ไปคาเฟ่ถ่ายรูปเช็กอิน ไปแกลเลอรี่ทำคอนเทนต์ลงโซเชียล
ถ้าพูดประโยคนี้เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว คนฟังคงจะนั่งขมวดคิ้วงุนงง แต่ปัจจุบันนี้แทบจะกลายเป็นสิ่งที่เราทั้งเข้าใจความหมาย และมองไปทางไหนก็เห็นคนยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปไว้ลงโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างแกลเลอรี่และคาเฟ่สวยๆ
แน่นอนว่าข้อดีคือสถานที่เหล่านี้ได้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งคือความหนักใจจากการทำคอนเทนต์ของบางคน ซึ่งเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น เราเลยอยากชวนทุกคนมาสำรวจความปวดใจของแกลเลอรี่และคาเฟ่ในยุคสมัยนี้กันว่า ความท้าทายที่พวกเขาต้องเจอคือเรื่องไหน และแต่ละสถานที่มีวิธีรับมือยังไงกันบ้าง ?
ยุคสมัยแห่งการทำคอนเทนต์
จากการพูดคุยกับ JWD Art Sapce และ Joyman Gallery แกลเลอรี่ทั้ง 2 แห่งเห็นตรงกันว่าแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น Reels หรือ TikTok ช่วยให้ภาพของแกลเลอรี่ขยับขยายไปสู่สายตาของคนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งตอบความตั้งใจของพวกเขาที่อยากให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะและศิลปินได้มากยิ่งขึ้น แต่หากการทำคอนเทนต์นั้นเกินขอบเขตมากจนเกินไป ก็อาจกลายเป็นความหนักใจสำหรับเจ้าของสถานที่และผู้มาเยือนคนอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยทาง Joyman Gallery ให้ความเห็นว่า
“จริงๆ ช่วงคนไม่เยอะสามารถถ่ายได้เต็มที่เลย แต่ถ้าคนเยอะ เราอาจจะขอความร่วมมือ เช่น ไม่ถ่ายนานเกินไป หรือบางทีเขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจไปจับรูปภาพหรือแตะต้องรูปภาพ แต่ว่าเป็นอุบัติเหตุก็มี ตรงนี้เราอาจจะขอความร่วมมือให้ระวังนิดหน่อย จะเหมือนกับตอนที่ไปมิวเซียมเลย”
เพราะทางแกลเลอรี่เองก็มีรายได้มาจากการขายชิ้นงานที่พวกเราเดินชม ดังนั้น หากเกิดความเสียหายขึ้น ก็อาจสั่นคลอนทั้งคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าจริงๆ ของผลงาน
ภาพจากเฟซบุ๊ก ATT 19
“นิทรรศการเเต่ละงานใช้งบประมาณ ความคิด ความทุ่มเท เราทํามาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้โอกาสและกระตุ้นความคิดใหม่ๆ ซึ่งของทุกชิ้นในเเกลเลอรี่เรามีคนทํา มีเจ้าของ และเป็นของขาย บางคนนํามาใช้เป็นพร็อพถ่ายรูป ทำหักบ้าง ตกเเตกบ้าง เราทําพื้นที่ให้เข้าชมฟรี เราไม่ขออะไรเลยนอกจากความเห็นอกเห็นใจ อยากให้ผู้ชมให้เกียรติพื้นที่เเละผลงาน ลองคิดว่าการไปเเกลเลอรี่เป็นเสมือนคุณไปเยี่ยมเยียนบ้านเพื่อนก็ได้” นี่คือความในใจจากผู้อยู่เบื้องหลัง ATT19 แกลเลอรี่ในย่านเจริญกรุง
นอกจากแกลเลอรี่แล้ว คาเฟ่เองก็เจอความท้าทายทำนองเดียวกัน หนึ่งในเรื่องยอดฮิตคือการถ่ายรูปเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้ขอใช้สถานที่ หรือบางคนเข้ามาถ่ายภาพทั้งที่ยังไม่ได้อุดหนุนกาแฟในร้านเลยด้วยซ้ำ
“เราก็เคยเจอนะที่ถ่ายๆ เสร็จแล้วก็เดินออกไปเลย ตั้งแต่เราทำร้านแรก เขามาเปลี่ยนชุด ถ่ายรูป แล้วห้องน้ำเราดันอยู่ข้างนอก แคชเชียร์เราอยู่ด้านใน แต่ว่าบางคนเข้ามาขอตรงๆ ก็คุยกันง่าย เราแฮปปี้นะ หรือบางคนพูดมาเลยว่า อ๋อโอเคถ้าเราสะดวก คิดชั่วโมงละเท่าไร อันนี้ก็โอเค” เจ้าของร้านกาแฟ AS SOON AS POSSIBLE เล่าถึงประสบการณ์ปวดใจพร้อมกับบอกว่า ตอนที่ย้ายมาเปิดร้านในทำเลแห่งใหม่ ทางร้านได้ปรับเรื่องการออกแบบตั้งแต่จุดที่ตั้งเคาน์เตอร์ ไปจนถึงการสร้างพื้นที่ที่โอบรับผู้คนซึ่งเข้ามาด้วยจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป เช่น การจัดมุมที่เหมาะแก่คนที่จะมานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ แยกกับมุมที่มีเก้าอี้หลายตัวสำหรับการนั่งคุยเป็นกลุ่มใหญ่ หรือมุมสวยๆ สำหรับถ่ายรูป
ภาพจากเฟซบุ๊ก AS SOON AS POSSIBLE . BKK
“เราเข้าใจทั้งคนถ่ายรูปและเข้าใจคนที่อยากมีสเปซส่วนตัวนะ เราเลยพยายามทำให้คนทุกกลุ่มสามารถอยู่ใน Common Space ตรงนี้ได้ โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกอึดอัด”
การค่อยๆ ค้นหาตัวตนและปรับเปลี่ยนจนเจอจุดที่พอดี ทำให้ปัจจุบันทางร้าน AS SOON AS POSSIBLE ไม่ได้เจอปัญหาทำนองนี้แล้ว พร้อมบอกว่ามีลูกค้าที่น่ารักเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รู้สึกสบายใจกับการเปิดร้านมาก หากสิ่งที่ต้องแลกมาคือความท้าทายเรื่องรายได้ ที่อาจจะไม่ได้หวือหวาหรือสูงลิ่วเท่าการตกแต่งให้ Instagramable อย่างชัดเจน
ภาพจากเฟซบุ๊ก JWD Art Space
วัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน
จะเห็นว่าทั้งแกลเลอรี่และคาเฟ่ แต่ละสถานที่ต่างเจอความเปลี่ยนแปลงและมีวิธีปรับตัวที่แตกต่างกันไป ทว่าสิ่งที่มองเห็นตรงกันคือ ความต้องการให้ผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยือนรู้สึกสบายใจและมีความสุขในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งการจะสร้างความสบายใจได้ต้องอาศัยการเคารพพื้นที่ซึ่งกันและกัน อย่างที่ JWD Art Sapce บอกกับเราว่า
ขอเพียงผู้ชมระมัดระวังตัวชิ้นงานและเคารพกฎระเบียบสากล
ในการเข้าชมงานศิลปะเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ส่วนคาเฟ่อย่าง AS SOON AS POSSIBLE กล่าวทิ้งท้ายไว้กับเราว่า “สุดท้ายแล้วอาจไม่ใช่แค่คาเฟ่หรืออาร์ตแกลเลอรี่ แต่ไม่ว่าวันนี้คุณจะไปร้านลาบ ไปกินส้มตำ คุณก็ต้องเคารพร้านลาบ ร้านส้มตำในวินาทีที่คุณเดินเข้าร้านนั้น เรารู้สึกว่ามันคือการเคารพคนคนหนึ่ง หรือเคารพพื้นที่พื้นที่หนึ่งในจังหวะนั้นที่คุณเลือกจะก้าวเข้าไป พอเริ่มเคารพเราจะเริ่มทำความเข้าใจกับพื้นที่นั้น กับผู้คนและเวลา ณ จังหวะนั้นทันทีเลย”
“ถ้าเรานึกถึงความต่างของมนุษย์ นึกถึงพื้นที่ที่ทุกคนมีอยู่ เราต้องการสเปซ คนอื่นก็ต้องการสเปซ ดังนั้น เราว่ามันมีตรงกลางเสมอ ถ้าเป็นรูปธรรมมันอาจจะเป็นวงกลมรอบตัวเราทุกคน แต่วงกลมนั้นมันไม่ได้ซ้อนทับกัน แต่มันยังอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้”
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะไปคาเฟ่ถ่ายรูปเช็กอิน หรือไปแกลเลอรี่ทำคอนเทนต์ลงโซเชียล วัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแย่และไม่ได้เป็นเรื่องผิด แต่สิ่งที่ต้องผลักดันควบคู่กันไป คงจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่เราต่างเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือสถานที่ใดก็ตาม