจะต้องรู้จักคิดอะไรที่นอกกรอบด้วย
ในที่เกิดช่วงโรคระบาดแล้วต้องทำงานอยู่บ้าน ซุนกีก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มแสงนีออนที่ผนังออฟฟิศในบ้านของเขาเช่นกัน แต่ไม่ช้าเขาก็พบว่า แม้ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจะมีความแปลกประหลาดมากเพียงใด แต่สักพักเขาก็จะรู้สึกคุ้นชินและเกิดอาการเบื่อหน่ายอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ ซุนกีจึงรู้สึกว่าการเข้าร้านกาแฟที่ไม่ซ้ำเดิมในแต่ละครั้ง ทำให้เขาได้พบอะไรใหม่ๆ และแปลกตาอยู่เรื่อยๆ มากกว่า
นอกจากนี้ จิตใจของเรายังมีแนวโน้มที่จะปรับแต่งข้อมูลในหัว ในขณะที่ยังคงเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ไปด้วยได้ ทำให้การที่เราย้ายจากสภาพแวดล้อมเดิมไปยังสภาพแวดล้อมใหม่ เราจะถูกเติมเต็มความคิดด้วย input ใหม่ๆ ด้วย ซึ่งร้านกาแฟก็เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดี เพราะเราได้เห็นลูกค้าแวะเวียนกันไปมาไม่ซ้ำหน้า หรือเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวแบบคาดเดาไม่ได้
โครีดอน สมิธ (Korydon Smith) ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยธรรมที่ University of Buffalo ได้เขียนบทความเกี่ยวกับประโยชน์ของการทำงานในร้านกาแฟไว้ว่า “ผู้คนที่เข้าออกร้านกาแฟตลอดเวลา แสงธรรมชาติที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลิ่นหอมของกาแฟและอาหาร แม้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เราเลือกไม่อยากมาทำงานที่ร้านกาแฟ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวของเรานี่แหละ ที่กระตุ้นให้สมองของเราทำงานต่างไปจากการนั่งทำงานอยู่บ้าน”
แต่การเห็นกิจกรรมมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะเราอาจหลุดโฟกัสกับงานนั้นจนกู่ไม่กลับได้ ดังนั้น ตำแหน่งที่นั่งจึงค่อนข้างสำคัญ พยายามอย่านั่งแถวๆ แคชเชียร์ หรือติดประตูเข้าออกมากเกินไป เลือกนั่งตรงที่ที่พอจะสังเกตกิจกรรมเหล่านั้นแบบห่างๆ ก็พอ
บรรยากาศของความเป็นกันเองช่วยให้เกิดการโยนไอเดีย
ร้านกาแฟไม่เพียงแต่จะเป็นสถานที่นั่งทำงานของคนเหงา แต่ยังเป็น co-working space ที่ขณะนี้หลายแห่งได้เปิดให้บริการห้องประชุม (meeting room) ด้วย เพื่อสนับสนุนให้องค์กรขนาดใหญ่เขามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็มองว่าบรรยากาศการทำงานในร้านกาแฟ เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนทำงานด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อพวกเขาได้อยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะระดมความคิดกันมากขึ้นด้วย
สมิธอธิบายเพิ่มเติมว่า เวลารวมตัวกันคุยงานในห้องประชุมหรือ Zoom มักจะมีความเป็นทางการแฝงอยู่ ในทางตรงกันข้าม บรรยากาศของร้านกาแฟ จะช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น
บรรยากาศที่ไม่เป็นทางการของร้านกาแฟ
ช่วยให้กลุ่มคนทำงานรู้สึกสนิทสนมและเป็นกันเอง
ซึ่งความสนิทสนมนั้นก็เปิดโอกาสให้พวกเขา
แลกเปลี่ยนไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อกันมากขึ้น
อีกทั้งรูปแบบของพื้นที่ประชุมบางแห่งก็ทำให้เกิดข้อจำกัดบางอย่าง โดยเฉพาะการประชุมที่มีกำหนดตามเวลา จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ไปไม่สุดเท่าที่ควร เคลลี่ เฮย์ส แม็คอโลนี (Kelly Hayes McAlonie) สถาปนิกผู้ออกแบบวางแผนวิทยาเขตที่ University of Buffalo กล่าวว่า สถานที่หลายแห่งในมหาวิทยาลัย เช่น ออฟฟิศแบบเปิดโล่ง (open-air office) จะมีการผสมผสานองค์ประกอบของร้านกาแฟเข้าไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมารวมกันและทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งเทรนด์การออกแบบนี้ก็มีมาหลายสิบปีแล้ว โดยเราเรียกกันว่า coffee shop-office hybrids
ฉะนั้น บริษัทไหนที่กำลังมองหาไอเดียตกแต่งห้องทำงานอยู่ บรรยากาศแบบร้านกาแฟก็อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจที่จะพูดคุยกันมากขึ้นก็ได้นะ
พอได้รู้แบบนี้ ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนที่ประกอบอาชีพสายครีเอทีฟ อย่างนักเขียน นักแต่งเพลง หรือนักวาดภาพ มักจะชอบมานั่งทำงานในร้านกาแฟกันบ่อยๆ และในช่วงที่การ work from home ยังคงเป็นตัวเลือกของหลายๆ บริษัทแบบนี้ ใครที่รู้สึกตันกับไอเดียของตัวเอง ยังไงก็ลองหาโอกาสออกไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟดูบ้างก็ได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก