บางที การเหม่อๆ นั่งฝันกลางวันอาจจะเป็นการเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการไปคร่ำเคร่งตั้งอกตั้งใจจนเกินไป
สมองของเราเป็นสิ่งซับซ้อน การนั่งเหม่อหรือการฝันกลางวัน (daydreaming) คือการที่ปล่อยความคิดของตัวเองล่องลอยไป เราอาจรู้สึกว่าถ้าจะคิดอะไรให้ดี เราก็ตั้งใจคิด ตั้งสติกับสิ่งนั้นๆ สิ ถ้าปล่อยสติปล่อยหัวใจล่องลอยไป มันจะไปคิดงานได้อีท่าไหน
สมองของเราเป็นสิ่งซับซ้อน บางครั้งการปลดปล่อยการควบคุม—โฟกัสกับตัวเอง ก็อาจทำให้เกิดความคิดเกิดการสร้างสรรค์ที่เหนือการคาดหมายของเราก็ได้ มีงานผลงานและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกมากมายเกิดขึ้นขณะที่ ‘ไม่ได้ตั้งใจ’ เป็นความคิดที่แวบขึ้นมาในขณะที่กำลังฝันเฟื่องหรือทำอย่างอื่นอยู่
บางครั้งการนึกความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อะไรล้ำๆ ก็เกิดขึ้นในตอนที่เราเผลอๆ เกิดตอนที่เรา ‘ไม่ได้ตั้งใจคิด’ หลายครั้งผลงานเจ๋งๆ เกิดขึ้นตอนที่ศิลปินหรือนักคิดพาตัวเองล่องลอยไปสู่โลกของความฝัน Andrew Stanton ได้หน้าตาของเจ้าวอล-อี (WALL-E) ตอนที่กำลังดูเบสบอล ในขณะที่กระดาษโพสต์อิตก็ผุดขึ้นมาตอนที่ Arthur Fry กำลังร้องเพลงประสานเสียงอยู่ในโบสถ์
ซิกมุนด์ ฟรอยด์เป็นคนที่สนใจโลกที่อยู่พ้นความคิดของเรา—โลกของจิตไร้สำนึกและสมองที่มีความซับซ้อน ฟรอยด์บอกไว้ใน ‘นักเขียนเชิงสร้างสรรค์กับการฝันกลางวัน’ (Creative Writers and Day-Dreaming) ว่ากระบวนการสร้างสรรค์งานของนักเขียนเกี่ยวข้องการฝันกลางวัน สิ่งที่นักเขียนเชิงสร้างสรรค์ทำคือการควบคุมฝันกลางวันของตัวเองออกมาเป็นผลงาน
ในช่วงปี 1960 Jerome L. Singer นักจิตวิทยาผู้บุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับพลังของการฝันกลางวันเขียนหนังสือชื่อ The Inner World of Daydreaming หลังจากนั้นพลังของการฝันกลางวันก็ไม่ค่อยมีคนสนใจจนกระทั่งปี 2009 นักประสาทวิทยาถึงได้ค่อยๆ หันมาสนใจว่าการฝันกลางวันดูจะเป็นการเสริมพลังอย่างหนึ่ง
งานศึกษาจำนวนหนึ่งพบประโยชน์ของการปล่อยใจล่องลอยไป เช่น มีงานทดลองกลุ่มคนที่ทำงานประเภทชิลๆ กับประเภทเครียดๆ (โฟกัสเยอะ ไม่ได้พัก เคร่งเครียด) พบว่าคนที่ทำงานชิลๆ จะใจลอยบ่อยครั้ง พอทดสอบความสามารถการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เช่น จะใช้ของธรรมดาๆ ในแง่มุมอื่นอย่างไร ผลกลับพบว่ากลุ่มคนที่ใจลอยบ่อยกว่ามีทักษะเชิงสร้างสรรค์มากกว่า
ถึงนักวิจัยจะพบว่าการฝันกลางวันเกี่ยวข้องกับการเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ แต่จากการแสกนสมองพบว่าในกระบวนการใจลอยฝันกลางวันกลับเป็นการกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลไปพร้อมกัน ดังนั้น ในการใจลอย หลุมพรางที่น่ากลัวคือการพลัดไปสู่ความไม่สบายใจ ความกังวลและความซึมเซา
สรุปแล้วการฟุ้งฝันปล่อยสติออกไปบ้างก็ทำให้สมองได้ทำงานในรูปแบบที่ต่างออกไป เป็นการเปิดโอกาสให้ความคิด ความหมายต่างๆ ในหัวก่อตัวขึ้นอย่างสดใหม่และแปลก(กว่าในตอนที่เราตั้งอกตั้งใจ) ในทำนองเดียวกันการฝันกลางวันที่เป็นการปล่อยความรู้สึกของเราไปโดยไม่ควบคุม ความคิดพื้นฐานที่เราคิดขึ้นมามักจะเป็นเรื่องเชิงลบ เช่น การกังวลกับอดีต กังวลกับอนาคต พูดกับตัวเองในแง่ร้าย ดังนั้นถึงจะเราใจลอยออกไปก็ยังต้องมีการควบคุมไม่ให้ความคิดตกลงไปในมิติที่ ‘ไม่สร้างสรรค์’
ถ้าพูดอย่างง่ายที่สุดคือ ถ้าคิดหนักๆ แล้วคิดไม่ออก ตึงเครียดจดจ่อมากๆ ลองพักบ้าง ปล่อยสมองให้ล่อยลองดูบ้าง ความคิดดีๆ อาจจะโผล่ขึ้นมาตอนตั้งใจไม่ตั้งใจก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก